3 VCs ล้อมวงคุย เรื่องโอกาสและความท้าทายด้านการลงทุนในอาเซียน | Techsauce

3 VCs ล้อมวงคุย เรื่องโอกาสและความท้าทายด้านการลงทุนในอาเซียน

รวมมุมมองแบบอินไซด์จากผู้บริหาร Venture Capital (VC) หรือ กองทุนร่วมลงทุน 3 กองทุนจาก 3 ประเทศ ได้แก่ AddVentures by SCG ประเทศไทย, Kejora Capital ประเทศอินโดนีเซีย และ Gobi Partners ประเทศฟิลิปปินส์ ที่มาร่วมวงเสวนาหัวข้อ Cross-Border Funding: Opportunities and Hurdles in ASEAN หรือ 3 VCs ล้อมวงคุย เรื่องโอกาสและความท้าทายด้านการลงทุนในอาเซียน ในงาน Techsauce Global Summit 2024

โดย 3 ผู้บริหารจาก 3 VCs ที่มาร่วมพูดคุยแบบ Panel Discussion หัวข้อ Cross-Border Funding: Opportunities and Hurdles in ASEAN ได้แก่

  • คุณคาร์โล เชน ดีลันตา (Carlo Chen-Delanta) 
    Partner and Head of ESG, Gobi Partners 
  • คุณเรย์มอนด์ ฮอร์ (Raymond Hor) 
    Fund Director, Kejora Capital 
  • คุณเจน เพรสคอทท์ (Jane Prescott) 
    Managing Director, AddVentures & Head of Investment and Venture Building, SCG 
  • คุณเปาโล เรนเทโร (Paolo Rentero)
    Co-founder and Director, TechShake เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

เห็นทิศทางของ VCs ไทยและเทศกันก่อน

คุณเจน เพรสคอทท์ (Jane Prescott) Managing Director, AddVentures & Head of Investment and Venture Building, SCG กล่าวถึงองค์กรเป็นคนแรกว่า AddVentures by SCG เป็น Corporate Venture Capital (CVC) หรือ ธุรกิจร่วมลงทุน ซึ่งอยู่ภายใต้ SCG เน้นลงทุนแบบ B2B (Business to Business) ในธุรกิจที่เติบโตเข้าสู่ Series A โดยให้เงินลงทุนแก่สตาร์ทอัพทั่วโลกรวมมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3,500 ล้านบาท ส่วนทีมงานหลักนั้นอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งอยู่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน อีกทีมอยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และต่างฝ่ายต่างก็หาบริษัทที่น่าลงทุนจากทั่วโลก

คุณเรย์มอนด์ ฮอร์ (Raymond Hor) Fund Director, Kejora Capital เล่าว่า เขาเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่พาธุรกิจเติบโตและเข้าตลาดหลักทรัพย์ 2 บริษัท ในปี 2005 และ 2008 ตามลำดับ และเริ่มเป็น VC ลงทุนในสตาร์ทอัพตั้งแต่ปี 2010 ในชื่อ Kejora Capital กองทุนร่วมลงทุนระดับท็อปของอินโดนีเซีย ซึ่งตลอด 7 ปีที่ผ่านมาให้เงินลงทุนแก่สตาร์ทอัพรวมแล้วกว่า 400 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.3992 หมื่นล้านบาท แก่ธุรกิจที่อยู่ในระยะเริ่มต้น (Early Stage) ไปจนถึงธุรกิจที่เติบโตเข้าสู่ Series B โดยโฟกัสที่โอกาสการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับ Orbit Capital Malaysia เฟ้นหาการลงทุนข้ามแดนในมาเลเซียและอินโดนีเซีย

คุณคาร์โล เชน ดีลันตา (Carlo Chen-Delanta) Partner and Head of ESG, Gobi Partners บอกว่า เป็นพาร์ตเนอร์กับกองทุนในประเทศฟิลิปปินส์และในระดับภูมิภาค ทั้งยังเป็น Head of ESG ของ Gobi Partners บริษัทร่วมลงทุนที่เน้นลงทุนใน VC Firm ในเอเชีย โดยมีออฟฟิศอยู่ 16 แห่ง กระจายตามเส้นทางจากปากีสถานไปจนถึงจีน อาทิ การาจี กรุงเทพฯ โฮจิมินห์ กวางโจว นอกจากนี้ยังบริหารกองทุนมากกว่า 10 กองทุน และลงทุนในสตาร์ทอัพตั้งแต่ระดับ Seed Stage จนถึง Series D ทั้งยังร่วมผลักดันให้เกิด Unicorn (บริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์) ได้ 15 บริษัท และอีกกว่า 50 บริษัทที่เติบโตเป็น Centaur (บริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านดอลลาร์)

มุมมองต่อการลงทุนในอาเซียนจาก 3 VCs

  • AddVentures : CVC ไทยเห็นอะไรเป็นโอกาส อะไรเป็นความท้าทาย

AddVentures เกิดขึ้นเพราะมี SCG หนุนหลัง โดย SCG เป็นธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม อาทิ ก่อสร้าง วัสดุ เคมีภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ โลจิสติกส์ คุณเจนเปิดเผยว่า บริษัทเห็นแนวโน้มความสนใจด้านเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน อย่าง AI, CleanTech ผนวกกับการที่ AddVentures เป็นบริษัทลูกของ SCG ด้วยแล้ว AddVentures ต้องมองหาธุรกิจที่อยู่ระหว่างสิ่งที่เป็นแนวโน้มในอนาคตและธุรกิจที่บริษัทแม่สนใจ 

สำหรับกระบวนการลงทุน คุณเจนบอกว่า เน้นการเลือกดีลโดยผ่านการเลือกกลุ่ม Vertical หรือเทคโนโลยีก่อน (Thesis Driven) โดยหาสิ่งที่มีอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และดูว่ามีอะไรขาดหายไปในภูมิภาคนี้ 

เรามีทีมที่ทำงานอยู่ทั่วโลก ดังนั้นเราจึงเป็นประตูเชื่อม (Gateway) ระหว่างคนนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เข้ามาในภูมิภาคนี้ได้ โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ จีนเติบโตและขยายตัว แล้วเราจะสามารถคว้าโอกาสเหล่านั้นได้อย่างไร แล้วเราก็จะขุดลงไปว่า อะไรคือ Pain Point หรือปัญหาที่แท้จริงซึ่งกำลังเกิดขึ้นในตลาด และบางอย่างก็กำลังเกิดขึ้นในที่อื่นๆ ของโลกด้วย

มุมมองต่อเรื่องการลงทุนใน AI ประเด็นที่น่าจะเป็นปัญหาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือเรื่อง ข้อมูล (Data) อย่างการใช้ในด้าน Prescriptive AI, Gen AI ซึ่งต่างก็มีปัญหาที่ต้องแก้ไข และ AddVentures ก็จะเข้าไปอุดช่องโหว่นั้น

ในด้านความท้าทาย คุณเจนบอกว่า การลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายประเทศเจอปัญหาคล้ายกัน เช่น สิงคโปร์ มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อม ขณะที่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย มีโครงสร้างพื้นฐานที่ต่างกัน ทั้งเรื่องโลจิสติกส์และฟินเทค ดังนั้น จึงมีหลายอย่างทับซ้อนกันอยู่ เพราะประเด็นปัญหาในบางประเทศ อาจเป็นปัญหาในอีกประเทศเช่นเดียวกัน ดังที่ Grab, Gojek สามารถเติบโตข้ามภูมิภาค 

“ถามว่าทำอย่างไรให้เทคโนโลยีและโซลูชันที่มีสามารถเติบโตข้ามภูมิภาคได้? ธุรกิจอาจโฟกัสที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ถ้าทำให้มีการสร้างรายได้ (Monetization) หลายเลเยอร์ก็สามารถดึงดูดการลงทุนของ Venture Capital Funds ได้ ยกตัวอย่าง ประเทศไทยมีขนาดตลาดไม่ใหญ่มาก ต่างจากอินโดนีเซียและเวียดนาม ถ้าคุณทำ Monetization ธุรกิจนี้ก็สามารถแยกเลเยอร์และลงลึกไปกับมันเพื่อสร้างรายได้ในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งก็มองว่าเป็นอีกมุมที่น่าจะดีต่อการลงทุน” คุณเจนกล่าว

นอกจากนี้ คุณเจนยังให้ความสำคัญเรื่อง AI และ CleanTech ว่าเป็นธีมที่น่าลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เนื่องจาก AI เป็นคำที่กว้างมากและใช้งานได้หลายรูปแบบ ดังนั้น ต้องคิดเรื่องเลเยอร์หรือชั้นต่างๆ ของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างแท้จริง โดยไม่จำเป็นที่จะต้องทำหรือลงทุนด้าน Gen AI ในขั้นสูง

  • Kejora Capital : ให้ความสำคัญเรื่องการลงทุนในธุรกิจข้ามแดน

คุณเรย์มอนด์เล่าว่า Kejora Capital จับมือกับหลายกองทุนเพื่อลงทุนในธุรกิจอาเซียน อาทิ

  • SBI ประเทศญี่ปุ่น โดยลงทุนใน 2 กองทุนที่โฟกัสฟินเทคในอินโดนีเซีย
  • Sunway Group กลุ่ม Talents ในประเทศมาเลเซีย โดย Kejora Capital ร่วมกับ The Soviet Group ร่วมลงทุนจัดตั้งธุรกิจ (Joint Venture) ชื่อ Orbit Capital Malaysia โฟกัสที่การสร้างดีลธุรกิจในมาเลเซียและอินโดนีเซีย

เทรนด์ที่เห็นในช่วง 2-3 ปีมานี้ เป็นการลงทุนในธีม FinTech, HealthTech, AgriTech, Renewable Energy, E-Commerce แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปเพราะตลาดมีวิวัฒนาการ  Kejora Capital ยังทำ Jakarta Express ธุรกิจขนส่งทางเรือเพื่อช่วยสตาร์ทอัพในมาเลเซียและสิงคโปร์ขยายตลาดในอินโดนีเซียได้เร็วขึ้น

10 ปีที่ผ่านมา Kejora Capital ลงทุนมากกว่า 400 ล้านดอลลาร์ รวมแล้วมากกว่า 50 บริษัท เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย ความท้าทายในการจำลองโมเดลธุรกิจในประเทศต่างๆ โดยเน้นถึงความจำเป็นของการใช้งานในระดับท้องถิ่น

  • Gobi Partners : เน้นลงทุนประเทศเดียวให้แข็งแกร่ง

คุณคาร์โลเผยมุมมองที่มีต่อเอเชียว่า เป็นภูมิภาคเดียวที่มีความแตกต่างด้านวัฒนธรรม ศาสนา เศรษฐกิจ แล้วชวนให้ผู้เข้าร่วมงานคิดตามว่า “แบบนี้จะทำอย่างไรให้ผู้เล่นรายต่างๆ ก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกันได้?”  

จากนั้นอธิบายว่า Gobi Partners โฟกัสการลงทุนเพียงประเทศเดียว โดยมุ่งอัดฉีดเงินทุนเพื่อผลักดันให้บริษัทต่างๆ แข่งขันในตลาดได้และหวังว่าธุรกิจจะเติบโตในระดับภูมิภาคต่อไป โดยที่ผ่านมา Gobi Partners ลงทุนไปแล้ว 10 บริษัท และบางบริษัทก็ขยายสู่ตลาดเวียดนามและไทยได้

คุณคาร์โลอธิบายว่า 60% ของบริษัทในฟิลิปปินส์มักจะเป็นธุรกิจบริการ ฟิลิปปินส์ไม่มีเด็กเก่งไปเรียนต่อต่างประเทศแบบเวียดนาม ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและอาหารแบบไทย แล้วคุณคาร์โลก็กล่าวอีกว่า “ฟิลิปปินส์จะเอาอะไรไปสู้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้” 

“ใครๆ ก็บอกว่าฟิลิปปินส์จะโตไปเป็น Next Indonesia แต่เราจะโตอย่างไร เพราะในด้านนโยบาย เราไม่มีวีซ่าสำหรับสตาร์ทอัพ ไม่มีระบบภาษีสำหรับสตาร์ทอัพ ในขณะที่สิงคโปร์มีครบ มาเลเซียก็ทำได้ดี ฟิลิปปินส์จะหาผู้ก่อตั้งที่ทำธุรกิจแมตช์หรือแก้ปัญหาให้ตลาดได้จริงๆ อย่างไร”

คุณคาร์โลกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี ฟิลิปปินส์มีจุดที่น่าสนใจในเรื่อง 1) ศักยภาพของประเทศในการเป็นฮับสตาร์ทอัพ เนื่องจากฟิลิปปินส์มีจำนวนประชากรราว 120 ล้าน คน มากเป็นอันดับสองของภูมิภาคนี้ และ 2) มีความต้องการโซลูชันด้านเทคโนโลยีอย่างมาก ฟิลิปปินส์จึงถือเป็นตลาดใหญ่ที่น่าลงทุน

ต่อมา คุณคาร์โลยกตัวอย่างการลงทุนใน Kumu แพลตฟอร์มโซเชียลเพื่อความบันเทิงสัญชาติฟิลิปปินส์ ซึ่งในปีแรกที่ Gobi Partners เข้าไปลงทุนก็ทำให้แพลตฟอร์มเติบโตอย่างมาก เนื่องจากเจาะกลุ่มผู้ใช้งานที่ไม่ได้อยู่ในท้องถิ่นตัวเอง เช่น แรงงานที่อยู่ตามน่านน้ำ (Marine Workers) ซึ่งมีจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งเมื่ออยู่ไกลบ้านก็สามารถใช้แพลตฟอร์มผ่านอินเทอร์เน็ต ติดต่อสื่อสารกับทางบ้านได้

สตาร์ทอัพในฟิลิปปินส์จึงเผชิญความท้าทายจากโครงสร้างพื้นฐานซึ่งยังพัฒนาไปไม่มากนัก หากจะขยายการลงทุนไปตลาดต่างแดนก็ต้องปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับพื้นที่นั้นๆ อีกมากจึงจะประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ในฐานะของ Head of ESG, Gobi Partners คุณคาร์โลย้ำว่า การลงทุนก็ต้องคำนึงถึงความถูกต้องและยั่งยืนเช่นกัน ยกตัวอย่างการพิจารณาผู้ร่วมลงทุนว่า ทำธุรกิจด้วยความถูกต้อง โปร่งใส เปิดเผยให้เห็นว่าทำไมนักลงทุนจึงควรลงทุนให้คุณ

ปิดท้ายด้วยแนวคิดลดความเสี่ยงของผู้นำองค์กรรุ่นใหม่จากไทย

คุณเจนเปิดเผยว่า ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในสังคม ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลต่อมุมมองด้านการลงทุน โดย AddVentures ข้ามไปลงทุนให้บริษัทในอเมริกาเหนือ รวมถึงในยุโรปด้วย

“ผู้ลงทุนต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเทคโนโลยีที่ตนสนใจ  เช่น สำหรับ CleanTech ในอเมริกา อาจต้องติดตามว่าการเลือกตั้งจะดำเนินไปอย่างไร ความมุ่งมั่นต่อข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) จะเป็นอย่างไร ความมุ่งมั่นด้านการใช้พลังงานหมุนเวียนในอเมริกา ณ เดือนพฤศจิกายนนี้จะเป็นอย่างไร ถ้าเข้าไปลงทุนในบริษัทอเมริกันจะได้ Incentive ไหม อะไรจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็อยากพาบริษัทเหล่านั้นมาเปิดตลาดในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ดี และถ้าสตาร์ทอัพได้รับผลกระทบเชิงนโยบายดังกล่าว ก็อาจจะยากที่จะดึงมาขยายธุรกิจในต่างประเทศ”

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ตำแหน่ง CRO คืออะไร ? พร้อมเจาะลึก 6 อุปนิสัยสู่ความสำเร็จของผู้บริหารความเสี่ยงยุคใหม่

จากงานวิจัยของ McKinsey จากการสัมภาษณ์เชิงลึกและสำรวจ CRO ปัจจุบันและอดีตมากกว่า 30 รายของสถาบันการเงินหลักทั่วโลก โดยแต่ละรายมีประสบการณ์ในบทบาทนี้มาอย่างน้อย 5 ปี พบว่า CRO ที่ปร...

Responsive image

AI จะเป็น ‘ผู้กอบกู้’ หรือ ‘ผู้ทำลาย’ การ์ตูนญี่ปุ่น

เมื่อประตูสู่วัฒนธรรมและเสาหลักทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นอย่าง อนิเมะและมังงะกำลังถูก AI แทรกแซง อนาคตของวงการนี้จะเป็นยังไง ?...

Responsive image

เจาะลึกเทรนด์ Spatial Computing จุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับองค์กรยุคใหม่

Spatial Computing คือเทคโนโลยีที่ผสานโลกเสมือนจริงและโลกจริงเข้าด้วยกัน ซึ่งมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานขององค์กรในยุคดิจิทัล ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการฝึกอบรมและ...