กระเป๋าหนังไดโนเสาร์ T. rex กำลังมา นักวิทย์กำลังสร้างหนังจาก DNA ไดโนเสาร์อายุ 66 ล้านปี

ฟังดูเหมือนพล็อตหนัง Jurassic Park แต่เรื่องนี้กำลังเกิดขึ้นจริง! 

นักวิทยาศาสตร์และบริษัทนวัตกรรมจากอังกฤษเปิดตัวโปรเจกต์สุดล้ำที่ตั้งเป้าจะสร้าง “หนังไดโนเสาร์ T. rex” จาก DNA อายุกว่า 66 ล้านปี เพื่อผลิตกระเป๋าหรูและแฟชั่นไอเทมแห่งอนาคต

T. rex จะกลับมา...ในรูปแบบกระเป๋าหนังสุดหรู

ใครจะไปคิดว่าไดโนเสาร์กินเนื้อที่เคยวิ่งไล่ล่าในยุคจูราสสิคอย่าง Tyrannosaurus rex จะกลายมาเป็นแฟชั่นไอเท็มในยุค 2025

ทีมนักวิจัยจาก Newcastle University ร่วมกับ The Organoid Company และ Lab-Grown Leather Ltd. กำลังใช้คอลลาเจนจากซากฟอสซิลของ T. rex มาสร้าง หนังในห้องแล็บ โดยใช้เทคนิควิศวกรรมชีวภาพขั้นสูงในการออกแบบเซลล์สังเคราะห์ให้เลียนแบบโครงสร้างผิวหนังจริง

หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ทีมนักวิจัยจะเอาชิ้นส่วนเล็กๆ อย่างคอลลาเจนที่หลงเหลือในกระดูกไดโนเสาร์มาใช้เป็น blueprint แล้วสร้างใหม่ทั้งหมดในห้องแล็บ ซึ่งแน่นอนว่าโครงการนี้ไม่ใช่แค่จะขายความว้าว แต่คือการสร้างวัสดุใหม่ที่อาจเขย่าวงการแฟชั่นหรูแบบ sustainable สุดๆ เพราะหนังที่ผลิตขึ้นนี้จะ…

  • ปลอดจากการฆ่าสัตว์
  • ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
  • คงความทนและสัมผัสของหนังแท้

Che Connon นักวิจัยผู้พัฒนาเทคโนโลยีนี้บอกว่า เป้าหมายแรกคือทำกระเป๋าแฟชั่นหรู ซึ่งอาจเปิดตัวภายในสิ้นปีนี้ ถ้าผ่านไปได้ดี ก็มีโอกาสบุกตลาดอื่นอย่างอุตสาหกรรมรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ หรือแม้แต่เครื่องมือแพทย์

โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทโฆษณา VML, บริษัทวิศวกรรมจีโนม The Organoid Company และผู้บุกเบิกเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อความยั่งยืน Lab-Grown Leather Ltd. โดยมีเป้าหมายสร้างวัสดุหนังใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งอาจเปลี่ยนอนาคตของวงการแฟชั่นหรู

หนัง T. rex นวัตกรรมล้ำ หรือแค่ลูกเล่นทางการตลาด ?

แม้แนวคิดการสร้างหนังจากไดโนเสาร์จะฟังดูน่าตื่นเต้น แต่วงการวิทยาศาสตร์ไม่ได้เห็นตรงกันทั้งหมด

นักบรรพชีวินวิทยาอย่าง Dr. Thomas Holtz จากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ แสดงความชัดเจนว่า “เราไม่มี DNA ไดโนเสาร์เหลืออยู่เลย” เพราะ DNA สลายไปหลังจากสิ่งมีชีวิตตาย และ T. rex ก็สูญพันธุ์ไปตั้ง 66 ล้านปีแล้ว ดังนั้นการอ้างว่าใช้ DNA ไดโนเสาร์อาจดูเกินจริง และสุดท้ายหนังที่ได้ก็อาจ ไม่ได้ต่างอะไรจากหนังวัวหรือไก่มากนัก

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชีวภาพอย่าง Prof. Tom Ellis จาก Imperial College London ก็เห็นว่ามีศักยภาพทางเทคนิคอยู่บ้าง แต่ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้น และต้นทุนการผลิตก็ยังสูงมาก

ฝั่งทีมพัฒนาเทคโนโลยี Connon ออกมาตอบโต้ว่า คนทั่วไปอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำว่า “หนัง” เพราะมันไม่ได้หมายถึง “ผิวหนัง” โดยตรง แต่หมายถึง “คอลลาเจน” ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่อยู่ลึกลงไปในผิว และสามารถหาได้จากกระดูก เช่น หลอดเลือดขนาดเล็กที่โครงสร้างใกล้เคียงกับในผิวหนัง

และไม่ว่ามันจะได้มาจาก T. rex จริงหรือแค่ใช้แนวคิดเป็นแรงบันดาลใจ นักวิจัยก็ย้ำว่า นี่คือนวัตกรรมที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องการใช้สารเคมีจากการฟอกหนังแบบเดิม และปัญหาทารุณกรรมสัตว์

อ้างอิง: nypost, nbcnews

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ฟินแลนด์เปิดตัว Sand Battery ก้อนใหญ่ที่สุดในโลก ต้นทุนต่ำมาก

ฟินแลนด์เปิดตัว Sand Battery ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ใช้หินบดเก็บพลังงานความร้อนได้ยาวนาน ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้กว่า 60% ต้นทุนถูกกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมหลายเท่า เป็นก้าวใหม่ของระบบพ...

Responsive image

พลิกโฉมการเกษตรแอฟริกา! เมื่อ AI กลายเป็น "เพื่อนคู่คิด" เกษตรกรรายย่อย

AI กำลังกลายเป็นตัวแปรสำคัญในพื้นที่ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง นั่นคือ "ไร่นา" ของเกษตรกรรายย่อยในทวีปแอฟริกา ที่ซึ่งเทคโนโลยีกำลังถูกนำมาใช้แก้ปัญหาปากท้อง ความมั่นคงทางอาหาร (Food Sec...

Responsive image

รายงาน Circularity Gap Report 2025 ชี้ยอดรีไซเคิลเพิ่ม แต่เศรษฐกิจหมุนเวียนยังไม่เกิด

แม้การรีไซเคิลเพิ่มขึ้น แต่เกือบ 90% ของวัสดุยังกลายเป็นขยะถาวร รายงานปี 2025 ชี้เศรษฐกิจหมุนเวียนจำเป็นต่ออนาคตที่ยั่งยืน...