จาก 'ผู้ทำ' สู่ 'ผู้นำ' สัมภาษณ์ AIS The StartUp ถึงแนวคิดกิจกรรม Founder Development ในปีนี้ | Techsauce

จาก 'ผู้ทำ' สู่ 'ผู้นำ' สัมภาษณ์ AIS The StartUp ถึงแนวคิดกิจกรรม Founder Development ในปีนี้

Techsauce กลับมาคุยกับ AIS TheStartUp หลังจากที่ได้เข้าร่วมงานแถลงข่าว AIS Vision ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่ง Community Space ที่ได้พรีวิวไปในงานอย่าง AIS D.C. ก็กำลังเปิดตัวแล้วในเร็วๆ นี้

นอกจากนี้เรายังมีอัปเดตเพิ่มเติมจาก AIS TheStartUp ถึงกิจกรรม Founder Development ที่เน้นด้านการพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ โดยเป็นโครงการยาวตลอดทั้งปี และจัดขึ้นปีนี้เป็นปีแรก

เราจึงได้มาสัมภาษณ์พูดคุยรายละเอียดเพิ่มเติมจากคุณออน ดร. ศรีหทัย พราหมณี Head of AIS TheStartup ถึงกิจกรรมที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ และได้เริ่มต้นวันแรกไปแล้วเมื่อว้นอังคารที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ปกติ Startup จะเน้นพัฒนา Product แต่ทำไมปีนี้ถึงเพิ่มความสำคัญให้กับการพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำให้กับ Founder?

ไม่ใช่ว่าการทำ Product ไม่สำคัญ แต่ Startup มีหลาย Stage ตั้งแต่คนที่ ‘ฝัน’ ‘เริ่ม’ ‘มี’ และ ‘สำเร็จ’ ดังนั้นการจะสนับสนุนต้องมองลึกลงไปว่าปัจจุบันบริษัทเขา อยู่ใน Stage ไหน และ กำลังจะต้องเติบโตไปในรูปแบบไหน การพัฒนาด้าน Product มีความจำเป็นสำหรับ Startup รุ่นเล็ก ที่เพิ่งเกิดใหม่ที่กำลังค้นหา Core Value ที่แท้จริงของ Product ให้เหมาะกับลูกค้า

แต่ทั้งนี้ AIS เปิดโครงการ AIS The StartUp มาตั้งแต่ปี 2011-2012 จนถึงปัจจุบัน ร่วม 6-7 ปี ซึ่ง Startup หลายๆ เจ้า เริ่มที่จะโตขึ้น ขยายขึ้น Scale มากขึ้น เมื่อพูดถึง Scalability ตัว Founder มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก เขาต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เร็ว มีลูกน้องมากขึ้น เมื่อตลาดเปลี่ยน เขาก็ต้องเปลี่ยนไวตามการเติบโตของตลาด ในขณะเดียวกันวิสัยทัศน์ก็ต้องก้าวไกลด้วย

Startup แต่ก่อนเขาเป็น Executor (นักปฏิบัติ/ผู้สร้าง/ผู้ทำ) แต่ตอนนี้ เขาต้องเป็น Leader (ผู้นำ) แล้ว ซึ่งนั่นคือความท้าทาย

ปีนี้ทั้งปีเราจึงมีแนวคิดเพิ่มเติมโดยมองเรื่อง Founder Development เป็นหัวใจสำคัญ โดยเรามีกิจกรรมทั้งหมด 3 อย่าง เพื่อรองรับแนวคิดนี้

1. ACT Program (AIS Creative Talent Program) 

เป็นกิจกรรมที่นำคนสามกลุ่มมาทำกิจกรรมร่วมกัน ได้แก่ ผู้บริหารและพนักงานประจำจาก AIS, ทายาทธุรกิจรุ่นใหม่จาก Telewiz และ Startup ในโครงการของเราทั้งหมด 3 ราย ได้มาเจอกัน โดยเป็นโปรแกรมพัฒนาความเป็นผู้นำในเชิง Creativity เป็นโปรแกรมทั้งหมดประมาณ 4 เดือน คนที่เป็น Leader ในบริบทที่แตกต่างกันจะได้มีโอกาสเรียนรู้เพื่อเข้าใจคนอีกกลุ่มหนึ่ง ในอีกสังคม

และอีกสองโปรแกรม สำหรับ AIS The StartUp โดยเฉพาะ ได้แก่

2. CEO Founders Dinner

เป็นโปรแกรมที่จัดเดือนเว้นเดือนโดยประมาณ โดยในแต่ละครั้งจะให้ Startup ประมาณ 7-10 ราย ได้พูดคุยใกล้ชิดกับคุณสมชัย CEO ของ AIS และผู้บริหารอีก 3-4 ท่าน เป็นการเปิดโอกาสที่ให้ Startup ได้เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ในการบริหารจริงๆ

3. Executive Leadership Program

โปรแกรมจะจัดทุกๆ วันอังคารสิ้นเดือน ที่ AIS D.C. ซึ่งโปรแกรมจะโฟกัสเนื้อหาที่เราคุยกันไว้ว่า เราจะก้าวข้ามจาก Executor เป็น Leader ได้อย่างไร

คุยกับ 4 Founders การก้าวมาเป็น Leaders นั้น มีอุปสรรคความท้าทายอะไรบ้าง

นอกจากสัมภาษณ์คุณออนแล้ว เรายังได้มาพูดคุยกับ Startups อีก 4 รายจากครอบครัว AIS The StartUp ได้แก่

โดยเราเริ่มต้นพูดคุยถึงประสบการณ์ของคุณเดียร์ก่อน

คุณเดียร์ LikeMe

สมัยเริ่มต้น ผมเลือกเปิดบริษัทแนวไอที เพราะไม่อยากคุยกับใคร อยากทำงานคอมพิวเตอร์อยู่ที่บ้าน แล้วก็รวยผ่านออนไลน์ แต่พอมาทำงานจริงก็ไม่ใช่อย่างนั้นเลย

พอเราเริ่มสร้างบริษัทเราก็เจอปัญหาเยอะมาก ทั้งการเงินการบัญชี กฏหมาย และเรื่องคน แล้วแต่ละ Stage ก็ต่างกันไป เราเปิดบริษัทตั้งแต่เรายังอายุน้อย ถึงบางทีจะได้รับความเอ็นดู แต่บางทีก็ดูไม่น่าเชื่อถือ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าวางตัวไม่ให้เด็ก ก็กลัวว่าจะดู ‘กร่าง’ แทน ...เป็นเรื่องที่เราต้องหาจุดบาลานซ์ให้ได้

ตอนนี้เปิดบริษัทมาได้สี่ปีแล้ว พนักงานอยู่กับเรามาสี่ปีแล้ว ก็มีเรื่อง Career path ว่าเราจะพัฒนาเขาอย่างไรต่อ บริษัทจะต้องมีเรื่อง Human Development และไหนจะเรื่องอื่นๆ อย่างเช่น การทำ PR

เรื่องคนมีปัญหานึงที่เราเจอคือ เราขยายทีมเร็วเกินไป แล้ว Culture (วัฒนธรรมองค์กร) โตตามไม่ทัน ปรากฏว่า Culture ก็ไปในทิศทางที่เราไม่อยากให้มันเป็น แล้วเราไม่สามารถควบคุมให้ทีมงานทำในสิ่งที่เราอยากให้เขาทำได้ ตอนนั้นเราไม่แฮปปี้เลย แล้วก็ไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไรกับเคสนี้ ซึ่งก็วิ่งไปปรึกษากับพี่ๆ ที่มีประสบการณ์หลายคนเพื่อแก้ปัญหานี้

คุณโจ้ QueQ

ตอนแรกทำบริษัท Software House ทำงานเป็นรายโปรเจกต์มาก่อน แต่ละปีของ SMEs อัตราการเพิ่มคนไม่มาก การบริหารจัดการยังง่าย

พอมาทำ QueQ และเป็น Startup ทุกอย่างมันปรับเปลี่ยนเร็วมาก รวมถึง Founder ก็เปลี่ยนความคิดเร็วมาก

บางทีเราคิดว่าปีสองปีน่าจะเป็นอย่างไร แต่ปรากฎว่ามันอาจเปลี่ยนไปตั้งแต่พรุ่งนี้แล้วก็ได้ เพราะฉะนั้น Founder ต้องโตไปกับการโตขององค์กร หยุดเรียนรู้ไม่ได้เลยครับ

Startup Founder ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีประสบการณ์เรื่องคน ทำให้เกิดเหตุการณ์ “Founder โตไม่ทันองค์กร” จะเห็นกันประจำว่าจะมีเคสการหาผู้บริหารมืออาชีพมาดูแลองค์กรก่อน ส่วน Founder ทำงานอยู่หลังบ้าน

เราจะต้องเป็น Leader of Leader ที่สามารถปั้นคนเองได้เป็น ให้คนขึ้นมาเป็นผู้นำเองได้ ถ้าน้องๆ แก้ปัญหากันไม่เป็น แล้วรอเราอย่างเดียว มันจะช้ามาก Founder ที่ไม่มีประสบการณ์ก็จะทำกันเองแบบลูกทุ่ง โดยส่วนตัวเราจึงสนใจเรียนรู้เรื่อง People Development เป็นพิเศษ

คุณไว Priceza

Startup ส่วนใหญ่เป็นคนทำเองทั้งหมดมาก่อน (Executor) ตั้งแต่เขียนโปรแกรมเอง ขายเอง ไปเก็บเช็คเอง Priceza จากตอนแรกที่เริ่มกัน Co-Founders 3 คน ก็ขยายไปเป็น 70 คนแล้ว

ทำอย่างไรที่เราจะ Lead ไม่ใช่แค่ Manage ที่บริหารจัดการคน การ Lead คนได้ คือให้เขาคิดเอง ทำเอง และช่วยให้เขาเติบโตไปใน Direction ที่เขาเชื่อได้อย่างไร ไม่ใช่ในทิศทางที่เราสั่งอย่างเดียว

ถ้าเรา ‘สั่ง’ ให้ลูกน้องทำอย่างเดียว องค์กรจะโตไปได้ช้า โจทย์คือ ทำอย่างไรให้เขาคิดเอง ตัดสินใจเองได้แทนเรา

คำถามที่ต้องถามตัวเองตลอดเวลาเลยก็คือ Vision และ Mission ของเราคืออะไร

เมื่อก่อนไม่ได้คิดมากมาย คิดแค่ว่าจะหาเงินให้ธุรกิจอยู่รอดได้อย่างไร แต่พอมาถึงตรงนี้แล้ว รู้เลยว่ามันสำคัญมาก เพราะถ้าเราไม่มี แล้วเราจะบอกให้ลูกน้องได้อย่างไร ว่าทำไมเขาควรทำงานกับเรา ทำไมเขาต้องทำโปรเจกต์นี้ โปรเจกต์นี้สำคัญอย่างไรกับบริษัท สำคัญอย่างไรกับประเทศ สำคัญอย่างไรกับโลก

กรณีศึกษาจาก Priceza

อย่างเรื่องที่ Priceza ขยายไปต่างประเทศ (อินโดนีเซีย) เราขยายไปตั้งแต่ปี 2013 แล้ว นับๆ ดูก็หลายปีแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าตอนนั้นเราไม่ได้มีประสบการณ์ ขยายไปต่างประเทศแล้วเราควรทำอะไร?

ณ ตอนนั้นที่เราขยาย เราไม่ได้จ้างคนอินโดท้องถิ่นของที่นั่น เพราะเรารู้สึกว่ามันห่าง เรามีตลาดไทยแล้วไม่สามารถไปให้เวลากับตลาดที่นั่นได้มาก กับการบริหาร เราก็คิดว่าเรา Centralize (บริหารแบบมีศูนย์กลาง) ดีกว่า เราจึงจ้างคนไทยที่สามารถพูดภาษาอินโดได้ ให้ทำงานแบบ Remote

แต่สุดท้ายแล้วก็พบว่า การที่เราจะขยายไปตลาดที่นั่น มันเป็นคนละประเทศกัน คนท้องถิ่นของที่นั่นมีความจำเป็นมาก โดยเฉพาะในฟังก์ชันที่เกี่ยวกับ Partnership, Sales, Marketing พวกนี้ มันควรเป็นคนท้องถิ่นที่คุยกัน ภาษาเดียวกัน ถึงจะคุยแล้วคลิกและปิดดีลได้

สุดท้ายเราถึงได้เรียนรู้ว่าเราทำผิดพลาดที่เราเสียเวลามานานหลายปี จ้างคนไทยทำงานที่เมืองไทย ทำให้เราเติบโตช้า ไม่เกิดผลลัพธ์ตามที่เราคาดหวัง

ซึ่งเรื่องพวกนี้ จริงๆ เราไม่รู้หรอกว่ามันจะต้องรันอย่างไร เราก็เรียนรู้ไประหว่างทาง แต่ถ้าเราได้คนที่เขาเคย ขยายธุรกิจต่างประเทศมาแล้ว และเขามาบอกเราเลยว่าควรทำอย่างไร ผมคิดว่าเราจะไปได้เร็วกว่านี้

คุณกฤษ FlowAccount

ผมคิดว่าบางที Startup ก็ชอบลองผิดลองถูกเอง มากเกินไป แต่แทบทุกปัญหาที่มี เคยมีคนเจอและเคยมีคนแก้มาก่อนเราทั้งนั้น

พูดถึง Founder เขาก็คือคนริเริ่ม ริเริ่มธุรกิจเก่ง แต่ทักษะในการเริ่ม กับทักษะในการขยายให้โต เป็นทักษะที่ไม่เหมือนกัน

Step ต่อไปจาก Lean คือ Scale Up Lean คือ คุณไม่มีอะไรเลย แล้วทำยังไงให้ไปได้ ต่อมาถ้าไปได้ คุณต้อง Scale Up ไม่อย่างนั้นคุณก็จะเป็นเจ้าเล็กเหมือนเดิมอยู่ดี

กิจกรรม Founder Development ที่พี่ๆ เขาคิด เราเองก็คิดว่าเหมาะ และอยากจะนำไปต่อยอด

น่าจะเป็นความหวัง และความฝันของเจ้าของกิจการ เราทำ Startup ก็อยากให้คนนึกถึงเราเป็นเจ้าแรกๆ ในตลาด อยากจะมาหา อยากจะมาต่อคิว ซึ่งการจะไปให้ถึงจุดนั้น ที่จะทำให้คนนึกถึงเราเป็นอันดับแรกๆ ได้ มันมีรายละเอียดที่เยอะมากเลย

คุณออนสรุปเกี่ยวกับกิจกรรม Founder Development

พี่เก็บข้อมูลมาหมดเลยว่า 5-6 ปีที่ผ่านมา น้องๆ Startup มาปรึกษาพี่เรื่องอะไรบ้าง แล้วพบว่า...80% ของปัญหาที่น้องๆ Startup มักมาคุยกับพี่ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่แก้ด้วย Soft skills

Soft skills รายละเอียดเยอะมาก เช่น การวางตัว การบริหารจัดการ หรือแม้กระทั้งรูปแบบการส่ง E-mail ให้ดูเป็น Professional ซึ่ง Skill ในวงการ Startup เหล่านี้ถูกละเลยมาเป็นเวลานาน

การวางตัวในสังคมที่ทำยังไงให้ตัวเองพูดเสียงดังๆ หรือ ทำอย่างไรให้ตัวเองหายใจเสียงดัง หมายความว่าคุณไม่ต้องพูด แค่คุณมองเขาก็รู้แล้วว่าต้องทำอะไร

คอร์สนี้เกิดจากการที่ปรึกษากับน้องๆ ในพอร์ตทุกคน ว่าต้องการอะไรบ้าง เช่น หัวข้อพูดอย่างไรให้มีเสน่ห์และน่าสนใจ, Financial Management, Human Resource Development & Management เป็นต้น

คุณออนฝากทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม Founder Development เพื่อพัฒนา Leadership หรือ AIS Playground ที่จะเปิดขึ้นเร็วๆ นี้เพื่อใช้แล็ปและเข้าร่วมเวิร์คช็อปต่างๆ เราเปิดกว้างให้ทุกคนในพอร์ตโฟลิโอเข้าได้หมด ซึ่ง Startup ที่สนใจสามารถส่งผลงานมาให้พิจารณาได้ที่ www.ais.co.th/thestartup/connect

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...