Blockchain ในปี 2017 เป็นไปได้แค่ไหน? รวมคำถาม 20 ข้อที่คุณอยากรู้ | Techsauce

Blockchain ในปี 2017 เป็นไปได้แค่ไหน? รวมคำถาม 20 ข้อที่คุณอยากรู้

ปีนี้ Techsauce ได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับ Blockchain ให้ผู้อ่านได้ติดตามกันไปพอสมควร คำถามคือ ตอนนี้เราอยู่ไหนกันแล้ว และเรารู้สิ่งที่เราไม่รู้แล้วหรือยัง

สิ่งที่เรารู้แล้วและยังไม่รู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในโลกแห่งความเป็นจริง ตลอดจนความเป็นไปได้ในเชิงประสิทธิภาพ

บทวิเคราะห์นี้เขียนโดยนาย William Mougayar ผู้เขียนหนังสือ "The Business Blockchain" รวมทั้งเป็นบอร์ดที่ปรึกษาและนักลงทุนในโปรเจ็คบล็อกเชนและสตาร์ทอัพหลายๆ โปรเจ็ค

...ความรู้ตัวถือเป็นความผาสุกทั้งในชีวิตและธุรกิจ อย่างหนึ่งที่แน่ๆ คือยิ่งเรารู้เท่าทันตัวเองมากเท่าไหร่เราก็ยิ่งปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้นเท่านั้น บล็อกเชนเองก็ไม่ต่างกัน  ด้วยความที่เป็นปัจเจกในตัวมันเอง จักรวาลแห่งบล็อกเชนจึงยังคงเต็มไปด้วยสิ่งที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง

เพื่อเป็นการเปิดซีรีย์ส่งท้ายปีชุดนี้  ผมจะพยายามนำเสนอประเด็นความจริงอย่างเป็นกลาง ว่าตอนนี้เราอยู่ตรงไหนกันแล้วในวิวัฒนาการแห่งบล็อกเชน  ดังเช่นคำถามง่ายๆ แต่น่าคิดที่ผมถามข้างต้น: ขณะที่กำลังจะเข้าสู่ปี 2017 เรารู้สิ่งที่ยังไม่รู้เกี่ยวกับบล็อกเชนแล้วหรือยัง

นี่ไม่ใช่การคาดคะเนแต่เป็นเพียงการสะท้อนมุมมอง

และเพื่อตอบคำถามข้างต้น  ผมจะพูดเน้นในบางจุดควบคู่กับการแบ่งหัวข้อออกเป็นสองมิติหลักๆ คือเชิงแนวคิดและเชิงกลวิธี

[toc]

สิ่งที่เรายังไม่รู้ในเชิงแนวคิด

#1 เราอยู่ตรงไหนของวงจร ?

ลองเลือกทฤษฎีวงจรที่คุณชอบมาครับ  จะวงจร Hype Cycle ของ Gartner ทฤษฎีการพัฒนาทางเศรษฐกิจของ Carlota Perez หรือจะทฤษฎีการก้าวข้ามจุดเปลี่ยนผ่านจากหนังสือ Crossing the Chasm ของ Geoffrey Moore ก็ได้  ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเรากำลังอยู่ในช่วงปีเริ่มต้น ของทุกวงจรที่กล่าวมานี้  แต่ว่ามันตรงไหนกันแน่ล่ะ?

เมื่อไหร่บล็อกเชนจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในแง่ของผู้ใช้ ความหลากหลายในการใช้งาน เสถียรภาพ และรูปแบบการเจริญเติบโตที่คาดเดาได้ จากมุมมองของผม เรายังไม่ก้าวข้ามจุดเปลี่ยนผ่านครับ ยังไม่ถึงช่วงที่เทคโนโลยีถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง ยังไม่ผ่านจุดสูงสุดของความคาดหวังอันฟุ้งเฟ้อด้วยซ้ำ

ถ้าจะพูดให้ชัดเจนขึ้นคือตัวเราอยู่ตรงไหนกันแน่นั้นมองเห็นได้แค่จากกระจกมองหลัง เมื่อเรามีโอกาสมองย้อนกลับไปเท่านั้น  ระหว่างนั้นเราก็ยังคงต้องกรุยทาง ฝ่าฟันอุปสรรค และลุกขึ้นยืนให้ได้ทุกครั้งที่ล้มกันต่อไป

#2 ต้องมีจุดแตกหักที่ชัดเจนเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนะความคาดหวังหรือไม่ ?

ถ้าอินเทอร์เน็ตคือต้นเค้าแห่งประวัติศาสตร์ของบล็อกเชน  ปี 2000 ก็นับเป็นช่วงเวลาที่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากเพราะมันลบล้างความเชื่อปลอมๆ ของคนออกไป  ปรับทัศนะความคาดหวัง และเปิดโอกาสให้คนที่ใจนิ่งกว่าเข้ามามีบทบาทในวาระใหม่และการเริ่มต้นใหม่หลังการเปลี่ยนแปลง

อินเทอร์เน็ตยุคใหม่ถูกขนานนามว่า Web 2.0 และเริ่มปรากฏโฉมราวปี 2003 นำมาซึ่งความรุ่งเรืองและการเติบโตอย่างยั่งยืนจนถึงปัจจุบันของระบบเว็บนับตั้งแต่บัดนั้น เมื่อมองย้อนกลับไป  นั่นคือราว  7  ปีให้หลัง หลังจากที่ระบบเว็บเริ่มปรากฏโฉมครั้งแรกในปี 1993

สำหรับบล็อกเชนบางคนเริ่มใช้ชื่อที่เรียกว่า Crypto 2.0 กันแล้ว ทว่านั่นน่าจะเป็นชื่อเล่นที่เร็วเกินไปสำหรับช่วงชีวิตของบล็อกเชนที่เราอยู่กันในขณะนี้

ผมมั่นใจเหลือเกินว่าเรายังอยู่กันในช่วงแสวงหาประโยชน์จากยุค Blockchain 1.0 หรืออะไรทำนองนั้น ถึงแม้วิวัฒการของมันจะมีความต่างจากเว็บอยู่เล็กน้อย  บางทีคงมีแค่จุดแตกหักที่แท้จริงเท่านั้น ที่จะเขย่าวงการได้แรงพอและทำให้ประตูที่เปิดสู่ยุค Blockchain 2.0 กลายเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้

#3 ขอบเขตของบล็อกเชนอยู่ตรงไหน ?

เรารู้กันหรือยังว่าบล็อกเชนสามารถนำไปใช้ตรงไหนได้และตรงไหนไม่ได้ อะไรจะทำได้จริงและอะไรบ้างที่ไม่มีวันเป็นไปได้ คำตอบคือเราไม่มีทางรู้แน่ชัดนอกจากจะต้องผลักดันกันต่อไป ต้องพยายามก้าวข้ามขีดจำกัดเพื่อหาคำตอบว่าขอบเขตที่แท้จริงแล้วอยู่ตรงไหน

ผมเห็นหลายกรณีที่มีการคิดนำบล็อกเชนเข้ามาใช้ แต่ดูเหมือนมันจะเป็นคำตอบที่รอเก้อ เมื่อแท้จริงแล้วคำถามไม่ได้อยู่ตรงนั้น

ยกตัวอย่างเช่นในแวดวงสุขภาพซึ่งถูกมองว่าเหมาะกับการนำบล็อกเชนเข้ามาใช้มากที่สุด ทว่าเรากลับยังไม่เคยเห็นความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมหรือการนำบล็อกเชนมาประยุกต์ใดๆ เลย พูดให้เจาะจงขึ้นไปอีกคือผมได้ยินบ่อยๆ ว่าบล็อกเชนจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องการถ่ายโอนข้อมูล ประวัติการรักษาของผู้ป่วย แต่ประเด็นเล็กๆ ที่หลายฝ่ายตระหนักดีก็คือการแก้ปัญหาประวัติการรักษาที่ว่า ยังมีประเด็นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบล็อกเชนที่ต้องถูกสะสางก่อนรออยู่

#4 บล็อกเชนจะมีผลกระทบต่อองค์กรธุรกิจหรือไม่ ?

องค์กรอัตโนมัติกระจายศูนย์หรือ DAOs  (Decentralized Autonomous Organizations) ทำให้หัวคิดแบบสมัยเก่าของเราเกิดคำถามเกี่ยวกับการบริหารองค์กรขึ้น แต่เรายังไม่อาจรู้ได้ว่าแนวคิดระยะเริ่มแรกเหล่านี้จะสามารถแทรกซึมเข้าไปสู่องค์กรแบบดั้งเดิมใดๆ

ได้หรือไม่  หรือพวกมันจะอยู่แค่ในขอบเขตธุรกิจที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชนเป็นหลักเท่านั้น

แนวคิดขององค์กรกระจายศูนย์ที่ผูกกับเทคโนโลยีบล็อกเชนจะมีอิทธิพลกับการจัดการธุรกิจหรือไม่ ที่ระดับใด จริงอยู่ที่เรายังคงไม่เห็นภาพระบบบริหารจัดการด้วยบล็อกเชนแบบเบ็ดเสร็จ แต่เราต้องการตัวอย่างในยุคเริ่มแรกเหล่านี้เพื่อเป็นต้นแบบว่าธุรกิจควรมีการดำเนินการอย่างไร ระบบบริหารจัดการอัตโนมัติกับการดำเนินงานอัตโนมัติเป็นคนละเรื่องกัน  แต่ในทั้งสองกรณี เราต่างต้องการประสบการณ์ที่มากขึ้นในการสร้างต้นแบบและดำเนินงานทั้งสองระบบควบคู่กันไป จนกว่าจะหาคำตอบที่ชัดเจนได้ว่าองค์กรธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด

#5 บล็อกเชนจะมีบทบาทช่วยส่งเสริม GDP อย่างไร ?

เรายังไม่อาจรู้ครับ ในเชิงเปรียบเทียบ  ในประเทศที่พัฒนาแล้วเศรษฐกิจบนอินเทอร์เน็ตช่วยส่งเสริม GDP ของชาติได้ตั้งแต่ 5-12 เปอร์เซ็นต์  และนั่นคือความสำเร็จภายหลังระบบเว็บเกิดขึ้นแล้วถึง 23 ปี

จริงอยู่บริษัทที่ดำเนินงานด้วยสกุลเงินดิจิทัลได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว แต่จะเป็นอย่างไรถ้าพูดถึงผลกระทบรวมในแง่การสร้างความมั่งคั่งจริงให้กับประเทศ ระบบอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ  เรารู้ว่ามูลค่ารวมของสกุลเงินดิจิทัลที่ลอยอยู่ในท้องตลาดจะอยู่ที่คร่าวๆ ประมาณ 15,000 ล้านเหรียญเมื่อจบปี 2016 แต่นั่นก็เป็นแค่มาตรวัดในเชิงปริมาณที่สัมพันธ์กับการสร้างความมั่งคั่งเท่านั้น

เศรษฐกิจในเชิงดิจิทัลนี้จะดำเนินรอยตามเศรษฐกิจระบบเว็บ ด้วยการกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่สร้าง ความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจใหญ่ได้หรือไม่?  ผมเองก็หวังเป็นอย่างยิ่งครับ แต่ตอนนี้เรายังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของวิวัฒนาการเท่านั้น

#6 อัตลักษณ์บนบล็อกเชนดูแล้วมีอนาคตหรือไม่ ?

คนเราจะมีกี่อัตลักษณ์บนบล็อกเชนนับว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจ  หนึ่งในคำตอบที่ดูเป็นไปได้คือ เราจะมีอัตลักษณ์บนบล็อกเชนเทียบเท่ากับจำนวนการ์ดที่อยู่ในกระเป๋าสตางค์จริงๆ  บวกกับจำนวนอัตลักษณ์ออนไลน์ที่เคยสร้างขึ้นทั้งหมด ทั้งนี้เพราะว่าอัตลักษณ์บนบล็อกเชนคือการนำอัตลักษณ์ในโลกจริงเข้ามาสู่โลกออนไลน์ เพื่อความเป็นไปได้ในการผสานปัจจัยความน่าเชื่อถือระหว่างสองขอบเขตกึ่งเสมือนจริงนี้

อัตลักษณ์บนบล็อกเชนเป็นเหมือนคำมั่นสัญญาซึ่งทำให้เราสามารถบริโภคบริการที่หลากหลายบนพื้นฐานที่สามารถเชื่อถือได้  โดยที่เราไม่จำเป็นต้องแสดงตัวตนทางกายภาพ อย่างเช่นการออกเสียงเลือกตั้งทางไกล เป็นต้น

แอปพลิเคชันอะไรจะเป็นไม้ตายสำหรับอัตลักษณ์บนบล็อกเชน: แอปเลือกตั้ง แลกเปลี่ยน โซเชียลเน็ตเวิร์ค ร้านค้าออนไลน์ แอปบริการผู้บริโภค หรือว่าอื่นๆ สุดท้ายแล้วเราจะมีอัตลักษณ์มากมายหรือเพียงแค่หยิบมือ การเชื่อมโยงตัวตนเหล่านี้จะเป็นแค่สายใยที่เพ้อฝันหรือว่ามันจะมีคุณค่าขึ้นมาจริงๆ

#7 เราสามารถทำกฎหมายให้เป็นรูปแบบของโค้ดได้หรือไม่ ?

มีความคาดหวังที่สูงมากเกี่ยวกับระบบสัญญาอัจฉริยะบนบล็อกเชน  คู่สัญญาจะสามารถจ่ายเงิน เปลี่ยนแปลงเงื่อนไข และประกาศการตัดสินใจได้จริงหรือไม่  บางทีอาจง่ายกว่าที่จะทำกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันให้กลายเป็นรูปของโค้ดและเราควรจะเริ่มจากตรงนั้น  แทนที่จะร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ แถมพยายามเขียนให้กลายเป็นโค้ดทั้งที่มันยังไม่ได้รับการรับรอง

สัญญาอัจฉริยะจะสามารถควบคุมการดำเนินงาน การตัดสินใจ ผู้ถือหุ้น รวมถึงทิศทางในอนาคตของบริษัทได้หรือไม่  เราต้องระมัดระวังและไม่เร่งรัดในการนำมันมาใช้ ตราบใดที่ยังไม่เข้าใจถึงนัยแฝงของข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นได้โดยสมบูรณ์

จากกรณี การพุ่งทะยานและดิ่งลงเหวของ DAO ที่ถูกกล่าวถึงอย่างหนาหู มีการใส่ระบบอัตโนมัติลงในสัญญาอัจฉริยะซึ่งเปรียบเสมือนลูกนกที่เพิ่งหัดบินมากจนเกินไป ผลคือระบบดำเนินการกลับตาลปัตรแบบที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้ด้วยมือมนุษย์ (ยกเว้นด้วยการใช้ hardfork)

ความเป็นอัตโนมัติดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายอันดื้อรั้นของ DAO เหล่าวิศวกรผู้แสนกระตือรือร้นทั้งหลายต้องการจะใส่พลังลงไปในสัญญาอัจฉริยะที่พวกเขาสร้างขึ้น เพียงเพราะตอนนี้ทั้งเงิน กฎเกณฑ์ทางธุรกิจ ความรับผิดชอบ และอำนาจการตัดสินใจสามารถนำมายำรวมกันเป็นโปรแกรมขนาดมหึมาได้แล้ว

เราจะได้เห็นอะไรที่เหมือนหัวหน้าใหญ่ของสัญญาอัจฉริยะซึ่งออกมาเพื่อควบคุมสัญญาอัจฉริยะอื่นๆ อีกทีหรือไม่ ภาษา Turing เหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างสูงสุดหรือเป็นเพียงจุดอ่อน ของสัญญาอัจฉริยะกันแน่

#8 เครือข่ายบล็อกเชนจะปลอดภัยกว่าเครือข่ายธนาคารที่มีในปัจจุบันหรือไม่ ?

เมื่อกล่าวถึงการเจาะระบบความปลอดภัยซึ่งเกี่ยวข้องกับบล็อกเชนที่ยังดำเนินการอยู่ (เช่น DAO หรือ Bitfinax ยกตัวอย่างเฉพาะสองเคสล่าสุดที่เห็นได้ชัด) คำถามหลักเบื้องต้นที่สำคัญที่สุดคือ: ท้ายที่สุดแล้วเราจะเห็นระบบความปลอดภัยของบล็อกเชนเป็นของตาย เช่นเดียวกับที่เห็นความปลอดภัยระดับธนาคารเป็นของตายหรือเปล่า หรือนี่ยังเร็วไปมากเมื่อเทียบกับวงจรชีวิตของบล็อกเชนที่เราจะคาดหวังความยืดหยุ่นทางความปลอดภัยอย่างเต็มรูปแบบ

ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่คาดหวังให้ความปลอดภัยของบล็อกเชนเทียบเท่ากับสิ่งที่เรียกกันติดปากว่าความปลอดภัยระดับธนาคาร”  แม้วันนี้เราจะยังไปไม่ถึงจุดนั้น  อย่างไรก็ตามเราไม่ควรลืมว่าธนาคารจริงๆ เองก็มีประวัติศาสตร์การถูกโจรกรรมมาอย่างโชกโชน  เริ่มตั้งแต่สมัยปี 1800 ในยุค Wild West ในสหรัฐฯ แถมยังคงมีการโจรกรรมธนาคารที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขโมย เจาะระบบ และบุกปล้นอย่างอุกอาจที่มีมาจนถึงทุกวันนี้

ท้ายที่สุดแล้วความไม่มั่นคงต่างๆ ของระบบรักษาความปลอดภัยของบล็อกเชนควรจะต้องกลายเป็นอดีต เพราะความปลอดภัยนับเป็นปัจจัยที่สำคัญมากหากบล็อกเชนต้องการจะเติบโตในอนาคต

#9 บล็อกเชนจะมีปฏิสัมพันธ์กับบล็อกเชนอื่นๆ อย่างไรในโลกแห่งความจริง ?

เป็นคำถามที่ถูกสงสัยเข้ามามากเหลือเกิน และเป็นสิ่งที่เราแทบยังไม่เข้าไปแตะหรือคาดหวังจะหาคำตอบที่ทะลุปรุโปร่งได้ในปี 2017

รวมถึงคำถามอื่นๆ อย่างเช่น: จะมีวิธีพื้นฐานใดที่เราจะเข้าถึงข้อมูลที่อยู่นอกห่วงโซ่ได้หรือไม่  องค์กรแบบกระจายศูนย์จะกู้ความน่าเชื่อถือคืนมาในสายตาของหน่วยบริการแบบรวมศูนย์ได้ไหม  บล็อกเชนหลายๆ ตัวจะทำงานร่วมกันที่ระดับการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ได้หรือจะต้องใช้ตัวเชื่อมอื่นๆ อย่างไร  เมื่อเราเชื่อมต่อกับบล็อกเชนได้แล้วยุคอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things)” จะมาถึงจริงหรือ  จะมีบล็อกเชนรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากแบบสาธารณะและส่วนบุคคลอีกไหม  บล็อกเชนจะบันทึกและอัพเดทสถานะในโลกจริงได้อย่างไร  หรือเราควรจะปรับกิจกรรมทุกอย่างให้เหมาะสมกับกิจกรรมบนบล็อกเชน  การย้ายสินทรัพย์ข้ามบล็อกเชนจะเป็นฝันร้ายแห่งการรวมฐานข้อมูลหลายๆ ตัวเข้าด้วยกัน หรือมันจะง่ายกว่านั้นเยอะ

#10 บริษัทใหญ่ๆ จะยอมฉีกกรอบการดำเนินงานแบบเดิมๆ ของตัวเองไหม ?

ความลำบากของนักนวัตกรรมแทบทุกคนคือการก้าวข้ามกำแพงของบรรดาบริษัทใหญ่ๆ  แม้แต่อินเทอร์เน็ตเองก็ไม่มีข้อยกเว้น  อย่างที่เราเห็นว่ามีผู้เล่นรายใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า ที่ยอมปรับตัวใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยของเว็บ  ส่วนหลายธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมกลับรับบทบาทเป็น ผู้รับผลกระทบจากอินเทอร์เน็ตแทน  ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ ร้านค้าปลีก ร้านหนังสือ เอเจนซี่ท่องเที่ยว โบรคเกอร์หุ้น นายทุน ธุรกิจรับชำระเงิน ไปรษณีย์ และอื่นๆ ต่างต้องทนดูธุรกิจของพวกเขาถูกอินเทอร์เน็ตเข้ามาแทนที่

การนำบล็อกเชนเข้ามาใช้อาจทำให้บริษัทใหญ่ๆ ต้องวุ่นกันไปอีก 10 ปีต่อจากนี้ เพื่อปรับโครงสร้างการดำเนินงานของพวกเขาใหม่ให้รองรับและได้รับประโยชน์จากบล็อกเชนที่จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนและพัฒนาระบบปฏิบัติการ  แต่พวกเขาจะยอมออกนอก comfort zone หรือ  พวกเขาจะยอมเปลี่ยนแปลงระบบปฏิบัติการปัจจุบันที่อยู่ตรงหน้าหรือไม่

หากธนาคารกลางที่งุ่มง่ามมาตลอดเรื่องบล็อกเชนยอมรับเอาสกุลเงินดิจิทัลเข้ามาใช้ นั่นจะหมายถึงพวกเขาแค่ต้องการทดลองหรือมันคือสิ่งที่พวกเขาเชื่อและมองเห็นอนาคตจริงๆ กันแน่

สิ่งที่เรายังไม่รู้ในเชิงกลวิธี

#11 เมื่อไหร่เราจะเห็นบล็อกเชนเข้าถึงผู้ใช้ในวงกว้าง ?

เมื่อไหร่ก็ตามที่มีแอปฯ ที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เชิงเทคนิคเกี่ยวกับบล็อกเชน  กระเป๋าสตางค์ดิจิทัลในยุคแรกถือว่ามีความใกล้เคียงกับบล็อกเชนมากและยังไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้มากพอ อย่างน้อยก็ไม่ใช่สำหรับผู้บริโภคกลุ่มใหญ่

บางทีเราอาจกำลังรอให้มีบล็อกเชนที่ทำงานได้เทียบเท่ากับเว็บไซต์  เพราะระบบ World Wide Web นี่เองคือผู้ให้บริการหน้าฉากที่ใช้งานง่ายโดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องกังวลกับการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการเข้าถึงข้อมูล  สุดท้ายเราจะสามารถเปลี่ยนบทสนทนานี้จากเชิงเทคนิค ให้กลายเป็นเชิงธุรกิจได้หรือไม่

#12 Regulators (ผู้มีหน้าที่กำกับดูแล) จะมีบทบาทและสร้างผลกระทบอย่างไรบ้าง ?

ในบล็อกเชนส่วนใหญ่ Regulators ยังไม่ได้เข้ามารับบทหนักเท่าไหร่  แต่แน่นอนว่าพวกเขาจะถูกผูกให้ต้องมีบทบาทในที่สุด  ที่เรายังไม่รู้คือพวกเขาจะเข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลง อัปเดต ทดสอบ สนับสนุน หรือว่าขัดขวางนวัตกรรมบล็อกเชนกันแน่

Regulators ที่มีการอัปเดตอย่างเหมาะสม จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพของบล็อกเชนได้เป็นอย่างดี  มีทฤษฎีใหม่หลายตัวเกี่ยวกับการกำกับควบคุมบล็อกเชนที่จะวาง Regulators ไว้เป็นบัพบนเครือข่าย  เหมือนเครื่องสังเกตการณ์อื่นๆ เขาจะสามารถปรากฏตัว หายตัว และแทรกซึมเข้าไปตรวจสอบ และตอบสนองในทุกระดับชั้นของธุรกรรมได้

อย่างไรก็ตามเรายังไม่เคยเห็น Regulators ที่เข้ามาอยู่ตรงจุดนี้อย่างเป็นทางการ  อีกทั้งยังคงต้องรอดูการทดสอบให้มากกว่านี้ก่อนจะนำดอกผลของมันมาใช้งานจริง

#13 ระบบตรวจสอบ Proof of Work (POW) ดูแล้วมีอนาคตระยะยาวหรือไม่ ?

ระบบปฏิบัติการ Proof of Work (POW) จะขยายตัวออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด หรือวิธีใหม่ที่คนส่วนใหญ่เห็นพ้องกันมากกว่าอย่าง Proof of Stake จะเข้ามาแทนที่?  เรารู้ทุกอย่างที่ควรรู้ในเชิงเศรษฐกิจและความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบปฏิบัติการที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าดีนี้แล้วหรือยัง

คำถามที่ตามมาจากคำถามแรกคือ: เหล่านักขุดเหมืองจะยังคงมีบทบาทสำคัญในวงจรนี้ หรือว่างานของพวกเขากำลังจะถูกคุกคาม  ยิ่งไปกว่านั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะสร้างบล็อกเชนสาธารณะซึ่งไม่ถูกควบคุมโดยผลกำไรน้อยนิดจากการทำเหมือง Bitcoin

ผมจะขอเตือนความจำเราทุกคนด้วยสิ่งที่ Tim Berners-Lee พูดตอนที่พวกเขาปล่อยให้เทคโนโลยีเว็บไซต์ กลายเป็นของสาธารณะอย่างสมบูรณ์แบบว่าคุณจะวางแผนปล่อยบางอย่างออกสู่จักรวาล และพยายามควบคุมมันไปพร้อมๆ กันไม่ได้หรอก

ท้ายที่สุดเราจะสามารถมีบล็อกเชนที่ปลอดภัยโดยไม่พึ่งระบบการให้ Bitcoin ที่มีมูลค่าเป็นเครื่องตอบแทนในการรักษาความปลอดภัยให้มัน หรือโดยไม่ต้องเรียกมันว่า เป็นบล็อกเชนส่วนบุคคลที่ผ่านการอนุญาตได้หรือไม่

#14 ICOs สุดท้ายแล้วจะรุ่งหรือร่วง ?

ทุกวันนี้โครงการเสนอขายเงินดิจิทัลในระยะเริ่มต้น (Initial Cryptocurrency Offerings หรือ ICOs) ผุดขึ้นเรื่อยๆ เป็นดอกเห็ด ไม่ต่างจากตอนที่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตพากันเร่งรัดเข้าสู่ตลาดหุ้นในปี 1999 บริษัทที่ยังครึ่งๆ กลางๆ และไอเดียต่างๆ เร่งกลั่นตัวออกมาเป็นโครงการเพียงเพื่อจะเผชิญกับความโหดร้าย ของตลาดสาธารณะในภายหลัง

การเลือกเส้นทางสร้าง ICO โดยอาศัยแคมเปญระดมทุนจากสาธารณะนั้นเกือบจะเหมือนการเปิดตัวเป็น บริษัทมหาชนตั้งแต่วันแรกของการดำเนินงาน  มันไม่ง่ายเลยกับการต้องถูกจับจ้องโดยสายตาของประชาชน และบริษัทที่ไม่สามารถสร้างมาตรฐานความโปร่งใสในระดับสูงได้ไม่ควรจะเลือกเดินเส้นทางนี้

ในพายุความไม่แน่นอนของการประเมินค่า ICOs เรายังคงไม่มีทางรู้ว่าเทรนด์นี้จะกลายมาเป็นบรรทัดฐาน ของวิธีการระดมทุนเมื่อมีเงินดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้องรึเปล่า

นอกจากนั้นเรายังคงอยู่ในระหว่างการพยายามตรวจสอบหลายๆ หน้าที่ที่เงินดิจิทัล (หรือโทเค่น) เข้าไปมีบทบาท: มันคือตัวแทนของสิ่งที่เกิดขึ้นจากเน็ตเวิร์ค ผลประโยชน์โดยเนื้อแท้ รางวัล หรือว่าเครื่องมือในทางทฤษฎีกันแน่

#15 มาตรฐานแบบไหนจะถือกำเนิดขึ้น ?

ในปี 2016 การรอคอยมาตรฐานของบล็อกเชนแทบจะเหมือนการรอคอย Godot ในละคร Waiting for Godot  แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายสักเท่าไหร่  การออกมาตรฐานที่เร็วเกินไปอาจทำร้ายตัวอุตสาหกรรม บล็อกเชนเอง  เพราะคนยังต้องการเห็นเทคโนโลยีนี้เบ่งบานต่อไปอีกหน่อย

มาตรฐานของบล็อกเชนเป็นประเด็นที่ซับซ้อน และมันแผ่ขยายออกไปไกลเกินกว่าจะมองเป็นแค่ความท้าทายในการทำงานร่วมกันได้  เราอาจจำเป็นต้องมีชุดมาตรฐานในเชิงเทคนิค ธุรกิจ และกฎหมาย ทว่ายังไม่รู้จริงๆ ว่าจะเป็นอันไหนกันแน่ หรือมาตรฐานที่มีอยู่แล้วตัวไหนจะต้องได้รับการอัพเดทแทนที่จะคิดทุกอย่างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด

นวัตกรรมเทคโนโลยีก้าวหน้าเร็วกว่าการควบคุมและมาตรฐานที่อยากจะจับมันใส่กรอบเพื่อตีตราเสมอ  แต่ถ้าคุณพยายามจับภาพเคลื่อนไหวใส่กรอบเร็วจนเกินไป  คุณภาพภาพที่ออกมาก็จะไม่ชัดเจน และแน่นอนว่าคุณจะอยากหาอะไรมาแทนที่มันเพียงไม่นานหลังจากนั้น

#16 อะไรคือผลกระทบของคอมพิวเตอร์ระบบควอนตัมบนบล็อกเชน ?

ในทางทฤษฎีคอมพิวเตอร์ระบบควอนตัมอาจลดความยืดหยุ่นของความปลอดภัยบนบล็อกเชนได้ เพราะมันส่อเค้าจะทำลายความแข็งแรงของการเข้ารหัส

คอมพิวเตอร์ระบบควอนตัมจะกลายมาเป็นภัยอย่างหนึ่งที่ต้องเผชิญหรือการเข้ารหัสของบล็อกเชนจะได้ประโยชน์จากมันในแง่การพัฒนาตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้นตามจนผลสุดท้ายออกมาอยู่ในรูปของคู่ต่อสู้ที่เท่าเทียมกันแน่

#17 ตัวกลางรูปแบบใหม่จะมีหน้าตาแบบไหน ?

เราให้คำจำกัดความบล็อกเชนว่าเป็นเครือข่ายแบบคนต่อคน ที่มูลค่าทุกอย่างแพร่สะพัดโดยไม่มีตัวกลาง  แต่ในความเป็นจริงคือตัวกลางรูปแบบใหม่กำลังจะเกิดขึ้นต่างหาก

กิจกรรมส่วนมากของบล็อกเชนมุ่งเน้นไปที่การบริการทางการเงิน  เนื่องจากธุรกิจสตาร์ทอัพหลายตัวมองว่าธนาคารคือตัวกลางที่กำลังจะหายไป  แต่ที่นอกวงการบริการทางการเงินล่ะ  อุตสาหกรรมอื่นๆ จะโชว์การนำบล็อกเชนไปใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง รัฐบาล พลังงาน และแวดวงสุขภาพดูจะเป็นคู่แข่งที่ดี  แต่การนำบล็อกเชนไปใช้จริงนั้นยังคงมีน้อยและระดับความก้าวหน้าก็ยังห่างชั้นมาก

การเชื่อมโยงบล็อกเชนไปสู่สินทรัพย์ที่เป็นรูปธรรมในโลกจริงโดยไม่ใช้คนกลางที่วางใจได้จะเป็นไปได้จริงหรือเปล่านะ

#18 กลุ่มการค้าร่วมจะประสบความสำเร็จหรือเป็นเพียงบันไดขั้นหนึ่ง ?

มีกลุ่มการค้าร่วมต่างๆ อย่างน้อย 25 กลุ่มซึ่งเป็นการรวมกันของหลายประเภทธุรกิจและอุตสาหกรรม  ทั้งหมดมีจุดประสงค์คือสร้างผลประโยชน์ร่วมกันให้บรรดาสมาชิก

การรวมกลุ่มธุรกิจเป็นเรื่องยาก  มันไม่ง่ายเลยที่จะดึงหลายบริษัทที่แตกต่างกันมาทำงานร่วมกัน  คุณต้องมีระบบดำเนินการที่มีวินัย มีความหนักแน่น อดทน และยืนหยัดต่อการเมืองภายใน รวมถึงปัญหาด้านวุฒิภาวะหลายๆ อย่างให้ได้  

ส่วนที่ดีที่สุดคือมันทำให้สนามแข่งมีความเท่าเทียมขึ้นในหมู่สมาชิก และช่วยให้ทุกบริษัทเดินหน้าร่วมกันได้  ดังนั้นการเข้ากลุ่มการค้าร่วมจึงไม่ได้ให้ผลประโยชน์ในเชิงแข่งขัน  ซึ่งนั่นเองคือสาเหตุ ที่สมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่ยังคงต้องมีความคิดริเริ่มในการทำบล็อกเชนอื่นควบคู่ไปด้วย

การรวมกลุ่มจะพาพวกเขาไปสู่เป้าหมายได้ไหม หรือท้ายที่สุดแล้วมันจะเป็นแค่สะพานนำไปสู่กิจกรรมรูปแบบอื่นกันแน่

#19 สกุลเงินดิจิทัลจะเปลี่ยนนิยามของยุคเศรษฐกิจอิงกระแสไปหรือไม่ ?

คนเรามีแนวโน้มที่จะใช้เวลากับกิจกรรมออนไลน์ซึ่งไม่ก่อรายได้มากขึ้นทุกวัน ทว่าเราจะยอมเสียเวลาฟรีๆ แบบนี้กันต่อไปเรื่อยๆ หรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น การเล่นโซเชียลมีเดียคือกิจกรรมที่เสียเวลาไปแบบเปล่าๆ โดยไม่มีผลประกอบการทางการเงินโดยตรง  จะเป็นอย่างไรถ้าเราอัดฉีดสกุลเงินดิจิทัลเข้าไป

ในกิจกรรมเหล่านี้เพื่อสร้างเป็นหน่วยมูลค่าใหม่  มันจะเป็นแรงจูงใจที่ดีพอให้เกิดการสร้างสรรค์ประโยชน์ และพัฒนาคุณภาพได้หรือไม่

สกุลเงินดิจิทัลใช่เชื้อเพลิงที่ขาดหายไปซึ่งจะมาช่วยผลักดันเศรษฐกิจในยุคอิงกระแสให้เคลื่อนตัวอีกครั้งหรือเปล่า

#20 บล็อกเชนส่วนบุคคลจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ?

โลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันของบล็อกเชนจะมีหน้าตาอย่างไร  หรือพวกมันทั้งหมดจะทำงานร่วมกันได้เป็นหนึ่งเดียว

ถ้าโลกนี้มีอินเทอร์เน็ตมากกว่าหนึ่งระบบ ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันคงจะไม่เบ่งบานอย่างที่เป็นตลอดเวลาที่ผ่านมา

แน่นอนว่าเส้นทางไปสู่ระบบบล็อกเชนหลายเครือข่ายและบัญชีธุรกรรมสาธารณะกำลังถูกสร้างอยู่  แต่เรายังคงไม่เข้าใจเต็มร้อยว่า Network Effect ที่จำเป็นจะได้รับผลกระทบอย่างไร จากความทวีคูณของเครือข่ายบล็อกเชน

บล็อกเชนส่วนบุคคลจะเกิดขึ้นเพียงรูปแบบเดียวคือเป็นของกลุ่มการค้าร่วม  หรือจะมีรูปแบบอื่นๆ ในทำนองเดียวกับเว็บไซต์ส่วนบุคคล  บริษัทหนึ่งๆ จะมีแอปพลิเคชันบล็อกเชนเป็นของตัวเอง เพื่อรองรับลูกค้าเฉพาะของพวกเขาหรือไม่

จงอย่าหยุดมองไปข้างหน้า

จุดประสงค์ของเช็คลิสท์นี้ไม่ใช่เพื่อให้มองในแง่ร้าย แต่เพื่อให้มองเห็นตามความเป็นจริง

เป็นเรื่องดีเสมอที่คนเราจะมองให้ไกลถึงสิ่งที่ต้องเจอในภายภาคหน้า  แม้กระทั่งตอนที่กำลังดื่มด่ำกับความหวังและความตื่นเต้นก็ตาม

คนที่มองโลกในแง่ดีจะบอกให้คุณเชื่อ พวกช่างกังขาจะอยากให้คุณลืมมันไป ส่วนคนที่มองโลกตามจริง (อย่างผม) จะสนับสนุนให้คุณคิดเยอะๆ และระวังตัวไว้เสมอ

ข่าวลือในหลายประเด็นที่ผมได้แจกแจงไปแล้วยังคงแพร่สะพัดอยู่ทั่วไป  สำหรับการนำแนวทางในวันนี้ไปปฏิบัติจริง  ผมแนะนำให้คุณทำการบ้านด้วยตัวเองโดยเลือกบล็อกเชนใดๆ ก็ตามที่ตัวคุณมีส่วนเกี่ยวข้อง ลิสท์รายการของสิ่งที่คุณยังไม่รู้ หาแนวทางเพื่อกำจัดความคลุมเครือ และเปลี่ยนเรื่องที่ไม่รู้เหล่านั้นให้กลายเป็นเรื่องที่คุณรู้

จากนั้นคุยกับคนอื่นๆ ที่อยู่นอกจักรวาลบล็อกเชนของคุณ  ถามพวกเขาว่ามีความเห็นยังไงบ้างกับโครงการ และไอเดียของคุณ  เหมือนกับเด็กๆ พวกเขาอาจพูดอะไรที่ขัดใจที่สุด แต่พวกเขาไม่โกหก และนั่นจะดึงคุณกลับมาสู่พื้นฐานแห่งความเป็นจริง

หลังผ่านการใช้งานมากว่าสองทศวรรษ  เราสามารถพูดได้ว่าวันนี้เว็บไซต์กลายเป็นลูกแมวเชื่องๆ ไปแล้ว เนื่องจากมีประเด็นที่เราไม่รู้เกี่ยวกับมันน้อยมาก (ไม่นับปริศนาเร้นลับของการแฮ็กข้อมูล) ในทางตรงกันข้าม อาณาจักรแห่งบล็อกเชนกำลังเดือดพล่านไปด้วยความคลุมเครือ เป็นความคลุมเครือที่เราไม่อาจก้าวข้ามได้ และจะยังเป็นเช่นนี้ไปอีกหลายปีจนกว่านวัตกรรมนี้จะไปถึงจุดที่สุกงอมเต็มตัว

การเปิดประเด็นสิ่งที่เรารู้แล้วว่ายังไม่รู้เป็นเพียงส่วนง่าย ที่ยากกว่าคือการหาสิ่งที่เราไม่รู้ว่ายังไม่รู้ต่างหาก แต่กว่าจะไปให้ถึงจุดนั้นได้เราคงต้องรอไปอีกปีก่อนครับ!

ที่มา: Coindesk.com

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...