ทบทวนแนวทาง 'ลดการปล่อยคาร์บอน' ในไทย อะไรที่จะทำและอะไรที่ทำได้ | Techsauce

ทบทวนแนวทาง 'ลดการปล่อยคาร์บอน' ในไทย อะไรที่จะทำและอะไรที่ทำได้

โลกทำหน้าที่เป็น ‘เดอะแบก’ สารพัดมลภาวะ โดยเฉพาะคาร์บอนที่สะสมมาอย่างยาวนานจากการดำเนินกิจกรรม/กิจการต่างๆ ทั่วโลกจนก่อเกิดเป็น ก๊าซเรือนกระจก (GHG : Greenhouse Gas) ซึ่งถ้าดูจากค่าเฉลี่ยในระดับโลก พบว่ามีการปล่อย GHG ปีหนึ่งเกือบ 50,000 ล้านตัน!  มากขนาดนี้แล้วชาวโลก-ชาวเราจะอยู่ร่วมกันโดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร ที่ประกาศผ่าน COP27 ว่าแต่ละประเทศจะร่วมลดการปล่อยคาร์บอนเท่านั้นเท่านี้ จะทำได้จริงตามระยะเวลาที่ระบุไว้หรือ?

ลดการปล่อยคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรม ทำอะไร - ได้แค่ไหน

เฉพาะประเทศไทย มีข้อมูลว่าปล่อย GHG ราวปีละ 372 ล้านตัน โดย ภาคพลังงาน ปล่อยคาร์บอนมากที่สุด (กว่า 70%) ตามมาด้วย ภาคคมนาคม ภาคอุตสาหกรรม และ ภาคเกษตร 

เพื่อให้เข้าใจและลงลึกถึงสถานการณ์ปัจจุบันในการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้คาร์บอน (decarbonization) และบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission จึงเกิดความร่วมมือจากหลายองค์กรทั้งรัฐและเอกชน จัดงาน Decarbonize Thailand Symposium 2022 ขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยทีมเทคซอสเลือกสรุป Key messages สำคัญจาก 2 ผู้ร่วมเสวนา : คุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ และศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ในหัวข้อ ‘From 350 million tons to Zero: Where are we now and where are we going?’ (จากคาร์บอน 350 ล้านตัน มุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์: ตอนนี้เราอยู่ตรงไหนและจะเดินไปทางไหน?) โดยวิทยากรจากองค์กรที่เป็นหัวหอกด้านการใช้พลังงานมาร่วมวงพูดคุยในหัวข้อนี้ ได้แก่ 

  • ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล 
    เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
  • คุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ 
    ผู้อํานวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
  • คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล 
    ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
  • คุณภูมิ ศิรประภาศิริ 
    รองกรรมการผู้จัดการ สํานักความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้านความยั่งยืน และสื่อสารองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จํากัด รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ 

'โลกไม่เหมือนเดิม ภาคอุตสาหกรรมจะย่ำอยู่ที่เดิมไม่ได้' โดย คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น Issue สำคัญในเวลานี้ ซึ่งต้องยอมรับว่า ไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่พึ่งพา 'การส่งออก' เป็นหลัก เมื่อกติกาของโลกคุยกันเรื่อง Climate Change เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้

คุณเกรียงไกรเกริ่นถึงภาคอุตสาหกรรมว่า แม้อุตสาหกรรมในไทยไม่ได้สร้างคาร์บอนเท่าภาคส่วนอื่น แต่ก็ต้องปรับตัวเสมอมาเพราะเจอความท้าทายหลายด้าน  ไม่ว่าจะเป็น 

  • 1) Digital Transformation 
    การเปลี่ยนแปลงระบบดิจิทัลเพื่อไม่ให้ถูกดิสรัปต์ 

  • 2) Geopolitics 
    ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่มีประเด็นเรื่อง Trade War ทำให้ระบบการผลิตของโลกไม่เหมือนเดิม จากที่เราเคยซื้อสินค้าจากประเทศใดก็ได้ กลายเป็นโลกที่มีสองขั้วที่ต้องมาดูอีกว่า เราผลิตเพื่อส่งข้างไหนและจะอยู่ข้างใคร กอปรกับโควิด-19 ทำให้การย้ายฐานการผลิตวุ่นวายยิ่งขึ้น เพราะอเมริกาและยุโรปต้องการลดความแข็งแกร่งของภาคการผลิตในจีนลง เพราะมีซัพพลายเชนที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก 

  • 3) Supply Chain Shortage 
    ปัญหาซัพพลายเชนที่เป็นผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน 

  • 4) Climate Change 
    ความท้าทายที่อยู่ปลายทางแต่สำคัญต่อมนุษยชาติมาก นั่นคือ ปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งสัญญาณชัดเจนและหนักขึ้นเรื่อยๆ ทั้งไฟไหม้ป่าในออสเตรเลีย อเมริกา ที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น ปัญหา Heat Stroke ในยุโรปที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างเฉียบพลัน เรื่อง Rain Bomb ในปากีสถาน ทำให้เป็นพื้นที่จมน้ำที่สร้างความเสียหายอย่างหนัก 

คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ดี หลังการประชุม COP26 และ COP27 คุณเกรียงไกรระบุชัด ทำให้ผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลกรับรู้ร่วมกันว่า “ถ้าปล่อยให้โลกเป็นแบบนี้ต่อไป เจ๊งหมดแน่นอน” ดังนั้น สิ่งที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต้องทำก็คือ ร่วมลดการปล่อยคาร์บอนลง 40% ภายในปี 2030 ทำให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และทำให้การปล่อย GHG เป็นศูนย์ภายในปี 2065 

ส่วนแนวทางหรือมาตรการที่ออกมาเพื่อขับเคลื่อนการลดคาร์บอน คุณเกรียงไกรยกตัวอย่าง CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้าไปใน EU  ซึ่งนี่เป็นมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบหนึ่ง และถ้าอุตสาหกรรมในไทยไม่ทำตามมาตรการนี้ก็จะตกที่นั่งลำบาก

ถามว่าไทยไม่ทำได้ไหม…ก็ได้ ถ้าเรายังใช้พลังงานสกปรก ใช้พลังงานฟอสซิลแบบเดิม ไม่ได้ใช้พลังงานสะอาด การส่งออกคงลำบาก เพราะการส่งออกของไทยมีสัดส่วน GDP มากถึง 60% เราก็จะโดนตัดแต้ม โดนขึ้นภาษี อะไรต่างๆ ก็แข่งกับเขาไม่ได้

ในด้านนโยบายหลักที่สภาอุตสาหกรรมฯ มุ่งขับเคลื่อนเพื่อให้ทั้งภาคอุตสาหกรรมเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว สะอาด และยั่งยืน (Green - Clean - Sustainability) คุณเกรียงไกรเรียกว่า Next-GEN Industries หรือ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยมี 3 แกนหลัก ได้แก่

  1. 12 S-curves (การสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่)

  2. BCG Model (โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน)

  3. Climate Change (การพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต)

หากดูในรายละเอียด ทั้ง 3 ข้อเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด คือ การใช้พลังงาน การรักษ์โลก การทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเกี่ยวกับวัสดุ ขยะ การใช้พลังงาน และจัดตั้ง สถาบัน Climate Change เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่บรรดาสมาชิกก่อน ว่าอะไรคือ Climate Change อะไรคือ แนวทางลดคาร์บอน ทั้งยังจัดทำ ‘แพลตฟอร์มคาร์บอนเครดิต’ ให้ 45 กลุ่มอุตสาหกรรมในปัจจุบันและอุตสาหกรรมใหม่อีก 10 กลุ่ม เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ขายคาร์บอนเครดิต และจะยกระดับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของไทยให้อยู่ในระดับสากลต่อไป

รู้หรือไม่ - สินค้า 5 กลุ่มแรกที่ EU ระบุว่า มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนสูง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอลูมิเนียม

5 หมุดหมายที่ต้องทำ โดย ศาสตราจารย์ ดร. พิสุทธิ์ เพียรมนกุล

ในด้านการผลิตและใช้พลังงานเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ศาสตราจารย์ ดร. พิสุทธิ์ สรุปให้เห็นชัดๆ 5 หมุดหมายสำคัญซึ่งเรียกได้ว่าเป็นแนวทางหลักที่ประเทศไทยต้องทำ ดังนี้

  1. RE : Renewable Energy
    การใช้พลังงานสะอาดเป็น Milestone แรกที่ต้องทำ เพราะเมื่อพูดถึงพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการได้มาซึ่งพลังงานสะอาดเพราะไม่มีการเผาไหม้ (combustion) จึงไม่สร้างคาร์บอน

  2. EE : Energy Efficiency 
    ความต้องการใช้และปล่อยคาร์บอนต้องลดลง ด้วยการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยต้องลดฝั่ง Demand Side หรือความต้องการใช้พลังงานลง 3.5 - 4 เท่า และข้อนี้เป็นหมุดหมายสำคัญไม่ต่างจากข้อแรก 

  3. E : Electrification 
    เรื่องพลังงานไฟฟ้า ประเด็นที่พูดถึงกันเยอะในปัจจุบันคือ EV หรือ ยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากสัดส่วนของการปล่อยคาร์บอนจากการเผาไหม้พลังงานเพื่อใช้ในภาคคมนาคมขนส่งมากถึง 30-40% ดังนั้น การใช้ EV ก็จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ และหากเรานำ พลังงานจาก RE มาใช้ในภาค EE ด้วย จะลดคาร์บอนได้เป็นทวีคูณ

  4. H : Hydrogen 
    เป็นภาคที่น่าลงทุน เพราะไฮโดรเจนช่วยให้การปล่อยคาร์บอนลดลงได้ เช่น ผสมผสานการใช้งานกับรถ EV ดังนั้น ไฮโดรเจนจึงมี Commit Demand ที่ลงทุนได้ แต่ตอนนี้จะมีคนซื้อหรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้

  5. CCUS : Carbon Capture Utilization Storage 
    แหล่งเก็บกักคาร์บอน เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องมีไว้เพื่อกักเก็บคาร์บอนบางส่วน หากเราจะเดินไปสู่เป้าหมาย Net Zero Emission ให้สำเร็จภายในปี 2065

ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล  เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ผลิต RE เยอะๆ เดี๋ยวจะโอเค แต่ถ้ามีสตาร์ทอัพหรือมีคนทำฝั่ง EE ด้วย จะเป็น Great opportunities โอกาสที่ดีมากๆ เช่น จากที่ขับรถ 10 กม. คาร์บอนที่ปล่อยออกมาอาจเหลือเท่าการขับ 2-3 กม. หรือเป็นศูนย์ ถ้าเป็น Green RE จริงๆ  

"กระทรวงพลังงานเองก็พยายามศึกษาโอกาสรอบประเทศไทย เพราะว่ามีจุดที่อาจสามารถกักเก็บคาร์บอนได้บ้าง ในเมื่อเรานำก๊าซออกมาใช้ได้ เราก็ต้องมีทางเก็บกักได้เหมือนกัน" ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ชี้ให้เห็นโอกาสของประเทศไทยที่ไม่ควรมองข้าม

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

อาเซียนรับกรรม ในบทบาท ‘ถังขยะโลก’ สังเวยชีวิตคนสิ่งแวดล้อม ด้วยการค้าขยะผิดกฎหมาย

ประเทศอาเซียนรับกรรม กลายเป็นถังขยะโลก จากการ ‘ค้าขยะ’ ผิดกฎหมายที่มาจากยุโรป สะท้อนกฎหมายอ่อนแอ ไร้ระบบจัดการขยะแบบยั่งยืน...

Responsive image

ภาคธุรกิจเปิดเกมรุกสู่ Net Zero Transition มุ่งสร้างมูลค่าและ ROI ระยะยาว

รวมสาระสำคัญเพื่อการทำ 'Net Zero Transition' จาก Speakers ในงานสัมมนา SCBX Reimagining Climate: EP1 Shaping the Pathway Towards Net Zero Transition ซึ่งจัดขึ้นที่ SCBX NEXT TECH...

Responsive image

ปัญหาสภาพอากาศภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง AI จะช่วยโลกได้อย่างไร?

ผลกระทบมากกับความท้าทายใหญ่ที่สุดที่มนุษยชาติต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิธีที่เราผลิตและใช้พลังงานและ AI มีศักยภาพในการช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปล...