การแก้ไขวิกฤติสภาพอากาศถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกภาคส่วน เมื่อวิกฤติภูมิอากาศในปัจจุบันรุนแรงขึ้น ทุกภาคส่วนจึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส
เป้าหมายของข้อตกลงปารีส คือ การจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 °C เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่รุนแรงที่สุดของวิกฤตสภาพอากาศ
มีการเรียกร้องให้บริษัทใหญ่ ๆ ในอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อโลก เช่น พลังงาน คมนาคม เป็นต้น แสดงความรับผิดชอบ แต่ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และธุรกิจครอบครัวก็ควรมีส่วนร่วมในการดำเนินการเหล่านี้ด้วย
ทั่วโลกมีธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และธุรกิจครอบครัวประมาณ 400 ล้านธุรกิจ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าธุรกิจ SMEs และธุรกิจครอบครัวก็มีความสำคัญไม่แพ้บริษัทใหญ่เลย นั่นแปลว่าคุณก็มี ‘อำนาจและหน้าที่’ ในการส่งเสริมและมีส่วนร่วมกับการแก้ไขวิกฤติภูมิอากาศด้วยเช่นกัน
หากคุณคิดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ไกลตัว มีแค่บริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรง สิ่งที่อยากให้คุณคำนึงถึงมากที่สุด คือ ความเสี่ยงทางการเงินที่เกิดจากวิกฤติภูมิอากาศ เช่น ความเสียหายที่อาจเกิดจากภัยธรรมชาติ ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อการเงินของธุรกิจโดยตรง
แต่นอกจากผลกระทบทางตรงแล้ว ยังมีผลกระทบทางอ้อมซึ่งคุณเองอาจจะยังไม่เคยนึกถึง อย่าง นโยบายจากภาครัฐ ที่บีบให้ธุรกิจต้องทำตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม และการสนับสนุนจากผู้คน ที่ในปัจจุบันเริ่มให้ความสนใจในธุรกิจที่ใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อม
ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ส่งผลกระทบกับการเงินของธุรกิจ SMEs อย่างไร ไปดูกัน !
รัฐบาลสหรัฐ : รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เสนอข้อกำหนดให้ผู้รับเหมา ซัพพลายเออร์ และหน่วยงานของรัฐ เช่น หน่วยงานราชการอิสระ กระทรวงกลาโหม และองค์การนาซา เปิดเผยการปล่อยมลพิษและความเสี่ยงทางการเงินที่เกิดจากวิกฤติภูมิอากาศ รวมถึงตั้งเป้าหมายในการลดมลพิษ
สหภาพยุโรป : กฎใหม่ที่ออกโดยสหภาพยุโรป (EU) อย่าง Corporate Sustainability Reporting Directive กฎนี้ระบุว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมประมาณ 50,000 ราย รวมถึงบางส่วนจากสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาทำเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม
แคลิฟอร์เนียร์ : แคลิฟอร์เนียกำลังพิจารณาให้บริษัทต่าง ๆ ให้รายละเอียดว่าธุรกิจของพวกเขาส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร รวมถึงการใช้เงินจากบำนาญสำหรับครูและพนักงานของรัฐมาผลักดันให้ธุรกิจทำเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
จากตัวอย่างข้างต้น เราจะเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายและมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่มาจากนโยบายภาครัฐ ทำให้บริษัทขนาดใหญ่เริ่มดำเนินการเพื่อลดมลภาวะในกระบวนการผลิตและการจัดส่งทั้งหมด (supply chains) โดยขอให้บริษัทคู่ค้า ซึ่งก็คือ SMEs ต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
ในปัจจุบันพนักงานและลูกค้า ก็ต้องการให้บริษัทต่าง ๆ จัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง
ผลสำรวจจากบริษัท Edelman Trust Barometer ในปี 2023 พบว่า 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการ CEO ที่มีแนวคิดในการรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ และผลสำรวจจากทั่วโลกพบว่าเกือบ 60% ของผู้ตอบแบบสอบถามเลือกซื้อแบรนด์ตามค่านิยม เช่น จุดยืนของแบรนด์ต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศ
ซึ่งหากบริษัทไม่สามารถดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของพนักงานและลูกค้าได้ พนักงานอาจเลือกที่จะไปทำงานกับบริษัทอื่น และลูกค้าอาจเลือกซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทอื่นแทน
ดังนั้นอนาคตทางธุรกิจและการเงินของบริษัทจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการรับมือเพื่อจัดการกับวิกฤติภูมิอากาศเช่นเดียวกัน
ประการแรก คือ การทำงานร่วมกับบริษัทใหญ่ ธุรกิจ SMEs (วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) สามารถเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความยั่งยืนในวงจรธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกับบริษัทใหญ่ เนื่องจากธุรกิจ SMEs มักจะเป็นผู้จัดหาสินค้าหรือบริการให้กับบริษัทใหญ่เหล่านี้
จึงมีโอกาสนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้แก่บริษัทใหญ่ ธุรกิจ SMEs จึงมีส่วนช่วยบริษัทใหญ่ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้
ประการที่สอง คือ การนำแนวทางในการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้เอง ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในด้านการใช้พลังงาน ดึงดูดนักลงทุนจากการเป็นธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และมีส่วนช่วยในการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งขึ้นด้วย
ธุรกิจที่บริหารโดยคนในครอบครัวสืบต่อกันมา ถึงแม้จะเป็นธุรกิจที่ทำมายาวนานและได้รับความไว้วางใจจากคนในพื้นที่ แต่ถ้าไม่รับผิดชอบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ผู้คนก็พร้อมที่จะเลิกสนับสนุนเช่นเดียวกัน
Edelman บริษัทการตลาดด้านการสื่อสารระดับโลก ทำหน้าที่รายงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากว่า 13 ปี ทำการสำรวจเกี่ยวกับความไว้วางใจในธุรกิจครอบครัว
ผลสำรวจจาก Edelman เผยว่าความไว้วางใจในธุรกิจครอบครัวซึ่งเคยสูงกว่าธุรกิจทั่วไปลดลงอย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ธุรกิจครอบครัวละเลยการดูแลสิ่งแวดล้อม
การสำรวจที่จัดทำโดยบริษัท EY สำรวจโดยศึกษาธุรกิจครอบครัวที่ใหญ่ที่สุด 500 แห่งทั่วโลกพบว่า กว่า 75% ของธุรกิจครอบครัวเหล่านี้ได้เริ่มมีการวัดผลและรายงานความคืบหน้าด้านความยั่งยืน รวมถึงมีการปรับใช้แนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคมเข้ากับธุรกิจ
เพราะธุรกิจครอบครัวเหล่านี้เข้าใจว่าความยั่งยืนมีความสำคัญต่อชื่อเสียงของธุรกิจในระยะยาว
เริ่มต้นด้วยการศึกษาแนวทางปฏิบัติจากโครงการต่างๆ เช่น Carbon Disclosure Project (CDP), Global Reporting Initiative (GRI), European Financial Reporting Advisory Group (EFRAG) และ International Sustainability Standards Board (ISSB)
เพื่อใช้หลักเกณฑ์เหล่านี้ประเมินว่าแนวปฏิบัติของคุณเป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับแนวทางของผู้อื่น รวมถึงเปรียบเทียบกับแนวทางของ ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UNGC) และ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เพื่อให้รู้ว่าแนวปฏิบัติของคุณสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและยั่งยืน
ปัจจุบันบริษัทจำนวนมากให้ความสนใจเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืนของซัพพลายเออร์ จึงขอให้ซัพพลายเออร์แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงข้อมูลสำคัญอื่นๆ หากซัพพลายเออร์ไม่สามารถให้ข้อมูลเหล่านี้ ก็อาจสูญเสียโอกาสทางธุรกิจกับบริษัทเหล่านี้ไปได้
ทุกวันนี้พนักงานคาดหวังให้นายจ้างให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าเป็นเหตุผลหลักในการเลือกนายจ้าง
คุณสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนได้จากแหล่งฝึกอบรมต่าง ๆ เช่น Boston College Center for Corporate Citizenship (BCCCC), United Nations' SME hub และ Columbia University's virtual Climate Change and Health Boot Camp เป็นต้น
ความยั่งยืนไม่เพียงแต่ดีต่อโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจอีกด้วย ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และธุรกิจครอบครัวจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบของตัวเองในการปกป้องโลกและการส่งเสริมความยั่งยืน สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่อนาคตที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดีของคนรุ่นต่อไป
อ้างอิง: greenbiz
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด