Digital Transformation ดัน Greenbus วิ่งต่อ ไม่รอเศรษฐกิจหมุน | Techsauce

Digital Transformation ดัน Greenbus วิ่งต่อ ไม่รอเศรษฐกิจหมุน



  • นวัตกรรมของบริษัทสร้างรากฐานจากระบบ ERP แล้วต่อยอดสู่ Technology อื่น ๆ ที่ช่วยให้เกิดบริการตอบโจทย์ผู้โดยสารและสามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • Mobile App และ Website ที่เริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 2557 เป็นช่องทางที่นิยมเพิ่มขึ้นจนครองอัตราส่วน 22% ของยอดขายรวมและคาดว่าจะเติบโตถึง 80% ภายใน 3 ปีข้างหน้า
  • หลังระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์แล้ว Greenbus จะนำ AI มาใช้เพื่อช่วยพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์เพื่อให้ครองใจแฟนคลับได้อย่างยั่งยืน
  • อีกเป้าหมายของการทำ Digital Transformation ที่บริษัทมุ่งไปคือการเชื่อมต่อกับโครงการ Smart City ของจังหวัดเชียงใหม่

Digital Transformation เป็นภารกิจหลักของ Greenbus เมื่อสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองและพฤติกรรมผู้บริโภคที่ผันแปรเร็ว ทำให้ที่เริ่มจากส่ง Mobile App มาผูกใจผู้โดยสารรุ่นใหม่ ซึ่งคาดว่าจะผลักดันยอดจองตั๋วผ่านช่องทางออนไลน์ เพิ่มเป็น 80% ภายใน 3 ปี ส่วนแผนระยะยาวใช้ AI ค้นความต้องการลูกค้าเพื่อขับเคลื่อนบริการและผลิตภัณฑ์ในอนาคต รวมถึงยกระดับขีดความสามารถขององค์กรให้พร้อมเชื่อมต่อกับโครงการ Smart City

จากเมล์เขียว (รถบรรทุกที่ตัวถังทำจากไม้ทาสีเขียว) ที่ให้บริการโดยบริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด ซึ่งก่อตั้งโดย คำรณ ทองคำคูณ ที่จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2507 แล้วพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนเป็น Greenbus ที่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด (CTC) ซึ่งปัจจุบันบริหารโดยทายาทรุ่นสอง สมชาย ทองคําคูณ กรรมการผู้จัดการใหญ่

Greenbus ให้บริการด้านการขนส่งและการเดินทางที่ครอบคลุมหลายภาคของประเทศไทยและเมืองเศรษฐกิจของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยปัจจุบันมีธุรกิจหลักประกอบด้วย บริการรถโดยสารประจำทาง บริการรับ-ส่งพัสดุภัณฑ์ และบริการรถเช่าเหมาเพื่อการเดินทางครอบคลุมทั่วประเทศไทย ที่รวมแล้วสามารถทำรายได้ราว 500 ล้านบาทต่อปี

ผู้ที่ไม่ได้ใช้รถ Bus เดินทางระหว่างจังหวัดในชีวิตประจำวันอาจจะไม่คุ้นเคยกับ Greenbus มากนักแม้จะเริ่มให้บริการมายาวนานถึง 60 ปีแล้วก็ตาม จากเมล์เขียวในอดีตที่วันนี้กลายเป็น Greenbus ซึ่งวิ่งสัญจรครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวางทั้งในเขตภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ของไทย ใน 24 เส้นทาง ด้วยรถโดยสาร 110 คัน และรับส่งผู้โดยสารราว 1.5 ล้านคน

ขณะที่บริการรับ-ส่งพัสดุภัณฑ์รองรับลูกค้าในเขตภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น บริการรับ-ส่งพัสดุภัณฑ์ แบบด่วนพิเศษ (Express) แบบจัดส่งถึงที่ (Delivery) บริการบรรจุหีบห่อพัสดุภัณฑ์ (Packing) ซึ่งลูกค้าสามารถตรวจสอบพัสดุภัณฑ์ (Tracking) ทางออนไลน์ พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายด้านการขนส่งทั้งในประเทศและเมืองเศรษฐกิจเขตประชาคมอาเซียน

สำหรับบริการเช่าเหมารถโดยสาร มีทั้งบริการเช่าเหมาตามสัญญาระยะยาว บริการเช่าเหมารายวัน บริการนำเที่ยวทั่วประเทศไทย เเละบริการรับบริหารจัดการการเดินทาง ที่รองรับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเดินทางและท่องเที่ยวแบบกลุ่ม/องค์กรด้วยการจัดรูปแบบการเดินทางที่ครบวงจร

Digital Transformation

ด้วยการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นควบคู่กับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้สมชายในบทบาทของผู้สืบอดกิจการเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องเริ่มพัฒนานวัตกรรม เพื่อปรับปรุงกิจการและบริการที่ส่งมอบให้แก่ลูกค้า ผ่านกระบวนการ Digital Transformation ตั้งแต่เมื่อปี 2547 

ด้วยการวางระบบ Enterprise Resource Planning (ERP) เพื่อใช้ในการบริหารจัดการภายใน และระบบ Transportation Operation System (TOS) เพื่อช่วยด้านการขายตั๋วโดยสาร การจัดคิวรถ และการบริหารสมาชิกสัมพันธ์ ที่ภายหลังได้ปรับปรุงและพัฒนาระบบใหม่ขึ้นเป็น Greenbus Intelligent System (GIS)

โดย GIS เป็นระบบที่บริหารจัดการรถโดยสารและบุคลากรประจํารถ ระบบบริหารการจําหน่ายตั๋วโดยสาร ระบบบริหารงานสมาชิกสัมพันธ์ (CRM) เพื่อติดตามยอดขาย ปริมาณของผู้โดยสารของแต่ละวันและเวลาได้ ทันที (Realtime Mornitor) เพื่อนําข้อมูลมาบริหารการเดินรถประจําวันให้เพียงพอต่อความต้องการ และนําข้อมูลมาจัดเก็บเป็นสถิติและวิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตของปริมาณผู้โดยสารในแต่ละเส้นทางเพื่อนํามาใช้ในการพยากรณ์ปริมาณผู้โดยสาร, ยอดขาย และอัตราการเติบโตของตลาดรถโดยสารประจําทาง

สมชายเน้นย้ำอีกว่า ด้วยระบบ Technology ที่เราพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะการใช้ ERP มีส่วนอย่างยิ่งที่ช่วยบริหารต้นทุนกำไรได้มีประสิทธิภาพ จึงทำให้บริษัทมีสถานะที่แข็งแกร่งพอ แม้ว่าต้องเผชิญกับช่วงยากลำบากที่ผ่านมา ก็ยังรอดพ้นภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองมาได้

ยังมีผู้ประกอบการในหลายธุรกิจ ที่ไม่มีระบบ Technology แต่ต้องไปพึ่งพาระบบของคนอื่นแล้วไม่สามารถตอบสนองความต้องการขององค์กรได้ ถือว่าเหนื่อยมาก แล้วต้นทุนก็สูงมากกว่าที่เราเคยลงทุนมาก่อน

Digital Transformation

จองตั๋วผ่าน Online มาแรง

กระทั่งปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทครอบรอบ 50 ปี และเป็นจังหวะที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในยุคที่ Digital เข้ามามีบทบาทกับธุรกิจต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่การให้บริการรถโดยสารและการขนส่ง จึงเริ่มเปิดให้บริการจองบัตรโดยสารผ่านช่องทางออนไลน์ทั้ง Greenbus Application และ www.greenbusthailand.com

ทั้งนี้ช่องทางออนไลน์ที่ Greenbus นำมาให้บริการประสบความสำเร็จงดงามตามที่ตั้งใจไว้ ซึ่งกลุ่มผู้โดยสารที่นิยมใช้ช่องทางนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ในวัยทำงานและนักศึกษาที่ใช้สมาร์ตโฟน ส่งผลให้จากที่มียอดจองเพียง 3-5% ในระยะแรก แต่ด้วยการพัฒนาต่อยอดในส่วนการชำระเงิน เช่น จ่ายผ่าน QR Code ในระยะต่อมาก็ทำให้ตัวเลขความนิยมขยับขึ้นเป็น 22% ในปัจจุบัน ซึ่งด้วยทิศทางที่ผู้โดยสารนิยมจองผ่านออไลน์มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่าจะเพิ่มถึง 80% ของยอดรวมภายใน 3 ปีข้างหน้า

“แม้ว่าปัจจุบัน App จะใช้งานได้ดี แต่ระยะแรกที่นำมาใช้ ก็มีปัญหาติดขัดเล็กน้อยเรื่องระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต แต่ก็ช่วยกันแก้ไขจนดีขึ้นมากแล้ว ซึ่งเริ่มพัฒนาเวอร์ชั่นที่ 2 เมื่อกลางปี 2560 และล่าสุดเมื่อกลางปีนี้ได้เพิ่มเติมให้สามารถใช้ QR Code ในการจ่ายเงิน ก็ยิ่งช่วยให้สะดวกมากขึ้น”

ทว่า ด้วยคุณสมบัติของช่องทางออนไลน์ที่สะดวกและใช้งานง่าย คงไม่ใช่แรงผลักดันที่แข็งแกร่งเพียงอย่างเดียวที่จะทำให้การใช้งานเติบโตร้อนแรง แต่จำเป็นต้องมีกลยุทธ์การตลาดที่เป็นดังวิตามินเสริมด้วย ตามที่สมชายเล่าว่า เพื่อให้ทั้ง Mobile App และ Website เป็นที่รู้จัก และจูงใจให้ใช้งานเป็นประจำ จึงทำโปรแกรมสะสมคะแนนที่ผู้โดยสารจะสามารถแลกของรางวัลได้เร็วกว่าการจองตั๋วผ่านช่องทางอื่น ๆ เป็นเครื่องมือกระตุ้นยอดการใช้งานด้วย

จากโจทย์ที่เราต้องการให้ลูกค้าเข้าถึงบริการได้ง่ายและสะดวกสบาย มองว่าด้วย Mobile App จะทำให้สามารถจองตั๋วรถได้ตลอด 24 ชม. ได้อย่างปลอดภัยเพียง 3 ขั้นตอนง่าย ๆ

Digital TransformationAI ตอบโจทย์ Digital Transformation

แผนงานระยะยาวของ Greenbus คือการนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อการวิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการใช้งานบริการรถโดยสารประจำทางของลูกค้า ซึ่งจะนำผลลัพธ์ที่ได้ไปเป็นข้อมูลเพื่อการพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ของบริษัทในอนาคต อย่างไรก็ตามสมชายมองว่ารากฐานสำคัญของนวัตกรรมดังกล่าวคือการมีระบบฐานข้อมูลกลางหรือ Big Data ที่เป็นมาตรฐานและรวบรวมข้อมูลถูกต้องอย่างแท้จริง ที่ย่อมต้องใช้งบประมาณลงทุนสูง จึงจะสามารถริ่เริ่มได้หลังระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2563

Big Data ที่จะพัฒนาขึ้นนั้น เป็นการรวบรวมทั้งข้อมูลทั้งในส่วนความต้องการลูกค้า องค์กร พนักงาน สถิติทางสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อให้ได้รายงานพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารที่จำแนกได้เป็นรายบุคคล ซึ่งสามารถสะท้อนถึงความต้องการของลูกค้าเป้าหมาย แล้วนำ AI มาวิเคราะห์เพื่อออกแบบบริการและผลิตภัณฑ์อนาคต

“AI เป็นระบบที่ต้องลงทุนสูง แต่เราก็ต้องใส่ธุรกิจหลายๆ ตัวเข้าไปใช้ เพื่อให้คุ้ม คงไม่ใช่เฉพาะธุรกิจรถโดยสารประจำทางเท่านั้น แต่ยังระบุเวลาเริ่มโครงการอย่างชัดเจนได้”

ภายในปี 2562 บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ฯ จะพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีในส่วนระบบงานสนับสนุน โดยมีโครงการติดตั้งระบบ CCTV แบบ Real Time หรือ Black Box Solutionsจํานวน 25 คัน ซึ่งจะทำงานร่วมกับระบบ GPS ที่มีการบังคับใช้ตามกฎหมาย เพื่อประโยชน์ทั้งในแง่ควบคุมความปลอดภัยของการเดินทาง มาตรฐานการขนส่ง การตลาด และบริการต่าง ๆ

โดย Black Box Solutions เป็นรูปแบบของการเก็บข้อมูลของรถในระหว่างวิ่งในแต่ละเที่ยว โดยเก็บข้อมูลเหมือนกับกล่องดําในเครื่องอากาศยานด้วยระบบ CCTV บนรถแบบเรียลไทม์ การเก็บข้อมูลด้วยการติดตามตําแหน่งผ่านดาวเทียม (GPS) และการเก็บข้อมูลจากเครื่องยนต์เพื่อมาพัฒนาการบํารุงรักษาและตรวจสอบความปลอดภัย (Securities & Safety) อีกทั้งยังสามารถเก็บข้อมูลจากระบบดังกล่าวมาใช้ในการตรวจสอบประสิทธิภาพในการทํางานของพนักงานและจัดเก็บรายได้อีกด้วย

สมชายให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า แม้เดิมบริษัทจะมีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการบำรุงรักษารถอยู่แล้วในระบบ ERP แต่ไม่ได้เป็นการสื่อสารข้อมูลแบบ Online ซึ่งทำให้ต้องมีเจ้าหน้าที่คอยจดบันทึกและป้อนข้อมูลเข้าระบบ จึงสิ้นเปลืองเวลาและกำลังคน

กล้องของระบบ CCTV ที่ทำงานแบบ Real Time สามารถแจ้งเตือนมาที่ศูนย์กลางกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติ เช่น รถจอดในตำแหน่งเดิมเป็นเวลานาน หรือใช้ภาพจากกล้องมาวิเคราะห์ในกรณีที่รถประสบอุบัติเหตุได้ด้วย

Digital Transformation

นอกจากนี้หลังจากเป็นบริษัทมหาชนเต็มตัวแล้ว บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ฯ ยังลงทุนเปลี่ยนระบบ ERP ที่ทันสมัยกว่าเดิม ซึ่งนอกจากรองรับธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้มากขึ้นแล้วยังมีค่าใช้จ่ายในการใช้งานที่ราคาถูกกว่าเดิม จึงสามารถเพิ่มเติมจำนวนผู้ใช้งานระบบ ERP ได้โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธ์แพงมาก

สมชายเน้นย้ำถึงความสำคัญของ Digital Transformation ว่าธุรกิจรถโดยสารประจำทางและขนส่งจำเป็นต้องนำเสนอในแง่ความทันสมัย สะดวกสบาย และรวดเร็ว ซึ่งด้วยการปรับตัวและเสริมเครื่องมือที่ตอบสนองยุค Digital เหล่านี้จะทำให้ Greenbus ยังคงยืนหยัดอยู่แถวหน้าของวงการได้ โดยเฉพาะด้วยระบบฐานข้อมูลอัจฉริยะที่กำลังพัฒนาขึ้นย่อมช่วยให้สามารถเข้าใจความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน รวมถึงพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าใหม่ในอนาคตด้วย

ไม่เพียงเท่านั้นด้วย Technology ใหม่ ๆ ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรที่จะไปเชื่อมโยงกับโครงการ Smart City (โครงการส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล) ของจังหวัดเชียงใหม่ ในแง่การการเดินทางสัญจรของคนในชุมชน ซึ่งในฐานะที่ Green Bus เป็นองค์กรธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่ก็ควรจะคว้าโอกาสที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่จะสร้างความเจริญให้กับท้องถิ่นในภาพรวม ทั้งนี้ล่าสุด Smart City ของเชียงใหม่ได้เริ่มดำเนินการในส่วนพื้นที่นำร่อง คือ โครงการ Smart Nimman ย่านถนนมินมานเหมินท์ และ Smart University ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้ว

Technology คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเราอยู่รอดได้ แม้ในช่วงที่เศรษฐกิจฝืดเคือง

 

 

 

 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดตัว 7 สตาร์ทอัพ FinTech ในงาน Money20/20 Asia เสริมแกร่งอุตสาหกรรมการเงินในภูมิภาค

Money20/20 Asia ผู้จัดงานงานฟินเทคโชว์สุดยิ่งใหญ่เปิดตัวบริษัทสตาร์ทอัพทั้ง 7 ที่เชื่อว่าจะผลักดันพร้อมปฏิวัติโลกของการเงิน...

Responsive image

เจาะรากความสำเร็จ Samsung แชโบลตระกูลสำคัญ จากพ่อค้าปลาแห้ง สู่ผู้คุมเศรษฐกิจเกาหลีใต้

ในบทความนี้ Techsauce จะพาไปเจาะว่าทำไมร้านของชำ Samsung ในเมืองเล็ก ๆ ถึงสามารถเติบโตจนกลายมาเป็นผู้คุมเศรษฐกิจของประเทศได้ แท้จริงแล้วมันมาจากความของเก่งของ Lee Byung-chul อย่างเ...

Responsive image

บทสรุป Accelerate Impact with PRUKSA Season 2 สานต่อความสำเร็จ ส่งต่อความยั่งยืนเพื่อสังคม

บทสรุปสุดท้ายตลอดเส้นทาง ของโครงการ Accelerate Impact with PRUKSA Season2 ที่สานต่อความสำเร็จ ส่งต่อความยั่งยืนเพื่อสังคม ในวัน Demo Day...