สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) โดยสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น ร่วมกับ บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด จัดโครงการ depa Smart City Accelerator Program BATCH 2 เพื่อเปิดโอกาสให้ Digital Startups ได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ผ่านกิจกรรมเสริมศักยภาพที่หลากหลาย และการลงพื้นที่จริงทำงานร่วมกับผู้แทนเมือง เพื่อเฟ้นหาโซลูชันที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหา และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองได้
ภารกิจสำคัญของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) โดย สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น คือการส่งเสริมผู้ประกอบการด้านดิจิทัล และ Digital Startup ให้สามารถสร้างสรรค์ พัฒนา และนำเสนอผลงานอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเติบโตในภาคธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งในโครงการ depa Smart City Accelerator Program BATCH 2 นี้ Digital Startups ที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 22 ทีม ได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตัวเอง รวมถึงพัฒนานวัตกรรมหรือโซลูชันของบริษัท ผ่านหลากหลายกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็น
กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งรวบรวมผู้เชี่ยวชาญมากมายจากหลายภาคธุรกิจ มาร่วมกันแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้เข้าแข่งขันทั้ง 22 ทีม ให้มีความพร้อมในทุกมิติ เช่น การพัฒนาทักษะการนำเสนอผลงาน หรือ Pitching การใช้ Google Tools เพื่อทำการตลาดให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการพัฒนาทักษะการบริหารจัดการทีม และเทคนิคการขายแบบ Business to Government (B2G)
กิจกรรมเสวนา (Exclusive Course) โดยวิทยากรทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์และความรู้ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่ช่วยให้ผู้เข้าแข่งขัน มีความเข้าใจถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และวิธีการที่จะทำให้เป้าหมายสำเร็จ ผ่านเซสชั่นในการแบ่งปันประสบการณ์ต่างๆ
นอกจากการส่งเสริมให้ Digital Startup เติบโตอย่างแข็งแกร่งแล้ว อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล คือการพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ ให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศ โครงการ depa Smart City Accelerator Program BATCH 2 นี้ จึงเป็นการเตรียมความพร้อมให้เกิดการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมสำหรับพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ของเมืองอัจฉริยะด้วย โดย Digital Startups ทั้ง 22 ทีมที่เข้าแข่งขัน ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อทำงานร่วมกับผู้แทนและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ไขปัญหาต่อไป ไม่ว่าจะเป็น
กิจกรรมเสวนา Hacking the City ขุดลึกจังหวัดอัจฉริยะ ที่ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานระดับท้องถิ่นจากทั้งภาครัฐและเอกชน โดยจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ลำปาง ขอนแก่น ภูเก็ต ระยอง และกรุงเทพมหานคร โดยเปิดโอกาสให้ร่วมเสวนากับ Digital Startups ทั้ง 22 ทีม เพื่อถ่ายทอดปัญหา บอกเล่าแผนยุทธศาสตร์ รวมทั้งแลกเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อการนำไปสู่การทำงานร่วมกันในกิจกรรมอื่นๆ ของโครงการต่อไป
กิจกรรม Proof of Concept ซึ่งเป็นกิจกรรมไฮไลท์ของโครงการ ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 22 ทีม ได้ลงพื้นที่จริงทั้ง 5 จังหวัด ประกอบด้วย ลำปาง ขอนแก่น ภูเก็ต ระยอง และกรุงเทพมหานคร เพื่อทดสอบความเป็นไปได้ในการนำโซลูชันหรือเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับชีวิตคนเมือง ร่วมกับหน่วยงานระดับท้องถิ่นจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งทำให้เข้าใจบริบทและความแตกต่างในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) มากยิ่งขึ้น
สำหรับบทสรุปสุดท้ายของกิจกรรม กับวัน “Demo Day” เพื่อให้ Digital Startups ทั้ง 22 ทีม ได้นำเสนอผลงานที่ผ่านการพัฒนาและตกผลึกจากกิจกรรมในโครงการ ต่อหน้าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ที่ผ่านมา ทางโครงการก็ได้ผู้ชนะคือ ทีม Altotech ซึ่งได้รับเงินรางวัลมูลค่า 300,000 บาท เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจ เช่นเดียวกับโอกาสในการเติบโตสู่ระดับสากล
ในวันเดียวกันนี้ ยังมีกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) กับ Digital Startups ที่เข้าร่วมโครงการ และกิจกรรมการสร้างเครือข่าย (Networking) สำหรับผู้ที่สนใจพูดคุยกับ Digital Startups คณะกรรมการ และผู้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อต่อยอดธุรกิจอีกด้วย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด