สัมภาษณ์พิเศษ ถกทุกประเด็น ICO กับ Omise, Corporate Venture Capital, สมาคมฟินเทค และ ก.ล.ต. | Techsauce

สัมภาษณ์พิเศษ ถกทุกประเด็น ICO กับ Omise, Corporate Venture Capital, สมาคมฟินเทค และ ก.ล.ต.

ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา คำหนึ่งที่พูดถึงกันบ่อยก็คือ ICO ซึ่งเป็นการระดมทุนรูปแบบใหม่ที่ Techsauce ได้เคยนำเสนอกันไปบ้างแล้ว จุดหักเหสำคัญคือกรณีที่จีนแบน ICO ส่งผลให้เงินดิจิทัลร่วงลงหนัก และจากกรณีดังกล่าวก็เกิดคำถามมากมาย Techsauce ก็ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษทั้ง Startup ผู้ที่ระดมทุนด้วย ICO อย่างคุณ Jun Hasegawa, CEO ของ Omise และทางฝั่งของธนาคารได้แก่ คุณแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ,คุณพอล พลภัทร อัครปรีดี กรรมการผู้จัดการบริษัท Digital Ventures , คุณธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด รวมไปถึงคุณอัครเดช ดิษยเดช กรรมการผู้จัดการสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย อีกทั้งมุมมองจากทางฝั่งก.ล.ต. โดยผอ. อาจารีย์ ศุภพิโรจน์ ถึงประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจกันในขณะนี้

ในปีที่ผ่านมา Tech Startups มีการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐจาก ICO อะไรเป็นสิ่งขับเคลื่อนปรากฏการณ์นี้?

คุณแซม : ปัจจัยที่ 1 คือ Startup มองเห็นเงินจำนวนมากที่อยู่บน Cryptocurrency จึงคิดค้นวิธีการระดมทุนรูปแบบ ICO ขึ้นมา โดยการทำ White Paper หรือเอกสารที่มีรายละเอียดการทำงานเชิงลึกของโปรเจคนั้น ให้ผู้ที่จะลงทุนอ่าน ถ้าให้พูดตรงๆ คือ Demand กับ Supply มันแทบจะไม่มีผลอะไรเลย คือไม่ได้มีปัจจัยอะไรมาทำให้มูลค่ามันขึ้นและลงขนาดนั้น ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ มันเป็นความคาดหวังจาก White Paper  ในธุรกิจนั้น ๆ มองเห็นแล้วนะว่ามีโอกาสที่มันจะประสบความสำเร็จ คนก็เลยแห่ย้ายเงินไปลง ICO

คุณพอล : มันมีหลากหลายปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การระดมทุน ICO ในปีนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

  • ปัจจัยแรกคือ การที่เหล่า Entrepreneur เจอปัญหาและอดทนกับการระดมทุนแบบเดิมมานานมาก เพราะการระดมทุนจาก VC มันเป็นอะไรที่กินเวลานาน เหนื่อย และมีกระบวนการมากมายที่ยุ่งยาก แต่การระดมทุนผ่าน ICO รวมทั้งการ เขียน White paper การยื่นเอกสาร อาจจะต้องใช้เวลาเป็นเดือน แต่ก็ทำให้ Entrepreneurs รู้สึกว่าการระดมทุนผ่าน ICO มันง่ายกว่าและไม่ยุ่งยากเท่า
  • ปัจจัยอย่างที่สองคือ การยอมรับในเงินดิจิทัลมีเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่ามูลค่าของตลาดเหรียญดิจิทัลที่มีอยู่จะยังเทียบไม่ได้กับมูลค่าของเงินตราที่ใช้กันในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามูลค่าของมันจะไม่สำคัญเสียทีเดียว เพราะดูจากการเติบโตของการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลแล้ว แปลว่าเงินดิจิทัลและ Token มันมีสภาพคล่องดีและมีความรวดเร็วกว่า ทำให้มันเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
  • ปัจจัยอย่างที่สามคือ การใช้ประโยชน์จาก Smart contract บน Ethereum ที่ทำให้ ICO เป็น ‘Killer Apps’ อันแรกของ Ethereum เลยทีเดียว รวมถึงการพัฒนามาตรฐาน ERC20 token ที่มีส่วนช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้กับกระบวนการของ ICO และทำให้การระดมทุนมีความเสถียรและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ปัจจัยอย่างที่สี่คือ ถ้ามองจากประวัติการระดมทุนผ่าน ICO ที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการระดมทุนครั้งแรกโดย Mastercoin ในปี 2013 จะเห็นได้ชัดถึงความเป็นไปได้ในการระดมทุนเงินจำนวนมากผ่านระบบ Blockchain รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่อยากจะลงทุนในบริษัทต่างๆ ผ่านการระดมทุนบน blockchain
  • และปัจจัยสุดท้ายคือ การที่บริษัทต่างๆ สามารถระดมทุนได้รวดเร็วและง่ายดาย ทำให้เกิดกระแสความกลัวจะตกเทรนด์ และความโลภ ความอยากลอง ทำให้บางทีไอเดียบางอย่างที่ไม่ได้ดีมาก ยังสามารถได้รับเงินระดมทุนจำนวนมากได้ จึงมีส่วนปั่นกระแสให้แรงมากขึ้น

คุณอัครเดช: อย่างแรกเลยคือมันเป็นตลาดใหม่ เป็นการระดมทุนแบบใหม่ ที่เราทราบคือก่อนหน้านี้มี 2-3 เจ้าที่ออก ICO แล้วประสบความสำเร็จมาก ส่วนตัวแล้วผมมองว่ามันอยู่ในวงจำกัด สำหรับคนทั่วไปถ้าเราไม่รู้จักตลาดนี้ดีพอ เราก็ไม่กล้าไปยุ่ง อย่างที่บอกอย่างแรก มันเกิดขึ้นได้ง่าย สองคือเราชาวเอเชียเองส่วนใหญ่เราจะฮือฮามากถ้า digital coin มันออกมาแล้วมันถูกเทรดในตลาดรอง แล้วมันกระโดด 1,000% แบบนี้คนไทยชอบ

มาทางด้านของ Omise ผู้พัฒนา OmiseGO (OMG) ซึ่งเป็นผู้ให้ระดมทุนผ่าน ICO รายแรกของไทยกันบ้าง Techsauce ก็ได้คุยกับคุณ Jun Hasegawa ผู้ก่อตั้ง Omise ถึงประเด็นร้อนแรงนี้ด้วย

อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้ตัดสินใจระดมทุนผ่าน ICO

คุณ Jun : ตามที่เคยพูดในงาน TCDisrupt ความตั้งใจของเราไม่ใช่การระดมทุน แต่คือการทำให้ระบบของเรามีความปลอดภัยมากขึ้นผ่านการใช้ token ยกตัวอย่างเช่น Ethereum

  1. การใช้เครือข่าย Ethereum จะต้องมี ETH เพื่อจ่ายค่าการทำการซื้อขายบนระบบ
  2. เช่นเดียวกันกับ OmiseGO ที่ต้องการ token ที่มีค่าในการทำให้ระบบปลอดภัยมากขึ้น เครือข่าย OmiseGO เป็นสาธารณะ และไม่ต้องขออนุญาต จึงทำให้ OMG ขายได้

ในอนาคตคิดว่า Blockchain Startups จะเปลี่ยนการระดมทุนจาก VC ไปเป็นการระดมทุนแบบ ICO หรือเปล่า?

คุณแซม : ผมว่า ICO มันจะ Disrupt VC พอสมควร แต่ไม่ได้ Disrupt CVC ผลกระทบมันจะกระทบโดยตรงที่ Venture Capital ใหญ่ๆ ซึ่งมีเม็ดเงินพอสมควร เงินเหล่านี้จะหาที่ลงยากขึ้นถ้า ICO ยังมีมูลค่าสูงขึ้นไปอีก ในขณะเดียวกันตัวของสตาร์ทอัพเองก็จะระดมทุนผ่านลักษณะเดิม แต่อาจจะด้วยเม็ดเงินที่น้อยลง และในเม็ดเงินที่น้อยนั้นมันจะผันจาก VC เป็นหลักมาหา CVC เพราะเขาต้องการพันธมิตร Strategy Partner ที่มาช่วยต่อยอดธุรกิจของอยู่ คราวนี้ VC จะต้องเริ่มเปลี่ยนเกมละ เราเห็นหลาย VC ในต่างประเทศ ไม่ได้เอาเงินมาลงเพื่อแลกกับ Equity แต่เอาเงินมาลงใน ICO แทนเลย ข้อดีของการลง ICO ก็คือ มันก็ราคาดีขึ้น เหมือนซื้อขายหุ้นเลยนะ

สำหรับคำถามนี้ คุณธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด ได้ร่วมออกความเห็นว่า : การทำ ICO กับการหานักลงทุนแบบเวนเจอร์แคปปิตอลนั้น ยังมีความต่างกันอยู่ที่การทำ ICO ยังให้ไม่ได้คือ การลงทุนแบบ VC นั้นเป็นการลงทุนแบบ Strategic Investment ที่ไม่ได้ต้องการเงินลงทุนอย่างเดียวแต่ต้องการผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์ความรู้มาช่วยให้คำแนะนำในการทำงานด้วย ในขณะที่การทำ ICO แม้จะได้เงินลงทุนมากและไม่ยุ่งยากมากเท่าการทำ VC แต่เงินลงทุนที่ได้ก็มักจะมาจากนักลงทุนมากมายหลากหลาย นอกจากจะไม่ได้ Strategic Investors มาช่วยแนะนำแล้ว ยังจะต้องมีความยุ่งยากในการดูแล Investor ที่มาจากICO ที่มีจำนวนมากและมีความหวังในการตอบแทนด้านการเงินสูงมาก

คุณพอล  : ถ้าพูดถึงอนาคตอันใกล้ ICO จะต้องเผชิญสถานการณ์ขึ้นๆ ลงๆ เพื่อพยายามเป็นที่ยอมรับของ VC แต่ถ้าพูดถึงในระยะยาว เป็นไปได้ที่ ICO จะมาแทนที่การระดมทุนแบบเดิมๆ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป หน่วยงานจะเข้ามากำกับดูแล และวางมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยมากขึ้น การเพิ่มระดับความปลอดภัย ความเป็นมืออาชีพ จะช่วยเพิ่มความไว้ใจ และจะทำให้การระดมทุนผ่าน ICO สามารถขยายได้ และเมื่อนั้น ICO จะไม่เป็นแค่ทางเลือกอีกต่อไป การระดมทุนในรูปแบบเก่าจะหันมา Digitalized และปฎิบัติการณ์บนระบบ Blockchain

มีประโยคหนึ่งจากผู้ก่อตั้ง Ethereum ได้กล่าวไว้ว่า "We are in a bubble a lot of project will fail" คิดเห็นอย่างไรกับประโยคนี้

คุณแซม: ถ้ามองว่าการเกิดฟองสบู่แตกเป็นไปได้ไหม บอกเลยว่าเป็นไปได้มาก ถ้าไม่มีการกำกับดูแล ทกคนอยากทำ ICO หมดเลย เพราะมันซื้อขายง่าย มันมีเงินมหาศาล แต่มันก็ต้องมีคนหวังไม่ดีเข้ามา แล้วมันเกิดเหตุการณ์ขึ้นครั้งเดียว ก็จะทำให้เกมจบเลย ถ้าเป็นไปได้ ซึ่งเป็นไปได้ค่อนข้างสูงด้วย

คุณพอล : ในเมื่อ 9 ใน 10 ของ startup ยังล้มเหลว มันก็ไม่น่าแปลกใจอะไรที่มันจะเป็นแบบเดียวกันกับโปรเจ็คของ Blockchain และ เงินดิจิทัล มันเป็นเรื่องปกติที่จะมีความเสี่ยง ผมคิดว่าคำพูดนี้ไม่ได้กล่าวถึงคนที่อยู่ในโลก startup โดยตรง เพราะคนเหล่านี้รับรู้ถึงความเสี่ยงดีอยู่แล้ว แต่เป็นคำพูดถึงเหล่าคนที่บ้าเห่อเงินดิจิทัลและมอง ICO เป็นทางลัดไปสู่ความรวย ที่จริงมีหลายคนในวงการเงินดิจิทัล และ fintech ที่รอให้ ICO ใหญ่ๆ บางอันล้มเหลว เผื่อมันจะช่วยลดโปรเจคที่ไม่ค่อยดีออกไป และช่วยให้มีแต่โปรเจคดีๆ ในการระดมทุนผ่าน ICO

คุณ JUN : เห็นด้วย เราจะได้เห็นภายใน 2 ปีนี้ว่า ธุรกิจของใครจะอยู่รอดและสามารถเอาไปปรับใช้ได้จริง Omise แข็งแกร่งในตลาดได้เพราะเราพัฒนาแต่สินค้าที่ดีจริงเท่านั้น รวมถึง OmiseGO ที่จะพัฒนา PoS Decentralized Exchange network ที่จะเปลี่ยนชีวิตประจำวันของผู้คนให้ดียิ่งขึ้นและเชื่อมต่อทั้งโลกเข้าด้วยกัน

นอกจาก ICO จะมาแรงแล้ว อีกเรื่องสำคัญคือการกำกับดูแลที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งก็มีความเห็นทั้งจากฝั่งของธนาคาร ก.ล.ต. และสมาคมฟินเทค

ในอนาคต ICO ควรจะถูกกำกับดูแลอย่างไรบ้าง

คุณแซม : ต้องบอกตรงๆว่าบ้านเราทำ ICO ก็ไม่ได้จดหรือทำธุรกรรมอยู่ในเมืองไทย อย่างจีนที่ทำได้คือบริษัทเหล่านั้นอยู่ในเมืองจีนและก็รับจ้างประกาศเอง ผมก็เข้าใจเค้านะว่าเค้าต้องประกาศ เพราะฉะนั้นค่าเงินไปอยู่ที่ Cryptocurrency เมื่อไร เงินหยวนมีปัญหาขึ้นมาทันที ทั้งแชร์ลูกโซ่ ถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ ค่าเงินหยวนที่จะมีผลกระทบด้วย ทั้งเงินหยวนดิจิทัลที่เค้าจะทำในอนาคตมันจะมีผลกระทบ เค้าก็เลยต้องรีบ Regulate แต่ก็ต้องดูด้วยว่ามันจะ Regulate ได้ไหม ส่วนตัวถ้าเป็น VC เองก็คงจะไม่ไปลง ICO เพราะมันน่ากลัวกว่าหุ้น

คุณอัครเดช: ควรมีการกำกับดูแล เพราะคนที่เข้าไปเล่นตรงนี้ก็น่าวิตกกังวล บางคนอาจเข้ามาเล่นด้วยกระแส

คุณพอล : ถ้าตัดการที่จีนแบนออกไป หน่วยงานต่างๆ ทั่วโลกต่างพยายามใช้วิธีที่ระมัดระวังกว่านั้น และพยายามที่จะไม่แบนโดยตรง อย่างที่ SEC ของ US และ MAS ของสิงคโปร์ได้พยายามส่งสัญญานว่า ICO น่าจะสามารถทำให้ถูกกฎหมายได้ โดยกล่าวว่า ICO อาจจะเข้าข่ายที่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบด้านหลักทรัพย์ แม้ในตอนนี้ ICO ยังไม่ถือว่าเข้าข่ายหลักทรัพย์เสียทีเดียว ถึงแม้ว่า People’s Bank of China (PBOC) จะประกาศแบน ICO และการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัล แต่หลายๆ คนลงความเห็นว่ามันจะเป็นแค่การแบนชั่วคราว ระหว่างที่ PBOC ศึกษาและร่างกฎคุ้มครอง

มุมมองจากก.ล.ต. ในด้านของการกำกับดูแล

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ได้ออกมาให้ความเห็นว่า ICO สามารถเป็นกลไกที่ช่วยตอบโจทย์เรื่องการระดมทุนให้ธุรกิจดังกล่าวได้ แต่ทั้งนี้ หาก ICO ใดมีลักษณะที่เข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์ ผู้ระดมทุนก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายรวมทั้งกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องด้วย  อีกทั้งยังมีความกังวลว่า ICO อาจเป็นช่องทางให้ผู้ที่ไม่สุจริตใช้หาประโยชน์จากประชาชนได้ โดยก.ล.ต.กำลังพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลที่เหมาะสม และยินดีรับฟังทุกความเห็นจากภาคธุรกิจ เพื่อไม่ให้มีกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ ในขณะที่ยังสามารถป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่สุจริตอาศัยช่องทางนี้หลอกลวงเงินจากประชาชน

นอกจากนี้ยังเตือนให้ผู้ที่สนใจลงทุนใน ICO ควรทำความเข้าใจลักษณะโครงการที่มาระดมทุนและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด เพราะมีความเสี่ยง ทั้งด้านความผันผวนของราคา การขาดสภาพคล่อง ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ รวมทั้งการถูกหลอกลวง

ความคิดเห็นต่อการแบน ICO ของจีน

ผอ. อาจารีย์ : เนื่องจาก ICO เติบโตเร็วมาก รวมทั้งได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนจีนจำนวนมาก การกำกับดูแลของจีนจึงคงเป็นห่วงทั้งเรื่องการเกิด ICO bubble และ scam ต่าง ๆ ที่ใช้ ICO เป็นเครื่องมือหลอกลวงเงินจากประชาชน นอกจากนี้ จีนก็กำลังพิจารณาเรื่องเงินดิจิทัลของตัวเองอยู่ จึงเป็นไปได้ว่าตอนนี้จีนเลยตัดสินใจ ban ICO ไปก่อนและหากจีนพิจารณานโยบาย / framework ที่เกี่ยวข้องเรียบร้อย ก็อาจ lift ban ให้ ICO ที่ทำตามเกณฑ์

มีการกำกับดูแลของประเทศไหนที่น่าสนใจและไปศึกษาอีกบ้าง

ผอ. อาจารีย์ : ยังไม่มี regulator ที่ออก best practice ในการทำ ICO อย่างเป็นทางการ โดยแนวทางโดยรวมของ regulators ที่ออกมาพูดเรื่องนี้คือหาก token นั้นเข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์ก็ต้องทำตามเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่แล้วด้วย  ทั้งนี้ บางประเทศ เช่น Canada ดูจะเปิดรับเรื่องนี้โดยให้ทำ ICO ใน regulatory sandbox ได้และผ่อนคลายข้อกำหนดบางอย่างให้ผู้ออก ICO ที่ทำตามเงื่อนไขของ regulator ได้

คำแนะนำสำหรับ Startup ที่จะทำ ICO

คุณแซม : ข้อที่ 1 คือถ้าอยากจะทำจริง White Paper ที่ทำขึ้นมาจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง ส่วนของ ICO จริงๆแล้วไม่ยากเลย ขอแค่มี White Paper ดี Marketing ต้องมีดี เวลาจะทำ ICO ก็ต้องออกไปประกาศในตลาดว่าฉันทำ ICO และขอเตือนว่าตลาดนี้ไม่มีอะไรแน่นอน มันเป็นตลาดใหม่และเสี่ยง เพราะฉะนั้นถ้าใครที่โดนและมีผลกระทบ แน่นอนว่าถ้าคุณได้เงินไปแล้ว รัฐเกิดกำกับดูแลขึ้นมา ไม่คืนเงินอย่างประเทศจีนตอนนี้ ความลำบากเกิดขึ้นทันทีจริงๆ อยากให้ Startup ดูสถานการณ์ก่อนสักช่วงนึง ยังให้เน้นการลงทุนที่เป็นแบบตรงๆ Equity ในลักษณะเดิมไปก่อน ดูท่าทีของ ICO เพราะสถานะตอนนี้เมื่อเดือนที่ผ่านมา พุ่งลงไปหมดเลย มันมีความเสี่ยง รัฐบาลสั่งปิดไปหมดเลย

ทั้งนี้คุณ Jun ได้ฝาก 4 ข้อแนะนำสำหรับ Startup ที่ต้องการระดมทุน ICO

  1. อย่าคิดว่าจะได้หาเงินง่ายๆ จาก ICO
  2. อย่าพยายามใช้ระบบ blockchain เพื่อจะระดมทุนผ่าน ICO
  3. อย่าประมาทพลังของ community นี้
  4. ควรวางแผน และคิดให้รอบคอบก่อน

โดยสรุปแล้วแม้ ICO จะเป็นรูปแบบการระดมทุนที่น่าสนใจ แต่ก็ยังคงใหม่อยู่ในตลาด ทั้งยังขาดการกำกับดูแล และเสี่ยงต่อการเกิดฟองสบู่แตกได้ง่าย ใครที่กำลังคิดระดมทุนด้วยวิธีนี้จึงควรทำการศึกษาให้ละเอียดเสียก่อน เพราะคงไม่มีอะไรได้มาง่ายๆเสมอไป

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...