เกณฑ์การคัดเลือกสุดเข้มข้นเพื่อคัด 10 ทีมคุณภาพมาเข้าร่วม DVA b0 | Techsauce

เกณฑ์การคัดเลือกสุดเข้มข้นเพื่อคัด 10 ทีมคุณภาพมาเข้าร่วม DVA b0

ก่อนหน้านี้ เราได้รู้ แนวคิดในการทำ Accelerator ของ DVA โครงการ Accelerator ใหม่ล่าสุดโดย Digital Ventures ที่มุ่งช่วยเหลือและเร่งให้สตาร์ทอัพเติบโตอย่างแท้จริงกันไปแล้ว ล่าสุดก็ได้มีการประกาศรายชื่อสตาร์ทอัพทั้ง 10 ทีมที่เข้ารอบสุดท้ายซึ่งจะได้เข้าสู่ Digital Ventures Accelerator หรือ DVA ใน Badge แรก (Badge 0) อย่างเป็นทางการ ทำให้หลายคนอยากรู้เหลือเกินว่า ทาง DVA มีเกณฑ์การคัดเลือกสุดเข้มข้นอย่างไรบ้างกว่าจะมาเป็น 10 ทีมที่เราเห็นกันนี้

วันนี้เราก็ได้คุณชาร์ล เจริญพันธ์ และคุณกัน เจติยา หัวหอกแห่ง DVA มาเปิดเผย 6 เกณฑ์หลักๆ ที่ใช้ในการคัดเลือกอย่างเข้มข้น พร้อมทั้งบอกเล่าถึงความน่าสนใจของแต่ละทีมที่มาเข้าร่วมโครงการ Accelerator DVA Batch 0 นี้

dva-b0

ได้ยินว่ามีคนมาสมัครเยอะมาก คิดว่าเพราะอะไรคนถึงให้ความสนใจขนาดนี้

คุณชาร์ล - เราไม่รู้ว่าที่อื่นคนสมัครเยอะขนาดไหน แต่สำหรับเรา การมีผู้สมัครเกินกว่าที่เราตั้งเป้าไว้ถึง 50% ก็ถือว่าพอใจแล้ว  คิดว่าเหตุผลหนึ่งที่คนให้ความสนใจ คงเป็นเพราะความแตกต่างของโปรแกรม เช่น จาก Feedback ที่ได้รับจากผู้เข้าสมัครหลายๆคน จะบอกว่าที่นี่ดูเป็น International Approach ในสายตา startup

ส่วนอีกเหตุผลก็น่าจะเป็นเพราะชื่อเสียงของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ด้วย เพราะเป็นองค์กรที่ใหญ่และยังมี Market Value เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ รวมถึงทางธนาคาร SCB เองที่ส่งสารออกไปอย่างชัดเจนว่าต้องการจะช่วยสตาร์ทอัพจริงๆ ในเรื่อง Customer Acquisition หรือการสร้างฐานลูกค้าใหม่ และเรื่อง Branding ที่มีความน่าเชื่อถือ

กรรมการจากหลากหลายวงการ

กรรมการสำหรับคัดเลือกทีมเข้ามาร่วมโครงการ DVA แบ่งเป็นหลายส่วน คือ

  • กรรมการภายในของ Digital Ventures (DV) เอง แบ่งเป็น 3 ทีม คือ ทีม Product, ทีม VC และทีม Accelerator ที่จะต้องทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพระหว่างโครงการ
  • กรรมการจากธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มาร่วมตัดสินในมุมมองเรื่องการเงิน เทคโนโลยี และด้านกฎหมาย
  • Fintech Specialist จากต่างประเทศ คือ คุณ Steve Haley ซึ่งได้รับเชิญมาเพื่อช่วยตัดสินและให้ Feedback จากการสัมภาษณ์ด้วย เพราะธรรมชาติของธุรกิจ Fintech จะต่างจากสตาร์ทอัพทั่วไป โดยถ้าดูจากจำนวนผู้เข้าสมัครทั้งหมด มี Application Fintech มากที่สุดถึง 23%

dva-judge

เกณฑ์หลัก 6 ข้อที่ใช้คัดเลือกทีมเข้าร่วมโครงการ DVA

1.Product & Team ความพร้อมของโปรดักต์และทีม

เบื้องต้นจะดูจากโปรดักต์กับทีมก่อน เนื่องจากเป็น Accelerator ที่โฟกัสในการช่วย startup ด้าน Customer acquisition จึงมองถึงปัจจัยด้านความพร้อมของโปรดักต์เป็นสำคัญ แล้วดูต่อถึงความพร้อมและเป้าหมายของทีม ว่าทีมนั้นมีความสามารถในการพัฒนาโปรดักต์ได้ดีขนาดไหน เพราะเทคนิคและประสิทธิภาพเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเรื่องคาดไม่ถึงก็คือ เกือบครึ่งของผู้สมัครมี Revenue (รายได้) แล้ว โดย 43% สามารถทำรายได้จาก Product และ 47% ของผู้สมัคร ได้มีการ Launch สินค้าออกสู่ตลาด นั่นคือข้อดี เพราะแสดงว่าโปรดักต์ได้ถูกพิสูจน์แล้วว่ามีผู้ใช้ต้องการจริงๆ

2. Problems & Solution รู้ปัญหา แล้วแก้ไขด้วยความสามารถและสร้างสรรค์

ในขั้นต่อไปเราจะดูเรื่องปัญหาที่เขาต้องการจะแก้ ดูว่าเขาตีปัญหาแตกขนาดไหน  ส่วน Solution หรือวิธีแก้ปัญหานั้น ต้องดูว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ดีขนาดไหน รวมถึงความสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาด้วย เพราะ Innovation หรือ นวัตกรรม เกิดจาก 2 สิ่ง คือ 1. ความสามารถในการแก้ปัญหา (Ability) และ 2. ความสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา (Creativity)

3. Know their own markets เข้าใจตลาดของตัวเอง

นอกจากนี้ ยังต้องดูความเข้าใจตลาดและประสบการณ์ในตลาดของผู้สมัคร เพราะจะทำให้เห็นว่าพวกเขามีความเชี่ยวชาญในตลาดที่พวกเขาจะแก้ปัญหานี้หรือไม่  หลายครั้งที่สตาร์ทอัพอยากจะแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง แต่กลับไม่เคยมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาก่อน ทำให้แก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด และไม่เข้าใจความต้องการของลูกค้าที่แท้จริง เพราะไม่เคยเจอปัญหานี้ด้วยตัวเองจริงๆ

4. Commitment ความรับผิดชอบและความผูกพันกับ DVA

ขั้นต่อไป ก็มาดูด้วยว่าเขาผูกพันและทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับโครงการขนาดไหน ด้วยการให้ทำอะไรที่ต้องใช้ทั้งเวลาและความคิดว่า แล้วดูว่าพวกเขาพร้อมที่จะทำเสร็จมันตรงเวลาหรือเปล่า เช่น หลังสัมภาษณ์อาจจะมีการเทสต์ให้ไปคุยกับลูกค้า ระบุว่าคุยกับลูกค้ากี่คน และ ให้ Deadline แล้วเอาการบ้านมาส่ง

นอกจากนี้ ถ้าทีมนั้นมีโปรดักต์และลูกค้าเรียบร้อยแล้ว ก็ดูว่าความพร้อมที่จะเรียนแบบ Full-time เพราะมองว่าเป็น Commitment อย่างหนึ่ง แต่ถ้าทีมไหนยังไม่ได้พิสูจน์ Product และ Market fit ขนาดนั้น ก็จะเทสต์ดูว่าพวกเขายึดมั่นกับไอเดียนี้ขนาดไหน  ผลปรากฏว่า 66% ของผู้สมัครทั้งหมดเต็มใจที่จะลาออกจากงานและให้เวลากับการทำโปรดักต์ของตัวเองอย่างเต็มที่ ส่วนทีมที่เราคัดมา 10 ทีมล้วนเป็นทีมที่พร้อมจะเข้ามาเรียนแบบ Full-time

dva-team-stat

5. Passion ความมุ่งมั่นตั้งใจจริง

Passion สามารถดูได้จากเวลาพูดถึงปัญหา ตาเป็นประกายไหม อินแค่ไหน และทำให้กรรมการเคลิ้มและอินไปด้วยได้แค่ไหน เพราะบางทีปัญหาอาจจะเล็กๆ แต่ถ้าสามารถโน้มน้าวกรรมการให้เชื่อได้ว่ามันเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขจริงๆ ปัญหานั้นอาจจะไม่เล็กอย่างที่เราคิดและมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาเป็นธุรกิจที่มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้

6. Ability to support ความเป็นไปได้ในการเอื้อหนุนกันระหว่างทีมสตาร์ทอัพและ DV

สุดท้ายแล้ว เราต้องมา Brainstorm ดูว่า ทีม DV และ SCB เอง สามารถช่วยอะไรเขาในมุมไหนได้บ้าง

ดังนั้น ในการตัดสินใจเลือกเพียงแค่ 10 ทีมนั้น ถือเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับทาง DVA เหมือนกัน เพราะไม่เพียงแค่จะช่วยให้เค้าเติบโตได้ แต่ยังต้องการช่วยผลักดันให้สตาร์ทอัพทุกทีมเป็นที่หนึ่งในอุตสาหกรรมของเขาด้วย โดยการพยายามสร้าง Ecosystem ให้พร้อมที่สุดสำหรับสตาร์ทอัพเหล่านี้ ทั้ง ความรู้ เงินลงทุน และฐานลูกค้า เพราะฉะนั้น แต่ละทีมก็ต้องมีความพร้อมด้วยเช่นกัน โดย 10 ทีมที่ได้มานั้น แบ่งเป็น สตาร์ทอัพด้าน Fintech 6 ทีม และทีม ที่ไม่ใช่สาย Fintech อีก 4 ทีม

dva-team-stat2สัดส่วนประเภทธุรกิจจากทีมผู้สมัครทั้งหมด

Accelerator ที่แตกต่างด้วยการจับคู่ Mentor แบบ Customized

คุณกัน - ความจริงแล้ว เราก็ยังไม่ได้ประกาศเลยว่าทีมไหนได้ใครเป็น Mentor เพราะเราตั้งใจที่จะ Customize โดยการหาผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของแต่ละทีมจริงๆ เช่น บางทีมก็จะได้ Mentor จากธนาคารเพราะว่าทำเกี่ยวกับ Fintech เพื่อจะได้ติดต่อกับแผนกของธนาคารที่เกี่ยวข้องโดยตรง หรือถ้าธุรกิจไม่ได้เกี่ยวกับ Fintech เราก็จะไปหาคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนั้นๆ มาเป็น Mentor ให้เขาโดยตรง โดยมีการสอบถามความต้องการของแต่ละทีมด้วย

คุณชาร์ล - DVA จึงไม่ได้เลือกแต่คนมีชื่อเสียงในวงการสตาร์ทอัพมาพูดเพียงอย่างเดียว แต่เลือกผู้เชี่ยวชาญจริงๆ แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในวงการก็ตาม เพราะเราเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์และอาจได้ Connection ที่ดีด้วย ส่วน Core Mentor คิดว่าควรเป็นคนใน DV เพราะจะต้องอยู่กับทีมสตาร์ทอัพทุกวัน แล้วก็จะมีเชิญ Speakers จากต่างประเทศมาให้คำแนะนำด้วย

มีพารท์เนอร์พิเศษให้การสนับสนุนเฉพาะด้าน

คุณชาร์ล – Curriculum ทั้ง 6 เดือนเต็มของเรานั้น  ใน 3 เดือนแรก เราจะปูพื้นให้สตาร์ทอัพด้วย 1. Essential Course จะสอนสิ่งที่ Startup ต้องรู้ตั้งแต่ต้นจนจบ  2. Legal Course ให้ความรู้ด้านกฎหมายที่สำคัญในการตั้งบริษัทและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และ 3. Finance Course ให้ความรู้ด้านการเงิน ซึ่งจะสอนแบบ 1 ต่อ 1 เพราะแต่ละทีม ก็มีความต้องการที่แตกต่างกัน ในเบื้องต้นทาง DVA ได้มีพาร์ทเนอร์หลักอย่าง Google, Microsoft, Baker & Mckenzie, PrimeStreet Advisory เป็นต้น และกำลังจะมีพาร์ทเนอร์อื่นๆ ตามมาอีก 

การปรากฏตัวของสตาร์ทอัพด้าน Deep Tech ในโครงการ DVA Batch 0

คุณชาร์ล - ช่วงที่คนมาสมัครแรกๆ เรายังไม่แน่ใจเท่าไรว่าแต่ละทีมจะเป็นอย่างไรบ้าง แต่พอเปิดรับสมัครมาเรื่อยๆ ก็มีหลายทีมที่ทำให้เราทึ่งว่าสตาร์ทอัพเมืองไทยก็กล้าทำอะไรที่เป็นเทคนิคเชิงลึก ไม่ได้มีแค่ Marketplace ใหม่ๆ แต่ยังมีแพลตฟอร์มเกี่ยวกับไอทีจริงๆ เรียกได้ว่าเป็น Deep tech ตัวอย่างเช่น ทีมที่ทำเกี่ยวกับ Blockchain หรือ ทีมที่ทำด้าน Mobility หรือยานยนต์ ซึ่งน่าจะเป็นเทรนด์ที่กำลังจะมาแรงในปีหน้า  โดย 10 ทีมที่เข้ารอบนั้นได้แก่

Convolab - AI Chatbot เพื่อแก้ปัญหาให้แต่ละธุรกิจตามความต้องการ

ETRAN - นวัตกรรมด้านคมนาคมขนส่งแบบอิเล็กทรอนิกส์

FlowAccount - เทคโนโลยี Cloud แก้ปัญหาด้านบัญชีสำหรับธุรกิจรายย่อย

KYC-Chain - เทคโนโลยี Distributed Ledger หรือ Blockchain เพื่อใช้ในกระบวนการ KYC (Know Your Customer)

OneStockHome - แหล่งจำหน่ายอุปกรณ์ก่อสร้างคุณภาพผ่านระบบออนไลน์ในราคาที่ถูกกว่า

Peer Power - Marketplace กู้ยืมเงินแบบ Peer-to-peer ระหว่างลูกค้าในไทย

PetInsure - บริการทำประกันออนไลน์สำหรับสัตว์เลี้ยงเจ้าแรกในไทย

Plizz - บริการทำบัญชีออนไลน์อย่างครอบคลุมให้กับ SMEs

Refinn - บริการรีไฟแนนซ์อสังหาฯออนไลน์ที่ง่าย ปลอดภัย และไว้ใจได้

Seekster - บริการ On-demand Marketplace ระหว่างผู้บริโภคและ SMEs

คุณกัน - ความจริงเราคิดว่าจะได้สัมภาษณ์แค่ 20-25 ทีม แต่สุดท้ายเราก็เรียก 35 ทีมเข้ามาสัมภาษณ์เพราะเลือกยากมากและไม่อยากตัดโอกาสทีมไหนเลย  บอกเลยว่ากว่าจะมาเป็น 10 ทีมสุดท้ายนี่ กรรมการทุกคนตัดสินใจยากมากและหนักใจมากจริงๆ

dva-judge2

สำหรับทีมที่ไม่เข้ารอบ ยังมีโปรแกรมใหม่รออยู่

คุณชาร์ล : ถ้าเป็นไปได้เราก็อยากรับทั้ง 35 ทีมที่เราสัมภาษณ์ แต่เรารับได้แค่ 10 ทีมเท่านั้นเพราะก็ต้องควบคุมคุณภาพด้วย  ตอนนี้เราจึงวางแผนจะสร้างอีกโปรแกรมขึ้นมาเพื่อพาร์ทเนอร์กับหลายๆ ทีมที่ไม่ได้เข้ารอบ นอกจากนี้หากเรามีกิจกรรมหรือ event ไหนน่าสนใจ เราก็อยากเชิญ startup มาร่วมกิจกรรมด้วยเช่นกัน การคัดเลือกสตาร์ทอัพ 10 ทีมสุดท้ายของ DVA ก็ได้ผ่านไปแล้วอย่างเข้มข้น โดยคัดบรรดาหัวกะทิมาร่วมโครงการ ตั้งแต่ กรรมการ Mentor ไปจนถึงผู้ผ่านเข้ารอบแต่ละทีมเลย เป็นที่น่าติดตามสำหรับโครงการ Accelerator แนวใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ และคาดว่าเราจะมีโอกาสได้รู้จักแต่ละทีมมากขึ้นอีกในงานเปิดตัวของ DVA ที่จะจัดขึ้นในเร็ววันนี้ด้วย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก Physical AI เอไอยุคใหม่ที่ Jensen Huang กล่าวถึงคืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ?

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน CES 2025 คือการที่ Jensen Huang ซีอีโอของ NVIDIA ได้มีการพูดถึงยุคต่อไปของ AI นั่นก็คือ ‘Physical AI’ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญยิ่งที่ AI กำลังจะเข...

Responsive image

4 เทรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำที่อาจเปลี่ยนโลกจาก CES 2025

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดจาก CES 2025 ตั้งแต่ AI อัจฉริยะ ยานยนต์ล้ำสมัย ไปจนถึงการพัฒนาชิปกราฟิกและเทคโนโลยีหน้าจอแห่งอนาคตที่เปลี่ยนโฉมการใช้ชีวิตประจำวัน!...

Responsive image

เปิดตัว ‘รถบินแยกร่าง’ XPeng ผสมเครื่องบินกับรถตู้ รุ่น Land Aircraft Carrier ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท

XPeng Aero HT เปิดตัว Land Aircraft Carrier รถบินได้แบบแยกร่างสุดล้ำที่ CES 2025 พร้อม eVTOL พับเก็บได้ ใช้งานง่าย ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท วางแผนผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2026...