ถอดบทเรียน CP จีนใน 'อู่ฮั่น' สู้ COVID-19 อย่างไรให้ 'คนปลอดภัย อาหารปลอดภัย' | Techsauce

ถอดบทเรียน CP จีนใน 'อู่ฮั่น' สู้ COVID-19 อย่างไรให้ 'คนปลอดภัย อาหารปลอดภัย'

เมื่อยามวิกฤต ความรู้เท่านั้นที่จะทำให้รอดได้  CP ในประเทศจีนผ่านบทเรียนในชีวิตจริง ถ่ายทอดประสบการณ์สู่ซีพีประเทศไทย ให้เตรียมความพร้อม ไม่ประมาท และนำความรู้มาแบ่งปันคนไทย เพราะเมื่อภัยมา บทเรียนจากผู้อยู่ในเหตุการณ์จริง อาจช่วยลดผลกระทบต่อคนไทยได้ไม่มากก็น้อย

หากย้อนกลับไป นครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน ถือเป็นพื้นที่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) รุนแรงที่สุดในประเทศจีน กระทั่งต้องใช้มาตรการปิดเมืองห้ามประชาชนเดินทางออกนอกพื้นที่ ซึ่งหลังจากปิดเมืองนานกว่า 2 เดือน ขณะนี้สถานการณ์ของนครอู่ฮั่นค่อย ๆ กลับฟื้นคืนสภาพปกติ และเตรียมประกาศเปิดเมืองในวันที่ 8 เมษายน 2563 พวกเขาเจออะไรมาบ้าง พวกเขาเรียนรู้อะไรมาบ้าง ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย

กรณีศึกษาที่อู่ฮั่นหลังจากมีการประกาศปิดเมืองวันที่ 24 มกราคม 2563 ใช้เวลาไม่เกินหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้นในวันที่ 31 มกราคม จึงมีการประกาศให้พนักงานกลับมาผลิตและทำงานในโรงงานได้ และต่อมาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ โรงงานแปรรูปอาหารของซีพีในอู่ฮั่นก็สามารถเดินเครื่องกลับมาผลิตได้ ขณะที่ฟาร์มปศุสัตว์ไม่มีการหยุดปฏิบัติงาน โดยมีการประกาศอนุญาตให้พนักงานซีพีสามารถเข้ามาทำงานในโรงงานผลิตอาหารได้ 

สูตรสำเร็จ ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ที่อู่ฮั่น

ในระหว่างช่วงเวลาแห่งความยากลำบากอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า 3 ปิด คือ ปิดเมือง ปิดถนน และปิดชุมชน ซึ่งในจังหวะวิกฤตนั้น สิ่งที่ซีพีประเทศจีนแบ่งปันประสบการณ์ เรื่องที่หนึ่งคือ ซีพีประเทศจีนประกาศนโยบายทันทีว่า พนักงานทุกคนต้องแจ้งสถานะสุขภาพตัวเองทุกวัน เพราะหากวัดผลไม่ได้ ก็ไม่มีทางควบคุมได้ สิ่งนี้คือขั้นตอนแรก ที่ต้องโปร่งใส มีข้อมูลในมือ รายงานทุกวัน จึงจะบริหารจัดการได้ หากมีอาการก็ต้องตรวจวัด ไม่ให้ไปเจือปนในกระบวนการผลิตเด็ดขาด ทุกขั้นตอนมีการตรวจสอบ ทำให้ผู้บริหารเห็นข้อมูลทุกวัน รู้ว่าผลิตเมื่อไหร่ แจกจ่ายไปที่ไหน มีรถกี่คัน วิ่งไปไหนบ้าง ติดตามได้ตลอด ทำให้ระบบโซนนิ่งมีประสิทธิภาพ

เรื่องที่ 2  :  การที่เอกชนกับรัฐผนึกกำลังกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า อาหารเพียงพอในสภาวะปิดเมืองนั้น ไม่เกิดการโกลาหล  เพราะประชาชนต้องมีความเชื่อมั่นในเรื่องนี้ เครือซีพีซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติในจีนที่จดทะเบียนการค้าหมายเลข 001 มีธุรกิจในจีนโดยเฉพาะธุรกิจด้านอาหาร ได้ร่วมผนึกกำลังกับภาครัฐ และหน่วยงานในท้องถิ่นของนครอู่ฮั่นร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นใจว่าในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ ทุกคนจะต้องมีอาหารรับประทานอย่างไม่ขาดแคลนเพื่อต่อสู้กับโรคระบาดยุค 4.0 ที่แพร่ไปทั่วโลก ด้วยเหตุนี้มาตรการที่ซีพีในอู่ฮั่นเข้มงวดถัดมา คือ การให้ความมั่นใจกับรัฐบาลว่าสินค้าจะมีอย่างเพียงพอ โดยกำลังการผลิตอาหารต่อวันในอู่ฮั่นของซีพี คือ หมู 260,000 กิโลกรัม ไก่ 300,000 กิโลกรัม ไข่ 2.5 ล้านฟอง และอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน 500,000 ชุด สามารถผลิตได้ตรงตามเป้าหมาย จากนั้นวางระบบศูนย์กระจายและขนส่งที่มีประสิทธิภาพ สร้างมาตรฐานจัดและแพคสินค้าได้ รวมทั้งระบบขนส่งครอบคลุม การแต่งกายและการดูแลขนส่งได้มาตรฐาน ขณะเดียวกันวางระบบกระจายสินค้าตามที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งภายในอู่ฮั่นมีการแบ่งเขตชัดเจนโดยให้พนักงานขนส่งไปส่งตามจุดที่กำหนดไว้ และมีตัวแทนเขตหรืออาสาสมัครนำสินค้าไปส่งต่อให้กับประชาชนในเขตที่กำหนด ซึ่งร้านสะดวกซื้อ CP Freshmart ในจีนได้มีการวางระบบการส่งถึงบ้านอย่างรัดกุม

จากประสบการณ์การดำเนินการของซีพีในอู่ฮั่น ซึ่งได้ผ่านช่วงเวลาที่เข้มข้นมาก ซีพีได้ร่วมผนึกกำลังกับหน่วยงานต่าง ๆ ในอู่ฮั่นจนสามารถฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างลุล่วง ผ่านการบริหารจัดการและมาตรฐานที่เข้มข้นและเข้มงวดที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพ เพื่อการผลิตอาหารที่เพียงพอในระยะยาว และมีคุณภาพในทุก Supply Chain ตลอดห่วงโซ่คุณค่า

เรื่องที่ 3 : สังคมปลอดเงินสด ลดการสัมผัส (Cashless) คนจีนยุคนี้ไม่จับเงินสด ใช้จ่ายออนไลน์เป็นนิสัย ทำให้ลดการติดเชื้อได้อย่างมาก และยังมีการสั่งของออนไลน์เป็นเรื่องปกติ โดยมาตรการต่างๆ ที่ซีพีในอู่ฮั่นได้ดำเนินการนั้น คือการออกแบบระบบส่งถึงบ้าน (Delivery) ซึ่ง CP Freshmart ในจีนส่งทั้งของสด อาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง ถึงบ้าน

เรื่องที่ 4 :  พนักงานต้องปลอดภัย ถือเป็นหน้าที่ว่า พนักงานต้องปลอดภัย ลูกค้าจึงจะปลอดภัย ทำให้ซีพีจีนลงทุนอย่างมากเรื่องถุงมือยาง ชุดคลุมทั้งตัว แว่นตาแบบครอบ ซึ่งระบบเข้าโรงงานเป็นระบบปิดฆ่าเชื้อ การขนส่งมีการตรวจสอบย้อนกลับทุกขั้นตอน และทำความสะอาด ฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อ พร้อมบันทึกไว้ทุกขั้นตอน ซึ่งโรงงานอาหารสัตว์มักคุ้นเคยกับขั้นตอนปลอดเชื้อเป็นอย่างดีอยู่แล้ว

เรื่องที่5 : การขนส่งต้องมีใบอนุญาต ที่อู่ฮั่นเมื่อปิดการจราจร การขนส่งอาหารจำเป็นต้องดำเนินต่อไป ในช่วงสัปดาห์แรกหลังปิดเมือง ประเทศจีนเริ่มมีนโยบายออกใบอนุญาตให้รถขนส่งอาหารวิ่งได้ สัปดาห์ต่อมารถขนส่งวัตถุดิบต้นน้ำวิ่งได้และตามด้วยการออกใบอนุญาตให้มีการขนส่งปลายน้ำให้จนถึงบ้านประชาชนทำให้สอดคล้องกับระบบ Zoning ว่าส่งได้ถึงไหน ตามระดับความเข้มข้น การส่งอาหารปลอดภัย ถึงทุกบ้านผ่านอาสาสมัครประจำหมู่บ้านเป็นหัวใจสำคัญ

การดำเนินการเหล่านี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐของจีนและซีพีในอู่ฮั่น ซึ่งซีพีได้มีการขออนุมัติในประเด็นหลัก ประกอบด้วย การขออนุมัติเคลื่อนย้ายพนักงาน การขออนุมัติเคลื่อนย้ายสินค้า วัตถุดิบ จนถึงได้รับใบอนุญาตส่งสินค้าข้ามเขต เพื่อให้สามารถนำอาหารจากโรงงานผลิตไปสู่ประชาชนชาวจีนได้ รวมถึงสามารถส่งอาหารสัตว์ป้อนฟาร์มปศุสัตว์ต่าง ๆ ได้

เรื่องที่ 6 : ชุมชนต้องเข้มแข็งเชื่อมโยง การ“กระจายสินค้า” จากโรงงานเพื่อส่งถึงมือผู้บริโภคนั้น ใช้รูปแบบรวบรวมอาสาสมัครในแต่ละเขตพื้นที่และชุมชนทั่วนครอู่ฮั่นจำนวน 11,000 คน มาช่วยในการกระจายสินค้า โดยอาสาสมัครจะมารับสินค้าจากจุดหลักในการกระจายสินค้าและนำไปส่งต่อให้แก่พี่น้องในชุมชน ซึ่งอาสาสมัครเหล่านั้นจะรับใบสั่งซื้อหรือ Order ในวันถัดมากลับมาด้วย ซึ่งนอกจากซีพีในอู่ฮั่นจะดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของอู่ฮั่นในการจัดส่งอาหารให้ถึงมือประชาชนแล้ว ยังร่วมส่งอาหารให้อาสาสมัครด้วย

เรื่องที่ 7 : คนปลอดภัย อาหารปลอดภัย หนึ่งในหัวใจสำคัญของ 3 สูตรสำเร็จในการฝ่าวิกฤตโควิด-19 ในอู่ฮั่น เมืองที่มีทั้งการปิดเมือง ปิดถนน และปิดชุมชน คือเรื่องของ “คน” เพราะเมื่อคนปลอดภัย อาหารก็จะปลอดภัย ซึ่งซีพีในอู่ฮั่นได้ประกาศนโยบายและแผนงานป้องกันการแพร่ระบาดทันทีว่าพนักงานทุกคนต้อง “แจ้งสถานะสุขภาพตัวเองทุกวัน” โดยมาตรการการดูแลพนักงานทุกคนต้องยึดหลัก “ปลอดภัย” เป็นอันดับแรก เพราะเมื่อพนักงานปลอดภัยสินค้าก็จะปลอดภัย โดยพนักงานที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในโรงงานยังต้องผ่านมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มข้น เริ่มตั้งแต่การคัดกรองผ่านการวัดอุณหภูมิร่างกายทุกคนก่อนเข้าโรงงาน พนักงานต้องได้รับการประเมินประวัติเสี่ยง โดยการทำแบบคัดกรองของบริษัท เมื่อเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในโรงงานจะต้องใส่ชุดป้องกันที่รัดกุม ทำความสะอาด 3 ครั้งต่อวันในพื้นที่ปฏิบัติงาน และพนักงานต้องไม่สัมผัสวัตถุดิบ อาหาร และสินค้าก่อนถึงปลายทาง หรือที่เรียกว่า “อาหารแยกคน”

ขณะเดียวกันได้มีการวางแนวทางสุขอนามัยส่วนบุคคลของพนักงานอย่างเข้มงวดเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติในปัจจุบันนี้ในทุกโรงงานที่ประเทศไทย มี 6 ขั้นตอน คือ 1.ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์บ่อย ๆ หลังสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ หรือหลังไอ จาม 2.กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ไม่ใช้ภาชนะร่วมกัน 3.หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในที่ที่มีคนแออัด 4.ทำความสะอาดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลก่อนและหลังเลิกใช้งาน 5.คนที่มีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อโรค เช่น แม่บ้าน แม่ครัว รปภ. พยาบาล ให้สวมหน้ากาก ถุงมือ และ 6.ใส่หน้ากากอนามัยและทิ้งในถังขยะติดเชื้อที่ห้องพยาบาล

นอกจากนี้พนักงานจะต้องมีการแต่งชุดอุปกรณ์ในการป้องกันโรค ประกอบด้วย แว่นตาแบบครอบ หน้ากากอนามัย ถุงมือยาว แอลกอฮอล์ 70% สารฆ่าเชื้อ เครื่องพ่นสารฆ่าเชื้อ ส่วนบรรดาอาสาสมัครในอู่ฮั่นนั้น นอกจากมีการจัดชุดอุปกรณ์ป้องกันโรคให้สวมใส่ทุกคนแล้ว ขั้นตอนการจัดส่งจะต้องให้อาสาสมัครประจำหมู่บ้านทุกคนใส่หน้ากากอนามัย และส่งมอบสินค้าในจุดปลอดภัย

ทั้งหมดนี้คือเกร็ดความรู้ แนวทางจากอู่ฮั่น คือบทพิสูจน์ให้เห็นถึงประสบการณ์ของซีพีที่อยู่เคียงข้างชาวจีนในนครอู่ฮั่นในช่วงเวลาแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ที่บริษัทได้ดำเนินธุรกิจอาหารของซีพีในจีนทั้งหมดได้สะท้อนให้เห็นถึงหน้าที่ ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งความรู้จากซีพีจีนถูกถ่ายทอดมายังซีพีประเทศไทย และเผยแพร่ไปยังคนไทย เพื่อประโยชน์ไม่มากก็น้อย โดยใช้ความรู้เป็นเกราะป้องกัน เป็นแนวทางและมาตรการสำคัญที่ซีพีจะนำมาใช้เพื่อร่วมฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19 กับรัฐบาลและคนไทยทั้งชาติเพื่อจะรับประกันได้ว่าอาหารในประเทศไม่ขาดแคลนและส่งถึงมือคนไทยด้วยความปลอดภัยรองรับความต้องการของประชาชนไทยในช่วงวิกฤต ในฐานะที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ที่อยู่คู่สังคมไทยมานานเกือบหนึ่งศตวรรษจะร่วมเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญฝ่าฟันวิกฤตครั้งสำคัญให้ผ่านไปได้ด้วยดีผ่านบทเรียนที่บางส่วนอาจนำมาปรับใช้ได้ จากวิกฤตอู่ฮั่นที่ถอดบทเรียนมายังประเทศไทย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...