ประเทศที่เรียกได้ว่ามีระบบ Startup Ecosystem ที่แข็งแรงที่สุดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นจะหนีไม่พ้นสิงคโปร์ ประเทศที่มีทั้งบริษัทนักลงทุน VC, โปรแกรม Accelerators, Incubator, บริษัทองค์กรขนาดใหญ่ และ Co-working space นับร้อยนับพัน รวมทั้งมีการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐบาลอย่างเต็มที่ ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นจุดกำเนิดของสตาร์ทอัพชั้นนำมากมาย และกลายเป็นแหล่งความรู้ชั้นเยี่ยมของผู้ที่อยากเติบโตและตามหา connection เพื่อต่อยอดธุรกิจของตนเอง โดยกลุ่มธุรกิจที่ได้รับความนิยมสูงสุดในสิงคโปร์ คือประเภท Consumer Digital, Enterprise Tech, FinTech และ EdTech ตามลำดับ
เมื่อช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา Techsauce มีโอกาสเดินทางไปกับ 5 ทีมสตาร์ทอัพไทยในโครงการ True Incube Incubation & ScaleUp Program Batch 5 – Startup Grand Prix อันได้แก่ ทีม ChangTrixget, DRX, Fling, Kooup และ ShopJJ เพื่อไปศึกษาดูงาน และเรียนรู้เกี่ยวกับ Startup Ecosystem ของสิงคโปร์ พร้อมเยือน 3 สถานที่สำคัญ อาทิ Google Asia Pacific HQ, Wework และ ACE หน่วยงานของรัฐบาลที่สนับสนุนสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ
เหยียบสิงคโปร์วันแรก ก็มุ่งตรงไปสู่สถานที่ไฮไลท์ของทริปทันที นั้นคือการเยี่ยมชมออฟฟิศ Google Asia Pacific บริษัทเทคโนโลยีที่น่าทำงานด้วยที่สุดในโลก โดยออฟฟิศใหม่เอี่ยมเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปี 2016 ตั้งอยู่ในโครงการ Mapletree Business City แหล่งรวมบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในสิงคโปร์
ตัวออฟฟิศมีความสูงถึง 10 ชั้น ตกแต่งด้วยบรรยากาศกึ่งแคมปัสกึ่งสถานที่ทำงาน บริเวณ Lobby เป็นเพดานสูงโปร่ง กำแพงทำจากกระจกใสรับแสงธรรมชาติ พร้อมต้อนรับแขกที่มาเยือนด้วยป้าย Google ขนาดใหญ่ ถือเป็นแลนด์มาร์กให้ถ่ายรูปเช็คอิน เมื่อมองเข้าไปด้านในจะเห็นโถงโล่ง สำหรับจัดงาน conference เล็กๆ และเพื่อให้ออฟฟิศสามารถรองรับพนักงานกว่า 2000 คนได้ จึงมีมุมพักผ่อน เช่น ร้านอาหาร คาเฟ่ และห้องประชุมมากมายนับไม่ถ้วน สมเป็นสถานที่ที่ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี
เราได้รับเกียรติจาก Dr. Adrian Vanzyl, Country Head for GMS Thailand, Google Asia Pacific พาเดินทัวร์ออฟฟิศและเล่าให้เราฟังถึงการทำงานกับบริษัท Google
ขณะเดิน เราสังเกตได้ว่าไม่มีโต๊ะทำงานประจำเลย พนักงานสามารถนั่งทำงานตรงไหนก็ได้ในออฟฟิศ โดยมีล็อกเกอร์ให้เก็บของใช้ส่วนตัว เวลางานก็มีกิจกรรมให้ทำเยอะไปหมด ทั้งห้องพูล ฟิตเนส สปา และห้องนอน โดยการทำงานจะเน้นที่ผลลัพท์ หรือ outcome เป็นสำคัญ
ไฮไลท์สำคัญคือโรงอาหารที่กว้างขวางมาก และเสิร์ฟอาหารฟรี ทั้งอาหารเช้าและกลางวัน ส่วนใครที่อยากมานั่งทำงานที่นี่ก็สามารถทำได้
ทีมของเราได้แอบชิมกาแฟจากบาริสต้าของ Google ด้วย บอกได้เลยว่า หอมอร่อยสุดๆ
ในฐานะบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ Google มีส่วนช่วยสนับสนุนสตาร์ทอัพด้วยผลิตภัณฑ์มากมาย อาทิ Google Trends, Market Finder, AdWords Global Growth Community, Consumer Barometer หรือ Google Cloud
อีกทั้งยังมีโปรแกรมที่ช่วยสตาร์ทอัพขยายสู่ตลาดต่างชาติโดยเฉพาะ ที่เรียกว่า International Growth with Google ช่วยให้ลูกค้าเติบโตในตลาดที่ไม่คุ้นเคย โดยมีนักวิเคราะห์ข้อมูลประจำอยู่ในสามทวีปทั่วโลก
“57% ของธุรกิจที่ต้องการขยายไปสู่ตลาดต่างชาติ กล่าวว่า การขาดข้อมูลเชิงลึก คืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถขยายธุรกิจออกไปได้”
ด้วยฐานผู้ใช้จำนวนกว่า 3 พันล้านคนต่อเดือน ทำให้ Google มีเครือข่ายขนาดใหญ่ระดับโลก พร้อมด้วยข้อมูลมหาศาลที่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดที่แตกต่างกัน ข้อมูลเชิงลึกนี้สามารถช่วยให้สตาร์ทอัพเข้าใจขนาดและอุปสงค์ของตลาด เทรนด์ของผลิตภัณฑ์ จำนวนคู่แข่ง รวมถึง ช่องทางการบริการที่ถูกต้อง ระบบขนส่ง และ การปรับเนื้อหาให้เข้ากับตลาดนั้นๆ
หากเทียบกับประเทศไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปัจจุบัน เมืองไทยถือเป็นสถานที่ที่เหมาะสมมากสำหรับสตาร์ทอัพ ในการเริ่มต้นธุรกิจ เพราะมีทั้งนักลงทุน โครงการ incubator/ accelerator, co-working space แถมเปอร์เซ็นการใช้สมาร์ทโฟนก็เยอะ แต่สิ่งที่ Dr. Adrian กล่าวว่าจะช่วยยกระดับ Ecosystem ของไทยไปอีกขั้น คือ การต้องมีสตาร์ทอัพที่ exit ด้วยมูลค่ามหาศาล เพื่อสร้างแรงบันดาลใจต่อผู้ประกอบการรุ่นใหม่
"คิดให้ใหญ่เข้าไว้ และเมื่อธุรกิจประสบความสำเร็จในประเทศจนถึงจุดหนึ่ง ก็ควรคิดเรื่องการขยายสู่ต่างประเทศ"
Wework อาณาจักร Co-working Space ก่อตั้งขึ้นในปี 2010 โดย Miguel McKelvey และ Adam Neumann ในนครนิวยอร์ค ปัจจุบันมี 283 สาขาใน 75 เมือง 22 ประเทศทั่วโลก ครอบครองที่ดินกว่า 16 ล้านตารางฟุต และขยายกิจการไปสู่การสร้าง Community ด้วยบริการนอกเหนือจาก Co-working space ไปอีกมากมาย อาทิ Welive บริการแชร์ที่พัก, Wegrow โรงเรียนสำหรับเด็กเล็ก หรือแม้แต่ เทศกาลดนตรี Summer Camp
สำหรับทริปนี้เราได้ไปเยี่ยมชม Wework สองแห่งในสิงคโปร์ ที่แรกคือ Wework Spacemob Claymore โดยมีคุณ Turachas ‘T’ Faud, Managing Director ของ Wework เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้การต้อนรับและแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับ Wework และ Startup Ecosystem ของสิงคโปร์
บรรยากาศภายใน Wework Spacemob Claymore มีความเรียบง่าย มีโต๊ะทำงาน ห้องประชุม และห้องคลาสเรียนขนาดใหญ่ให้เช่า บริเวณส่วนใหญ่เป็นกระจกเพิ่มความโปร่งให้กับพื้นที่
Wework อีกแห่งที่เราไปเยี่ยมชม ตั้งอยู่ที่ 60 Anson Road ย่านธุรกิจใจกลางเมือง บรรยากาศให้ความรู้สึกประหนึ่งเดินเข้าห้องนั่งเล่นแสนอบอุ่น พื้นที่ตรงกลางเป็นที่ตั้งของโซฟา และโต๊ะยาวริมหน้าต่าง ปลายห้องเป็นบาร์ ให้ทุกคนหยิบน้ำ กาแฟ และเบียร์ทานฟรี ส่วนบริเวณด้านในลึกเข้าไปเป็นบริเวณออฟฟิศให้เช่าแบบส่วนตัว โถงกลางสามารถดึงโปรเจกเตอร์ลง และจัดงาน conference เล็กๆ ที่ทุกคนในพื้นที่สามารถมีส่วนร่วมได้
คุณ T หยิบยกประเด็นที่น่าสนใจจากงานศึกษาของ Harvard Business Review และ Welsh/Colliers มาประกอบเหตุผลในการตอบคำถามว่า Co-Working Space มีประโยชน์อย่างไรต่อบริษัทในยุคปัจจุบัน และทำไมจึงจำเป็นที่จะต้องสร้าง ‘Community’ ขึ้นมา
คนทำงานใน Co-working space มักรู้สึกว่าการทำงานมีความหมายขึ้น สามารถควบคุมการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และให้ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรและ community
นอกจากนี้ยังมีสถิติที่น่าสนใจ ดังนี้
คุณ T กล่าวว่า เทรนด์ที่น่าสนใจในขณะนี้คือ การที่บริษัท Enterprise ขนาดใหญ่ ต่างมองหาพื้นที่อย่าง Co-working space เช่นกัน ซึ่งไม่ได้มีเพียงแต่บริษัทสตาร์ทอัพเท่านั้นที่มาใช้บริการ
ปัจจุบัน Wework มีสมาชิกกว่า 25% ที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ พวกเขามาเพราะอยากสร้างวัฒนธรรมองค์กร และมองหา talent เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมองค์กร อีกทั้งการทำงานใน Co-Working Space ยังช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ACE ย่อมาจาก The Action Community for Entrepreneurship เป็นหน่วยงานรัฐในสิงคโปร์ ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2003 โดย Ministry of Trade & Industry เพื่อช่วยผลักดัน ส่งเสริมผู้ประกอบการและนวัตกรรมในประเทศ โดยได้รับการปรับโครงสร้างใหม่ในปี 2014 ในฐานะโครงการริเริ่มที่นำโดยเอกชน และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
ACE ทำงานร่วมกับ SPRING Singapore อย่างใกล้ชิด และได้รับการแนะนำจากผู้ประกอบการชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ รวมถึงเป็นพันธมิตรกับองค์กรในประเทศต่างๆ ในภูมิภาค
สำหรับ ACE International Centre เป็นศูนย์ที่ตั้งขึ้นมาสำหรับสตาร์ทอัพที่ต้องการขยายสู่ต่างประเทศ ออฟฟิศตั้งอยู่ที่โครงการ Ayer Rajah Crescent ตึกนิคมอุตสาหกรรมเก่าแก่ ที่ปัจจุบันกลายร่างมาเป็นศูนย์รวมของบริษัทสตาร์ทอัพ
ACEIC ตั้งเป้าเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการให้แข่งขันกับทั่วโลก และช่วยสร้างโอกาสเริ่มต้นธุรกิจให้กับสตาร์ทอัพขนาดเล็ก
คุณ Marianne Tan, Head of Internationalisation ประจำ ACE กล่าวว่าภาครัฐให้การสนับสนุนต่อสตาร์ทอัพในหลายๆ ด้าน เช่น การขอวีซ่าสำหรับเจ้าของธุรกิจที่เป็นชาวต่างชาติ การลดหย่อนภาษีให้กับสตาร์ทอัพที่ระดมเงินทุนได้ การอบรมและให้คำแนะนำสำหรับสตาร์ทอัพที่ต้องการขยายสู่ต่างประเทศ และการเป็นตัวเชื่อมต่อสตาร์ทอัพให้กับองค์กรในต่างประเทศ เป็นต้น
สิงคโปร์มีทุกอย่างที่ง่ายและเอื้อต่อการสร้างธุรกิจ รัฐบาลให้การสนับสนุนธุรกิจเกิดใหม่ การจัดตั้งบริษัทและจดทะเบียนทำได้โดยง่าย ผู้คนใช้ภาษาอังกฤษ ใช้สมาร์ทโฟนและเครดิตการ์ด สามารถเข้าถึงการลงทุนต่างชาติได้ง่าย และมีสถานกาณ์การเมืองที่มั่นคง
แต่ถึงอย่างนั้นก็มีข้อด้อย ด้วยความที่ประเทศมีขนาดเล็ก มีประชากรเพียง 5-6 ล้านคน ทำให้สิงคโปร์ขาดแคลน Technical talent ด้วยค่าจ้างสูงลิบและขนาดตลาดที่เล็กเกินไป ทำให้ธุรกิจเติบโตได้เพียงระดับหนึ่ง ดังนั้งการจะขยายธุรกิจไปสู่ประเทศอื่นจึงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากสิงคโปร์ไม่มีความท้าทายแบบที่จะต้องเจอกับประเทศอื่นๆ รวมถึงปัจจุบันยังขาดสตาร์ทอัพที่ระดมทุนได้ถึงระดับ Series B
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด