8 ขั้นตอนมุ่งสู่การเป็นองค์กร Net Zero | Techsauce

8 ขั้นตอนมุ่งสู่การเป็นองค์กร Net Zero

หลายคนคงเริ่มเห็นความแปรปรวนทางสภาพอากาศ ไม่ว่าจะเป็นอากาศร้อนจัด ฝนตกรุนแรง หรือน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งหมดนี้เป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่นานาชาติรวมถึงประเทศไทยให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ และร่วมกันตั้งเป้าหมายบรรลุ Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

ด้วยเหตุนี้ทำให้องค์กรต่างๆ เริ่มดำเนินการสร้างความยั่งยืนให้กับโลก และส่งต่อโลกที่ดีขึ้นจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านแนวทางการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในระดับองค์กรที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อสร้างความยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ 

ในงาน Decarbonize Thailand Symposium 2024 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดสัมมนาในประเด็นเกี่ยวกับ Net Zero หัวข้อ Thailand's Way Forward to Decarbonization โดย คุณบุญรอด เยาวพฤกษ์ Managing Director บริษัท เดอะ ครีเอจี้ จำกัด ได้เล่าถึงเป้าหมายในการก้าวสู่ Net Zero ของประเทศไทยภายในปี 2050 รวมถึงจุดที่ต้องคำนึง และแนวทางปฏิบัติต่างๆ

คุณบุญรอด เล่าว่า “ที่ผ่านมาแนวโน้มอุณหภูมิโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้เพิ่มไปแล้ว 1.3 องศาเซลเซียส และคาดว่าจะรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความสุ่มเสี่ยง อีกทั้งทั่วโลกก็ยอมรับว่ามนุษย์เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้โลกอุณหภูมิสูงขึ้น จากสถิติที่มีการเก็บข้อมูลมา จากอุณหภูมิของโลกที่เพิ่ม 1.2 -1.3 องศาเซลเซียสซึ่งส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจแน่นอน และ GDP ของไทยก็อาจลดลงประมาณ 20-25%”

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้หลายประเทศทั่วโลกตั้งปณิธานว่าจะบรรลุ Net Zero หรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยได้มีการลงนามข้อตกลงต่างๆ ซึ่งไทยก็เป็นประเทศที่มีความพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านโครงการใหญ่ๆ รวมถึงมีนโยบายจากภาครัฐเข้ามากระตุ้นร่วมด้วย

นอกจากความพยายามจากภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนก็เดินเครื่องเพื่อเข้าสู่หนทางแห่ง Net Zero เช่นกัน โดยจะเห็นได้จากการสนับสนุนผ่านหน่วยงานต่างๆ เช่น การปล่อยสินเชื่อเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน (ESG) หรือในธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรี่ที่สนับสนุนให้พาร์ตเนอร์ใช้รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์แบบอีวี เป็นต้น

ในงานเสวนาครั้งนี้ คุณบุญรอดได้เสนอแผน 8 ขั้นตอนที่มีประสิทธิภาพและใช้ได้จริง เพื่อช่วยให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมาย Net Zero และสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ 

1. วัดผลกระทบ: ทุกองค์กรควรเริ่มต้นด้วยการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งครอบคลุมถึงทุกขั้นตอน ห่วงโซ่การผลิต และการใช้ผลิตภัณฑ์ รวมถึงวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านมลพิษทางอากาศ ทางน้ำ การใช้ทรัพยากร และความหลากหลายทางชีวภาพ 

2. เข้าใจวัตถุประสงค์และลำดับความสำคัญ: องค์กรต้องเข้าใจบริบทสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน กฎระเบียบ ข้อบังคับ เพื่อที่จะจัดลำดับความสำคัญ สิ่งที่ต้องทำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

3. ประเมินความเสี่ยงและโอกาส: การระบุความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงทางธุรกิจ เช่น ปัจจัยทางการเมือง กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น ราคาพลังงานที่ผันผวน ความไม่แน่นอนในการบรรลุแผน Net Zero ส่วนโอกาสเป็นเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อตลาดและความต้องการผู้บริโภค 

4. ตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัด: ในการกำหนดเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่ Net Zero ควรมีเป้าหมายภายในปี 2050 เพื่อเป็นหมุดหมายสำคัญขององค์กร และทำให้ทุกคนในองค์กรเห็นภาพเดียวกัน นอกจากนี้องค์กรควรกำหนดเป้าหมายในทุกระยะ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยต้องเป็นเป้าหมายที่วัดผลได้ และสอดคล้องกับ KPI ขององค์กร

5. นำเสนอแผน: องค์กรควรนำเสนอแผนหรือกลยุทธ์การลดคาร์บอนที่ครอบคลุมห่วงโซ่ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยต้องระบุว่าแต่ละขั้นตอนจะลดคาร์บอนประเภทใด และเท่าไร เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการลงทุน การดำเนินงาน และกลยุทธ์ในแต่ละแผนก รวมถึงเทคโนโลยีที่ใช้ ที่สำคัญคือต้องมีกำหนดเวลาชัดเจน 

6. สื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสีย: การที่องค์กรจะมุ่งสู่ Net Zero จำเป็นต้องสื่อสารไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นักลงทุน ลูกค้า และทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นใจ และเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันการสื่อสารครั้งนี้ยังเป็นการสร้างความคาดหวัง และความกดดันให้องค์กรเร่งดำเนินการตามแผน 

7. ดำเนินการและติดตามความคืบหน้า: ในทุกระยะของการดำเนินการควรมีการตรวจสอบความคืบหน้าเสมอ เพื่อให้แผนไม่ล่าช้าหรือเกิดปัญหาที่แก้ได้ยาก

8. รายงานและเปิดเผยข้อมูล: ในทุกๆ ปีองค์กรควรเปิดเผยแผน และรายงานความคืบหน้าในรายงานประจำปี เพราะแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมักถูกคาดหวังจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ผลลัพธ์ที่ทำได้ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน บุคลากร ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งและเป็นการแสดงความโปร่งใสต่อนักลงทุน หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม เวลามักผ่านไปไวเสมอ เหลืออีกไม่กี่ปีก็จะถึงปี 2050 เวลานี้องค์กรควรเริ่มลงมือทำเพื่อก้าวสู่ Net Zero ได้แล้ว โดยแผนทั้งหมดต้องชัดเจน ใช้ได้จริง และไม่ใช่แผนเพื่อการทำ CSR แต่ต้องเป็นแผนที่มีแนวปฏิบัติชัดเจนและพร้อมรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง

ทั้ง 8 ขั้นตอนที่กล่าวไป เป็นเพียงกรอบการทำงานคร่าวๆ ที่ธุรกิจสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมได้ ทว่า สิ่งสำคัญคือ ต้องลงมือทำจริง และทำอย่างต่อเนื่อง 

“การก้าวสู่ Net Zero ไม่ใช่เรื่องง่าย การจะทำให้สำเร็จต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างมาก หากอยากเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ขึ้น นี่คือเวลาของการลงมือทำจริง” คุณบุญรอด กล่าว


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

บางจาก ได้สินเชื่อรายแรกในไทย 6,500 ล้านบาทเพื่อพัฒนา SAF จากธนาคารยูโอบี ประเทศไทย

ธนาคารยูโอบี มอบสินเชื่อ 6,500 ล้านบาท สนับสนุนบางจากฯ พัฒนาโครงการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) แห่งแรกในไทย ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุด 80% เพื่อเป้าหมาย Net Zero 20...

Responsive image

One Bangkok จับมือ 5 สถาบันการเงินชั้นนำ รับดีล Green Loan สูงสุดในประวัติการณ์เพื่อพัฒนาโครงการ

One Bangkok ประกาศลงนามสัญญาสินเชื่อสีเขียวระยะยาวเพื่อพัฒนาโครงการมูลค่า 5 หมื่นล้านบาทร่วมกับ 5 สถาบันการเงินชั้นนำของประเทศไทย ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศ...

Responsive image

เจาะลึกวิกฤตน้ำกับ TCP เมื่อน้ำกำลังจะกลายเป็นของหายาก

วิกฤตน้ำทั่วโลกส่งผลกระทบหนักต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจ TCP เสนอแนวทางแก้ไขผ่าน Nature-based Solutions และกลยุทธ์บริหารจัดการน้ำ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจไทยในยุคโลกร้อน...