SDG Guidebook “คู่มือทำธุรกิจเพื่อโลกที่ยั่งยืน” ถูกเปิดตัวสู่ภาคธุรกิจ เพื่อผลักไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน | Techsauce

SDG Guidebook “คู่มือทำธุรกิจเพื่อโลกที่ยั่งยืน” ถูกเปิดตัวสู่ภาคธุรกิจ เพื่อผลักไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมด้วยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (TLCA) และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) จัดงานเปิดตัว “คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมาตรฐานผลกระทบ SDG”

คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียนจัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับภาคธุรกิจที่จะผนวกแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้ากับการกลยุทธ์และการดำเนินธุรกิจ โดยกรอบการดำเนินธุรกิจและมาตรการการวัดผลกระทบด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นหลักการที่ถูกยอมรับระดับสากล ที่ภาคธุรกิจสามารถใช้เป็นแนวทางอ้างอิงในการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลเชิงบวกด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และสามารถจัดทำรายงานผลการดำเนินงานดังกล่าวได้โดยสอดคล้องตามข้อกำหนดในแบบการเปิดเผยข้อมูล 56-1 One Report

สำหรับมาตรฐานผลกระทบ SDG นั้น คือ แนวปฏิบัติมาตรฐานแบบสมัครใจ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการและดำเนินงานขององค์กร โดยออกแบบมาเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจรวมทั้งผู้ลงทุนสามารถผนวกแนวคิดด้านความยั่งยืนและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ในระบบการบริหารจัดการและใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจ โดยระบุเกี่ยวกับสิ่งสำคัญที่บริษัทจะต้องดำเนินการใน 4 เรื่อง ได้แก่ กลยุทธ์ แนวทางการจัดการ ความโปร่งใส และการกำกับดูแล ซึ่งการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและสามารถบริหารจัดการเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวก ซึ่งส่งผลดีสำหรับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

 ที่ผ่านมาคู่มือฉบับนี้ รวมถึงมาตรฐานผลกระทบ SDG ได้ให้กรอบการทำงานกับองค์กรที่สามารถตัดสินใจในประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ดีขึ้น ตั้งแต่ประเด็นลดก๊าซเรือนกระจก การจัดการขยะ ไปจนถึงสถานที่ทำงานที่มีความครอบคลุม นอกจากนี้ยังช่วยปรับเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจของทั้งองค์กรและของคู่ค้าให้สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ตลอดจนช่วยลดความเสี่ยง และสามารถคว้าโอกาสทางธุรกิจที่เกิดจากการปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย

ทำไมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนถึงสำคัญต่อภาคธุรกิจ

ท่ามกลางวิกฤตต่างๆ ที่ไม่แน่นอน เช่น โลกร้อน ความเหลื่อมล้ำ และโรคระบาด การปรับตัวของภาคธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวทางของการพัฒนาที่ยั่งยืนจะทำให้ภาคธุรกิจสามารถป้องกันความเสี่ยงและยังเปิดสู่ตลาดทุนและโอกาสใหม่ๆ เนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกต่างหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

การคำนึงถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ ยังส่งเสริมให้ภาคธุรกิจสามารถคิดค้นนวัตกรรมและโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และกำหนดทิศทางความต้องการของผู้บริโภคให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

เนื้อหาหลักของคู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน (SDG Guidebook)

  • ชวนภาคธุรกิจทำความรู้จักกับเป้าหมาย SDGs
  • 6 ขั้นตอนการวัดและจัดการผลกระทบ และจัดทำรายงานผลกระทบเพื่อเปิดเผยข้อมูลผ่านOne Report
    • ขั้นที่ 1: ทำความเข้าใจผลกระทบและการจัดการผลกระทบ เพื่อกำหนดพันธกิจด้านความยั่งยืนของบริษัท
    • ขั้นที่ 2: การระบุและชี้เป้าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
    • ขั้นที่ 3: การจัดแผนที่ลำดับความสำคัญของผลกระทบ เพื่อกำหนดเป้าหมายระดับองค์กรในระสั้น-ยาวที่สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs
    • ขั้นที่ 4: การจัดทำห่วงโซ่ผลลัพธ์ (impact value chain) และตัวชี้วัดเพื่อกำหนดเป้าประสงค์ของบริษัท
    • ขั้นที่ 5: บูรณาการเป้าหมาย SDGs ไว้ในแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามและประเมินผล
    • ขั้นที่ 6: รายงานความคืบหน้าของผลกระทบของบริษัทต่อเป้าหมาย SDGs ตามข้อกำหนด One Report

 ธุรกิจจดทะเบียนจะสามารถใช้ประโยชน์จากคู่มือนี้ได้อย่างไร

  • ทำความเข้าใจเป้าหมาย SDG ทั้ง 17 ข้อ เพื่อปรับธุรกิจให้ตอบโจทย์เป้าหมายเหล่านี้
  • เข้าใจแนวทางการทำธุรกิจที่ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการบริหารจัดการและการตัดสินใจต่างๆ
  • นำมาตรฐานการประเมินและการวัดผลกระทบ SDG มาใช้กับธุรกิจของตนเอง เพื่อนำมาเปิดเผยในรายงาน 56-1 One Report ของก.ล.ต.

 4 หัวใจสำคัญในการวัดมาตรฐานผลกระทบต่อเป้าหมาย SDGs ของบริษัท

กลยุทธ์

การฝังความยั่งยืนและมีส่วนร่วมในเชิงบวกต่อเป้าหมาย SDGs ไว้ในวัตถุประสงค์และกลยุทธ์ของบริษัท

วิธีการจัดการ

การทำธุรกิจ การจัดวางระบบ และการตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่ผ่านส่วนเสริมของธุรกิจ แต่ต้องเป็นวิธีการทำธุรกิจทั้งหมดของบริษัท

ความโปร่งใส 

การคำนึงถึงและการมีภาระรับผิดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจและการทำธุรกิจขององค์กร

ธรรมาภิบาล

การกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่สะท้อนผ่านนโยบายและค่านิยมขององค์กร เช่น ความคาดหวังด้านพฤติกรรมขององค์กรต่อพนักงาน แนวทางการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้าร่วมงานเพื่อแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับภาคธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ชี้ว่า "SDG guide book และ SDG Impact standards นี้เป็นทั้ง โอกาส และการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (competitiveness) รูปแบบใหม่ สำหรับบริษัทจดทะเบียน และภาคธุรกิจในประเทศไทย เนื่องจากบริษัทสมัยใหม่ต้องการจะนำเงินมาลงทุนในประเทศที่มีความยั่งยืนชัดเจนมากยิ่งขึ้น”

ด้านกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวชื่นชมการยกระดับตลาดทุนไทยให้เข้าถึงเครื่องมือและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศที่สอดคล้องกับ SDGs โดยเน้นย้ำว่า “การเร่งขับเคลื่อน SDGs จะต้องอาศัยภาคเอกชนในฐานะผู้นำอุตสาหกรรม ตลอดจนการปฏิรูปห่วงโซ่อุปทานให้มีความยั่งยืนยิ่งขึ้นในทุกด้าน คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ฯ ที่เปิดตัวในวันนี้ ถือเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยให้ภาคเอกชนปรับตัวเข้ากับแนวทาง ESG ได้อย่างแนบแน่นยิ่งขึ้น สหประชาชาติในประเทศไทยมุ่งหวังที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศครั้งประวัติศาสตร์สู่การเติบโตสีเขียวที่มั่งคั่ง คาร์บอนต่ำ ทนต่อสภาพภูมิอากาศ และมีความเป็นธรรม”

ภาคธุรกิจถือว่ามีบทบาทสำคัญในการพาประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยระบบนิเวศที่ต้องเริ่มมาตั้งแต่วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร จนถึงการผลักดันการลงทุนในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ก.ล.ต. มุ่งพัฒนาระบบนิเวศของตลาดทุนให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่ดี และผนวกเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ สอดรับกับเป้าหมาย SDGs โดยเน้นบทบาทของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงในฐานะผู้นำบริษัท (tone from the top) ควบคู่ไปกับการผลักดันให้ผู้ลงทุนคำนึงถึงการลงทุนอย่างรับผิดชอบ เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าและระบบนิเวศที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการใช้เครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนเงินทุนจากภาคเอกชนสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมมือและขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ ก.ล.ต. จึงหวังว่าคู่มือและมาตรฐานผลกระทบ SDGs จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนมีความรู้ความเข้าใจ โดยนำมาใช้ประกอบการดำเนินธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม และช่วยให้สามารถเปิดเผยข้อมูลการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและจัดทำรายงานประจำปี (56-1 One Report) ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สร้างความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของผู้ลงทุน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าของกิจการ (value chain)”

 โดยคู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับภาคธุรกิจจะเป็นเครื่องมือที่สร้างมาตรฐานและบรรทัดฐานใหม่ในการทำธุรกิจ และช่วยสร้างบรรยากาศแห่งการมุ่งมั่นทำธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ชี้ว่า “ประเด็นการพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นที่สังคมโลกให้ความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้กลายเป็นประเด็นหลักของทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทย โดยทุกภาคส่วนของไทย ได้แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานกำกับ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความสำคัญและกำหนดเรื่องดังกล่าวเป็นเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนความยั่งยืนขององค์กรและของประเทศ อาทิ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลในแบบรายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report) ให้ครอบคลุมนโยบายและแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนของบริษัทจดทะเบียนตลอดจนห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) และได้กลายเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับบริษัทจดทะเบียนไทย ในการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เปรียบเทียบ และแข่งขันระหว่างบริษัทจดทะเบียน  รวมถึงการนำ ESG (Environment, Social, Governance) ผนวกเข้ากับกลยุทธในการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นช่องทางในการพัฒนาและต่อยอดในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุพันธกิจในการรักษาสิ่งแวดล้อมและการดูแลสิทธิมนุษยชนให้เป็นสากล”

เช่นเดียวกับศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ที่ย้ำถึงบทบาทของสมาคมฯ ว่า “สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย มุ่งส่งเสริมการแข่งขันกันทำความดีอย่างสร้างสรรค์ หรือ “Race to the top” พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วน สนับสนุนบริษัทจดทะเบียนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมตลอดทั้ง supply chain ของไทย เปิดเผยรายงานด้านความยั่งยืนต่อสาธารณะที่มีความโปร่งใส ประสิทธิภาพ และตรวจสอบติดตามผลการดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม”

และเพื่อเป็นการเร่งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ระบุว่า “การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม รัฐบาลไม่สามารถทำให้สำเร็จได้เพียงผู้เดียว แต่ต้องอาศัยความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ระหว่างตัวแทนภาครัฐและตัวแทนที่ไม่ใช่รัฐ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติจึงทำงานใกล้ชิดกับภาคธุรกิจ และคาดหวังให้คู่มือเล่มนี้ให้แนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนกับบริษัทจดทะเบียน ไม่ใช่แค่เพียงเพื่อดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ยังสามารถประเมินผลกระทบด้าน SDGs เพื่อรายงานผลได้ด้วย มาตรฐานการประเมินและกรอบการทำงานภายใต้คู่มือนี้จะช่วยส่งเสริมการลงทุนของภาคธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน และโน้มน้าวให้บริษัทต่างๆ หันมาสร้างผลกระทบด้าน SDGs มากขึ้น”

ดาวน์โหลดคู่มือ SDG Guidebook ได้ที่นี่


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะลึกวิกฤตน้ำกับ TCP เมื่อน้ำกำลังจะกลายเป็นของหายาก

วิกฤตน้ำทั่วโลกส่งผลกระทบหนักต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจ TCP เสนอแนวทางแก้ไขผ่าน Nature-based Solutions และกลยุทธ์บริหารจัดการน้ำ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจไทยในยุคโลกร้อน...

Responsive image

David Capodilupo จาก MIT Sloan เปิดเหตุผลตั้งสำนักงานในไทย ต้นแบบสู้ Climate Change อาเซียน

David Capodilupo ผู้ช่วยคณบดีด้านโครงการระดับโลกของ MIT Sloan เผยเหตุผลที่สถาบันเข้ามาตั้งสำนักงานในไทย เพื่อให้ไทยเป็นฮับอาเซียน ในการส่งเสริมการเรียนการสอน การวิจัยพัฒนา การแก้ปั...

Responsive image

SAF เชื้อเพลิงการบินยั่งยืน อุปสรรค และโอกาสครั้งใหญ่ของไทย ถอดแนวคิด Yap Mun Ching ผู้บริหารด้านความยั่งยืนแห่ง AirAsia

การเดินทางทางอากาศ แม้จะเชื่อมโยงโลกเข้าด้วยกัน แต่ก็สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การลดคาร์บอนจึงเป็นภารกิจสำคัญของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก และเชื้อเพลิงการบินที่...