ถอดแนวคิดกับ 4 ความท้าทาย ในการแข่งขันของประเทศไทย กับ ธีรนันท์ ศรีหงส์ | Techsauce

ถอดแนวคิดกับ 4 ความท้าทาย ในการแข่งขันของประเทศไทย กับ ธีรนันท์ ศรีหงส์

ในปัจจุบัน เราไม่สามารถปฏิเสธสถานการณ์และปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Geo politics ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน หรือ ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ล้วนส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจและชีวิตของคนไทย

ซึ่ง TMA หรือ สมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย นำโดย คุณธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูล รวมถึงถอดแนวคิดการแก้ปัญหาความท้าทายที่เกิดขึ้น ให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าและเติบโตได้อย่างยั่งยืน ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ภาพรวมการทำงานของ TMA

TMA เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร มุ่งเน้นการสร้างผู้บริหารที่มีความสามารถ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับองค์กรและประเทศ การทำงานของ TMA คือการสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงความร่วมมือและองค์ความรู้จากทั่วโลก โดยเฉพาะ การร่วมมือกับ Internation Institute for Management Development (IMD) จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มาบูรณาการและขยายขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย ด้วยการจัดงาน Conference เพื่อเป็นพื้นที่เชื่อมต่อภาครัฐและเอกชน ในการขับเคลื่อนประเทศ

IMD Ranking ของประเทศไทยในปี 2023 เป็นอย่างไร

ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2023 ประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นถึง 3 อันดับ โดยเฉพาะด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ที่มีอันดับดีขึ้นถึง 18 อันดับทำให้ไทยมีอันดับดีขึ้น 3 อันดับมาอยู่ในอันดับที่ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจ

ซึ่งในการจัดอันดับของ IMD Ranking จะคำนึงถึง 4 ประเด็นหลัก

  • สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) จากปัจจัยการลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อน และการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) รวมถึงบริการและรายได้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีหลังเปิดประเทศ ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัว
  • ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) จากปัจจัยกรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional Framework) และกฎหมายธุรกิจ (Business Legislation) ที่เอื้อต่อการลงทุนและการดำเนินงาน
  • ประสิทธิภาพของภาคเอกชน (Business Efficiency) จากปัจจัยการผลิตและประสิทธิภาพ (Productivity & Efficiency) 
  • โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) จากปัจจัยโครงสร้างด้านเทคโนโลยีในประเทศ (Technological Infrastructure)

สำหรับประเทศไทย แนวโน้มผลการจัดอันดับในช่วงที่ผ่านมา มีอันดับความสามารถในการแข่งขันค่อนข้างคงที่ แต่มักมีความผันผวนในปีที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกหรือสถานการณ์ภายในประเทศ ทุก ๆ ประเด็นของการวัดผลของประเทศไทย ต่างปรับอันดับดีขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า ปีที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนของไทยสามารถปรับตัว พัฒนาตนเองได้ดีขึ้นในการรับมือกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่สุดของไทยคือ การศึกษา สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นรากฐานที่จะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันในด้านต่าง ๆ ของประเทศให้พัฒนาได้อีกมาก รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีความแข็งแกร่ง และก้าวหน้าเท่าทันกับประเทศอื่น ๆ อย่างเร่งด่วน

4 เรื่องท้าทายของประเทศไทย และ แนวทางการแก้ปัญหา

ทางคุณธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยว่า มี 4 เรื่องที่นับว่าเป็นความท้าทายของประเทศไทย

  1. กฎเกณฑ์ (Regulations) ในประเทศไทย คุณธีรนันท์มองว่าในการเข้ามาลงทุนหรือการทำธุรกิจยังมีข้อจำกัดและความยุ่งยากทางกฎหมายอยู่ ซึ่ง Policymakers หรือหน่วยงานที่ออกกฎบังคับมักจะออกกฎเพิ่ม แต่ก็ลืมกลับไปมองกฎหมายเดิมที่ยังบังคับใช้อยู่ ทำให้นักลงทุนที่มองหาโอกาสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หันไปมองสิงคโปร์มากกว่า เพราะกฎหมายไทยยังไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะ Regulatory Guillotine ที่ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ การปรับปรุงและยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ และการดำเนินธุรกิจของประชาชน ซึ่งคุณธีรนันท์มองว่า ภาครัฐไทยสามารถอำนวยความสะดวกให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจด้วย One Stop Service ที่สามารถประยุกต์ใช้ และปรับเปลี่ยนได้ในอนาคต 
  2. Qualities of supplies ในทีนี้คุณธีรนันท์หมายถึง บุคลากรคุณภาพ ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย เพราะจริง ๆ แล้ว ภาครัฐต้องร่วมมือและทำงานร่วมกันทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น ความสามารถในการพัฒนาบุคลากรตั้งแต่ระดับการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงแรงงาน ที่ต้องเล็งเห็นในการสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพ ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย นวัตกรรมรวมไปถึงการ Upskill และ Reskill ให้บุคลากรของประเทศไทย
  3. Health and Environment ในเรื่องของสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ยังมีความเหลื่อมล้ำในประเทศอยู่มาก หากเทียบกันในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ และ ต่างจังหวัด ที่ประชาชนบางส่วนยังไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่ดี และระบบสาธารณสุขที่ดีได้ ซึ่งเป็นรากฐานในการส่งเสริมให้ประชาชนมีศักยภาพเพียงพอให้การต่อยอดและสร้างโอกาสทางการแข่งขันให้กับประเทศได้
  4. ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจในทุก Sectors คุณธีรนันท์ให้ความเห็นว่า Sector ที่สำคัญในภาคธุรกิจคือ ภาคเกษตรกรรม (Agriculture) ภาคการผลิต (Manufacturing) ภาคการบริการ (Service) โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่ยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะถือเป็นภาคธุรกิจหลักของประเทศที่จำเป็นต้อง Transform และการรวมตัวของภาคเกษตรกรรมที่จะสามารถต่อรองในการเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม และ เงินทุนที่เหมาะสม (Innovation + Financial Support) ในส่วนของภาคบริการ การส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องทำ เพราะภาคการบริการคือเป็น Income Generator หลักของประเทศ

โดยเรื่องหลัก ที่ TMA เล็งเห็นแล้วว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อผลักดันประเทศให้เดินหน้าต่อได้อย่างยืน คือ

  1. ภาครัฐและภาคเอกชน ต้องพูดเรื่องเดียวกัน ต้องเล็งเห็นถึงความท้าทายในประเด็นที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ทั้ง กฎเกณฑ์ การศึกษาและศักยภาพของบุคลากร และระบบสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมให้คนไทยได้เข้าถึง มีกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการลงทุนและทำธุรกิจ
  2. กลไกลในการทำงานของแต่ละเรื่อง เช่น หากภาครัฐมีแผนงานออกมาอย่างชัดเจนแล้ว จำเป็นต้องตั้ง KPI ในการวัดผลนั้นคืออะไร แล้วหน่วยงานใดที่จะขับเคลื่อนกลยุทธ์และยุทธศาสตร์ได้อย่างชัดเจน มีคนรับผิดชอบที่จะทำ Execution ให้ออกมาได้ รับผิดชอบการดำเนินงานไปจนบรรลุผล

ซึ่งทั้งหมดคือสิ่งที่ ทาง TMA ได้เล็งเห็นแล้วว่าจำเป็นจะต้องดำเนินการแก้ไข จัดตั้งหน่วยงานที่จะมีการดำเนินงานที่ชัดเจน ที่จะสามารถกลับไปตอบโจทย์ความท้าทายที่เกิดขึ้นใน 4 เรื่องแรกได้ เพราะปัจจุบัน

กฎเกณฑ์บ้านเราไม่เอื้อต่อการพัฒนาธุรกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

Thailand Competitiveness Conference 2023

การสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2023 เป็นเวทีในการรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในระดับสากล ได้รวบรวมและเปิดโอกาสสำหรับกลุ่มผู้นำทางความคิด ผู้วางนโยบาย ผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชน และนักวิชาการที่จะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หารือแนวทางในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศภายใต้บริบทของความเปลี่ยนแปลง ให้ทุกภาคส่วนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

โดยมีไฮท์ไลท์ Keynote Speakers ระดับโลก อย่าง H.E. Kertsi Kaljulaid อดีตประธานาธิบดีของประเทศเอสโตเนีย จะมาพูดถึงเรื่องการผลิกโฉมประเทศแบบ Digital Transformation จาก 0-100 เป็น Best Practice ด้าน Digital Goverment และ Professor Kishore Mahbubani Distinguished Fellow, Asai Research Institute, National University of Singapore ที่จะมาไขอนาคตของ Geo Politics ที่ส่งผลต่อการค้าและการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึง Speakers ชั้นนำอีกมากมาย

Thailand Competitiveness Conference 2023 จัดขึ้นวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2566 เวลา: 09:00 - 16:30 น. สถานที่ Waldorf Astroria Bangkok Hotel โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม และซื้อบัตรได้ที่ Thailand Competitiveness Conference 2023

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...