วิเคราะห์ Moderna ฟ้อง Pfizer ปมละเมิดสิทธิบัตร สำคัญอย่างไรกับอุตสาหกรรมไบโอเทค | Techsauce

วิเคราะห์ Moderna ฟ้อง Pfizer ปมละเมิดสิทธิบัตร สำคัญอย่างไรกับอุตสาหกรรมไบโอเทค

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2563 ทำให้บริษัทโมเดอร์นา ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ระดับแถวหน้าของโลก สามารถทำกำไรและเติบโตอย่างมหาศาล แต่เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทได้ยื่นฟ้องไฟเซอร์ ผู้ผลิตยาชั้นนำของสหรัฐเช่นกันในประเด็นการละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ซึ่งกระแสข่าวที่ออกมานั้นได้สร้างความประหลาดใจให้กับคนนอกวงการ เพราะก่อนหน้านี้ โมเดอร์นาเคยระบุว่า จะไม่ยื่นฟ้องไฟเซอร์ในระหว่างการพัฒนาและแจกจ่ายวัคซีนในช่วงที่โควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรง

เว็บไซต์ Harvard Business Review (HBR) เปิดเผยบทสัมภาษณ์ระหว่าง Peter Loftus ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal และผู้แต่งหนังสือชื่อ The Messenger: Moderna, the Vaccine, and the Business Gamble That Changed the World  และสก Scott Berinato บรรณาธิการอาวุโสของ HBR เกี่ยวกับประเด็นการฟ้องร้องดังกล่าว โดย Loftus กล่าวว่า “คดีนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวสิทธิบัตรเกี่ยวกับโรคโควิด-19 โมเดอร์นาได้แก้ไขคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ว่า จะไม่ฟ้องร้องไฟเซอร์เมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา พร้อมกับระบุว่า อาจบังคับใช้สิทธิบัตรในประเทศที่มีรายได้สูง”

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 ทนายความด้านสิทธิบัตรและนักวิเคราะห์ของวอลล์ สตรีท ให้ความเห็นว่า โมเดอร์นาได้นำสิทธิบัตรที่ครอบคลุมเทคโนโลยี mRNA ของตนเอง และการใช้ mRNA ในวัคซีนออกมาบังคับใช้ ซึ่งนั่นอาจทำให้โมเดอร์นาอ้างถึงการนำ mRNA ไปใช้ในคดีการละเมิดสิทธิบัตรกับไฟเซอร์ได้  และอาจรวมถึงผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นด้วย จริงอยู่ที่ว่า ในปี 2563 โมเดอร์นาให้คำมั่นที่จะไม่บังคับใช้สิทธิบัตรในช่วงที่โควิดระบาดหนัก แต่ก็ได้แก้ไขคำมั่นดังกล่าวในเดือนมีนาคม 2565 เพื่อส่งสัญญาณว่าบริษัทจะเริ่มบังคับใช้สิทธิบัตรในประเทศที่มีรายได้สูง รวมถึงสหรัฐด้วย ส่อเค้าถึงการยื่นฟ้องบริษัทไฟเซอร์ในเวลาต่อมา

การที่โมเดอร์นาทำแบบนี้ส่งผลดีอย่างไร ในเมื่อทั้งสองบริษัทนำวัคซีนไปใช้อย่างกว้างขวาง

แม้ว่าการดำเนินคดีทรัพย์สินทางปัญญาจะทำให้บริษัทในอุตสาหกรรมยาต้องมีค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจก็ตาม แต่บริษัทหลายแห่งกลับมองว่า การดำเนินคดีทางทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิ่งที่คุ้มค่ามาก เนื่องจากบริษัทมีเวลาจำกัดในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากสิทธิบัตรยาก่อนหมดอายุนั่นเอง ซึ่งโดยทั่วไปจะมีระยะเวลาอยู่ที่ประมาณ 20 ปี เมื่อสิทธิบัตรหมดอายุ ยาเหล่านั้นก็จะกลายเป็นยาชื่อสามัญราคาถูกไปโดยปริยาย ซึ่งบริษัทยาเรียกว่าเป็น "หน้าผาสิทธิบัตร" (Patent cliff) ซึ่งทำให้เม็ดเงินมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์มลายหายไปในชั่วข้ามคืนสำหรับผู้ผลิตยาต้นแบบหลังจากที่สิทธิบัตรหมดอายุ

อย่างไรก็ดี กรณีนี้มีความแตกต่างเล็กน้อย เพราะโมเดอร์นาไม่ได้ป้องกันยาชื่อสามัญที่ออกสู่ตลาด แต่กลับเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์คู่แข่งที่ออกจำหน่ายพร้อมกัน หากโมเดอร์นาพิสูจน์ได้ว่าไฟเซอร์นำทรัพย์สินทางปัญญาของตนเองบางส่วนไปใช้ในการผลิตวัคซีน การฟ้องร้องก็อาจทำให้โมเดอร์นาได้เงินค่าสิทธิที่ไฟเซอร์ได้จากการจำหน่ายวัคซีนทั้งหมดหลังเดือนมีนาคม 2565 แม้จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เพียงเล็กน้อย แต่ยอดขายวัคซีนของไฟเซอร์ยังคงอยู่ในหลักพันล้านดอลลาร์ ซึ่งก็อาจเพิ่มขึ้นได้อีก นอกจากนี้โมเดอร์นาและบริษัทยาอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังคิดว่า จำเป็นต้องยื่นฟ้องคดีละเมิดสิทธิบัตรเพื่อปกป้องหลักการการคุ้มครองนวัตกรรม และเพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทอื่นๆ ออกผลิตภัณฑ์ที่อาจละเมิดสิทธิบัตรของตนเองในอนาคต

การที่ไฟเซอร์ออกมาตอบโต้ว่า  วัคซีนของบริษัทผลิตขึ้นจากการค้นคว้าวิจัยอันเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง เป็นอย่างนั้นจริงหรือ แล้วเป็นไปได้ไหมที่ทั้งสองบริษัทจะพัฒนาวัคซีนที่คล้ายคลึงกัน โดยไม่มีการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของอีกฝ่าย

เรื่องนี้เป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับการวิจัยค้นคว้าในส่วนของไบออนเทค ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนร่วมกับไฟเซอร์ โดยไบออนเทคค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยี mRNA มาหลายปีแล้ว แต่ถ้าโมเดอร์นาได้รับสิทธิบัตรที่สำคัญอย่างยิ่งยวดนี้มาก่อน ก็อาจจะเป็นต่อในแง่กฎหมาย ซึ่งโดยทั่วไปนั้นเคยมีกรณีที่บริษัทยาหลายแห่งได้ดำเนินการค้นคว้ายาหรือวัคซีนชนิดเดียวกัน ก่อนจะลงเอยด้วยการจ่ายค่าสิทธิ์ให้กับบริษัทหรือมหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่งที่มีสิทธิบัตรชิ้นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินล่วงหน้า หลังการฟ้องร้องดำเนินคดี หรือมีการเจรจาต่อรองก็ตาม

ในมุมของการฟ้องร้องเพื่อทำกำไรจากวัคซีน ทำไมโมเดอร์นาจึงเดินหน้าฟ้องร้องคดีนี้ถึงแม้เหตุผลข้างต้นจะเป็นอย่างที่ว่ามาก็ตาม

การที่โมเดอร์นาเดินหน้าฟ้องร้อง บริษัทต้องชั่งน้ำหนักในหลายๆ ด้านมาแล้วอย่างแน่นอน แม้การตกเป็นคดีความจะทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ก็ตาม แต่โมเดอร์นาเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า สิ่งที่ทำเป็นการสร้างความก้าวหน้าอันใหญ่หลวงต่อการพัฒนาเทคโนโลยี mRNA ตลอดหลายปีที่ผ่านมา และเชื่อว่า วัคซีน ไฟเซอร์/ไบออนเทคต้องอาศัยความล้ำหน้าจากการคิดค้นเทคโนโลยีดังกล่าวไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โมเดอร์นาคงจะยอมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยอ้างว่า ไม่ต้องการที่จะดำเนินการเพื่อสร้างความเสียหายใดๆ ก่อนเดือนมีนาคม 2565 ไม่ได้ต้องการแสวงหาผลกำไรย้อนหลังเพื่อตักตวงผลประโยชน์จากสถานการณ์โรคระบาด

งานวิจัยส่วนใหญ่ของโมเดอร์นาได้รับทุนจากผู้เสียภาษี ประเด็นนี้จะมีผลต่อการฟ้องร้องอย่างไร

คดีสิทธิบัตรนี้ไม่มีผลโดยตรงในแง่กฎหมาย แต่ที่เห็นได้ชัดก็คือ กลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์โมเดอร์นากล่าวว่า โมเดอร์นาได้เงินอุดหนุนในการพัฒนาวัคซีนและการสนับสนุนการเซ็นสัญญาจากรัฐบาลกลางเป็นมูลค่าหลายพันล้านเหรียญ ซึ่งเท่ากับว่า การที่บริษัททำกำไรได้มหาศาลนั้นเป็นเพราะได้รับการสนับสนุนจากผู้เสียภาษีโดยตรง ดังนั้นนักวิจารณ์บางส่วนจึงไม่ได้มองว่า การฟ้องร้องเป็นการแสวงหาเงินทองเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากกำไรหลายพันล้านดอลลาร์ที่โมเดอร์นาได้รับไปแล้ว 

หนังสือ The Messenger เล่าถึงเส้นทางธุรกิจของโมเดอร์ที่ไม่น่าอยู่รอดได้ จากบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพหรือไบโอเทคที่ตกต่ำเมื่อปี 2563 จนก้าวขึ้นถึงจุดสูงสุดอย่างทุกวันนี้ นอกเหนือจากคดีความเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว โมเดอร์นาจะผ่านพ้นอุปสรรคนี้ไปได้อย่างไร บริษัทกำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ อยู่หรือไม่

โมเดอร์นาได้เพิ่มจำนวนพนักงานขึ้นอีกสี่เท่า ทำยอดขายและผลกำไรหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับบริษัทที่ไม่มีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดก่อนปี 2563 เผชิญราคาหุ้นตกหรือซบเซา  แต่บริษัทกำลังเตรียมนำวัคซีนเข็มบูสเตอร์หลายสิบล้านโดสออกมาใช้สำหรับสกัดสายพันธุ์โอมิครอนโดยเฉพาะในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้

ในหนังสือพูดถึงบริษัทที่แทบจะฝากความหวังไว้กับวัคซีนเท่านั้น เท่ากับดูเหมือนเป็นการประสบความสำเร็จเพียงครั้งเดียวและหมดหวังที่จะทำโครงการอื่นๆ หรือไม่

บางครั้งผู้บริหารของโมเดอร์นารู้สึกเหน็ดเหนื่อยจากโรคระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า งานของบริษัทยังไม่จบแค่การพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครั้งแรกเมื่อปี 2563 บริษัทจึงจำเป็นต้องปรับปรุงวัคซีนเข็มบูสเตอร์ให้ต้านทานไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ หลังจากที่วัคซีนตัวแรกได้รับการอนุมัติ การมุ่งพัฒนาวัคซีนโควิดจึงทำให้การพัฒนาโครงการอื่นๆ รวมถึงวัคซีนมะเร็งเฉพาะบุคคลต้องหยุดชะงักหรือล่าช้าออกไป แต่ปัญหาดังกล่าวคลี่คลายลงเมื่อเร็วๆ นี้ เนื่องจากอานิสงส์จากยอดขายวัคซีนโควิดทำให้โมเดอร์นามีเงินลงทุนในการวิจัยและพัฒนามากขึ้น สามารถจ้างนักวิทยาศาสตร์เพิ่ม และขยายขอบเขตการวิจัยได้จริง

นอกจากนี้ บริษัทกำลังพัฒนายาในขั้นทดลองสองชุดหนึ่ง เพื่อต้านโรคติดเชื้อชนิดอื่นๆ โรคมะเร็ง รวมถึงโรคหายาก บททดสอบครั้งต่อไปสำหรับเทคโนโลยี mRNA ของโมเดอร์นาจึงอยู่ที่ว่า บริษัทสามารถพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งหากการศึกษาวิจัยประสบความสำเร็จ อาจออกสู่ตลาดในปีหน้า หรือสองปีข้างหน้า นอกจากนี้ โมเดอร์นายังพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไซโตเมกะโลไวรัส (Cytomegalovirus) หรือ CMV ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดเด็กที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อนี้มีความผิดปกติโดยกำเนิด รวมถึงวัคซีนต้านโรค RSV ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทารกและผู้สูงอายุด้วย

โมเดอร์นาขึ้นชื่อเรื่องวัตนธรรมในการทุ่มเททำงานจนผงาดขึ้นมาเป็นบริษัทชั้นนำ อย่างที่กล่าวถึงในหนังสือ แล้ววัฒนธรรมของสตาร์ทอัพแบบนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปตามการเติบโตและความสำเร็จของบริษัทหรือไม่

พนักงานระดับปฏิบัติงานทั่วไปอาจไม่ค่อยได้สัมผัสถึงแง่มุมที่ยากลำบากมากนัก เพราะเข้ามาในช่วงที่บริษัทได้เติบโตขึ้นและมีลำดับขั้นในองค์กรมากขึ้นแล้ว ดังนั้น ความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่ใหญ่มากก็นับว่าเป็นความสำเร็จมากแล้ว แต่การผลัดเปลี่ยนตำแหน่งในหมู่ผู้บริหารยังคงเกิดขึ้น ซึ่งตั้งแต่ที่โควิด-19 เกิดขึ้น ก็มีการเปลี่ยนมือตำแหน่งผู้บริหารระดับท็อป 10 ประมาณครึ่งหนึ่งแล้ว

การระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่ออุตสาหกรรมยาและเทคโนโลยีชีวภาพหรือไม่

บรรดาผู้นำในอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์พูดอย่างภาคภูมิใจถึงสิ่งที่อุตสาหกรรมนี้ได้ส่งมอบออกไป นั่นคือวัคซีนและยารักษาโรคที่มีประสิทธิภาพภายใต้กำหนดเวลาชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน (แม้จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนด้วยก็ตาม) ซึ่งได้เกื้อหนุนให้อุตสาหกรรมนี้ และบริษัทหลายแห่งได้อานิสงส์ไปเต็มๆ จากการระบาด จนในขณะนี้มีเงินทุนเพิ่มมากขึ้นสำหรับนำไปลงทุนวิจัยและทำข้อตกลงที่อาจก่อให้เกิดความก้าวหน้าในอนาคต แต่ก็ยังมีความท้าทายอีกหลายประการในอุตสาหกรรมยา อย่างความพ่ายแพ้ที่เพิ่งเกิดขึ้นในสหรัฐหลังจากที่สภาคองเกรสได้ผ่านกฎหมายฉบับใหม่เพื่อลดราคายาที่มีราคาแพง ถึงแม้ว่าจะยังคงผลิตยาใหม่ๆ ที่มีความล้ำหน้าในการรักษาโรคออกมาก็ตาม แต่ต้นทุนของยาเหล่านี้ก็ยังเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับสังคม รวมถึงชื่อเสียงของอุตสาหกรรมยาด้วย

อ้างอิงจาก HBR

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

5 ข้อแตกต่างที่ทำให้ Jensen Huang เป็นผู้นำใน 0.4% ด้วยพลัง Cognitive Hunger

บทความนี้จะพาทุกคนไปถอดรหัสความสำเร็จของ Jensen Huang ด้วยแนวคิด Cognitive Hunger ความตื่นกระหายการเรียนรู้ เคล็ดลับสำคัญที่สร้างความแตกต่างและนำพา NVIDIA ก้าวสู่ความเป็นผู้นำระดับ...

Responsive image

เรื่องเล่าจาก Tim Cook “...ผมไม่เคยคิดเลยว่า Apple จะมีวันล้มละลาย”

Apple ก้าวเข้าสู่ยุค AI พร้อมรักษาจิตวิญญาณจาก Steve Jobs สู่อนาคตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดย Tim Cook มุ่งเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีอีกครั้ง!...

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...