จะสร้าง product ที่มีคนซื้อ ต้องถามอะไรกับลูกค้า ? | Techsauce

จะสร้าง product ที่มีคนซื้อ ต้องถามอะไรกับลูกค้า ?

Search engine ทำให้การถามคำถามมีความสำคัญมากกว่าเดิม

และมันทำให้บทบาทของนักขายเปลี่ยนไป 

คนที่ไม่ได้เป็นพนักงานขายอาจจะบอกว่าไม่เห็นเกี่ยวกับฉันซักหน่อย แต่ Daniel H. Pink บอกว่ามนุษย์เราล้วนเป็นนักขายโดยกำเนิด ถ้าคุณเคยโน้มน้าวใครซักคนก็ถือว่าคุณเป็นนักขายแล้ว เพราะงั้นจะบอกว่าไม่เกี่ยวไม่ได้แล้วล่ะ 

แล้ว search engine มันทำให้นักขายเปลี่ยนไปยังไง

สมัยก่อนนักขายเก่งๆคือคนที่เชี่ยวชาญการตอบคำถาม แต่สมัยนี้ยอดนักขายคือคนที่เชี่ยวชาญการถามคำถามและระบุปัญหาที่คาดไม่ถึง 

ผู้ซื้อไม่ต้องการข้อมูลสินค้าจากผู้ขายเพราะพวกเขามีข้อมูลพอๆกัน สิ่งที่ผู้ซื้อต้องการจากผู้ขายคือทางเลือกใหม่ที่คาดไม่ถึง ซึ่งทางเลือกใหม่เกิดขึ้นด้วยการถามคำถาม 

การถามคำถามมีความสำคัญมาแต่ไหนแต่ไร มันทำให้มนุษย์เราค้นพบความมหัศจรรย์ภายในโลก แต่ดูเหมือนเราไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร

โรงเรียนอาจจะเป็นที่แรกๆที่ลดความสำคัญของการถามเพราะที่นั่นเน้นฝึกให้เราหาคำตอบ

เด็กคนไหนตอบคำถามเก่ง เด็กคนนั้นฉลาดและตั้งใจเรียน  

เด็กคนไหนถามเก่ง เด็กคนนั้นไม่ตั้งใจเรียนและรบกวนการสอน

เมื่อเชื่อกันแบบนี้แล้วเด็กคนไหนจะกล้าถามกันล่ะ ต่อให้ครูสอนไม่รู้เรื่องแล้วถามว่ามีใครสงสัยมั้ย เราก็คงไม่กล้ายกมือ เราแก้ปัญหาด้วยการถามเพื่อนข้างๆแทน แต่บางครั้งเพื่อนมันก็ไม่รู้เรื่องเหมือนกัน 

การถามที่ดีไม่ได้ทำให้มนุษย์เราค้นพบความมหัศจรรย์บนโลกเพียงอย่างเดียว การถามที่ดีก็สามารถทำให้ชีวิตดีขึ้นเช่นกัน อย่างเช่นการได้งานดีๆ เมื่อเราสมัครงานเราต้องผ่านการสัมภาษณ์งาน เราฝึกตอบคำถามมาอย่างดี แต่บางครั้งคำถามที่ยากที่สุดอาจจะมาในรูปแบบคำถามที่ว่า “คุณมีอะไรจะถามเรามั้ย” การได้งานหรือไม่ได้งานอาจจะวัดกันที่เรามีคำถามที่ดีแค่ไหน 

และในยุคที่สตาร์ทอัพเกิดกันมากมาย การถามคำถามที่ถูกต้องจะทำให้สตาร์ทอัพไปรอด 

มีรายงานของ CB Insights เผยว่าสาเหตุหลักๆที่ทำให้สตาร์ทอัพล้มเหลวคือสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตลาดไม่ต้องการโดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์สูงถึง 42% เลยทีเดียว 

แล้วทำไมถึงสร้างของที่ไม่มีคนซื้อล่ะ ก็เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไรกันแน่ สตาร์ทอัพมักใช้เวลาส่วนมากไปกับการสร้างผลิตภัณฑ์ ใช้เวลาน้อยนิดไปกับการพูดคุยกับลูกค้า และยิ่งถ้าไม่มีทักษะการสัมภาษณ์ลูกค้าด้วยแล้ว ยิ่งถามก็ยิ่งหลงทาง

ถ้าเริ่มด้วยคำถามที่ผิดก็จะได้รับข้อมูลผิดๆ หลักการของ Big Data บอกไว้ว่าไม่ใช่ทุกข้อมูลอย่างจะมีความสำคัญ การสัมภาษณ์ลูกค้าก็เช่นกัน ใช่ว่าคำตอบของลูกค้าจะมีประโยชน์ไปซะหมด 

Alexander Osterwalder จาก Strategyzer บอกว่าสิ่งที่คุณควรถามในการสัมภาษณ์คือถามข้อเท็จจริง ไม่ใช่ถามความคิดเห็น

ในมังงะ Bakuman มีตอนหนึ่งที่ตัวเอกคิดจะเอาความเห็นของแฟนๆมายัดรวมในการ์ตูน แต่ก็โดนเตือนว่าทำแบบนั้นเนื้อเรื่องมั่วไปหมด การสัมภาษณ์ลูกค้าก็ไม่ควรทำแบบนั้นเช่นกัน Osterwalder บอกว่าคนที่มีประสบการณ์น้อยในการสัมภาษณ์ลูกค้ามักจะถามประมาณว่า

“คุณชอบไอเดียนี้มั้ย”

“ทางเลือกไหนที่คุณน่าจะชอบมากกว่า”

“คุณจะซื้อเจ้าสิ่งนี้มั้ย” 

คำถามพวกนี้เป็นการถามความเห็นและบ่อยครั้งทีเดียวที่ผู้คนจะไม่ได้ทำตามที่เขาแสดงความเห็นจริงๆ

สิ่งที่คุณต้องการได้จากการสัมภาษณ์คือ ข้อเท็จจริงแน่นๆ ดังนั้นแทนที่จะถามว่า “คุณคิดว่าปัญหาคืออะไร” คุณควรจะเปลี่ยนไปถามว่า 

“ครั้งสุดท้ายที่คุณพยายามจัดการกับปัญหานี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่” 

“คุณอธิบายถึงปัญหาที่คุณปลุกปล้ำครั้งล่าสุดได้มั้ย” 

หรือ “ครั้งสุดท้ายที่คุณเข้ากูเกิลหาวิธีจัดการกับปัญหานี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่”

แต่ถึงจะรู้ข้อนี้แล้วก็ยังไม่พอ ผู้มีประสบการณ์น้อยบางคนอาจจะถามข้อเท็จจริงแต่สิ่งที่เขาทำพลาดก็คือถามเพียงผิวเผิน 

“งานหนักของคุณในการสัมภาษณ์ลูกค้าคือการขุดลงไปให้ลึกและค้นให้พบอัญมณีที่ซ่อนอยู่ ขุดหลักฐานเชิงปริมาณออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้” Osterwalder กล่าว 

ถ้าลูกค้าบอกว่าอยากได้วิธีแก้ปัญหาที่เร็วกว่านี้ คุณก็ต้องถามต่อว่า เร็วขึ้นขนาดไหน แก้ไขภายใน 5 นาทีนี่เรียกว่าเร็วรึยัง ต้องพัฒนาถึงระดับไหนถึงจะถือว่าสำเร็จ

ถ้าคุณไม่สามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ว่าสิ่งไหนเรียกว่าสำเร็จ สิ่งไหนเรียกว่าล้มเหลว คุณก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าคุณได้สร้างคุณค่าให้ลูกค้าแล้วหรือไม่ 

แต่บางครั้งก็ดูไม่เม้คเซนส์ที่จะถามเกี่ยวกับตัวเลข กรณีแบบนี้ให้มุ่งไปที่สิ่งที่ชี้ชัดถึงตัววัดความสำเร็จ 

มีเคสหนึ่งที่ Osterwalder เข้าไปช่วยเอเจนซี่ทัวร์ของ Gulf nation ในการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ เพื่อให้รู้ว่าทริปแบบไหนที่จะสร้างความรู้สึกพิเศษให้กับนักท่องเที่ยว กรณีนี้ถามเป็นตัวเลขยาก คำถามที่ดีควรจะเป็น  

“บอกผมถึงประสบการณ์สุดพิเศษครั้งล่าสุดของคุณหน่อย” 

“สิ่งใดที่ทำให้คุณมีประสบการณ์สุดพิเศษ” 

คำถามแบบนี้จะทำให้คุณได้รับคำตอบที่ดีกว่าการถามว่า “คุณคิดว่าประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมน่าจะเป็นแบบไหน” หรือ “ถ้ามีคะแนน 1-10 คุณจะให้ทริปนี้กี่คะแนน” 

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกครั้งที่สร้างผลิตภัณฑ์ทุกบริษัทจะต้องเริ่มต้นด้วยการถามลูกค้าเสมอไป การต่อ ยอดจากสิ่งที่มีอยู่ก็เป็นอีกทางเลือกเช่นกัน 

Osterwalder พบว่าพวกบริษัทใหญ่ๆที่เขาให้คำแนะนำไม่ได้มีแค่ไอเดียเจ๋งๆเท่านั้น แต่พวกเขายังมีทรัพยากรมากมายอย่าง สิทธิบัตร ความสามารถหรือวิธีเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทีมนวัตกรรมสามารถใช้ในการสร้างสินค้าต้นแบบได้ 

ตัวอย่างคลาสสิกก็คือการสร้าง Amazon Web Service ของ Amazon 

วิธีของ Amazon คือใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญด้าน IT และโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ในการสร้างธุรกิจ e- commerce ในช่วงแรกมาใช้สร้าง AWS ซึ่งเป็นธุรกิจ cloud computing จนสามารถเปิดตลาดใหม่ขายให้แก่กลุ่มลูกค้าธุรกิจได้ 

แต่การรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไรก็ยังไม่พอ มันเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น ยังเหลืออีกสิ่งที่คุณต้องมีคือความสามารถที่จะสร้างมันขึ้นมา ตรงนี้คุณต้องถามตัวเองและทีมคุณแล้วว่า "เราสามารถสร้างมันได้หรือไม่"

Daniel Pink กล่าวว่า “การมีวิธีคิดที่ชัดเจนแต่ไม่มีวิธีปฎิบัติที่ชัดเจนย่อมไม่อาจจูงใจผู้คนได้” คุณอาจจะมีไอเดียเจ๋งๆไปพูดให้ลูกค้าฟังและลูกค้าก็ต้องการมัน แต่ไอเดียของคุณจะมีค่าเป็นศูนย์ถ้าคุณทำให้มันเป็นจริงไม่ได้ 

หลักการสร้างสินค้านวัตกรรมนั้นเรียบง่าย เข้าใจลูกค้าและสามารถสร้างสิ่งนั้นให้เป็นจริง 

แต่เรียบง่ายก็ไม่ได้หมายความว่ามันง่าย 

และผู้ที่จะอยู่รอดได้จะต้องมีมันทั้งสองอย่าง

===============

ข้อมูลอ้างอิง :

หนังสือ To Sell is Human 

https://www.strategyzer.com/blog/posts/2018/1/8/the-one-biggest-error-in-customer-interviews-mistaking-opinions-for-facts

https://www.strategyzer.com/blog/starting-with-the-customer

https://www.strategyzer.com/blog/posts/2018/2/27/do-you-understand-what-customers-want-and-can-you-build-it


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...