ทุกธุรกิจในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยน องค์กรธุรกิจทั้งภาครัฐและเอกชนต่างต้องปรับเปลี่ยนองค์กรให้เป็นดิจิทัลด้วยการเปิดรับและให้บริการลูกค้า ช่องทางดิจิทัลอย่าง Website, Application, และ Social Media หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการแบบดิจิทัล เช่น Digital Banking, Digital Insurance, Virtual Assistant รวมถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ เช่น AI, Big Data, Paperless Workflow เป็นต้น การทำ Digital Transformation ประสบความสำเร็จ จะทำให้องค์กรมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ส่งผลต่อกำไร และอัตราการขยายตัวทางธุรกิจในที่สุด
แต่การทำ Digital Transformation ไม่ใช่เพียงแค่ซื้อเทคโนโลยีมาใช้ในการทำธุรกิจ เพราะมีความซับซ้อนละเอียดอ่อนมากกว่า ทั้งในด้านรูปแบบการดำเนินธุรกิจ กระบวนการทำงาน บุคลากร รวมทั้งวัฒนธรรมองค์กร ล้วนได้รับผลกระทบและต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน และนั่นทำให้กว่า 50% ขององค์กรต้องเผเชิญกับความล้มเหลวจากการทำ Digital Transformation
10 สาเหตุของความล้มเหลวในการทำ Digital Transformation ที่พบบ่อยในองค์กร
โดยคุณพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด ที่ปรึกษาสัญชาติไทยด้านกลยุทธ์และการจัดการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ผู้มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนากลยุทธ์ดิจิทัลเพื่อการแข่งขันในปัจจุบันและอนาคต เผย 10 สาเหตุของความล้มเหลวในการทำ Digital Transformation ที่พบบ่อยในองค์กร
โดย 10 สาเหตุของความล้มเหลวในการทำ Digital Transformation ที่พบบ่อยในองค์กร อันเกิดจาก 3 ส่วนหลักคือ ผู้บริหาร บุคลากร และจากกระบวนการ
ผู้บริหาร
- นำเทคโนโลยีมาใช้โดยไม่วิเคราะห์กลยุทธ์ของธุรกิจ เมื่อใช้เทคโนโลยีไปแล้วไม่ได้ก่อให้เกิดความได้เปรียบทางธุรกิจ และไม่สามารถสร้างความแตกต่างมากขึ้น โดยทุ่มใช้งบประมาณซื้อเทคโนโลยีที่ดีที่สุด แต่กลับไม่เข้าใจว่าธุรกิจจะได้เปรียบคู่แข่งอย่างไร เช่น เทคโนโลยีสามารถช่วยเพิ่มรายได้ส่วนใด ช่วยลดลดรายจ่ายส่วนใด สร้างฐานลูกค้ากลุ่มใด เป็นต้น
- มองโครงการทำ Digital Transformation เป็นค่าใช้จ่าย แทนที่จะพิจารณาว่าเป็นการลงทุนขององค์กร ทำให้ไม่ได้ตั้งงบประมาณให้เพียงพอ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความต่อเนื่องของโครงการจนทำให้โครงการอาจจะถูกหยุดก่อนถึงจุดที่สร้างผลลัพธ์ที่ดีได้ นอกจากนี้ การมอง Digital transformation เป็นเพียงค่าใช้จ่ายจะทำให้ไม่มีตัวชี้วัดทางการเงินที่ถูกต้องเพื่อบอกความสำเร็จของการลงทุน
- มีความเข้าใจความหมายและขอบเขตของ Digital Transformation ที่ไม่ตรงกัน เช่น เข้าใจว่าเป็นแค่ Digital Marketing หรือเป็นแค่ Process Automation ฯลฯ ทำให้ไม่สามารถสร้างความร่วมมือจากทุกฝ่ายได้เต็มที่จนอาจจะทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนองค์กรไปในทิศทางเดียวกันได้
- การทำงานแบบดิจิทัล ขัดกับผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจเดิม เช่น ผลิตภัณฑ์รูปแบบดิจิทัลจะแย่งรายได้จากผลิตภัณฑ์เดิม โดยอาจจะลืมไปว่าองค์กรแย่งรายได้ตัวเองยังดีกว่าให้คู่แข่งมาแย่งรายได้ หากองค์กรไม่ Transform ซึ่งกว่าจะรู้ตัวก็มักจะช้าเกินไป
- ไม่เข้าใจเกมการแข่งขันในโลกดิจิทัล ซึ่งมียุทธวิธีที่ไม่เหมือนกับโลกยุคเดิม เช่น ในโลกดิจิทัล การใช้ User-Generated Content เพื่อสร้าง Content จำนวนมาก, การเป็นส่วนหนึ่งของ Ecosystem เพื่อใช้ประโยชน์จากบริการอื่น ๆ ใน Ecosystem, การทำผลิตภัณฑ์แบบFreemium เพื่อดึงลูกค้า, การชิงพื้นที่ใน Social Media ล้วนเป็นเรื่องสำคัญ ฯลฯ
บุคลากร
- ขาดการมอบหมายบุคลากร (Dedicated Resource) เพื่อมาทำโครงการ Digital Transformation โดยเฉพาะ แต่นำเอาคนที่มีงานรับผิดชอบเดิมอยู่แล้ว (Business As Usual หรือ BAU) เข้ามารับผิดชอบโครงการฯ ด้วย ทำให้มอง Digital Transformationเป็นแค่งานเสริม ซึ่งในความเป็นจริง งาน Digital Transformation เป็นงานหลักที่ซับซ้อนมาก และ Out of Comfort Zone ของบุคลากรเหล่านี้ เมื่อคนกลุ่มนี้ไม่สามารถโฟกัสการทำงานที่ได้รับมอบหมายได้เต็มที่ ก็อาจจะทำให้การทำ Digital Transformation ขององค์กรล้มเหลว
- กลุ่มบุคลากรในองค์กรขาดชุดทักษะใหม่ ๆ (Skill Set) ที่จำเป็น เช่น การบริหารงานแบบ Agile,ความรู้ด้านเทคโนโลยี, การทำการตลาดผ่าน Social Media เป็นต้น หรืออาจจะขาดบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทาง (Specialized resources) เช่น Developer, UI/UX Designer, Software Testers, PMO เป็นต้น
- บุคลากรกลัวว่าการทำงานที่มีประสิทธิภาพจะส่งผลต่อความมั่นคงทางการงานของตนเอง เพราะเทคโนโลยีส่งผลต่อการทำงานมีประสิทธิภาพใช้คนน้อยลง จนลืมไปว่าหากองค์กรไม่Transformต้นทุนของบริษัทก็จะสู้คู่แข่งไม่ได้ และสุดท้ายก็ต้องตายไปจากตลาด ฉะนั้นบุคลากรจึงควรจะปรับตัว พัฒนาทักษะ ความรู้ และความสามารถ เพื่อสามารถทำงานที่ช่วยเพิ่มคุณค่า (Add Value) ให้กับองค์กรมากขึ้น
กระบวนการ
- ออกแบบระบบและกระบวนการตามกรอบความคิดแบบเก่า การซื้อระบบมาเพื่อ Customize ตามกระบวนการเก่า จึงได้ผลลัพธ์แบบเก่า ไม่มีการพัฒนากระบวนการใหม่ให้สอดคล้องกับการทำงานแบบดิจิทัล ทำให้การลงทุนด้านดิจิทัลไม่สามารถแสดงผลลัพธ์ที่ดีออกมาได้
- ไม่มีแผนการและกระบวนการที่ดีในการทำ Digital Transition และ Change management ทำให้เกิดแรงต้าน และเกิดความขลุกขลักในการเปลี่ยนการทำงานมาเป็นแบบใหม่ จนลุกลามกลายเป็นการต่อต้านในวงกว้าง
ทั้งนี้การจะทำ Digital Transformation ให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องมีการวางแผน คิดวิเคราะห์อย่างรอบคอบเพื่อลดความเสี่ยงของการล้มเหลว การเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในอดีต จะทำให้มีโอกาสมากขึ้นที่ Digital transformation จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายทางธุรกิจที่ตั้งไว้