กระทรวง AI : เมื่อ AI อันตรายเกินกว่าจะปล่อยไว้ โลกเร่งออกกฎควบคุม | Techsauce

กระทรวง AI : เมื่อ AI อันตรายเกินกว่าจะปล่อยไว้ โลกเร่งออกกฎควบคุม

AI ต่างจากสิ่งอื่น ๆ เราต้องออกกฎล่วงหน้า ไม่ใช่รอแก้ปัญหาทีหลัง เพราะสายเกินไปแน่ถ้ารอควบคุม AI - Elon Musk

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2015 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ครม. ให้สอดคล้องกับทิศทางของเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป ด้วยการแต่งตั้งคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ขึ้นรับหน้าที่ระดับสูงถึง 6 ตำแหน่ง จุดที่น่าสนใจคือการแต่งตั้ง Omar Bin Sultan Al Olama หนุ่มวัยเพียง 27 ปีในตอนนั้น ขึ้นแท่น ‘รัฐมนตรีว่าการกระทรวงปัญญาประดิษฐ์ หรือ Minister of State for Artificial Intelligence’ เป็นคนแรกของโลก 

AI กลายเป็นสิ่งที่ต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมาย และต้องถูกจับตาดูโดยหน่วยงานของรัฐบาลอย่าง ‘กระทรวง AI’ ที่มีอำนาจ และความสำคัญไม่แพ้หน่วยงานอื่น ๆ แต่ทำไม AI ต้องถูกควบคุมโดยรัฐบาล ? กระทรวง AI มีหน้าที่อะไรกันแน่ ? 

คำตอบของเรื่องนี้อาจต้องย้อนกลับไปตั้งคำถามว่า AI มีความเสี่ยงต่อมนุษย์มากน้อยแค่ไหน


AI เปรียบเหมือนตะเกียงวิเศษ ยิ่งทรงพลัง ยิ่งต้องมีการกำกับ

“เมื่อก่อนมนุษย์เดินทางด้วยม้า แต่ตอนนี้เรามีเครื่องบินที่เร็ว 900 กม./ชม. AI ก็จะพัฒนาไปไกลขนาดนั้น ปัญญาประดิษฐ์ในอนาคตจะมีความเร็ว และซับซ้อนกว่าความคิดของมนุษย์มาก 

คิดง่ายๆ เหมือนกับเรามี ‘ตะเกียงวิเศษ’ เวอร์ชั่นเทคโนโลยี เพียงคุณบอกสิ่งที่ต้องการ AI ก็จะร่ายมนตร์ดิจิทัล สร้างสรรค์ทุกสรรพสิ่งที่ได้ทันใจ อนาคตที่น่าตื่นเต้นแบบนี้กำลังรอเราอยู่”


รัฐมนตรีกระทรวง AI แห่ง UAE ชวนนึกภาพความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI ที่จะพัฒนาไปอย่างรวดเร็วจนเราอาจจินตนาการตามไม่ทัน แต่ในทางกลับกันก็มีความกังวลว่า AI อาจนำไปสู่ ‘ภัยพิบัติในระดับที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน’ จึงทำให้ UAE เป็นหนึ่งในประเทศที่จำเป็นต้องเร่งให้เกิดกฎหมายควบคุม AI ก่อนภัยพิบัติทางเทคโนโลยีจะเกิดขึ้น

Omar Bin Sultan Al Olama ยอมรับว่า การควบคุมดูแล AI ด้วยความพยายามจากประเทศเดียว ย่อมไม่สามารถรับมือกับศักยภาพ และความก้าวหน้าของ AI ที่กำลังแผ่ขยายไปทั่วโลกได้ โดยได้เรียกร้องให้เกิดความร่วมมือในการบริหารจัดการ AI ในระดับ ‘พหุภาคี’ 

และที่สำคัญที่สุดคือ ‘ต้องเกิดขึ้นในตอนนี้’


จะคุม AI จำเป็นไหมต้องมีกระทรวง AI ?

Credit : Eu Artificial Intelligence AI Act

การควบคุม AI อาจไม่จำเป็นต้องจัดตั้งกระทรวงเฉพาะทางเหมือนกับ UAE แต่รัฐบาลต้องมีความกังวลต่อศักยภาพของ AI เหมือนกับกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ที่ได้มีการศึกษาหารือ พร้อมผลักดันในเรื่องของ ‘AI ACT’ หรือกฎหมายควบคุมปัญญาประดิษฐ์มาตั้แต่ปี 2020 และเพิ่งเห็นชอบอนุมัติ กฏหมายดังกล่าวสำหรับใช้ใน 27 กลุ่มประเทศสมาชิกเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับ AI โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ช่วงปลายปี 2024 

สิ่งที่น่าสนใจของ AI Act มีการบัญญัติ ‘ความเสี่ยง’ ของ AI ไว้ทั้งหมด 2 ระดับ แต่ละระดับก็จะมีผลบังคับใช้ต่างกันด้วย

AI ความเสี่ยงสูง หรือ High risk

หมายถึง AI ที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย หรือสิทธิขั้นพื้นฐาน โดย AI กลุ่มนี้จะต้องปฏิบัติตาม ‘ประมวลหลักการปฏิบัติ’ (Code of practices) ตามที่ EU กำหนด เช่น

  • AI ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ภายใต้กฎหมายความปลอดภัยของ EU ซึ่งรวมถึงของเล่น อากาศยาน รถยนต์ อุปกรณ์การแพทย์ และลิฟต์
  • AI ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบไฟฟ้า ประปา ขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล
  • AI ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น ระบบการให้คะแนนนักเรียนอัตโนมัติ
  • AI ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน เช่น ระบบคัดกรองเรซูเม่อัตโนมัติ
  • AI ที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมาย เช่น ระบบวิเคราะห์ข้อมูลอาชญากรรม 

AI ที่มีความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้ หรือ Unacceptable risk

หมายถึงระบบ AI ที่ถูกพิจารณาว่า ‘เป็นภัยต่อประชาชน’ และ ‘ห้ามใช้งาน’ โดยจะถูกแบนภายใน 6 เดือนหลังจากกฎหมายบังคับใช้ เช่น

  • ระบบควบคุมพฤติกรรมปัญญา หรือการใช้ AI เพื่อควบคุมความคิด พฤติกรรม และอารมณ์ของผู้คน 
  • ระบบคะแนนทางคม หรือการใช้ AI เพื่อจัดอันดับ และแบ่งเกรดคนตามพฤติกรรม ฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม หรือลักษณะส่วนตัว
  • ระบบ AI ที่เกี่ยวข้องกับ การระบุตัวตน และจัดหมวดหมู่ประชาชนด้วยข้อมูลชีวภาพ 


จะเห็นว่ากฎหมาย AI Act ของ EU ครอบคลุมทุกสิ่งที่ข้องเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของมนุษย์ และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ แต่กฎหมายไม่ได้ออกมาเพื่อตามกระแสโลกเท่านั้น เพราะ EU ‘เอาจริงเอาจัง’ กับการควบคุม AI ให้เข้าร่องเข้ารอย และปลอดภัยต่อประชาชนมากที่สุด 

EU ถือตัวอย่างของการวางแผนประเทศให้พร้อมสำหรับ AI ไม่ใช่การขวางกระแสน้ำที่มาแรง แต่เป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนา AI ที่ถูกต้อง และปลอดภัย


กฎหมาย AI รูปแบบไหนที่นานาประเทศใช้ ?

Credit : AI.gov

ประเทศอื่น ๆ ต่างมีวิธีการควบคุมในแบบฉบับของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น การปรับกฎหมายที่มีอยู่, การออกกฎหมายใหม่ การออกกฎหมายเฉพาะ หรือรอสังเกตุการณ์ แม้วิธีการจะต่างกัน แต่ทุกประเทศล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือ ‘จะทำอย่างไรให้การใช้ AI ปลอดภัยต่อประชาชนมากที่สุด’ 

สหรัฐอเมริกา : ประธานาธิบดี Joe Biden ได้เซ็นคำสั่งประธานาธิบดี (Executive Order) ให้หน่วยงานภาครัฐเตรียมพร้อมรับมือกับ AI ทั้งหมด 8 ด้าน พร้อมกับเร่งจ้างบุคคลากรที่มีความสามารถ เพื่อพัฒนา และกำกับดูแล AI

สหภาพยุโรป : จัดตั้ง ‘สำนักงานปัญญาประดิษฐ์ยุโรป (European AI Office)’ หน่วยงานกำกับดูแลระดับสหภาพยุโรป ทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และบังคับใช้ข้อกำหนดของกฎหมาย AI (AI Act) สำหรับโมเดลและระบบปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป (General Purpose AI: GPAI) ทั่วทั้ง 27 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป

สหราชอาณาจักร : ออกแนวทางการควบคุม AI โดยยึดหลักการสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ ความปลอดภัย, ความโปร่งใส, ความเป็นธรรม, ความรับผิดชอบ-การกำกับดูแล และการโต้แย้ง-การเยียวยา รวมทั้งยังมีการร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการทดสอบ และประเมินความเสี่ยงจาก AI

บราซิล : ออกร่างกฎหมายปัญญาประดิษฐ์ มีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับ สิทธิ์ของผู้ใช้, การรับผิดชอบของผู้พัฒนา AI รวมถึงแบ่งประเภท AI ตามความเสี่ยง และการห้ามใช้ AI บางประเภท

อิตาลี : เคยสั่งแบน ChatGPT ชั่วคราวเมื่อปี 2023 เนื่องจากข้อกังวลด้านการเก็บข้อมูลผู้ใช้ พร้อมกับอนุมัติเงิน 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,200 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่อาจตกงานเพราะเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึง AI

จีน : ออกร่างกฎหมายสำหรับ AI ที่สร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ เช่น แต่งเพลง แต่งรูป แต่งเพลงเป็นต้น โดยบังคับให้ AI ต้องสร้างข้อมูลที่ถูกต้อง และแม่นยำเท่านั้น และที่สำคัญ AI ต้องสอดคล้องกับ ‘หลักการสังคมนิยมสังคม’ ในจีนอีกด้วย

อิสราเอล : ออกร่างนโยบายควบคุม AI โดยเน้นย้ำไปที่เรื่อง การพัฒนา และการใช้ AI ที่ต้องเคารพกฎหมาย สิทธิขั้นพื้นฐาน ประโยชน์สาธารณะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเป็นส่วนตัว ร่างนโยบายของอิสราเอลไม่กำหนดกฎหมายตายตัว แต่สนับสุนให้เกิดการกำกับดูแลตัวเอง (Self-regulation) จากทุกภาคส่วน

ญี่ปุ่น : ไม่กำหนดกฎหมายตายตัวที่ใช้ควบคุม AI เพราะไม่ต้องการกีดขวางนวัตกรรมใหม่ ๆ และเลือกรอให้ AI พัฒนาไปก่อน โดยในตอนนี้ใช้กฎหมายอื่น ๆ มาเป็นแนวทางกำกับ AI ชั่วคราว เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น

กระทรวง AI ในไทย… ?

Credit : AI Thailand

‘ไทย’ เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ยังไม่มีการจัดตั้งกระทรวง AI แต่ก็เห็นความสำคัญไม่แพ้ประเทศอื่น ด้วยการเปิดตัว ‘AI Thailand’ โครงการปัญญาประดิษฐ์ระดับประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา และการใช้ AI ในไทยให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐ 

พร้อมจัดทำ ‘แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570)’ โดยมีหัวเรือเป็น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม (ดีอี) รวมถึง สวทช. และ สดช. ร่วมขับเคลื่อน

ในปัจจุบัน แผนดังกล่าวก้าวเข้าสู่ ‘ระยะที่ 2’ ที่จะมุ่งเน้นไปที่การผลักดัน และขยายการประยุกต์ใช้งาน AI ในไทย โดยในตอนนี้มีการออก ‘Flagship Projects ชุดที่ 1’ หรือโครงการเรือธงเพื่อดันแผนการใช้ AI ได้แก่ 

  1. พัฒนาศูนย์กลางเชื่อมโยงและการบริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว (Travel Link)
  2. โครงการ Strengthening Fraud Detection Ecosystem with Data Lab
  3. ส่งเสริมการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล
  4. Thai Large Language Model (Thai LLM) พัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ภาษาไทย 
  5. ตรวจสอบ-ประเมินอัตลักษณ์บุคคลจากข้อมูลชีวมิติ 
  6. AI-based Machine Vision เพื่อขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรม 4.0

แผนดังกล่าวคาดผลกระทบจาก AI หลังจบการดำเนินการในปี 2570 เอาไว้ว่า จะมีการจ้างงาน และสร้างอาชีพในไทยมากขึ้น, GDP ของประเทศจะสูงขึ้น จากมูลค่าหรือรายได้ของผลิตภัณ์ และบริการที่สูงขึ้นจาก AI รวมไปถึงการลดมลภาวะสิ่งแวดล้อม, การช่วยให้คนเข้าใจปัญญาประดิษฐ์ และที่สำคัญยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ตลอดจนการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจากหน่วยงานที่นำ AI มาใช้ 

แผน AI ไทยดี แต่กฎหมายยังตามหลัง

Credit : AI Thailand

แม้ตามแนวทางที่วางไว้จะเป็นขับเคลื่อนการใช้ AI ในระดับประเทศ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนา AI ไทยในอนาคต แต่สิ่งที่ยังคงน่าเป็นกังวลตามคำอธิบายที่ปรากฏในแผนปฏิบัติการ คือ 

"กฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ที่บังคับใช้ในไทยตอนนี้ ไม่สอดคล้อง และเท่าทัน ต่อการกำหนดแนวทางแก้ไขในอนาคต ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ประเทศไทย ขาดนักกฎหมายที่ทันโลก ขาดความรู้ความเข้าใจ รูปแบบการกำกับดูแลปรับเปลี่ยนไม่ทันเทคโนโลยี 

ไม่เข้าใจว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นในทิศทางไหน และจะมีแนวทางอย่างไรในการออกกฎหมายในอนาคต ไม่มีหน่วยงานพิเศษที่มีอำนาจชัดเจนในการออกกฎหมายให้ทันเทคโนโลยีเป็นกรณีพิเศษ และทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้อง

ขาดความกระตือรือร้นในการปรับเปลี่ยนกฎหมายต่าง ๆ และกระบวนการออกกฎหมายของไทยยังใช้เวลานาน"


อ้างอิง : Time, The Washington Post, Atlantic Council, AI.gov, The White House, European Parliament, AI Thailand (1) (2)

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดตัว 7 สตาร์ทอัพ FinTech ในงาน Money20/20 Asia เสริมแกร่งอุตสาหกรรมการเงินในภูมิภาค

Money20/20 Asia ผู้จัดงานงานฟินเทคโชว์สุดยิ่งใหญ่เปิดตัวบริษัทสตาร์ทอัพทั้ง 7 ที่เชื่อว่าจะผลักดันพร้อมปฏิวัติโลกของการเงิน...

Responsive image

เจาะรากความสำเร็จ Samsung แชโบลตระกูลสำคัญ จากพ่อค้าปลาแห้ง สู่ผู้คุมเศรษฐกิจเกาหลีใต้

ในบทความนี้ Techsauce จะพาไปเจาะว่าทำไมร้านของชำ Samsung ในเมืองเล็ก ๆ ถึงสามารถเติบโตจนกลายมาเป็นผู้คุมเศรษฐกิจของประเทศได้ แท้จริงแล้วมันมาจากความของเก่งของ Lee Byung-chul อย่างเ...

Responsive image

บทสรุป Accelerate Impact with PRUKSA Season 2 สานต่อความสำเร็จ ส่งต่อความยั่งยืนเพื่อสังคม

บทสรุปสุดท้ายตลอดเส้นทาง ของโครงการ Accelerate Impact with PRUKSA Season2 ที่สานต่อความสำเร็จ ส่งต่อความยั่งยืนเพื่อสังคม ในวัน Demo Day...