DeFi เกิดมาเพื่อทำลายระบบธนาคารจริงหรือไม่ | Techsauce

DeFi เกิดมาเพื่อทำลายระบบธนาคารจริงหรือไม่

เมื่อระบบธนาคารแบบดั้งเดิมกำลังถูก Disrupt ด้วยระบบการเงินแบบใหม่ที่ชื่อ DeFi (Decentralized Finance) หรือบริการทางการเงินแบบไม่รวมศูนย์ ที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้

ในงาน Money 20/20 Asia งานฟินเทคโชว์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและจัดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศไทยและเอเชียที่เพิ่งผ่านพ้นไป มีการจัดเสวนาในหัวข้อ The Rise of Decentralized Finance (DeFi): Disruption or Distraction? โดยมี Gerald Goh, Co-Founder & CEO แห่ง Sygnum สิงคโปร์, Angela Ang, Senior Policy Advisor แห่ง TRM Labs และ Angelina A. Kwan, Senior Advisor แห่ง IMC Asia Pacific Limited ร่วมแชร์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

หลังจากคริปโตกลายเป็นจุดสนใจของผู้คน สิ่งที่ถูกพูดถึงบ่อยไม่แพ้กันคือ DeFi ที่เปรียบเสมือนการนำเทคโนโลยีคริปโตมาพัฒนาต่อไปอีกขั้น 

ทั้งนี้ DeFi (Decentralized Finance) คือ รูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนแทนการใช้สถานบันทางการเงินหรือธนาคาร โดยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างการแลกเปลี่ยน เนื่องจากปัจจุบันการทำธุรกรรมทางการเงินบนออนไลน์ไม่ได้มีแค่การซื้อขาย แต่ยังมีทั้งการกู้ การฝากเงิน การลงทุน รวมถึงแลกเงินในสกุลเงินต่างๆ 

เดิมทีการทำธุรกรรมใดๆ ก็ตามย่อมมีเรื่องสภาพคล่องและความน่าเชื่อถือเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เมื่อคุณอยากปล่อยกู้ให้ใครสักคน แต่ไม่รู้ว่าคนๆ นั้นจะมีศักยภาพในการใช้เงินคืนหรือไม่ ธนาคารจึงเป็นตัวกลางที่ทำหน้าที่ในการคัดกรองลูกหนี้ อีกทั้งยังบริหารและจัดสรรเงินต่างๆ เหตุผลที่ธนาคารทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดี เพราะธนาคารมีข้อมูลทุกอย่างที่ประเมินได้ว่าลูกหนี้มีกำลังจะจ่ายคืนหรือไม่

หรือในกรณีที่อยากลงทุนก็มีโบรกเกอร์เป็นตัวกลาง เพราะในความเป็นจริงเราไม่สามารถเดินเข้าบริษัทมหาชนเพื่อซื้อหุ้นเองได้ ต้องมีโบรกเกอร์ช่วยบริหารเงินและการลงทุน นี่แหละคือกระบวนการคร่าวๆ ของระบบ DeFi 

Gerald Goh อธิบายว่า การมาของ DeFi อาจทำให้ภาพของธนาคารแบบดั้งเดิมดูล้าสมัย แต่ขณะเดียวกับธนาคารหรือสถาบันทางการเงินก็แทบจะเป็นทุกอย่าง ตั้งแต่การเปิดบัญชี ฝากเงิน ถอนเงิน หรือกู้เงินที่ทุกขั้นตอนต้องทำผ่านธนาคารทั้งหมด นั่นหมายความว่าอัตราดอกเบี้ยต่างๆ จะถูกควบคุมโดยธนาคารทั้งสิ้น แต่ขณะเดียวกันธนาคารก็ยังเป็นตัวกลางที่คอยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการ และยังมีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของเราอยู่

คำถามคือ ถ้าธนาคารแบบดั้งเดิมยังตอบโจทย์ผู้ใช้ แล้วทำไมต้องมีระบบ DeFi คำตอบคือ 

DeFi เป็นระบบที่เกิดจากประโยชน์ของ Bitcoin ที่ทำงานบนบล็อกเชน และนำระบบทำงานนั้นมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ จนเกิดเป็นแพลตฟอร์มมากมายบนโลกบล็อกเชน 

ด้าน Angela Ang เล่าว่า ระบบของ DeFi มีความได้เปรียบธนาคารแบบดั้งเดิมในเรื่องการไร้ตัวกลาง ที่จากเดิมหากจะทำธุรกรรมทางการเงินต้องไปขออนุญาตธนาคาร ถ้ามีระบบ DeFi เข้ามาผู้คนสามารถทำธุรกรรมได้สะดวกและรวดเร็ว เช่น การโอนเงินไปต่างประเทศก็ทำได้ภายในไม่กี่วินาที สามารถลงทุนหรือปล่อยกู้สินทรัพย์ดิจิทัลได้ด้วยเงินเพียงหลักร้อย จึงมีอิสระมากกว่าการทำธุรกรรมแบบดั้งเดิม 

นอกจากนี้ยังได้เปรียบเรื่องความโปร่งใสของข้อมูล ความรวดเร็วในการทำธุรกรรมโดยไม่ต้องมีตัวกลาง ช่วยลดระยะเวลา ตลอดจนลดความเสี่ยงของระบบที่พึ่งพาฐานข้อมูลเดียว ด้วยเหตุนี้ DeFi จึงกำลังเป็นกระแสที่มาแรงในปัจจุบัน

ในขณะเดียวก็มีนักวิชาการหลายสำนักคาดการณ์ว่า DeFi จะเป็นรูปแบบการทำธุรกรรมที่รันวงการการเงินของทั้งโลก และการมาของ DeFi จะค่อยๆ Disrupt ธนาคารแบบดั้งเดิม

Collaboration & Creative

ปัจจุบันรูปแบบ DeFi กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายด้านกฎระเบียบและความปลอดภัยที่ยังไม่ชัดเจน และอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตของ DeFi 

Angela Ang ได้แชร์มุมมองของตนเองต่อประเด็นดังกล่าวว่า ในช่วงที่แนวคิด DeFi เริ่มก่อตัวขึ้นใหม่ๆ ขณะนั้นตนเองยังทำงานอยู่ที่สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในเวลานั้น DeFi มีโครงสร้างที่ค่อนข้างซับซ้อน และท้าทายกรอบการกำกับดูแลแบบเดิมอย่างมาก

เมื่อผู้คนเริ่มเข้าใจ DeFi มากขึ้น หน่วยงานกำกับดูแลและผู้ให้บริการ DeFi จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้ระบบมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยความร่วมมือและความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงความเข้าใจในเทคโนโลยี DeFi อย่างลึกซึ้ง ตั้งแต่เรื่องโครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับ DeFi 

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการ DeFi จะมุ่งเน้นแต่สร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างเดียวก็ไม่ได้ แต่ต้องศึกษาข้อบังคับต่างๆ และความคาดหวังของผู้บริโภคด้วย

Angelina A. Kwan เสริมว่า เป็นเรื่องดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการจะต้องทำงานร่วมกัน ทั้งในแง่ของการทดสอบ การช่วยเหลือ รวมถึงการสร้างกฎระเบียบที่ดีเพื่อให้การนำไปใช้แพร่หลายมากขึ้น 

อุปสรรคของระบบ DeFi

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน DeFi Angelina A. Kwan มองว่า อุปสรรคสำคัญคือ ยังมีกลุ่มคนที่ยังไม่มีบัญชีธนาคารและไม่เข้าถึงบริการทางการเงิน เนื่องจากคนกลุ่มนี้ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะไม่สามารถเข้าถึงระบบ DeFi ได้ ทว่า ก็มีหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ยื่นมือมาแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการบริจาคหรือขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในราคาถูก เพื่อให้คนกลุ่มนี้เข้าถึง DeFi และมีเสถียรภาพทางการเงิน 

อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงที่ต้องระวัง เนื่องจากปัจจุบันเรามักเห็นผู้คนโพสต์ในสื่อโซเชียลว่าสามารถทำเงินจากการลงทุน Token ได้เยอะ หากคนที่ยังไม่ได้ศึกษาระบบ DeFi หรือการลงทุนในลักษณะนี้มากพอ ก็มีสิทธิ์ที่จะถูกหลอกลวงหรือสูญเงินไปโดยใช่เหตุ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือต้องให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีใช้ DeFi อย่างปลอดภัย

ความท้าทายที่ DeFi เผชิญอยู่

ท่ามกลางข้อดีมากมายของ DeFi ก็ยังมีความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องก้าวผ่านให้ได้ นั่นคือ ความเร็วของการพัฒนาเทคโนโลยี 

Gerald Goh เล่าว่า ทุกวันนี้นวัตกรรมถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ความท้าทายจึงอยู่ที่หน่วยงานที่กำกับดูแลต้องปรับตัวให้ทัน กำหนดกฎระเบียบที่มีความรอบคอบ รวมถึงส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม 

“แนวคิดการลงทุนที่ว่าทุกอย่างควรดำเนินไปตามกฎระเบียบและข้อกำหนดของหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลนั้นสำคัญมาก แต่สำหรับ DeFi กฎระเบียบเหล่านี้ยังอยู่ในช่วงพัฒนาและยังมีช่องโหว่ที่น่ากังวล เนื่องจากระบบยังไม่มีผู้ควบคุม ที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย การฉ้อโกงและการฟอกเงิน

วิธีแก้ปัญหาอันดับแรก ผู้ประกอบการ DeFi และหน่วยงานกำกับดูแลต้องทำงานร่วมกันพัฒนากฎระเบียบที่เหมาะสม และส่งเสริมนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ แต่ยังต้องปกป้องนักลงทุนและรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน” Angela Ang กล่าว

โอกาสทองของการลงทุน ที่แฝงด้วยความเสี่ยง

ปฎิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ทำให้ผู้คนเริ่มสนใจ DeFi ก็คือเรื่องผลตอบแทนที่สามารถสร้าง Passive Income ได้รวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ในโลกของการลงทุน เมื่อมีผลตอบแทนสูง สิ่งที่ตามมาเสมอคือ “ความเสี่ยง” ที่สูงตามไปด้วย 

Angela Ang  ยกตัวอย่างความเสี่ยงที่สำคัญ นั่นคือ DeFi มีระบบเปิดซึ่งดำเนินการด้วย Open Data มากกว่าระบบการเงินแบบดั้งเดิม ทำให้โลกของ DeFi ไม่จำเป็นต้องมี ‘ตัวกลาง’ ในการตรวจสอบข้อมูล แม้จะมีโปรแกรมทำงานอย่างถูกต้องผ่าน Smart Contract หรือสัญญาอัจฉริยะ แต่ไม่ได้แปลว่าโปรแกรมจะสมบูรณ์แบบเสมอไป ซึ่งก็มีหลายกรณีที่ Smart Contract ถูกโจมตีหรือถูกแฮคบนโลก DeFi ปัจจุบันผู้ประกอบการก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยมากขึ้น

อย่างที่ทราบกันดีว่าโลกคริปโตและ DeFi นั้นมีความผันผวนสูงมาก และสิ่งนี้เองที่เป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งที่นักลงทุนต้องทราบ

อนาคตของ DeFi

หากถามว่า DeFi จะทดแทนระบบธนาคารแบบดั้งเดิมได้หรือไม่ ทั้ง 3 ท่านมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ผู้บริโภคยังคงพอใจกับการใช้ระบบธนาคารแบบดั้งเดิม เนื่องจากมองว่ายังเป็นช่องทางที่น่าเชื่อถือ และปลอดภัยมากกว่า และฝั่งธนาคารก็ต้องปรับตัวตามความต้องการของลูกค้า มิเช่นนั้นอาจสูญเสียความเชื่อมั่น และฐานลูกค้าในระยะยาว

แต่เชื่อว่าในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้า DeFi จะมีอิทธิพลต่อโลกการเงินอย่างมาก อย่างไรก็ตาม มองว่าปัจจัยสำคัญอยู่ที่กฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับ DeFi ที่ยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร เป็นการเร่งเร้าให้ธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีแนวทางที่ชัดเจนเพื่อรับมือกับกระแส DeFi ที่มาแรงในตอนนี้


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

AI จะเป็น ‘ผู้กอบกู้’ หรือ ‘ผู้ทำลาย’ การ์ตูนญี่ปุ่น

เมื่อประตูสู่วัฒนธรรมและเสาหลักทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นอย่าง อนิเมะและมังงะกำลังถูก AI แทรกแซง อนาคตของวงการนี้จะเป็นยังไง ?...

Responsive image

เจาะลึกเทรนด์ Spatial Computing จุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับองค์กรยุคใหม่

Spatial Computing คือเทคโนโลยีที่ผสานโลกเสมือนจริงและโลกจริงเข้าด้วยกัน ซึ่งมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานขององค์กรในยุคดิจิทัล ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการฝึกอบรมและ...

Responsive image

ถอดกลยุทธ์ ‘ttb spark academy’ ปั้น Intern เพิ่มคนสายเทคและดาต้า Co-create การศึกษาคู่การทำงานจริง

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เห็น Pain Point ว่าประเทศไทยขาดกำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Workforce) และธนาคารก็ต้องการคนเก่ง Tech & Data จึงจัดตั้ง ‘ttb spark academy’ เพื่อปั้น ...