ผ่าโมเดลธุรกิจ Co-working space ในไทย จะ ‘ล่ม’ หรือจะได้ ‘ไปต่อ’ ในปี 2019 | Techsauce

ผ่าโมเดลธุรกิจ Co-working space ในไทย จะ ‘ล่ม’ หรือจะได้ ‘ไปต่อ’ ในปี 2019

แม้ว่าตลาด Co-working space ในเมืองไทยจะเติบโตและมีจำนวนผู้เล่นเพิ่มขึ้น ทั้งแบรนด์ในไทยเองและแบรนด์ระดับโลกต่างก็เร่งขยายพื้นที่รวมไปถึงเพิ่มจำนวนสาขาอย่างต่อเนื่อง ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ จึงทำให้ตลาด Co-working space ในไทยครึกครื้นและคาดว่าจะเกิดการแข่งขันกันสูงขึ้นไปอีกในอนาคต

การเติบโตของตลาด Co-working space ในช่วงปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างโอกาสใหม่ๆ ที่จะดึงทั้งนักธุรกิจและนักลงทุนเข้ามาได้อีกตลอดจนเอื้อต่อเทรนด์การทำงานที่กำลังจะเปลี่ยนไปของคนยุคนี้ด้วย

เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ทีมงาน Techsauce เคยรายงานถึงความเคลื่อนไหวของตลาด Co-working spaceในไทย เราได้หยิบยก Co-working space 4 แบรนด์ทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ระดับโลกที่เข้ามาตีตลาดไทย ไล่ไปตั้งแต่ Glowfish, JustCo, Spaces รวมถึง WeWork ที่เป็นเจ้าล่าสุดด้วย ในบทความนี้ เราจึงขอหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อชวนผู้อ่านมาร่วมกันตั้งคำถามว่า เมื่อเกิดการแข่งขันของตลาด Co-working space ในไทย ผู้เล่นในตลาดนี้เตรียมพร้อมในการรับมืออย่างไรและใครคือผู้ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขันนี้?

โดยครั้งนี้จะพาไปพูดคุยกับ ‘คุณชาล เจริญพันธ์’ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง HUBBA ซึ่งเป็น Co-working space เจ้าแรกในเมืองไทย พร้อมกับจะพาไปล้วงลึกถึงบทบาท Co-working space และเบื้องหลังการสร้างคอมมูนิตี้ของคนสายเทคในเมืองไทย ซึ่งอาจจะทำให้คุณมองข้ามผ่านบทบาทของการเป็น ‘พื้นที่นั่งทำงาน’ ไปเลยก็ได้..

แม้ว่ายุคนี้จะเป็นยุคเฟื่องฟูของธุรกิจ Co-working space ในไทย ทว่าแต่ละแบรนด์ต่างก็มีจุดมุ่งหมายและรูปแบบการให้บริการที่แตกต่างกัน โดยแบ่งตามบทบาทและรูปแบบการให้บริการของ 4 ประเภท ดังนี้

1. Co-working space ประเภท Service office

หากนับว่า Co-working space คือพื้นที่สำหรับนั่งทำงาน Service office ก็ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ของ Co-working space ได้เหมือนกัน แต่อาจจะอยู่ในรูปแบบของ Real estate ซึ่งมีบทบาทในการให้บริการสำนักงาน หรือพื้นที่ทำงานแก่กลุ่มคน องค์กรหรือหน่วยงานที่ต้องการพื้นที่ทำงานที่เป็นส่วนตัว อย่างเช่น Regus ซึ่งก็เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการพื้นที่สำนักงาน แต่อาจจะต่างจาก Service office แบบดั้งเดิมในส่วนของการออกแบบ เพื่อให้เหมาะกับพฤติกรรมการใช้งานของคนยุค Millennials Generations มากขึ้น

2. Co-working space ประเภท Cafe’

ร้านกาแฟ ก็สามารถจัดไว้ในหมวดหมู่ผู้ให้บริการ Co-working ได้เช่นกัน เพราะด้วยฟังก์ชันการใช้งานก็สามารถตอบโจทย์การนั่งทำงานได้เช่นกัน เพียงแต่ในร้านกาแฟอาจจะมีความเป็นส่วนตัวน้อย มีการจำกัดชั่วโมงการใช้งาน ตัวอย่างเช่น Starbucks ที่มีรูปแบบการให้บริการใกล้เคียงกับ Co-working space แต่ไม่ได้มีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเช่น Co-working space

3. Co-working space ประเภท Educational Focus

เป็นการให้บริการพื้นที่เน้นการเรียนการสอนเป็นส่วนใหญ่ ในเมืองไทยเองมีกลุ่มผู้ให้บริการประเภทนี้เพียงไม่กี่เจ้า อย่างเช่น LearnHub และ We Learn ซึ่งกลุ่มธุรกิจนี้จะเน้นการให้บริการ Co-working space ควบคู่ไปกับการสร้างแวดล้อมในการเรียนรู้ หรือมุ่งพัฒนาระบบการศึกษาควบคู่กันไปด้วย

4. Co-working space ประเภท Community-led Co-working space

การให้บริการ Co-working space นี้ ยังถือเป็นกลุ่มผู้ให้บริการที่มีน้อยมากในประเทศไทย นอกเหนือจากการให้บริการพื้นที่ทำงานแล้วก็ยังโฟกัสไปที่การสร้างคอมมูนิตี้ และการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนในคอมมูนิตี้ โดยช่วยให้ผู้ใช้บริการได้ร่วมกันสร้างสิ่งใหม่ไปพร้อมๆ กันและเติบโตไปด้วยกัน สุดท้ายแล้ว วัฒนธรรมใน Co-working space ประเภทนี้ จะเป็นอีกหนึ่งตัวเร่งปฏิกิริยาให้กลุ่มผู้ใช้งานสามารถสร้างธุริกิจใหม่ๆ ได้รวดเร็วขึ้น

5. Co-working space ประเภท Private work space

การให้บริการของธุรกิจ Co-working space รูปแบบนี้ จะเน้นที่การให้บริการพื้นสำนักงานที่มีความเป็นส่วนตัว ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นภายใต้องค์กรหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นเจ้าของ และเปิดให้บริการกับกลุ่มลูกค้าหรือว่าพันธมิตรทางธุรกิจเท่านั้น อย่างเช่น Dtac ที่มี Hangar เป็นพื้นที่ให้บริการเฉพาะผู้เข้าร่วมโครงการ Dtac Accelerate เท่านั้น

HUBBA และระบบนิเวศใน Co-working space

สำหรับ HUBBA นั้น จัดอยู่ในหมวดหมู่การให้บริการรูปแบบ Community-led Co-working space เพราะนอกจากพื้นที่นั่งทำงานแล้ว ที่นี่ยังเป็นพื้นที่ที่ผสมผสานกันระหว่าง Community, Educational รวมไปถึง Service office ด้วย ซึ่งผู้ใช้งาน Co-working space กลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่มองหาโอกาสใหม่ๆ มีทั้งผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพรวมไปถึง Digital Nomad ด้วยความที่มีไลฟ์สไตล์และความสนใจที่ใกล้เคียงกัน ที่นี่จึงเกิดวัฒนธรรมการทำงานที่เกื้อหนุนกัน

ในอดีต Co-working space เกิดขึ้นมาเพื่อลดค่าใช้จ่ายของกลุ่มผู้เริ่มต้นธุรกิจใหม่ แต่ปัจจุบัน ‘โอกาส’ ต่างๆ ของธุรกิจที่กำลังเริ่มต้นต่างก็เกิดขึ้นใน Co-working space

ในการให้บริการของ HUBBA นอกจากพื้นที่นั่งทำงานที่มุ่งเน้นการสร้างบรรยากาศที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรรค์ กระตุ้นการร่วมมือกัน กระตุ้นการเรียนรู้ร่วมกันแล้ว คุณชาลยังได้ให้ความเห็นด้านข้อได้เปรียบของการเริ่มต้นธุรกิจที่ Co-working space เอาไว้ว่า

"การที่ผู้ประกอบการมาอยู่ใน co-working space จะช่วยสร้างโอกาสให้กับคนเริ่มทำธุรกิจ ตั้งแต่การเริ่มสร้างเครือข่ายผู้ใช้งานไปตลอดจนการขยายทีมและการหานายทุน

Co-working space จึงถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่สตาร์ทอัพจะได้แนะนำ Product ของตัวเองก่อนเริ่มทำการตลาด โดยปกติก่อนที่จะนำผลิตภัณฑ์หรือบริการออกสู่ตลาด ต้องอาศัยเวลานานกว่าจะเริ่มมีคนรู้จัก กว่าจะเริ่มสร้างเครือข่ายผู้ใช้งานและกว่าจะเริ่มมีตลาดก็อาจจะสูญเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก

การมาอยู่ใน Co-working space นอกจากจะได้รู้จักคนใหม่ๆ ที่เป็นฐานลูกค้าแล้ว ที่นี่ยังถือเป็นอีกหนึ่งที่ที่สามารถสร้างเครือข่ายผู้ใช้งาน ที่สามารถพูดได้ว่าการสร้างเครือข่ายใน Co-working space ถือเป็นการตลาดทางอ้อม สำคัญไปกว่านั้น การมารวมอยู่กับคนหลากหลายที่มีความสนใจใกล้เคียงกัน ยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้เริ่มต้นธุรกิจใหม่ที่จะได้ทั้งคำแนะนำ ได้ทั้ง feedback ที่อาจจะมาช่วยในการพัฒนา product ให้ดียิ่งขึ้นก่อนที่จะนำออกสู่ตลาด รวมไปถึงอาจจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้พบกับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจด้วยก็ได้

สตาร์ทอัพบางรายก็ได้รับการลงทุนก่อนที่ Product จะถูกนำออกสู่ตลาดเพราะว่ามี VC ที่อยู่ในเครือข่าย รวมถึงพาร์ทเนอร์ที่มองเห็นว่าสินค้าและบริการนั้นๆ มี Potential การทำงานของทีมก็ยังส่งผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและจะมีโอกาสได้รับเงินลงทุนก่อน หรืออย่างน้อยก็อาจจะเริ่มสร้างคอนเนคชันไว้ เมื่อพร้อมก็จะมีโอกาสในการได้รับเงินลงได้เร็วขึ้น”

นี่อาจจะเป็นปัจจัยหลักที่สตาร์ทอัพยอมควักเงินเพื่อแลกกับที่นั่งทำงานใน Co-working space แต่สิ่งที่พวกเขาจะได้กลับไปอาจไม่ใช่เพียงที่นั่งทำงาน มากกว่านั้นมันคือการสร้างโอกาสและการสร้างทางลัดให้กับธุรกิจของพวกเขาก้าวไปสู่ความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น

HUBBA กับบทบาท Co-working space และการสร้าง Startup Community

ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ‘คน’ และ ‘Community’ คือหัวใจสำคัญของ Co-working space ที่ HUBBA จึงมีทีม ‘Community Builder’ ผู้ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้คนและขับเคลื่อน Community นี้ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อดึงคนต่างๆ ที่มุ่งมั่นในการปั้นธุรกิจของตนเองให้ได้มามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน

สำหรับสตาร์ทอัพเอง ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจที่ถือเป็นช่วงที่มีความไม่แน่นอนอยู่มาก เป็นช่วงเวลาที่มีทั้งความเครียดและความกดดันสูง การทำงานในสภาพแวดล้อมที่ดีและเอื้อต่อการเกื้อหนุนกันจึงจำเป็นอย่างมาก

HUBBA ในบทบาท ​’Community-led Co-working spaces’ จึงเปรียบเสมือนพื้นที่ตรงกลางระหว่าง ‘สตาร์ทอัพ’ และ ‘ผู้ให้บริการที่นั่งทำงาน’ ที่มุ่งช่วยเหลือสมาชิกให้ได้พบกับโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจผ่านกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ที่จะช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ได้สร้างเครือข่าย สุดท้ายก็่เป็นการช่วยเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จและลดโอกาสที่ธุรกิจจะตายได้มากขึ้นด้วย

อนาคตของ HUBBA และการเติบโตในตลาด Co-working space

ปี 2018 กับการเพิ่มขึ้นเป็น 7 สาขา รวมพื้นที่ทั้งหมดกว่า 5,000 ตารางเมตร แม้ว่าการขยายสาขาของ HUBBA ในปี 2018 ที่ผ่านมา จะมีจำนวนสาขาและพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว แต่ HUBBA ก็ยังคงยืนยันว่าจะรักษามาตรฐานและคาแรคเตอร์ความเป็น HUBBA เอาไว้ โดยได้วางรากฐานในการที่จะเติบโตที่มีจะมีระบบมากขึ้น มี workflow ในการใช้บริการที่ความสะดวกต่อผู้ใช้งานและมีมาตรฐานที่สูงขึ้นด้วย

คุณชาล กล่าวว่า “ตอนนี้ HUBBA ได้สเกลธุรกิจที่พร้อมสำหรับการขยายสาขาในปี 2019 นี้แล้ว รวมไปถึงการออกแบบ workflow ที่จะช่วยสร้างความสะดวกในการใช้บริการแก่ผู้ใช้งานด้วย ทั้งนี้เรายังมีเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพและพัฒนามาตรฐานการให้บริการ Co-working space ไปควบคู่กับการสร้าง Community ที่แข็งแกร่งให้เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน

ที่ผ่านมา HUBBA ได้ร่วมงานกับพันธมิตรมาโดยตลอด โดยได้จับมามือกับพันธมิตรที่เป็นหน่วยงาน องค์กรในเมืองไทยรวมไปถึงพันธมิตรระดับโลกอย่าง Google และ Techstars ซึ่งได้เข้ามาช่วยในการสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการ ช่วยผู้ส่งเสริมประกอบการในการเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในธุรกิจใหม่ ช่วยพวกเขาให้ลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ รวมไปถึงช่วยลดต้นทุนของธุรกิจที่กำลังเริ่มต้นด้วย นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายนักลงทุนรวมไปถึง Mentor ระดับโลกด้วยที่จะมาช่วยให้คอมมูนิตี้ของผู้ประกอบการใน HUBBA แข่งแกร่งขึ้น สุดท้ายแล้วก็จะส่งผลให้เกิด Ecosystem ใน Community ที่จะดึงดูดทั้งนักลงทุนและพันธมิตรเข้ามาในคอมมูนิตี้นี้ ซึ่งมันก็คือ shortcut ให้สตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการไปสู่ความสำเร็จได้เร็วขึ้น”

นอกจากนี้ ปลายปีที่ผ่าน HUBBA ยังได้ทดลองจัดโปรแกรม Startup Kids มุ่งสร้างทักษะความเป็นผู้ประกอบการใหักับเด็กๆ อายุ 10-15 ปี ซึ่งก็ได้พิสูจน์มาแล้วในงาน “Winter Market Fest #6” เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ว่าผู้ประกอบการรุ่นเยาว์สามารถปั้นไอเดียให้เป็นทั้งผลิตภัณฑ์และบริการได้ และสามารถสร้างรายได้จริง

หากมองว่า Co-working space เป็นอีกหนึ่งกลไกลและเป็นผู้ผลักดันการสร้าง Startup Ecosystem ในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจ Co-working space ในเมืองไทย อาจจะกล่าวได้ว่า HUBBA กำลังปรับตัวและยกระดับการให้บริการที่สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานอย่างกลุ่มผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพและ Digital Nomad ได้เป็นอย่างดี เชื่อว่าหลังจากนี้ เราคงจะได้เห็นโปรเจคสนุกๆ จาก HUBBA ที่จับมือกับคนรุ่นใหม่ไฟแรงอีกหลายงานอย่างแน่นอน

เกี่ยวกับผู้เขียน

ARTHITTAYA BOONYARAT : Full-time Community Builder, part-time Podcasting

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก Physical AI เอไอยุคใหม่ที่ Jensen Huang กล่าวถึงคืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ?

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน CES 2025 คือการที่ Jensen Huang ซีอีโอของ NVIDIA ได้มีการพูดถึงยุคต่อไปของ AI นั่นก็คือ ‘Physical AI’ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญยิ่งที่ AI กำลังจะเข...

Responsive image

4 เทรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำที่อาจเปลี่ยนโลกจาก CES 2025

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดจาก CES 2025 ตั้งแต่ AI อัจฉริยะ ยานยนต์ล้ำสมัย ไปจนถึงการพัฒนาชิปกราฟิกและเทคโนโลยีหน้าจอแห่งอนาคตที่เปลี่ยนโฉมการใช้ชีวิตประจำวัน!...

Responsive image

เปิดตัว ‘รถบินแยกร่าง’ XPeng ผสมเครื่องบินกับรถตู้ รุ่น Land Aircraft Carrier ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท

XPeng Aero HT เปิดตัว Land Aircraft Carrier รถบินได้แบบแยกร่างสุดล้ำที่ CES 2025 พร้อม eVTOL พับเก็บได้ ใช้งานง่าย ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท วางแผนผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2026...