ปรับการทำงานด้วย CRM ดีจริงไหม? แล้วเริ่มอย่างไร | Techsauce

ปรับการทำงานด้วย CRM ดีจริงไหม? แล้วเริ่มอย่างไร

ในบทความก่อนหน้าเราได้สรุปประเด็นสำคัญเรื่องการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าพร้อมกับเสริมศักยภาพธุรกิจด้วยเครื่องมือ CRM ไปแล้ว สำหรับบทความนี้จะเป็นการสรุปเนื้อหาจาก Virtual Talk อีกหนึ่ง Session ที่ ETDA อยากนำเสนอ ในหัวข้อ “To Implement CRM: Discussion on How It Profits and Where to Start ปรับการทำงานด้วย CRM ดีจริงไหม? แล้วเริ่มอย่างไร”

โดย

  • คุณสาโรจน์ อธิวิทวัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิสซิเบิล (Wisible)

  • คุณรวิศ หาญอุตสาหะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ

  • นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Health at home

  • คุณชัยยุทธ กิติชัยวัฒน์ ผู้ดำเนินรายสำหรับ Session นี้

ETDA

ที่มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากหลากหลายมุมมอง ทั้งมุมมองของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการเครื่องมือ Customer Relationship Management (CRM) ภายในงาน Virtual Series EP.3  “CRM for SMEs: Boost Your Customers’ Experience, Boost Your Business” ในโครงการ  e-Solution Opportunity Enabler for SMEs จัดขึ้นโดย ETDA ร่วมกับ Techsauce

ความสำคัญของ CRM ต่อ SMEs

ผู้ร่วมสนทนาเห็นตรงกันว่า CRM สำคัญมาก และเป็นกระบวนการสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับการทำธุรกิจ ซึ่งคุณสาโรจน์ได้เริ่มด้วยการยกตัวอย่างว่าการทำ CRM สำหรับธุรกิจ B2B แตกต่างจาก B2C  ซึ่งจะเป็นประเภทบัตรสมาชิก คูปอง หรือการสะสมแต้มเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า แต่สำหรับ B2B ส่วนใหญ่จะใช้ในเรื่องของการบริหารงานขาย หรือเรียกว่า Sales CRM ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้คาดการณ์ยอดขายล่วงหน้าได้ 

ทั้งนี้ในประเด็นที่ธุรกิจขนาดเล็กอาจกังวลในเรื่องของเงินทุนสำหรับการทำ CRM คุณสาโรจน์ให้ความเห็นว่า SMEs ที่ขนาดไม่ใหญ่มาก และยังไม่ได้มีเงินทุนมาก การใช้เครื่องมือที่ต้องมีค่าใช้จ่ายจึงยังไม่จำเป็น โดยอาจใช้ Excel หรือ Google Sheets แทนไปก่อนในช่วงแรก แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่จะต้องรู้ Metrics ให้ได้ เช่น ระยะเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในการปิดการขาย (Average Sales Cycle) ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องวัดให้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่เสียเงิน

ตอบโจทย์ให้ได้ว่าใช้ CRM ไปเพื่ออะไร

คุณรวิศมองว่า เราต้องทำ CRM อยู่แล้วในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่อาจจะยังไม่รู้ตัวเท่านั้นว่าได้ทำ CRM ไปแล้ว ซึ่งการทำ CRM อย่างเป็นระบบจะช่วยในเชิงของการบริหารจัดการข้อมูล และการเลือกใช้เครื่องมือใดก็ตาม จะต้องตอบให้ได้ว่าจะเอามาใช้ทำอะไร และเมื่อตอบคำถามนี้ได้ก็จะทำให้ได้เครื่องมือ CRM ที่ไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง แต่มีประสิทธิภาพ

คุณรวิศยังให้ข้อมูลอีกว่างานของ Digital Tools มีอยู่ 2 อย่างเท่านั้น อย่างแรกคือ Delight our customer คือทำให้ลูกค้ารู้สึกพึงพอใจที่ซื้อของกับเรา และ Enable our workforce เครื่องมือที่ใช้จะช่วยให้คนของเราทำงานได้ดีขึ้นหรือไม่ จึงต้องเลือกเครื่องมือให้เหมาะสมกับรูปแบบการทำงาน โดยขั้นตอนในการเลือกเครื่องมือ คุณรวิศแนะนำว่าอย่าเพิ่งกังวลเรื่องของราคา แต่จะต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่าจะซื้อเครื่องมือนั้นมาทำไม 

“เวลาที่เรามักไม่ค่อยใช้กัน แต่สำคัญมากคือ เวลามานั่งตกผลึกกันว่า สรุปแล้วโจทย์ของเราคืออะไรกันแน่ บางทีการลองใช้ๆ ไปก่อนเดี๋ยวคงจะนึกออกเอง อาจจะไม่ค่อยเป็นวิธีที่ดีนัก เพราะว่าเราควรจะมีโจทย์ที่ชัด ส่วนการ Explore มันควรจะ Explore ตรงกระบวนการ ไม่ควรจะ Explore โจทย์ ไม่งั้นจะทดสอบอะไรไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น โจทย์ชัดก็จะไปต่อได้ง่ายขึ้น”

เลือกใช้ Digital Solution ที่เหมาะสมกับงาน

นพ.คณพล ได้แนะนำเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ เช่น ระบบโทรศัพท์เพื่อใช้ติดต่อกับลูกค้าซึ่งจะใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า Knowlarity โดยเป็นระบบจัดการการสื่อสารในช่วงมีลูกค้าโทรเข้ามาพร้อมกัน ซึ่งปรับปรุงจากปัญหาในช่วงแรกที่ใช้มือถือเบอร์รวมเครื่องเดียวจึงไม่สามารถรองรับลูกค้าจำนวนมากที่โทรเข้ามาพร้อมกันได้ และสำหรับเครื่องมือที่ไม่สามารถหาได้ก็ต้องพัฒนาเองเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งาน

นอกจากนี้ นพ.คณพล ยังได้แชร์เครื่องมือที่ช่วยในเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าและการทำงานให้เป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น 

“จริงๆ ส่วนตัวใช้ Slack รู้สึกว่าเป็น Collaboration Tool ที่ดี มันแบ่งเป็น Group ได้ และก็มีความส่วนตัว ตั้งเวลา ตั้งการแจ้งเตือน และก็จะใส่พวก Bot เข้าไปได้ Trello ก็ดี แต่ว่าช่วงหลังประทับใจ Notion กับ Airtable ที่ครีเอทได้เยอะ แต่ยังไม่ได้ Implement กับทีม เป็นของเล่นใหม่ขอเวลาศึกษาว่าควรจะ Implement ประมาณไหน”

ทางฝั่งของคุณรวิศได้แบ่งปันมุมมองการเลือกใช้เครื่องมือว่า ความเร็วเป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องมีเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในด้านนี้ โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็น End User จะต้องมีวิธีการติดตามที่ทำได้เร็ว เพราะฉะนั้นจึงต้องมีเครื่องมือที่มาตอบคำถามของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีในส่วนที่เป็น Social Commerce ซึ่ง Customer Service ก็ต้องตอบลูกค้าได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว และยังมีการเข้าไปพูดคุยกับลูกค้า เพื่อรักษาความสัมพันธ์ในเชิงของบุคคล 

เมื่อไหร่ที่ควรนำเครื่องมือ CRM เข้ามาช่วย

ในส่วนของคุณรวิศก็มีการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างเช่นการส่งเซตของขวัญ และสิ่งสำคัญคือการแชร์ข้อมูลซึ่งก็เป็นความสัมพันธ์อีกรูปแบบหนึ่ง “ยิ่งช่วงโควิดเจอ Supply Chain Disruption ยิ่งต้องแชร์ข้อมูลกัน แล้วต้องทำงานกันใกล้ชิด ก็เป็นระบบ CRM ลักษณะหนึ่งเหมือนกัน” 

ทางฝั่งคุณสาโรจน์มองว่าการทำ CRM คือจะต้องรู้ใจลูกค้าเพื่อสร้างความประทับใจ และควรจะมีเครื่องมือเข้ามาช่วยตรงจุดนี้ 

“แก่นของ CRM ไม่ได้ซับซ้อน เวลาเล่าในเชิง B2C สมมุติว่าเราไปกินร้านก๋วยเตี๋ยวแถวบ้านเดินเข้าไปไม่ต้องสั่ง เขารู้หมดว่าสั่งอะไร แก่นของมันมีแค่นี้ ถ้าเกิดเรามีลูกค้า 50 คน เรายังจำได้ แต่ถ้าเกิดมีสักพันคนสองพันคน มันต้องมี Technology มีเครื่องมือมาช่วย”

นอกจากนี้ในมุมมองของ นพ.คณพล มองว่าธุรกิจควรมี Digital Tools เข้ามาช่วยในเรื่องของความรวดเร็วโดยได้ยกตัวอย่างธุรกิจที่ทำอยู่ซึ่งต้องมีการติดต่อกันและความรวดเร็วในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยสร้างความประทับใจ อีกทั้งความแม่นยำของข้อมูลก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ละเลยไม่ได้ โดย นพ.คณพล ยกตัวอย่างว่าหากข้อมูลไม่เชื่อมกันแล้วต้องถามข้อมูลซ้ำๆ จะเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อแบรนด์

“ความแม่นและความเร็วสำคัญมาก ยิ่งตอนนี้มันเป็น Work from Home มันไม่ได้นั่งโต๊ะตรงข้ามแล้วถามได้ มันไม่ได้มีอะไรที่จะเป็น Source of Truth ที่จะอยู่ตรงกลาง การที่มี Digital Tools เลยจำเป็นมาก”

ทางด้านคุณรวิศมองว่าอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าคือการลงพื้นที่จริงเพื่อให้เห็นพฤติกรรมของลูกค้า ซึ่งเมื่อมีการสังเกตหรือได้พูดคุยกับลูกค้าจะทำให้เจอกับความต้องการของลูกค้าและสามารถหาวิธีแก้ปัญหาที่ลูกค้าต้องเจอและสร้างความประทับใจได้

ตัวอย่างการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า

นพ.คณพลได้แชร์ถึงหลังบ้านของแอปพลิเคชันเฮลท์ แอท โฮม ถึงวิธีการดูลูกค้าที่เข้ามาเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า โดยจะมีการเก็บข้อมูลอย่างหลากหลาย เช่น ตำแหน่งที่อยู่ ลักษณะส่วนตัว เนื่องจากมีผลต่อการที่จะหาผู้ดูแลที่เหมาะสม ซึ่งทุกข้อมูลล้วนมีความสำคัญ และหัวใจหลักคือการใส่ใจรายละเอียดของลูกค้า

“เวลาที่เราคุยหรือเวลาที่เราจัดการสื่อสาร บางทีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ เช่นอะไรที่คนไข้ชอบ คนไข้ไม่ชอบ ข้อมูลพวกนี้ก็ต้องถูกส่งต่อให้ทีมทั้งหมดในทุก Stakeholders ให้เชื่อมกัน เพราะถ้าดรอปไปก็ทำให้ประสบการณ์ไม่ดี สุดท้ายมันก็ไปจบว่าลูกค้าไม่ประทับใจในประสบการณ์นั้น ” 

ความต่างของการทำ CRM ระหว่างธุรกิจ B2B และ B2C

เมื่อมีคำถามถึงความแตกต่างของการทำ CRM ในโมเดลธุรกิจที่ต่างกัน ในฐานะผู้ให้บริการ Service Provider อย่างคุณสาโรจน์มองว่าการทำ CRM ของ B2B และ B2C นั้น มีทั้งส่วนที่เหมือนและต่างกัน เนื่องจากรูปแบบการขายและมูลค่าสินค้าหรือบริการมีความต่างกัน

“B2B ส่วนใหญ่ขายของมูลค่าสูง สินค้ามีความซับซ้อน มี Sales Cycle ยาว ด้วยความที่สินค้ามีความซับซ้อนมันก็เลยต้องมีเซลไปขาย เซลก็เลยมีความสำคัญมาก เรียกว่ารายได้เกินครึ่งมาจากช่องทาง Direct Sales รายได้เกินครึ่งเช่นกันมาจากลูกค้าเก่าที่ซื้อซ้ำ นี่คือคาแรคเตอร์ของ B2B ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าเป็นเมืองไทยยังใช้ Spreadsheet อยู่"

“แต่ B2C จะไม่ใช่ Direct Sales เพราะว่าสินค้าราคาไม่ได้สูงมาก เป็น Sales Cycle เร็ว นึกถึงสินค้า FMCG (Fast Moving Consumer Goods) ทั้งหลายซึ่งเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค อย่างเช่นผลิตภัณฑ์ของ Unilever P&G ที่เราซื้อได้ในเซเว่น เราไม่ได้คิดมากเวลาซื้อของมูลค่าที่ไม่ได้สูงมากนัก ดังนั้น เครื่องไม้เครื่องมือก็จะต่างกันไป Channel ในการซื้อขายบางทีก็เป็น Self Service ได้ อย่างเช่นพวก e-Commerce แต่พฤติกรรมคนไทยถ้าซื้อครั้งแรกก็อาจจะขอทักก่อน แต่พอไว้ใจแล้วหรือว่าซื้อของเดิมซ้ำจากร้านเดิมจะมีความเชื่อใจเกิดขึ้น เขาไม่อยากคุยกับเซลแล้ว เขาอยากไป Channel ที่มัน Automatic มากขึ้นอย่างพวก e-Commerce ความต่างหลักๆ ก็ประมาณนี้”

ความท้าทายจากการนำ Digital Tool เข้ามาปรับใช้ในองค์กร

เมื่อมีการ Transform องค์กรโดยเฉพาะในเรื่องงานบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะเลือกและตัดสินใจนำ Digital Tool เข้ามาใช้ในการทำธุรกิจ ซึ่งในกระบวนการนี้อาจมีความกังวลในเรื่องความพร้อมของพนักงานในการปรับตัวใช้เครื่องมือที่ไม่คุ้นชิน 

คุณรวิศแนะนำว่าอย่างแรกต้องมาดูว่าจริงๆ บริษัทเราเก่งอะไร นโยบายของศรีจันทร์ตอนนี้คือ อะไรก็ตามที่เราไม่เก่ง ก็จะใช้ Outsource ให้หมด โดยได้ยกตัวอย่าง Digital Transformation ของศรีจันทร์ ซึ่งในตอนแรกทางทีมพยายามจะทำเอง แต่พอทำไปก็ได้เห็นว่าหากทำทุกอย่างเองหมดจะไม่ไหว

“ยกตัวอย่าง Dashboard เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เปลี่ยนทีนึงคนก็เหนื่อย ไม่ใช่ว่าเขาไม่ปรับตัว แต่ว่าปริมาณของมันเยอะเกินไป เพราะฉะนั้นเราต้องชัดเจนว่าเราจะเอาอะไร สรุป เราก็มองว่าความจริง เราต้องการโฟกัสไม่กี่เรื่อง โฟกัสเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มลูกค้าทั้งหลาย เราเป็น Marketing based firm เพราะฉะนั้นที่เหลือให้คนอื่นทำ เราจะเหลือจำนวนงานที่เราต้องศึกษาเองจริงๆ ไม่เยอะ เราอยู่ในยุคที่มีของน่าทำเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ความเป็นจริงคือเราไม่สามารถจะทำได้ทุกอย่าง”

อีกสิ่งหนึ่งที่คุณรวิศแนะนำคือให้พนักงานโฟกัสแค่ในส่วนที่ตัวเองถนัดและควรเริ่มทดลองจากกลุ่มเล็กๆ ก่อนแล้วดึงศักยภาพออกมาให้ได้ ในที่นี้ก็ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถทำได้

“Basic Requirement ในยุคนี้มันสูงมากจริงๆ เพราะฉะนั้นเรื่อง Training ต้องถึง เรื่องการทำงานไปเรียนรู้ไปด้วยต้องเปลี่ยน คือ ผู้บริหารต้องเปลี่ยน Mindset ว่าต่อไปนี้การที่เราสอนคนไปด้วยทำงานไปด้วยมันจะกลายเป็น Normal Operation เพราะไม่อย่างนั้นเราก็จะทำเหมือนเดิม”

การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้หลายองค์กรอาจจะต้องพบกับอุปสรรคในการเปลี่ยนผ่าน ทางฝั่งของ นพ.คณพลเองก็ได้แบ่งปันประสบการณ์ในส่วนนี้ว่า ถึงแม้องค์กรจะเป็น Gen Y แต่เวลาเปลี่ยนยังไงก็ต้องมีแรงเสียดทานอยู่แล้วเป็นเรื่องธรรมชาติ จะมากหรือน้อยแตกต่างกันไปในบริบทขององค์กร และได้แนะนำแนวทางในการปรับใช้เครื่องมือใหม่ ว่าควรจะต้องทราบเป้าหมายขององค์กรว่าจะใช้เครื่องมือเพื่อจุดประสงค์อะไร และต้องชั่งน้ำหนักราคาที่ต้องจ่ายว่าคุ้มกับสิ่งที่จะได้มาหรือไม่ และสุดท้ายต้องเข้าใจคนในองค์กรที่จะเป็นผู้ใช้เครื่องมือว่า มีความเข้าใจหรือความต้องการเครื่องมือที่จะนำเข้ามาหรือไม่

การใช้ CRM เข้ามาช่วยในการทำธุรกิจ

ในมุมของคุณสาโรจน์ในฐานะของผู้ให้บริการได้พูดถึงธุรกิจ B2B2C อย่าง สินค้าตระกูล FMCG (Fast-moving consumer goods) ที่มีการขายผ่านค้าส่ง ค้าปลีก ก่อนแล้วจึงไปทำการขายต่อให้ลูกค้า หรือที่เรียกว่า Multi-tier Distribution โดยคุณสาโรจน์มองว่าการทำ CRM ในธุรกิจแบบนี้จะยากกว่า เนื่องจากมีทั้งมุมที่เป็น B2B คือ ผู้ผลิตขายให้กับพ่อค้าคนกลาง หรือ ค้าส่ง ซึ่งค้าส่งก็จะมีค้าปลีก เป็นลูกค้าอีกที และค้าปลีกก็ขายให้กับลูกค้า การสร้างความสัมพันธ์จึงต้องครอบคลุมทุกกลุ่ม

“ทางแบรนด์อยากที่จะมี Direct Relationship ไม่ใช่แค่ระหว่างค้าส่งด้วยกันเอง แต่กับค้าปลีกด้วย กับ End Customer ด้วย ซึ่งมันก็จะมีกรรมวิธี มีกุศโลบายหลายๆอย่าง”

คุณสาโรจน์ก็ได้ยกตัวอย่างวิธีการของธุรกิจสี โดยจะมีคิวอาร์โค้ดหรือบาร์โค้ดอยู่นอกกล่อง เพื่อทำแคมเปญกับตัวแทนจำหน่ายทั้งผู้ค้าส่งและค้าปลีก อาจจะเป็นการแจกแต้มเพื่อรับส่วนลด หรือแจกแพ็คเกจท่องเที่ยว แต่ถ้าเป็นแคมเปญของ End Customer จะอยู่ภายในกล่องหรืออยู่ใต้ฝา  โดยจะต้องเปิดใช้งานเพื่อให้เห็นแคมเปญ ซึ่งทางบริษัทจะสามารถเก็บ Data จากการที่ผู้บริโภค หรือผู้ค้าส่งและค้าปลีกกรอกข้อมูลหรือร่วมสนุกในแคมเปญ ซึ่งจะทำให้แบรนด์เห็น Organization Structure ของผู้ซื้อ และสุดท้ายหากมีใครย้ายค่าย ทางแบรนด์ก็ยังสามารถดึงกลับมาได้จากความสัมพันธ์ที่มีอยู่

คำแนะนำถึง SMEs ที่สนใจทำ CRM

จากมุมของผู้ใช้บริการที่นำ CRM Digital Tools มายกระดับงานด้านการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า อย่าง คุณรวิศ แนะนำว่า หากจะทำ CRM ธุรกิจควรจะเข้าใจจริงๆ ก่อน ว่าเราอยากได้อะไร โดยขั้นตอนที่ง่ายที่สุดคือการลองเขียน อย่างเช่นรายละเอียดพฤติกรรมลูกค้า และวิเคราะห์ถึงสิ่งที่ตอนนี้ทำได้ดีอยู่แล้ว และมีอะไรที่ยังทำไม่ได้และอยากทำ ซึ่งเมื่อเขียนออกมาแล้วเราจะเห็นภาพว่าเราต้องการ Tools ที่จะเข้าไปกวาดทุกอย่างในโซเชียลมีเดีย และสามารถที่จะ Response กับลูกค้าได้เร็วที่สุดเป็นลำดับแรก โดยเรื่องอื่นอาจจะเป็นรองลงมา ซึ่งสิ่งสำคัญคือจะต้องดูก่อนว่าโจทย์เป็นอะไร

“คำว่าโจทย์เป็นอะไรเป็นเรื่องที่ยากมาก อาจจะต้องใช้เวลานานเป็นเดือนสองเดือนกว่าจะคิดโจทย์ออก พอคิดออกทั้งภาพแล้ว มันจะวางแผนได้ดี และอีกปัญหานึงที่สมัยก่อนชอบเจอ คือ คิดไม่ครอบคลุม เพื่อนบอกดี ซื้อเลย ใช้ไปสักพัก ผ่านไปปีสองปีมันไม่ใช่ เราอยากได้นั่นนี่เพิ่ม ถ้าคิดดีก่อนตั้งแต่ตอนแรก ซื้ออีกตัวนึงไป จบตั้งแต่ตอนนั้น เพราะฉะนั้นถ้าโจทย์มันไม่ชัด เราไม่มีวันเลือก tools ได้ถูก แล้วทุกครั้งที่เปลี่ยน มัน Painful มากๆ”

ทางฝั่ง นพ.คณพล ก็มีความเห็นเช่นเดียวกันว่า ไม่ควรโฟกัสที่เครื่องมือ แต่สิ่งสำคัญคือความเข้าใจเรื่องโจทย์ การจะเลือกเครื่องมือมาใช้ควรคิดให้รอบ ซึ่ง นพ.คณพลก็ได้เน้นย้ำว่า ธุรกิจจะต้องใช้ความระมัดระวังและใช้เวลาในการเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมกับองค์กร 

ผู้อ่านสามารถรับชมเนื้อหาฉบับเต็มได้ที่ : https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=397911208477595

และพลาดไม่ได้!!! ขอเชิญ Service Provider ระเบิดไอเดีย ร่วมเฟ้นหาสุดยอด e-Solution ปลดล็อคธุรกิจ SMEs ไทยกับกิจกรรม "Hackathon: Finding the Best Enabler" ภายใต้โครงการ e-Solution: Opportunity Enabler for SMEs โดย ETDA ร่วมกับ Techsauce พร้อมด้วยพาร์ทเนอร์เทคโนโลยี 

ที่จะเปิดเวทีให้บริษัทของคุณ ร่วมแชร์ไอเดีย นวัตกรรม โซลูชั่น ด้าน e-Office สู่การเป็นนวัตกรรมที่มาช่วยยกระดับธุรกิจ SMEs ไทย 

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้

  • โอกาสจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) กับผู้ประกอบการ SMEs โดยตรง

  • Exclusive Workshop ด้าน Customer Insight, UX Design, Data Management (Data Privacy)

  • Exclusive Workshop จาก AWS

  •  Mentoring sessions พบผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงธุรกิจต่างๆ เช่น Software/ Service Reliability Expert, Data Management, Security & Data Privacy และอื่นๆอีกหลากหลายวงการ ตบเท้าเข้าร่วมให้คำปรึกษาแก่กลุ่มผู้พัฒนานวัตกรรมในกิจกรรมครั้งนี้

  • ผู้ชนะเลิศ จะได้รับเงินรางวัลสูงถึง 300,000 บาท พร้อมสิทธิในการเข้าร่วมทดสอบนวัตกรรมกับ ETDA Sandbox  ด้วย

เปิดรับสมัครแล้ว วันนี้ - 4 พฤศจิกายน 2564

 สมัครที่ :  https://bit.ly/3uF8tN8



 




ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

พลิกโฉมการจัดการโรคด้วย AI เปลี่ยนการรักษาสู่การป้องกันเชิงรุก

AI กำลังเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการโรค ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่การรักษาอีกต่อไป แต่ยังครอบคลุมไปถึงการตรวจหาโรคตั้งแ...

Responsive image

Translucia ใช้ Generative AI อย่างไร ให้ผู้คนมีสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี

ชวนดูแนวทางที่ Translucia บุกเบิกการใช้เทคโนโลยี AI เพิ่มความสามารถให้ AI Agent เรียกว่า ‘Empathetic AI’ ที่เข้าใจและใส่ใจความรู้สึกของผู้ใช้ ทั้งยังโต้ตอบได้แบบเรียลไทม์ใน Metaver...

Responsive image

7 เหตุผลที่ไทยต้องลุยอุตสาหกรรม Semiconductor ก่อนตกขบวนเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง !

ค้นพบ 7 เหตุผลสำคัญที่เซมิคอนดักเตอร์กำลังกลายเป็นหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในประเทศไทย ตั้งแต่การส่งออก การลงทุน จนถึงการสนับสนุนอุตสาหกรรม EV...