ปี 2024 เป็นอีกปีที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยก็ยืนอยู่ ณ จุดตัดสำคัญระหว่างความท้าทายที่สืบเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ในอดีต และโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากพลวัตของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป การทำความเข้าใจพลวัตเหล่านี้อย่างถ่องแท้จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการวางยุทธศาสตร์และกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ในงาน Thailand Economic Monitor February 2025 Unleashing Growth: Innovation, SMEs and Startups โดย World Bank นี้ ดร. เกียรติพงษ์ อริยปรัชญานักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ณ ธนาคารโลก ได้อภิปรายในหัวข้อ Thailand’s Economic Outlook: Navigationg Global Uncertainty วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้อย่างละเอียด โดยชี้ให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัว ความท้าทายที่ต้องเผชิญ และแนวทางสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน
แม้เศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาเติบโตที่ระดับ 2.6% แต่ยังถือว่าเชื่องช้าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ซึ่งมีการเติบโตสูงถึง 10-16% ปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยคือการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 12% ของ GDP ประเทศไทย การที่จำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่กลับสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้และการจ้างงานในภาคบริการ ขณะเดียวกันปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงกว่า 90% ของ GDP ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง การบริโภคภายในประเทศจึงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง และการเข้าถึงสินเชื่อทำได้ยากขึ้น ธนาคารพาณิชย์มีมาตรการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดหนี้เสีย
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มเชิงบวกจากการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2023 ที่ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจกลับมา นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเริ่มให้ความสนใจในโครงการลงทุนใหม่ ๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง
นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น โครงการ Digital Wallet ที่คาดว่าจะช่วยเพิ่มการใช้จ่ายภายในประเทศ และกระตุ้นการหมุนเวียนของเงินทุนในระบบเศรษฐกิจ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ
เศรษฐกิจโลกยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ของโลก ทำให้การค้าระหว่างประเทศชะลอตัวลง นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังส่งผลต่อราคาพลังงานและต้นทุนการผลิต
นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงส่งผลให้ธนาคารกลางของหลายประเทศดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ซึ่งกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ขณะที่ปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและสินค้าขาดแคลน กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคการค้าโดยตรง
ภาคอุตสาหกรรมของไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น และความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อของผู้บริโภคที่ลดลง ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศชะลอตัว อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นจากความต้องการเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอุปกรณ์ IoT
สำหรับผู้ประกอบการ SME ไทย จำเป็นต้องปรับตัวและเข้าไปมีบทบาทในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทย
แม้ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักลงทุนต่างชาติ (FDI) แต่ก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย ที่มีมาตรการจูงใจนักลงทุนที่ดึงดูดมากขึ้น เพื่อรักษาความสามารถในการดึงดูด FDI ไทยต้องปรับปรุงกฎระเบียบและขั้นตอนการลงทุนให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ และเพิ่มทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
เศรษฐกิจไทยมี "ต้นทุนเก่า" ที่ต้องแก้ไข เช่น หนี้ครัวเรือน แต่ก็มี "บุญเก่า" คือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ บัญชีเดินสะพัดของไทยคาดว่าจะกลับมาเป็นบวกจากการส่งออกและท่องเที่ยว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำจากมาตรการควบคุมราคาสินค้าของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นเศรษฐกิจต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจนเกินไป
เศรษฐกิจไทยปี 2024 กำลังเผชิญกับความท้าทายและความไม่แน่นอน แต่หากรัฐบาลและภาคเอกชนร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด พร้อมดำเนินนโยบายที่เหมาะสม ประเทศไทยก็ยังมีโอกาสในการก้าวข้ามอุปสรรคและสร้างอนาคตที่สดใสสำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ควบคู่ไปกับการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและการบริหารนโยบายการเงินและการคลังอย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความยั่งยืนและความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจไทย
* เนื้อหาอ้างอิงจาก Session Thailand’s Economic Outlook: Navigationg Global Uncertainty ในงาน Thailand Economic Monitor February 2025 Unleashing Growth: Innovation, SMEs and Startups โดย World Bank
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด