7 แง่คิดจากงานสัมมนา "วิถีสตาร์ทอัพ ฝัน กล้า บ้า ลุย" | Techsauce

7 แง่คิดจากงานสัมมนา "วิถีสตาร์ทอัพ ฝัน กล้า บ้า ลุย"

ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนา “วิถีสตาร์ทอัพ ฝัน กล้า บ้า ลุย” ซึ่งเป็นงานสัมมนาเปิดตัวหนังสือ วิถีสตาร์ทอัพ ที่เป็นการรวบรวมบทเรียนและความสำเร็จของสตาร์ทอัพไทยที่หลากหลายกว่า 18 บริษัท เขียนโดยคุณเล็ก อศินา พรวศิน (@lekasina) บรรณาธิการข่าวดิจิทัล หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น โดยในงาน ได้เชิญวิทยากรคือ คุณเล็ก อศินา ผู้เขียนหนังสือวิถีสตาร์ทอัพ และผู้ก่อตั้ง/ผู้บริหารของสตาร์ทอัพที่มีเรื่องราวในเล่มจำนวน 10 ท่าน มีทั้งที่เป็นสตาร์ทอัพดาวค้างฟ้าและดาวรุ่ง ได้แก่ คุณหมู Ookbee, คุณโบ้ท Builk, คุณไว Priceza, คุณยอด Wongnai, คุณปอ Shopspot, คุณอ้อ Jitta, คุณป้อม Favstay, คุณแจ็ค Claimdi,คุณแม็กซ์ Stock Radar, คุณเอม Hubba มีข้อสรุปที่น่าสนใจ แบ่งเป็น 7 แง่คิดมาเล่าสู่กันฟังสำหรับชาว Techsauce ค่ะ

%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%96%e0%b8%b5%e0%b8%aa%e0%b8%95%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b8%97%e0%b8%ad%e0%b8%b1%e0%b8%9e-%e0%b8%9d%e0%b8%b1%e0%b8%99-%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b9%89%e0%b8%b2-%e0%b8%9a

[toc]

แง่คิดที่ 1) วิถีการทำสตาร์ทอัพให้อยู่รอด

ดูเหมือนคุณสมบัติเด่นอันดับ 1 ที่ได้รับการโหวตจากวิทยากรทุกท่านบนเวทีว่าเป็นวิถีในการทำสตาร์ทอัพให้รอด คือ การมีความอดทนและอึด นั่นเอง คุณโบ้ท (Builk) กล่าวว่า เขาได้เรื่องความชาชินกับความผิดหวัง ทำ 10 อย่าง ผิด  8 อย่าง ทำแล้วไม่เป็นไปตามแผน แต่ก็ไปต่อ ปรับปรุงพัฒนาไปเรื่อยๆ  คุณเล็กอศินาเปรียบเทียบได้เห็นภาพว่า เหมือนการดำน้ำแข่งกัน ใครดำได้นานสุด ก็รอด

คุณปอ Shopspot เสริมเรื่องการปรับตัวให้ไว คุณไว Priceza เน้นว่าควรต้องโฟกัสว่า อะไรที่จะทำ อะไรที่จะไม่ทำ  และต้องมีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามสภาพตลาด

คุณหมู Ookbee แจกแจงได้ชัดเจน ว่าทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการทำสตาร์ทอัพ คือ เวลา บางเรื่องถ้าเราไม่ทำ คนอื่นก็จะทำ และอาจต้องทำตอนนี้เพื่อรอการมาของธุรกิจนั้นในอีก 3 ปีข้างหน้า นอกจากนั้นแล้ว การหมกมุ่น และการดู data เพื่อวัดผล ก็มีส่วนต่อการทำให้สตาร์ทอัพรอด โดยการดูสถิติของเดือนที่แล้ว, อาทิตย์ที่แล้ว, เมื่อวานนี้ แล้ววิเคราะห์ว่าเราจะก้าวต่อไปอย่างไร ถ้าเราต้องแข่งกับเราเมื่อวานนี้ให้ดีขึ้น เราต้องทำอะไรบ้าง เช่น หาวิธีทำให้ลูกค้าใช้จ่ายกับ Ookbee เฉลี่ยต่อเดือนสูงขึ้น จากวันละ 7 บาท เป็น 15 บาท เป็นต้น

คุณป้อม Favstay เล่าว่า ที่อยู่รอดเพราะฟังตัวเอง เชื่อตัวเอง คนอื่นพร้อมจะไม่เชื่อมั่นอยู่แล้ว และจะมีคนมากมายที่ไม่เข้าใจว่าเราต้องการจะทำอะไร ซึ่งมักจะได้รับการปฏิเสธไว้ก่อนสำหรับสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงต้องใช้ความพยายามสูงมาก

อีกเรื่องที่สำคัญ และน่าสนใจคือ การรับฟังคนที่ใช้งานสินค้าของเราจริงๆ (ในแง่การพัฒนาผลิตภัณฑ์) ไม่ใช่สิ่งที่คนทำผลิตภัณฑ์มโนจะถูก 100 %  ไม่ใช่ฟังแต่ตัวเอง จากบทเรียนที่คุณอ้อ Jitta บอกเล่าว่า ที่ต้องทิ้งผลิตภัณฑ์ที่ทุ่มเทพัฒนามาตลอด 1 ปี เพราะลูกค้าไม่มีใครต้องการใช้ เนื่องจาก feature เวอร์ชั่นแรกทำเยอะเกินไป สุดท้ายลูกค้าต้องการเพียง core feature 2 ข้อ คือ จะซื้อหุ้นอะไร และราคาเท่าไหร่ เท่านั้น  สรุป ใช้เวลาทำใหม่แค่ 3 สัปดาห์ ปรากฏว่าทำแล้วคนใช้ ดังนั้น จึงเป็นบทเรียนให้ฟังฟีดแบ็คเพื่อปรับปรุงเรื่อยๆ สร้างในลักษณะ prototype ขึ้นมาก่อน ไม่ต้องรอให้เจ๋งมากๆ พัฒนาเป็นปีแล้วค่อยเปิดให้คนใช้

แง่คิดที่ 2) วิถีการหาไอเดีย ในการทำสตาร์ทอัพ

ไอเดียนั้นหาได้จาก ข้างในตัวของเราเอง หรือปัญหาที่เราประสบ เช่น การหาซื้อของไลฟ์สไตล์เก๋ ๆ (Shopspot) หรือหาของกิน (Wongnai) คุณไว Priceza เสริมว่า ที่สำคัญขึ้นไปอีกคือ ต้องเป็นไอเดียที่มีตลาดที่ใหญ่พอ นอกจากนั้น คุณหมู Ookbee กล่าวว่า การมีไอเดีย ไม่ได้สำคัญเท่ากับการลงมือทำ การก้าวออกจาก comfort zone ยอมเหนื่อยเพื่อทำให้มันเกิดขึ้น การ implement แข่งกัน คนที่ทำจริง และทำหนักกว่า ตั้งใจกว่า ก็สำเร็จมากกว่า

แง่คิดที่ 3) วิถีการทำสตาร์ทอัพ

จากคำแนะนำของ 10 วิทยากรที่บรรยายในงานวันนั้นสรุปได้ว่า

(1) ขั้นแรก ต้องมีไอเดีย แล้วเช็คว่า เราเชื่อในไอเดียไหม ตอบโจทย์ผู้ใช้ไหม ตลาดใหญ่พอไหม

(2) ขั้นต่อมา ต้องหาทีม/ co –founder อาจใช้วิธีพรีเซนต์ให้เพื่อน ให้คนที่เราต้องการเชิญร่วมทีมฟัง แล้วมีคอมเมนต์อะไรก็นำมาพิจารณาปรับได้ ไอเดียวันแรก อาจไม่ใช่วันที่ใช้จริงเลย โดยคนในบริษัทควรมี 3 ประเภทคือ คนด้านธุรกิจ, ด้านดีไซน์ และด้านเทคโนโลยี

(3) ทำ Prototype ออกมาแล้วสอบถามลูกค้า ว่าจะใช้ไหม ยินดีที่จะบอกต่อไหม ยินดีจ่ายเงินไหม ดีในระดับแค่ควรมีใช้ หรือต้องใช้ให้ได้

(4) ตระหนักรู้หน้าที่ของ CEO คือ ต้องให้วิสัยทัศน์ (Vision) และคิดต่อว่าจะสเกลบริษัทอย่างไร หาคนมาช่วย หาเงินมาให้คนในบริษัท ที่จะสามารถช่วยให้ภาพวิสัยทัศน์นั้นเป็นจริงได้

(หมายเหตุ: คุณหมู Ookbee ให้เทคนิคในการสเกลตัวเอง ว่า ให้คิดว่า โลกนี้มีคนที่ทำได้ดีกว่าคุณ ในราคาที่ถูกกว่าคุณทำเอง โปรแกรมเมอร์เขียนโปรแกรมเก่งกว่าคุณ และใช้เวลาได้ถูกกว่าคุณ)

แง่คิดที่ 4) คำถามที่ใช้ตลอดเส้นทางการทำสตาร์ทอัพ

เพราะคำถามที่ถูกต้อง นำมาซึ่งคำตอบที่ถูกต้อง ดังนั้น วิทยากรแต่ละท่านจะมีการใช้คำถามต่อกลุ่มคนต่างๆ ในลักษณะนี้

ถามลูกค้า : ยินดีจ่ายเงินไหม/ ตอบโจทย์จริงๆ ไหม ระดับไหน / แค่ดีหรือต้องใช้อย่างยิ่ง

ถามทีมงาน : มองชีวิตตัวเองในอีก 5 ปีข้างหน้าว่าเป็นยังไง ยังสอดคล้องกับชีวิตสตาร์ทอัพใช่ไหม

ถามตัวเอง : ช่วงแรกอาจถามว่า ทำยังไงถึงจะเติบโต, ทำยังไงให้มีคนใช้, หาเงินยังไง, ดีที่สุดหรือยัง

ต่อมาอาจถามว่า ร่วมงานกับคนประเภทไหนดี, ควรลองอะไรใหม่ไหม, ทำยังไงพนักงานจึงจะมีความสุขมากขึ้น, ทำยังไงจะดึงดูดคนเก่งเข้ามาในบริษัทได้มากขึ้น

แง่คิดที่ 5) วิถีของ CEO/ founder

คุณหมู Ookbee แนะนำว่า มี 2 เรื่องที่สำคัญ คือ การสื่อสารวิสัยทัศน์ และการระดมทุน

สำหรับการสื่อสารวิสัยทัศน์ให้ทีมงานได้รับรู้นั้น ต้องทำเป็นระยะๆ เพราะธรรมชาติของมนุษย์ พอบอกวิสัยทัศน์ที ก็จะกระตือรือร้นที แล้วก็จะเฟดลงไป เป็นธรรมดา ดังนั้นจึงต้องเจอกันเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ควรเชื่อมโยงสิ่งที่เราอยากจะทำ กับสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเรา เช่น ecosystem ไม่ใช่แค่เพียงยอดขาย สื่อสารกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ลงทุนด้วย เช่น สิ่งที่เราทำมีอย่างอื่นด้วย ไม่ใช่แค่ตัวเลข

สำหรับการระดมทุน อยากให้เราเป็นคนเลือกนักลงทุน ไม่ใช่ให้เขามาเลือกเรา และแบ่งเวลามาโฟกัสว่า ควรต้องทำอะไรเพิ่มขึ้น เพื่อให้บริษัทเราน่าสนใจ และน่าลงทุนมากขึ้น

แง่คิดที่ 6) วิถี SME vs วิถีสตาร์ทอัพ

มีผู้คนสับสนกันมากมาย ว่า SME และสตาร์ทอัพ ต่างกันอย่างไร ซึ่งก็มีความเห็นที่แตกต่างกันไป

สำหรับคุณโบ้ท Builk เห็นว่า  ความแตกต่าง ของ SME และสตาร์ทอัพ  คือ แหล่งที่มาของเงินทุน เช่นแหล่งเงินทุนของสตาร์ทอัพ จะเป็นนักลงทุน ส่วน SME หรือธุรกิจ Corporate จะเป็นช่องทางอื่นๆ เช่น เงินกู้, เงินลงทุนในตลาดหลักทรัพย์

และอาจมองได้ว่า Start up เป็นขั้นหนึ่ง ของการเป็น SME

อย่างไรก็ตาม  คุณแจ็ค claimdi ให้ความเห็นที่น่าสนใจ ในฐานะที่เคยเป็น SME แล้วกลายร่างเป็น Start up ภายหลัง ว่า มันคือวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งเป้าหมายของ SME จะเติบโตปีละ 15-20% แต่ถ้าเป็น Start up จะโตไวกว่านั้นมาก และวิถีการทำงานให้เติบโต ต่างกัน คุณแจ็คเป็น SME ทำมา 14 ปีก็ยังเป็น S แถมเป็น Super S อีกต่างหาก แต่พอทำ Start up กลายเป็น M ภายใน 2 ปี แต่ก็มีพนักงานลาออกไปพอสมควร ทำให้รู้สึกเจ็บปวด (หาอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ วิถีสตาร์ทอัพ)

%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%96%e0%b8%b5%e0%b8%aa%e0%b8%95%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b8%97%e0%b8%ad%e0%b8%b1%e0%b8%9e-%e0%b8%9d%e0%b8%b1%e0%b8%99-%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b9%89%e0%b8%b2-%e0%b8%9a

แง่คิดที่ 7) วิถีแห่ง Fintech VS. วิถีแห่งธนาคาร

คุณอ้อ Jitta นำเสนอ 2 แง่มุมที่เกี่ยวข้องกันระหว่าง Fintech และ ธนาคารคือ

  • Fintech สามารถทำสิ่งที่สนับสนุนสิ่งที่ธนาคารมีอยู่แล้ว โดยทำให้ดีขึ้น ประหยัดเวลาขึ้น ใช้เงินน้อยลง เป็นต้น หรือ
  • Fintech สามารถทำในส่วนที่เข้ามาทดแทนธนาคาร เช่น ในกรณีธุรกิจที่ธนาคารไม่อยากมี resource ในส่วนนั้น เช่น ประกันอุบัติเหตุอย่าง claimdi

ทั้งนี้ ส่วนที่จะเป็นความท้าทายสำหรับ Fintech คือ

<1> ความน่าเชื่อถือ ซึ่งธนาคารจะมีความน่าเชื่อถือสูงอยู่แล้ว และ

<2> นโยบายข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลายอย่างที่ Fintech ทำนั้น ยังไม่มีนโยบายที่เกี่ยวข้อง เพราะเป็นเรื่องใหม่มาก ก็อาจถูกยับยั้ง หรือต้องรอให้มีกฏหมายที่เกี่ยวข้องออกมาก่อน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาก่อน

::: ของแถม :::

ข้อคิดปลีกย่อยที่น่าสนใจ

- การได้เงินลงทุน ยังไม่ได้หมายความว่า สำเร็จ (Cr. ปอ Shopspot)

- สตาร์ทอัพไทย ต้องปรับอยู่เสมอ และไอเดียต้องมีตลาดใหญ่จริงๆ เพราะหลายโครงการ เป็นไอเดียที่เฉพาะเจาะจงมากๆ ถ้านำไอเดียมาจากต่างประเทศ พอมาทำสำหรับตลาดไทย มันจะยิ่งเล็กไปอีก

- สำหรับหนังสือวิถีสตาร์ทอัพ เหมาะกับกลุ่มคนที่อยากจะมาลองทำสตาร์ทอัพ, หรืออยากลงทุน หรืออยากร่วมงานกับบริษัทสตาร์ทอัพ เพื่อสร้างความเข้าใจว่า วงการสตาร์ทอัพ ใช่เหมือนอย่างภาพที่แต่ละคนคิดกันไว้รึเปล่า และต้องเตรียมพบกับอะไรบ้างตลอดเส้นทางการผจญภัยสู่เป้าหมายที่ต้อง ฝัน กล้า บ้า ลุยบ้าง ในโลกสตาร์ทอัพแห่งนี้


สนใจดูคลิปงานสัมมนาฉบับเต็ม

http://bit.ly/2h0WTWw

สนใจอ่านรายละเอียดคำบรรยายจากงานสัมมนา

ช่วงแรก http://bit.ly/2haGNZk

ช่วงสอง http://bit.ly/2hdjLVW

 

บทความนี้เป็น Guest post โดยคุณ Pinto @nationbooksfanpage

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...