สร้างหลังบ้านให้แข็งแกร่ง เสริมอาวุธให้ธุรกิจในยุคดิจิทัลด้วยระบบ ERP | Techsauce

สร้างหลังบ้านให้แข็งแกร่ง เสริมอาวุธให้ธุรกิจในยุคดิจิทัลด้วยระบบ ERP

ปัจจุบันเราได้ก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบ การทำธุรกิจจำเป็นต้องวางอยู่บนพื้นฐานของการใช้เทคโนโลยี ข้อมูล และระบบอัตโนมัติ นั่นหมายถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่แข็งแรงเท่านั้น จะทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อได้ จึงเป็นคำตอบว่าทำไมระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) ถึงตอบโจทย์ เพราะสามารถจัดการทุกองค์ประกอบทั้งห่วงโซ่ของธุรกิจไว้ในที่เดียว

Erp

ในบทความนี้ Techsauce จะชวนทุกท่านมาเจาะหัวใจของการทำธุรกิจยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นบทสรุปสาระสำคัญจากงาน “Techsauce x Hitachi: Leveraging ERP for Business Transformation  Transform ธุรกิจ ยกระดับการทำงานด้วย ERP” ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง Techsauce และ Hitachi Vantara เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565

รับชมวิดิโอย้อนหลังของงาน


3 หัวใจช่วยธุรกิจ Transform สู่ยุคดิจิทัล

คุณปริญญ์ นงค์นวล Country Head บริษัท Hitachi Vantara ประเทศไทย ได้เล่าถึงความพยายามขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนตลอดหลายปีที่ผ่านมา ในการ Transform องค์กรให้เป็นดิจิทัล ซึ่งพบว่าหลายองค์กรไม่เข้าใจวิธีการเปลี่ยนแปลงองค์กรไปสู่ดิจิทัลที่ถูกต้อง

เช่น บางองค์กรเพียงนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการทำงานเท่านั้น  เพื่อหวังจะเปลี่ยนระบบการทำงานให้เป็นดิจิทัล ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลง  โดยคุณปริญญ์ได้ยกตัวอย่าง 3 หัวใจในการ Transform องค์กรสู่ดิจิทัลให้สำเร็จ ได้แก่ 

  1. เปลี่ยนแปลงแนวคิดในการทำงาน มีคอนเซปต์ที่สำคัญคือ Agile Concept เน้นการสื่อสารกับคนในองค์กรอยู่ตลอด ลดขั้นตอนและเน้นพัฒนาสิ่งต่าง ๆ  ให้เกิดผลสำเร็จได้รวดเร็ว
  2. ปรับปรุงกระบวนการทำงาน  ปัจจุบันนอกจากการใช้เทคโนโลยีแล้ว ทุกอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน การติดต่อสื่อสาร การซื้อขาย และการทำธุรกรรม ให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น จุดที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นภายในองค์กรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งห่วงโซ่ของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า คู่แข่ง และลูกค้า 
  3. จัดการและนำข้อมูลไปใช้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อมูลคือหัวใจของการทำธุรกิจในปัจจุบัน โดยมีการนำข้อมูลมาใช้เพื่อการวางแผนกลยุทธ์และการดำเนินงาน นอกจากนั้น ข้อมูลยังช่วยให้ธุรกิจเข้าใจตลาด เข้าใจความต้องของลูกค้า ไปจนถึงสามารถวางกลยุทธ์ในการขายสินค้าให้มีกำไรได้

ยกระดับการจัดการ Supply Chain ให้มีประสิทธิภาพ ด้วย ERP 

คุณศรมณ สมคะเน Senior Manager, Digital Solution Practice บริษัท Hitachi Vantara ประเทศไทย ได้ยกตัวอย่างจากการวิจัยของ Hitachi พบว่า ปัจจุบันองค์กรให้ความสำคัญกับการนำมาใช้ (Execution) มากกว่าการวางแผนและวางกลยุทธ์ ซึ่งกลายเป็นปัญหากับการบริหารต้นทุนให้เกิดประสิทธิภาพและองค์กรขาดความยืดหยุ่น

ซึ่งหากองค์กรต้องการเพิ่มประสิทธิภาพให้ Supply Chain ต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนและวางกลยุทธ์มากขึ้น โดยคุณสรมนได้ยกตัวอย่าง Key Success Factor ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับ Supply Chain ดังนี้ 

  • Digitization ปัจจุบันหลายองค์กรมีการใช้แอปพลิเคชันที่หลากหลาย ทั้งในการผลิต การขาย การสั่งซื้อ และแอปพลิเคชันเหล่านี้ไม่ได้เชื่อมโยงถึงกัน ทำให้ข้อมูลไม่สามารถส่งผ่านต่อกันได้อย่างลื่นไหล ซึ่งกลายเป็นจุดอ่อนสำหรับระบบนิเวศของการทำธุรกิจในปัจจุบัน ที่ห่วงโซ่ของธุรกิจจำเป็นต้องติดต่อกับทั้งภายในและภายนอกองค์กร

ระบบ ERP จะสามารถตอบโจทย์ข้อนี้ได้ ด้วยความสามารถในการทำระบบอัตโนมัติ หรือใช้ AI, Machine Learning, RPA, IoT เป็นต้น ช่วยให้องค์กรทำงานร่วมกับทั้ง Ecosystem ของธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ 

  • Globalization ในยุคดิจิทัลที่แข่งขันกันด้วยข้อมูล ทำให้แหล่งข้อมูลมีจำนวนมาก และมีการแข่งขันการเข้าถึงข้อมูลสูง องค์กรจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้รวดเร็ว โดยใช้ระบบอัตโนมัติและ AI เข้ามาช่วย เพื่อกำหนดรูปแบบการทำงาน และเพื่อผลักดันให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

โดยระบบ ERP สามารถวิเคราะห์ข้อมูล และจัดทำเป็น Dashboard เพื่อวัดประสิทธิภาพ หรือ KPI และทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ และกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงขององค์กร

  • Omnichannel ปัจจุบันระบบการขายและระบบข้อมูลของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป หลายธุรกิจมีทั้งหน้าร้าน และช่องทางออนไลน์ ลูกค้าเองก็เปลี่ยนพฤติกรรมในการเข้าถึงข้อมูล และการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ไปมาก  

ซึ่งระบบ ERP จะช่วยขับเคลื่อนระบบการขาย และสามารถรวมช่องทางที่หลากหลายมาไว้ที่เดียว เพื่อประสบการณ์ผู้บริโภคที่ไร้รอยต่อ นอกจากนั้นยังสามารถทำ Predictive Analytics ด้วยการใช้ AI, Machine Learning ได้ด้วย 

  • Life Cycle เมื่อวงจรของผลิตภัณฑ์เปลี่ยนไป ผลิตภัณฑ์ที่เราเคยขายดี อาจขายไม่ได้เหมือนเดิม โมเดลธุรกิจที่เคยทำไว้สำหรับผลิตภัณฑ์เดิม อาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป 

ระบบ Analytics  และ Machine Learning ของ ERP ในปัจจุบัน สามารถช่วยทำ Product portfolio, Market trend และ Customer affiliation ได้ 

  • Technology ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้รูปแบบธุรกิจเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นองค์กรจะต้องเข้าใจ และเรียนรู้ว่าเราควรใช้เทคโนโลยีแบบไหนเข้ามาช่วย ให้ กลยุทธ์ของห่วงโซ่ธุรกิจเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ระบบ ERP ในยุคดิจิทัล ตอบโจทย์วิถีธุรกิจและผู้บริโภคยุคใหม่

ใน Session นี้ คุณนพดล เจริญทอง Head of Mid-Market for Thailand and Emerging, SAP Indochina บริษัท SAP ประเทศไทย ได้ยกตัวอย่างการใช้งานระบบ ERP ที่ตอบโจทย์ธุรกิจในยุคดิจิทัล และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป 

โดยคุณนพดลเริ่มด้วยการกล่าวถึงความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจมองว่าการเปลี่ยนแปลงธุรกิจเป็นสิ่งจำเป็น และต้องทำทันที 

งานวิจัยของ KPMG ระบุว่า ปัจจุบัน 

  • 59 % ของผู้บริหาร ยอมรับว่าต้องเอาข้อมูลที่องค์กรมีการจัดเก็บมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะใช้เพื่อปรับกลยุทธ์ 
  • 79 %  ของผู้บริหารต้องการหาวิธีให้องค์กรสามารถนำข้อมูลต่าง ๆ ที่มีในองค์กรมาเชื่อมโยงถึงกัน รวมถึงเชื่อมโยงกับข้อมูลของทั้ง Ecosystem ธุรกิจ เพื่อยกระดับประสบการณ์การทำงานของบุคลากรในองค์กร และของผู้บริโภค 
  • 72 % ของผู้บริหารมองว่า ต้อง Disrupt ตัวเอง ดีกว่าการรอให้ถูก Disrupt จากคู่แข่งในตลาด 

จากความต้องการเหล่านี้เอง ทำให้ SAP มองหาวิธีการที่จะมาช่วยลูกค้าพัฒนาองค์กรให้เป็น Intelligence Enterprise ให้ได้

ด้วย Intelligent suite ที่ตอบโจทย์ธุรกิจในยุคใหม่ สามารถตรวจสอบข้อมูลของทุกกระบวนการธุรกิจ ลดกระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อน และเชื่อมต่อข้อมูลจากทุก Business Network ได้อย่างประสิทธิภาพ สามารถวัดและประเมินผลการทำงานได้อย่างแม่นยำ รวมถึงตอบโจทย์เป้าหมายความยั่งยืน และช่วยให้องค์กรนำเทคโนโลยีมาช่วยทำงานอย่างเกิดประโยชน์มากที่สุด

SAP S/4 HANA ระบบ ERP ที่ตอบโจทย์มากกว่า 25 Industry Solution 

ด้วยความต้องการและวิธีการทำงานที่แตกต่างกันไปในทุกอุตสาหกรรม ทำให้ธุรกิจต้องมองหาระบบที่เหมาะสมที่สุด โดยคุณนพดลได้ยกตัวอย่างระบบ SAP S/4 HANA ซึ่งเป็นระบบ ERP ที่ตอบสนองมากกว่า 25 Industry Solution สามารถครอบคลุมกระบวนการทำงานตั้งแต่ต้นจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่ซื้อวัตถุดิบมาออกแบบ ผลิต จนไปถึงการส่งสินค้าถึงมือลูกค้า ซึ่งข้อมูลที่จัดเก็บได้จากทุกกระบวนการ จะถูกจัดเก็บในระบบ 

คุณนพดลกล่าวต่อไปว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายองค์กรมองเรื่องการนำนวัตกรรมมาใช้ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้า Gen ใหม่ ๆ ที่ต้องการพัฒนาหลังบ้านของธุรกิจให้แข็งแกร่ง โดยใช้ระบบ ERP ที่สามารถให้ข้อมูล end to end ได้ และให้ได้แบบ Real Time เพื่อการตัดสินใจที่แม่นยำและรวดเร็ว

โดยระบบ S/4 HANA นั้น เป็นการผสานระหว่างกระบวนการแบบครบวงจรของธุรกิจ กับ Industry Solution ผนวกกับการ ใช้ AI และ Machine Learning มาลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน เพื่อลดข้อมูลบางอย่างที่ไม่จำเป็น และนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์

นอกจากนั้น ระบบ S/4 HANA ยังสามารถจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลใน Data Warehouse ทำให้ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจที่มีข้อมูลมาจากหลาย ๆ แหล่ง และยังมีเครื่องมือสำหรับสร้างแอปพลิเคชันด้วย

กรณีศึกษาจากธุรกิจที่เปลี่ยนมาใช้ระบบ ERP ในยุคดิจิทัล 

สำหรับ Session สุดท้ายของงาน เป็นการยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากธุรกิจที่เปลี่ยนมาใช้ระบบ ERP ที่ตอบโจทย์กับการแข่งขันในยุคดิจิทัล เบื้องหลังสำคัญของเชนร้านอาหารยักษ์ใหญ่ ที่ทำธุรกิจมายาวนานกว่า 35 ปี และมีสาขากว่า 100 แห่ง ทั่วประเทศ

โดยผู้เชี่ยวชาญในระบบ ERP และตัวแทนจากภาคธุรกิจมาร่วมสนทนากัน ได้แก่ 

  • คุณปริญญ์ นงค์นวล Country Head บริษัท Hitachi Vantara (Thailand) Ltd.
  • คุณศรมณ สมคะเน Senior Manager, Digital Solution Practice บริษัท Hitachi Vantara (Thailand) Ltd.
  • คุณนพดล เจริญทอง Head of Mid-Market for Thailand and Emerging, SAP Indochina บริษัท SAP Thailand Ltd.
  • คุณเรืองชาย สุพรรณพงศ์ Chief Operating Officer บริษัท Food Passion และ Assistant Managing Director บริษัท The Barbecue Plaza Co., Ltd.

ดิสรัปชันจากเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ธุรกิจต้องรับมือยังไง ?

สำหรับคำถามนี้ คุณเรืองชายกล่าวว่าธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับ Future Consumer Behavior หรือพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคต โดยยกตัวอย่างจากการวางแผนและเตรียมพร้อมของ Food Passion

“การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ  มันเกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และการลงทุนในเทคโนโลยีถูกลงมาก ทำให้คนเข้าถึงเทคโนโลยีได้เยอะ และเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญมากกับ Future Consumer Behavior”  

“เราพูดถึงการดิสรัปชันของดิจิทัลมาตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว และวางแผนเรื่องนี้ตั้งแต่ยุคนั้น  เรามองว่าในปี 2030 เทรนด์ผู้บริโภคในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะการกิน ไลฟ์สไตล์ การดูแลสุขภาพ การเดินทาง การทำงาน เอ็นเตอร์เทนเมนท์ และการใช้เทคโนโลยี จะเปลี่ยนไปยังไงบ้าง”

โดยคุณเรืองชายอธิบายต่อไปว่า Food Passion เอาเทรนด์ผู้บริโภคเป็นโจทย์ตั้งต้น จากนั้นจึงเริ่มกลับมาออกแบบกลยุทธ์ต่อไป นอกจากนั้นยังเสริมว่าหากธุรกิจจะก้าวทันการเปลี่ยนแปลง ต้องเข้าใจ Mega Trend และต้องเข้าใจว่าเมื่อผู้บริโภครับเทรนด์นั้นมาแล้ว จะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง 

ระบบ ERP แบบเก่า เหมือนกระดูกสันหลังคุณปู่

คุณเรืองชายกล่าวว่า เดิมที Food Passion เองก็มีการใช้ระบบ ERP มาอยู่แล้ว แต่เมื่อต้องเข้าสู่สนามแข่งขันในยุคดิจิทัลที่มีข้อมูลมหาศาล ทำให้ระบบเก่าไม่สามารถรองรับได้ ต้องหาโซลูชันใหม่ ๆ เข้ามาช่วย 

“แน่นอนบริษัทที่อยู่มา 35 ปี กระดูกสันหลังมันไม่รองรับหรอก มันเหมือนร่างกาย เหมือนเราจะพาคุณปู่อายุ 50 ปี ไปแข่งโอลิมปิก สุดท้ายจะเจ็บกลับมา เดิมเราก็ใช้ ERP มานานแล้ว แต่การเข้าไปแข่งในสนามดิจิทัล Information หรือ Transaction ที่วิ่งเข้ามา มันไม่สามารถรองรับ Transaction เป็นพัน หมื่น แสนต่อวันได้”  

ทำไมระบบ ERP ถึงสำคัญกับธุรกิจในยุคดิจิทัล ? 

คุณปริญญ์กล่าวว่า วิวัฒนาการของระบบ ERP ในอดีตเป็นเพียงระบบการทำบัญชี ที่สามารถเก็บข้อมูลการขาย การจัดซื้อ และทำเป็นรายงานออกมา แต่ในปัจจุบัน ด้วยความต้องการและพฤติกรรมผู้บริโภคที่หลากหลาย รวมถึงการดิสรัปของเทคโนโลยี ทำให้ระบบ ERP แบบเก่าไม่ตอบโจทย์ และไม่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ธุรกิจ 

ซึ่งคุณปริญญ์มองว่า อย่างน้อยระบบ ERP ที่จะแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล จำเป็นต้องมีความสามารถในการประมวลผลข้อมูล 

“ตัวระบบ ERP ต้องรองรับการประมวลผลข้อมูล และวิเคราะห์ ทำนายสิ่งที่จะเกิดได้ แน่นอนว่าทุกธุรกิจมีข้อมูล แต่จะต้องมีระบบ ERP ที่สามารถเอาข้อมูลนั้นไปวิเคราะห์และต่อยอดได้ด้วย เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูลเหล่านั้น” 

ระบบ ERP เหมาะกับธุรกิจใดบ้าง  

คุณปริญญ์กล่าวว่า ในยุคนี้ ERP เหมาะกับทุกองค์กร เพราะทุกองค์กรควรจะรู้ว่าการทำงานของเรามีจุดประสบความสำเร็จอยู่ตรงไหนตรงไหน และมีจุดไหนเป็นจุดอ่อน นอกจากนั้น การใช้ระบบ ERP จะทำให้ธุรกิจทำงานอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล 

อย่างไรก็ตาม คุณปริญญ์ย้ำว่าองค์ไม่สามารถใช้ระบบ ERP ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ตราบใดที่ยังไม่มีการทบทวนกระบวนการทำงานใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามหัวใจสำคัญ อย่างที่คุณปริญญ์ได้กล่าวตอนต้น  

ระบบ ERP ในปัจจุบันจะมี Best Practice ของกระบวนการทำงานในหลาย ๆ อุตสาหกรรมให้องค์กรนำมาปรับใช้ได้ด้วย ทำให้นำ ERP มาใช้ในองค์กรได้ในระยะเวลาอันสั้น  

คุณสรมนกล่าวเสริมว่า ทุกธุรกิจ ณ ปัจจุบันต้องรีบเปลี่ยนแปลงให้ทันผู้บริโภค และการพัฒนา--ของเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นควรเริ่มใช้ระบบ ERP ได้ทันที ซึ่งระบบ ERP ของ SAP ได้ทำมาหลายรูปแบบ ทั้งองค์กรขนาดเล็ก ไปจนถึงองค์กรระดับใหญ่ 

ในส่วนของคุณนพดลกล่าวว่า เดิมทีเรามีความเข้าใจว่าเข้าใจว่าระบบ ERP จะใช้ได้กับองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ลูกค้ามากกว่า 80 %  ของ SAP คือกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME)  ไปจนถึงมหาวิทยาลัย ภาครัฐ ภาคธุรกิจและโรงแรม เพราะระบบ ERP เป็นระบบที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ดังนั้นมันสามารถปรับเปลี่ยนเข้ากับทุกรูปแบบธุรกิจ

เตรียมตัวยังไง เมื่อต้องใช้ระบบ ERP 

คุณเรืองชายกล่าวว่า การมีส่วนร่วมจากผู้บริหารระดับสูงในองค์กร เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้  การใช้ระบบ ERP เกิดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในระดับเจ้าของธุรกิจ นอกจากนั้น Business Owner ในแต่ละส่วนงานก็จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบกระบวนการใช้งานระบบ ERP ไปพร้อม ๆ กัน 

และสุดท้าย เนื่องจากระบบ ERP จะเกี่ยวข้องกับคนในองค์กรหลายภาคส่วน นอกจากนั้นยังต้องติดต่อกับ Supplier ด้วย เพราะฉะนั้น Project Management สำคัญมาก ที่จะต้องทำงานร่วมกับทุก Stakeholder

ในส่วนของคุณนพดล ได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานร่วมกับผู้บริหารขององค์กร ซึ่งตนย้ำเสมอว่า ผู้บริหารจำเป็นต้องทำให้แผนการใช้งานระบบ ERP นี้ เป็น Coporate Project ที่คนทั้งองค์กรจำเป็นต้องมีส่วนร่วม ซึ่งร่วมถึงการที่เจ้าของธุรกิจและผู้บริหารระดับสูง ต้องลงมามีส่วนร่วมด้วย ที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของพนักงาน เพราะเมื่อผู้บริหารให้พนักงานมีส่วนร่วม พนักงานจะรู้สึกได้ถึงความสำคัญที่ผู้บริหารมีต่อแผนงานนี้ และให้โอกาส มอบอำนาจหน้าที่ให้พวกเขาได้มีส่วนร่วม ได้เรียนรู้ 

อีกอย่างที่สำคัญคือ partner ที่เราเลือกมาช่วยเรา ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจที่เราทำ ใน process ของธุรกิจเรา 

คุณสรมนกล่าวเสริมว่า การจะใช้ระบบ ERP ให้สำเร็จเหมือนการสร้างบ้าน ที่ทุกภาคส่วนในองค์กรจะต้องมีส่วนร่วม 

“บ้านหลังนี้ทั้งผู้บริหารและพนักงานทุกคนอยู่ในหลังเดียวกัน เพราะฉะนั้นในการสร้างบ้าน การวางรากฐานแบบแปลนสำคัญที่สุด ถ้าเราตกลงกันให้ดีว่า เราอยากมีห้องกี่ห้อง วางของตรงไหน เราก็จะอยู่บ้านอย่างมีความสุข ทุกคนที่อยู่ในบ้านต้องมาร่วมดีไซน์ด้วยกัน จะทำให้การใช้งาน ERP ราบรื่น” 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...