เวียดนามกับอุปสรรคในการยกระดับให้เป็นมากกว่า 'โรงงานประกอบชิ้นส่วน' | Techsauce

เวียดนามกับอุปสรรคในการยกระดับให้เป็นมากกว่า 'โรงงานประกอบชิ้นส่วน'

การที่ซัพพลายเออร์ของ Apple เตรียมขยายฐานการผลิตเข้ามาในเวียดนาม อาจเรียกได้ว่าเป็นชัยชนะของประเทศก็ว่าได้ หลังจากมีข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า Apple กำลังทดสอบการผลิต Apple Watch และ MacBook ในเวียดนาม การผลิตอุปกรณ์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นดังกล่าวอาจเป็นใบเบิกทางสู่ความสำเร็จของอุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนาม และตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นในซัพพลายเชนอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า หากดูจากขนาดและระดับการพัฒนา เวียดนามเป็นประเทศเดียวที่รั้งอันดับ 6 ในลิสต์ที่ซัพพลายเออร์ของ Apple เข้าไปตั้งฐานการผลิตมากที่สุด โดยในปี 2563 Apple มีซัพพลายเออร์ในเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 21 ราย จาก 14 รายในปี 2561

อย่างไรก็ดี ในบรรดาซัพพลายเออร์เหล่านี้ ไม่มีเจ้าใดที่เป็นสัญชาติเวียดนามเลย แม้ว่าเวียดนามจะประสบความสำเร็จในการดึงดูดธุรกิจซัพพลายเชนให้เข้าไปลงทุน แต่การสร้างภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศกลับไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้เกิดภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกสำหรับผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย รวมถึงเกิดความย้อนแย้งบางอย่างในระบบเศรษฐกิจ หากดูจากตัวเลขการส่งออกเทคโนโลยีของเวียดนามนั้นเติบโตเป็นประวัติการณ์ โดยไม่มีคู่แข่งในเอเชียเทียบได้ เห็นได้จากการส่งออกสินค้าไฮเทคที่มีสัดส่วนแตะที่ 42% ในปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 13% ในปี 2553

นอกจากนี้ เวียดนามจะไม่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีที่เป็นสัญชาติของตัวเองโดยตรงแล้ว ยังสร้างมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกสินค้าเหล่านี้ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น รายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าปี 2562 ระบุว่า เวียดนามยังตามหลังประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่งในเอเชียในบางด้าน เช่น การค้าระหว่างประเทศในรูปของมูลค่าเพิ่ม (Trade in Value-added) และอัตราการเติบโตของ manufacturing value added (MVA) ซึ่งเป็นมาตรวัดการมีส่วนร่วมของเศรษฐกิจในประเทศต่อการค้า

ขณะเดียวกัน บรรดาผู้นำในภาคอุตสาหกรรมต่างแสดงความไม่พอใจที่อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังคงเป็นสายการประกอบชิ้นส่วนให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่จากประเทศอื่นๆ Samsung Electronics เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง โดยซัมซุงระบุว่า มีบริษัทที่เป็นซัพพลายเออร์ตั้งอยู่ในเวียดนามเพียงไม่กี่แห่งจากทั้งหมด 25 แห่งตามลิสต์ซัพพลายเออร์ Top 20 ของปี 2563 แม้ว่าซัมซุงจะดำเนินธุรกิจในเวียดนามมา 14 ปี และพึ่งพาการจัดส่งสมาร์ทโฟนครึ่งหนึ่งจากเวียดนามก็ตาม “นี่คือ อุปสรรคที่มองไม่เห็น ซึ่งยากมากที่จะเอาชนะได้” Luong Hoang  ผู้อำนวยการการค้าพหุภาคีของกระทรวงฯ กล่าวถึงความพยายามของเวียดนามในการยกระดับห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก

แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา เวียดนามได้อานิสงส์จากข่าวร้ายของประเทศอื่น ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งทำให้บริษัทอเมริกัน (รวมถึงบริษัทจีนหลายแห่ง) ย้ายฐานการผลิตของซัพพลายเออร์ไปยังเวียดนามเพื่อหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตร ในเวลาต่อมา เมื่อโรคโควิด-19 แพร่ระบาด ส่งผลให้จีนล็อกดาวน์และเป็นปัจจัยเร่งให้บริษัทหลายแห่ง รวมถึง Apple ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังเวียดนาม 

แต่ผู้เชี่ยวชาญวงในกล่าวว่า แม้ตอนนี้เวียดนามจะดึงดูดการลงทุนได้ดี แต่หากไม่ยกระดับฝีมือการผลิตไปสู่อุปกรณ์ที่มีความซับซ้อน ก็เสี่ยงที่จะเกิดวงจรของความถดถอยทางเทคโนโลยี มลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แรงงานคุณภาพต่ำ การใช้พลังงานสูง และประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำ 

ขณะเดียวกัน ธนาคารโลก (World Bank) ยังระบุว่า แม้เศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2553  ถึง 2563 แต่กลับมีโอกาสในการใช้ความได้เปรียบจากการเติบโตแบบพุ่งทะยานนี้ได้ในวงจำกัด โดยนักเศรษฐศาสตร์ของ Natixis กล่าวว่า “สิ่งที่เวียดนามได้เปรียบเป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็คือ แรงงานค่าแรงต่ำ” แต่ข้อได้เปรียบนี้กำลังจะหายไปเช่นกัน 

ในทางตรงกันข้าม หากค่าแรงเพิ่มขึ้น บริษัทหลายแห่งในปัจจุบันที่มองว่า เวียดนามเอื้อต่อการลงทุน อาจหันไปพิจารณาประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า เช่น ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา นอกจากนี้ อุตสาหกรรมซัพพลายเชนนั้นยังมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้การลงทุนไม่มั่นคง โดยเฉพาะการที่บริษัทต่างๆ อาจถอนตัวออกจากเวียดนาม เพราะนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้บริษัทที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศกลับไปลงทุนในบ้านตนเอง อย่างญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงอื่นๆ ซึ่งได้แก่ การลงทุนในประเทศที่ขาดประสิทธิภาพหรือสร้างมลพิษ ตลอดจนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้ประเทศยากจนต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นและยากลำบากมากขึ้นในการยกระดับห่วงโซ่คุณค่า

สิ่งที่สำคัญรองลงมาจากความสามารถของบริษัทก็คือ โครงสร้างพื้นฐานและขนาดของภาคการผลิตที่สามารถรองรับลูกค้ารายใหญ่ได้ ยกตัวอย่างในประเทศจีน เราจะเห็นว่า หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านมีการวางระบบเพื่อเป็นแหล่งผลิตสิ่งทอ, ซิลิคอนเวเฟอร์ หรือชิ้นส่วนยานยนต์ แต่เวียดนามยังไม่มีคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในลักษณะดังกล่าว และเชื่อมโยงสู่การเป็นซัพพลายเชนระดับโลกได้น้อย

นอกจากนี้ รายงานประจำปี 2563 ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและนโยบายแห่งเวียดนาม ที่จัดทำร่วมกับสถาบันบัณฑิตศึกษานโยบายแห่งชาติของญี่ปุ่น ระบุว่า โครงการต่างๆ ของเวียดนามในการพัฒนาเครือข่ายซัพพลายเออร์นั้นมีความล้าสมัย ยุ่งยาก และมีข้อจำกัดอย่างมาก 

รายงานได้เสนอแนะถึงโมเดลอื่นๆ อย่างในมาเลเซีย ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลด้านภาษีที่ชัดเจนและสิทธิประโยชน์ในการลงทุนด้านอื่นๆ ของซัพพลายเออร์ หรืออย่างในไทย ซึ่งมีศูนย์เทคนิค 10 แห่ง เช่น ศูนย์การฝึกอบรมด้านเครื่องจักร นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังชี้ให้เห็นถึงอีกสองแนวทางที่ผู้ผลิตในจีนได้รับการยกระดับขีดความสามารถ นั่นคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับตลาดภายในประเทศซึ่งมีขนาดใหญ่ ก่อนจะออกสู่ต่างประเทศ และเป็นซัพพลายให้กับลูกค้าต่างประเทศก่อนเติบโตเป็นคู่แข่งรายใหญ่ด้วยตัวเอง

ในการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในประเทศ เวียดนามได้สร้างความมั่นคงให้กับพรรคการเมืองเดียว รวมถึงข้อตกลงด้านการค้า แต่ยังขาดศักยภาพบางอย่าง เช่น การมีผู้บริหารระดับสูงเหมือนอย่างไต้หวัน, การก่อตั้งบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศ เหมือนอย่าง Hyundai Motor ของเกาหลีใต้ หรือ Acer ของไต้หวัน ตลอดจนแรงงานที่มีทักษะสูงในการขับเคลื่อนองค์กรดังกล่าว สำหรับการแก้ปัญหานั้น คือต้องหาจุดสมดุลระหว่างการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างทักษะที่จำเป็น แต่ต้องแลกมาด้วยค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้บริษัทต่างๆ หันไปหาประเทศอื่นๆ ที่มีค่าแรงถูกกว่า 

บทสรุปสำหรับความท้าทายดังกล่าวที่เวียดนามยังคงต้องเผชิญ เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศผู้ผลิตแถวหน้าและมีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง ยังต้องอาศัยการกำหนดแนวทางที่ชัดเจน เพื่อขจัดอุปสรรคในด้านต่างๆ ซึ่งหลังจากนี้คงต้องจับตาดูกันต่อไป

อ้างอิง Nikkei

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

5 ข้อแตกต่างที่ทำให้ Jensen Huang เป็นผู้นำใน 0.4% ด้วยพลัง Cognitive Hunger

บทความนี้จะพาทุกคนไปถอดรหัสความสำเร็จของ Jensen Huang ด้วยแนวคิด Cognitive Hunger ความตื่นกระหายการเรียนรู้ เคล็ดลับสำคัญที่สร้างความแตกต่างและนำพา NVIDIA ก้าวสู่ความเป็นผู้นำระดับ...

Responsive image

เรื่องเล่าจาก Tim Cook “...ผมไม่เคยคิดเลยว่า Apple จะมีวันล้มละลาย”

Apple ก้าวเข้าสู่ยุค AI พร้อมรักษาจิตวิญญาณจาก Steve Jobs สู่อนาคตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดย Tim Cook มุ่งเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีอีกครั้ง!...

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...