ESG คือหน้าที่ของทุกคน 3 มุมมองจาก ผู้ประกอบการ นักลงทุน และนักรณรงค์ | Techsauce

ESG คือหน้าที่ของทุกคน 3 มุมมองจาก ผู้ประกอบการ นักลงทุน และนักรณรงค์

Session สุดท้ายจากงาน Techsauce Global Summit 2023 ที่บรรยายโดยคุณ Dora Damjanovic, คุณเข็มอัปสร สิริสุขะ และคุณณิชาภัทร อาร์ค ในหัวข้อ Social Impact and Innovative Changes อีกหนึ่งหัวข้อสำคัญของซึ่งมุ่งเน้นในการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่โลก

ผู้บรรยายทั้ง 3 ท่านได้มาแบ่งปันประสบการณ์และข้อมูลเชิงลึกที่สามารถทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นได้ ทั้งในแง่ผู้ประกอบการ นักลงทุน และนักรณรงค์ โดยประเด็นที่ถูกพูดถึงใน Session นี้จะเจาะไปในมุมของ “พลังของสิ่งเล็ก ๆ ที่สามารถสร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่แก่โลกใบนี้ได้” 

กุญแจสำคัญที่จะก้าวไปสู่ความรับผิดชอบและยั่งยืน

ในปัจจุบันมีปัญหามากมายที่มนุษยชาติต้องเผชิญ ทั้งโรคระบาด, วิกฤตทางการเงิน, ปัญหาสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้จากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องอาศัยสามัคคีและความร่วมมือของทุกคน

คุณ Dora Damjanovic เผยว่า แม้ว่าเวียนนาจะเป็นที่ทำงานขององค์การสหประชาชาติ แต่เมื่อได้พูดคุยกับผู้คนที่นั่นถึงแนวคิดเกี่ยวกับความยั่งยืน ESG สิ่งเหล่านี้กลับเป็นเรื่องที่น้อยคนจะรู้ และหลายคนคิดว่ามันเป็นเรื่องที่มีไว้สำหรับภาครัฐ และภาคธุรกิจใหญ่ ๆ เท่านั้น 

ดังนั้น กุญแจสำคัญที่จะนำมนุษยชาติก้าวไปสู่ความรับผิดชอบและยั่งยืน คือ การทำให้ทุกคนรู้และเข้าใจว่าแนวคิดเกี่ยวกับความยั่งยืน ESG, SDGs รวมถึงแนวทางอื่น ๆ อีกมากมายเป็นหน้าที่ที่ ‘ทุกคน’ ในโลกต้องใส่ใจ ไม่ใช่เพียงแค่ภาครัฐและภาคธุรกิจใหญ่ ๆ

นอกจากมุมมองของนักรณรงค์แล้ว คุณเชอร์รี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ ก็ได้แบ่งปันในมุมมองของนักธุรกิจและผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการเพื่อสังคม โดยมุ่งเน้นไปที่ ธุรกิจควรให้ความสำคัญในเรื่องของ ESG และความยั่งยืน เพราะหากพูดถึงประเด็นเหล่านี้ในแง่ของผู้ประกอบการ ความยั่งยืนไม่ได้ครอบคลุมแค่เรื่องสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาสังคมเท่านั้น แต่ยังกว้างไปถึงเรื่องวิกฤตโลกที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตหลายส่วน เช่น สภาพความเป็นอยู่ การดูแลสุขภาพ และเศรษฐกิจ 

คุณเชอร์รี่ได้แบ่งปันแนวทางที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมของตัวเอง 3 ข้อหลัก ๆ ดังนี้

  1. นำแนวคิด ESG มาตั้งเป็น 1 แกนในการดำเนินธุรกิจ: จะทำให้เรามีหลักในการดำเนินธุรกิจไปพร้อม ๆ กับการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม
  2. ในทุก ๆ การผลิตบรรจุภัณฑ์จะต้องช่วยลดของเสียและมลพิษ: ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมเท่าที่เราสามารถจ่ายได้ นอกจากจะเป็นการช่วยลดขยะในทางหนึ่ง ยังช่วยสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ลูกค้าและคนที่ติดตามแบรนด์บนโซเชียลมีเดียได้อีกทางด้วย
  3. เงินทุนหมุนเวียน: กำไรที่ได้มาส่วนหนึ่งจะหมุนเวียนกลับมาสนับสนุนเกษตรกรชาวไทยที่ใช้เกษตรกรรมแบบปฏิรูปปลูกข้าว เพราะนอกจากเกษตรกรเหล่านี้จะปลูกข้าวอินทรีย์ที่ปราศจากสารเคมีแล้ว ยังดูแลป่าไม้รอบ ๆ ทุ่งนาด้วย จึงเป็นสาเหตุที่พวกเขาควรได้รับเงินสนับสนุนเพื่อที่จะได้ทำเกษตรแบบนี้ต่อไปได้

ในฐานะนักลงทุน คุณณิชาภัทร อาร์ค ก็มองว่านักลงทุนก็ต้องให้ความสำคัญต่อ ESG อย่างจริงจังเช่นเดียวกัน เพราะความยั่งยืนนั้นครอบคลุมทุกส่วนของชีวิต ซึ่งในแง่ของนักลงทุน ESG เป็นเหมือนสิ่งที่ช่วยยกระดับคุณภาพของ 3 Bottom Line ได้แก่ ชีวิตผู้คน โลก และสิ่งสำคัญที่นักลงทุนมองหาอย่างผลกำไร

เพราะในการดำเนินธุรกิจที่ดีและยั่งยืน ไม่สามารถทำเพื่อผู้คนและโลกเท่านั้น แต่ธุรกิจก็จำเป็นต้องสามารถทำกำไรเพื่อให้มันดำเนินต่อไปได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นในแนวทางการลงทุนของนักลงทุนที่สนับสนุนความยั่งยืนจึงต้องสนับสนุน Startup และบริษัทเทคโนโลยีที่ยอมรับหลักการ ESG 

ความเท่าเทียมในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี

เห็นได้ว่าในโลกของการลงทุนด้านเทคโนโลยีและธุรกิจ ผู้นำและผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มักเป็นผู้ชาย ซึ่งคุณณิชาภัทร ได้อธิบายถึง 3 วิธีที่จะสร้างความเท่าเทียมทางเพศในวงการเทคโนโลยีและการลงทุน ข้อแรก ควรมีกองทุนที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการสตรีอย่างจริงจัง เช่น Michael Blakey จาก Cocoon Ventures ที่ดำเนินการเพื่อให้คำปรึกษาแก่ Founder เพศหญิงมา 3 - 4 ปี 

ข้อสอง กองทุนอาจต้องมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนบริษัทที่มีผู้ร่วมก่อตั้งที่เป็นผู้หญิงอย่างน้อย 1 คน หรือร่วมลงทุนในธุรกิจที่มีผู้หญิงอยู่ในทีม คล้ายเป็นข้อกำหนดทางอ้อมที่จะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้น และข้อสุดท้าย Openspace ก็ได้มีส่วนในการผลักดันโครงการนี้ ด้วยการดึงดูดผู้หญิงที่เป็นมืออาชีพเข้ามามีบทบาทด้านการลงทุนมากขึ้น โดยมีการจัด session เพื่อให้คำปรึกษาแก่นักลงทุนหญิงทุกปี เพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโลกแห่งเทคโนโลยีมากขึ้น

คุณเชอร์รี่ได้เสริมว่า ปัญหาความเท่าเทียมทางเพศ แพร่กระจายไปทุก ๆ วงการ ซึ่งสิ่งที่จะช่วยให้ปัญหานี้หมดไปและเกิดความยั่งยืนในภาคสังคม คือการที่มุ่งเน้นไปที่ความสามารถและทักษะของบุคคล ไม่ใช่เพศ ทุกคนควรปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม

วาระปี 2030 เมื่อสังคมและเทคโนโลยีผสานกัน

193 ประเทศ ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน  (SDGs) ปี 2030 โดยมีทั้งหมด 17 เป้าหมายที่จะนำโลกไปสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง ดังนั้นวาระใหม่ได้กำลังเริ่มขึ้น แนวคิดทางธุรกิจและการดำเนินชีวิตก็ควรต้องปรับเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน  การเริ่มต้นด้วยการตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้ธุรกิจเติบโตไปพร้อมกับความยั่งยืนได้อย่างไร ถือเป็นเรื่องใหญ่และน่าตื่นเต้นมาก 

การใช้นวัตกรรมที่ผสานสังคมและเทคโนโลยีเข้าหากันเพื่อสร้างโลกใบใหม่ให้ดีขึ้น คงเป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนอยากเห็น เพราะที่ผ่านมาเราได้เห็นเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่การสร้างบ้าน ทำฟาร์ม ไปจนถึงวิธีคิด ในเรื่องของความยั่งยืนไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ประกอบการ นักรณรงค์ นักลงทุน หรือแม้แต่คนธรรมดาตัวเล็ก ๆ ก็สามารถเริ่มต้นได้ เพราะทุกคนสามารถกลายเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ในโลกปัจจุบัน เพราะเป้าหมายหลักไม่ใช่แค่การประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ แต่เป็นการปลูกฝังวิธีคิดว่าความยั่งยืนเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของทุกคนบนโลก

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

AI จะเป็น ‘ผู้กอบกู้’ หรือ ‘ผู้ทำลาย’ การ์ตูนญี่ปุ่น

เมื่อประตูสู่วัฒนธรรมและเสาหลักทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นอย่าง อนิเมะและมังงะกำลังถูก AI แทรกแซง อนาคตของวงการนี้จะเป็นยังไง ?...

Responsive image

เจาะลึกเทรนด์ Spatial Computing จุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับองค์กรยุคใหม่

Spatial Computing คือเทคโนโลยีที่ผสานโลกเสมือนจริงและโลกจริงเข้าด้วยกัน ซึ่งมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานขององค์กรในยุคดิจิทัล ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการฝึกอบรมและ...

Responsive image

ถอดกลยุทธ์ ‘ttb spark academy’ ปั้น Intern เพิ่มคนสายเทคและดาต้า Co-create การศึกษาคู่การทำงานจริง

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เห็น Pain Point ว่าประเทศไทยขาดกำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Workforce) และธนาคารก็ต้องการคนเก่ง Tech & Data จึงจัดตั้ง ‘ttb spark academy’ เพื่อปั้น ...