จบลงไปแล้วกับงาน Techsauce Global Summit 2023 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 – 17 สิงหาคม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้ธีม ‘Social Impact, Climate Tech, Cutting Edge Technology’ ที่มุ่งเน้นในเรื่องของเทคโนโลยีที่สร้างผลกระทบต่อสังคม ถือเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสให้กับผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพไทยได้สร้างการเติบโตของธุรกิจบนเวทีโลก พร้อมวางบทบาทของงานให้เป็น Digital Gateway ในการเชื่อมต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ
สำหรับ ETDA หรือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีบทบาทในการเป็น หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัล (Regulator) ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิด Ecosystem ที่รองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยสร้างความร่วมมือกับทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ ได้เป็นส่วนหนึ่งของงาน Techsauce Global Summit 2023 ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชน การได้แชร์ความรู้ ทำความเข้าใจการมองอนาคตของการผลักดันการทำธุรกรรมทางออนไลน์ รวมถึงการผลักดันการใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทันและมีธรรมาภิบาล (Governance) โดยสิ่งเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการรองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกับทุกภาคส่วนผ่านกิจกรรมสำคัญในครั้งนี้
ด้วย HeathTech เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย หลังจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่กลายเป็นปัจจัยกระตุ้น ทั้งการลงทุนและการตอบสนองพฤติกรรมของผู้คนที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ HeathTech เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในอุตสาหกรรมการแพทย์ อีกทั้ง ยังเป็นการสนับสนุนความต้องการดูแลรักษาสุขภาพของคนในปัจจุบัน ที่เป็นสัญญาณของการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน และความก้าวหน้าของวงการแพทย์
ภายในงาน Techsauce Global Summit 2023 กับเวที Vertical Stage ในธีม HealthTech กับการเสวนา ในหัวข้อ "HealthTech of the Future - Challenges and Opportunities" นำโดย ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด, ที่ปรึกษาอาวุโส, ETDA ร่วมเสวนาโดย Prof. Dr. Jong Soo Choi, Information Technology Lead of Digital Transformation of Samsung Medical Center, ดร.ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์, CEO group 3 of Bangkok Dusit Medical Services, คุณนาเดีย สิทธิกุลพานิช, Executive Vice President & Head of Fuchsia Innovation and Venture Capital of Muang Thai Life Assurance และพิธีกรผู้ดำเนินการเสวนา โดย Susie Ruff, Founder & Executive Advisor of RUFF & CO.
สำหรับความท้าทายและโอกาสทางเทคโนโลยีของ HealthTech ในภาพรวมการทำงานของ ETDA ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในการดูแล ที่นอกเหนือจากการสนับสนุนและส่งเสริมนวัตกรรมให้กับสตาร์ทอัพของไทย อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และ AI ล้วนมีข้อจำกัด เพราะบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนไม่สามารถปรับใช้เทคโนโลยีในการทำงานทางการแพทย์ได้ แต่ทั้งนี้ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ได้ให้ความคิดเห็นว่า ETDA ได้มีกระบวนการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ในเรื่องการนำเทคโนโลยี AI ไปประยุกต์ใช้ในองค์กร ให้แก่หน่วยงานด้าน Healthcare อย่างเช่นการจัดหลักสูตร AI Executive Program : Digital Healthcare ที่เพิ่งจบไป ซึ่งมีการเชิญผู้บริหาร รวมถึงผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี AI ในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารวมกัน
นอกจากนี้ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ยังกล่าวถึงศูนย์ AIGC หรือ AI Governance Clinic by ETDA ซึ่งเป็นศูนย์ที่ดำเนินงานภายใต้ ETDA ที่ขับเคลื่อนใน 4 มิติด้วยกัน ได้แก่ มิติที่ 1 การพัฒนากรอบธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์สำหรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความเหมาะสมกับบริบทของไทยและสอดคล้องกับแนวนโยบายในระดับสากล มิติที่ 2 การให้คำปรึกษาด้านนโยบาย ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ การประยุกต์ใช้งาน AI สำหรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กับองค์กรที่สนใจ มิติที่ 3 การพัฒนาและเผยแพร่ข้อมูล องค์ความรู้ ผลงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล และ มิติที่ 4 เชื่อมโยงเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ นวัตกรรมเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ AI Governance รวมถึงการจัดทำ AI Governance Framework และ AI Governance Guideline for Executives โดยได้เริ่มกับวงการแพทย์และสาธารณสุขก่อนขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งจะเป็นแนวทางการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีธรรมาภิบาล สำหรับผู้บริหารองค์กร ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนต่อไป
ทั้งนี้ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ให้ความคิดเห็นว่า
“ในเรื่องของความท้าทายในวงการ HealthTech ไม่ใช่เพียงเรื่องของ AI แต่ยังมีเทคโนโลยีอื่นๆ รวมไปถึงกฎหมายจากภาครัฐอย่าง PDPA ในการป้องกันข้อมูลส่วนตัว ที่ส่งผลให้เกิดความตระหนักว่าการเผยแพร่ข้อมูลด้านสุขภาพเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ แต่ในขณะเดียวกัน AI จำเป็นต้องใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์ จึงถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในการร่วมกันพัฒนา HealthTech ได้”
อีกหนึ่งความน่าสนใจคือ Keynote Presentation โดย คุณปาลิตา นกพลับ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส, ศูนย์ Foresight Center by ETDA ในหัวข้อ "A Greener Digital Future for Thailand" ที่ได้แชร์ผลการสำรวจแนวทางใหม่ของการสร้างสรรค์โลกดิจิทัลที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำเสนอไอเดียสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลให้เติบโตผ่านแนวคิด Green IT ผสานความร่วมมือ พร้อมวางแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของประเทศที่จะเกิดขึ้นผ่านกระบวนการ Strategic Foresight
ซึ่งคุณปาลิตา นกพลับ ได้เปิดเผยข้อมูลบนเวที ClimateTech ในงาน Techsauce Global Summit 2023 ว่า แม้ว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้งานจะส่งผลดี แต่ในขณะเดียวกันปัญหา Digital Pollution ที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ จากการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล ได้ส่งผลต่อ Carbon emission ที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ตั้งแต่กระบวนการผลิต การใช้ และการทิ้ง จากข้อมูลในปี 2022 มี e-Waste ที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อโลกกว่า 9 ล้านตัน มากกว่าน้ำหนักของ 4 ตึกที่สูงที่สุดในโลกอย่าง Burj Khalifa อีกทั้งยังมีด้านหนึ่งของเทคโนโลยีที่สามารถส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอย่างเช่น e-Commerce ซึ่งทำให้คนเข้าถึงง่ายขึ้นสะดวกรวดเร็วขึ้น ในทางกลับกันก็ส่งผลต่อพฤติกรรมทำให้ผู้คนบริโภคมากขึ้นเกินความจำเป็น สร้างขยะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การสร้างอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ก็จำเป็นต้องใช้แร่ทรัพยากรธรรมชาติที่หายาก และด้วยวิธีการให้ได้มาก็ส่งผลทำลายสิ่งแวดล้อม
สำหรับพฤติกรรมการใช้งานทางดิจิทัลก็จะขึ้นอยู่กับการประมวลผลของ Data ที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นพลังงานจากฟอสซิล สร้าง Carbon Footprint ถึง 4% ให้กับโลก เทียบเท่ากับการปล่อย CO2 (Carbon Dioxide) ของอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งภายในปี 2040 หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้งาน อาจสูงถึง 14% อีกทั้งในประเทศไทยยังพบว่า คนไทยมีโทรศัพท์มือถือเฉลี่ยมากกว่า 1 เครื่องต่อคน (จากยอดเลขหมายการใช้งานโทรศัพท์กว่า 100 ล้านเลขหมาย ที่สูงกว่าจำนวนประชากร) ซึ่งกำลังจะกลายเป็นหนึ่งในที่มาของ e-Waste ต่อไปในอนาคต โดยมีเพียง 1% ของจำนวนขยะที่ถูกทิ้ง ที่ถูกนำไปรีไซเคิลอย่างเหมาะสม
ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์ และสหภาพยุโรป ได้มีกฎหมายในการควบคุมสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบทางดิจิทัล เช่น การให้สมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ได้ใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงวัสดุในการผลิตหรือระบบประมวลผลของ Data Center ต้องไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งความท้าทายคือการร่วมมือกับหลายภาคส่วนในระบบนิเวศ (Ecosystem) เพื่อให้เกิดการดำเนินงานในทางเทคโนโลยี โดยคำนึงถึงความยั่งยืนควบคู่กันไปด้วย
“ETDA จะร่วมผลักดันและให้การสนับสนุนความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลควบคู่ไปความยั่งยืน และร่วมผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายของประเทศไทยด้วยเช่นกัน” คุณปาลิตา นกพลับ กล่าวทิ้งท้าย
ความน่าสนใจบนเวที Main Stage คือ “Impact Innovations” ว่าจะสามารถช่วยขับเคลื่อนสังคมและทำให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร? พร้อมเผยความท้าทายและโอกาสของการทำธุรกิจในปัจจุบันภายใต้ Digital Governance และการก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคม ในหัวข้อ "Collaboration for Impact Innovation: Driving Innovation and Amplifying Social Changes" ในเวทีเสวนา กับ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด, ที่ปรึกษาอาวุโส, ETDA ร่วมเสวนาโดย คุณภารุต เพ็ญพายัพ, CEO of MQDC Idyllias, คุณพันธบัตร สันติมากร, Chief Business Development Officer of Translucia และพิธีกรผู้ดำเนินการเสวนา โดย Sanjay Popli, CEO of Cryptomind Advisory
ผลกระทบของนวัตกรรมและการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด, ที่ปรึกษาอาวุโส, ETDA ได้กล่าวถึง ‘Digital ID’ หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ที่เชื่อมต่อการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อเข้าใช้บริการออนไลน์ต่างๆ จากทุกภาคส่วนเข้ามาไว้ด้วยกัน ช่วยทำให้อุปสรรคต่างๆ ลดลง ขจัดความล่าช้าในการดำเนินธุรกิจ ลดค่าใช้จ่าย และเกิดความเชื่อมั่นในการใช้งาน ซึ่ง ETDA ได้มีบทบาทในการกำกับดูแล (บทบาทตาม พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ. 2565) และส่งเสริมให้เกิดการใช้งาน Digital ID เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้การประกอบธุรกิจและการทำธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ รวมถึงการดูแลนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น AI ที่ยังต้องมีการกำกับดูแล ส่งเสริมให้เกิดการใช้งานอย่างมีธรรมาภิบาลอีกด้วย
โดยในมุมมองของภาครัฐจาก ETDA ในเรื่องของ Roadmap กับการสนับสนุนการเติบโตของระบบนิเวศทางเทคโนโลยีของประเทศ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ได้ยกตัวอย่างถึง ‘Prompt Pay’ ระบบที่ใช้สำหรับทำธุรกรรมทางการเงินจากภาครัฐ เพื่อให้เกิดความสะดวกและสบายมากขึ้น ด้วยการผูกบัญชีกับเลขบัตรประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ ซึ่งการทำธุรกรรมอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ ในช่วงแรกของโครงการอาจมีเรื่องความกังวลของข้อมูลส่วนบุคคล แต่ ในปัจจุบันภาคประชนมีความเข้าใจและใช้งานอย่างกว้างขวางเพิ่มมากขึ้น ซึ่งความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่ร่วมกันผลักดันนวัตกรรมเพื่อสังคมจะทำให้เกิดประโยชน์ และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีกับประชาชน ซึ่งภาครัฐเองยังคงต้องวางแนวทางส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีในกลุ่มอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น Healthcare หรือ Energy เป็นต้น ในส่วนของ ETDA เอง ก็ยังมีการดำเนินงานของศูนย์ Foresight Center by ETDA ที่คอยจับสัญญาณ (Signal) และคาดการณ์อนาคตดิจิทัลของ
ประเทศในมิติต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อมูล นำมาสู่การกำหนดนโยบายร่วมกับภาคส่วน เพื่อวางแผนรองรับอนาคตและช่วยสนับสนุนการเติบโตของระบบนิเวศทางเทคโนโลยีของประเทศไทย
นอกจากนี้ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ยังพูดถึงหน้าที่ของ ETDA ที่จะผลักดัน Service Provider ไทยอีกด้วยว่า
“ในบางครั้งผู้ประกอบการหรือ Service Provider ไม่อาจทราบได้ว่าการสร้างนวัตกรรมบางอย่างมีประเด็นกฎหมายหรือมาตรฐานส่วนไหนที่เกี่ยวข้องกันบ้าง ETDA จึงเข้าไปช่วยในส่วนนั้น ผ่าน Digital Service Sandbox ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมทดสอบ บริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ เอกชน Service Provider ที่สนใจ และมีนวัตกรรมที่สอดคล้องกับประเภทที่เปิดทดสอบ โดยดำเนินการทดสอบภายใต้สภาพแวดล้อมและการให้บริการที่จำกัด เพื่อให้สามารถรองรับ Business Model ได้อย่างมั่นคงปลอดภัย มีความน่าเชื่อถือ และประชาชนสามารถใช้ประโยชน์และเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนให้บริการจริง”
ในตอนท้ายของการเสวนาในหัวข้อนี้ มีปัจจัยใดบ้างที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปสู่นวัตกรรมซึ่ง ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ได้ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า
“มีหลากหลายปัจจัยในการคำนึงที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมสู่นวัตกรรม เราต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่านวัตกรรมใดบ้างที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย และต้องตัดสินใจว่ามีส่วนใดที่จะมาเกี่ยวข้อง รวมไปถึงปัจจัยที่จะส่งผลกระทบถึงระบบต่างๆ”
สำหรับ ETDA Tech Showcase อีกหนึ่งเวที Highlight ที่นำเสนอนวัตกรรมจาก Platform/Service Provider จาก Hackathon ทั้ง 2 โครงการอย่าง #HackforGOOD สุดยอดนวัตกรรมที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาและพัฒนาเมืองและส่งเสริมความเป็นอยู่ของคนเชียงใหม่ตลอดจนนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนเชียงใหม่ ให้มีคุณภาพชีวิตและสุขภาวะที่ดียิ่งขึ้น และ #HackforGROWTH นวัตกรรม โซลูชัน ระบบ หรือแอปพลิเคชัน ที่ตอบโจทย์ธุรกิจท่องเที่ยวไทย ให้เติบโตกว่าที่เคย บนเวที Tech Showcase ใน "Doing Good & Making Growth'' ประกอบไปด้วย 5 ทีม
ทั้งนี้ ดร.ตฤณ ทวิธารานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ, ETDA กล่าวว่า
“ด้วยหน่วยงาน ETDA นอกจากจะมีบทบาทของการเป็น Regulator ที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัลแล้ว อีกส่วนงานหนึ่งที่เราสนับสนุนและส่งเสริมอย่างเต็มที่ คือการผลักดัน Service Provider ไทย ด้วยหลังจากสถานการณ์ของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และได้กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคม นอกจากนี้ ETDA เห็นแล้วว่าอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งเทคโนโลยีด้านสุขภาพ และการท่องเที่ยว มีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก จึงเป็นที่มาของโครงการ #HackforGOOD และ #HackforGROWTH เพื่อเฟ้นหา Service Provider และนวัตกรรมในประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมทั้ง 2 โครงการนี้ จากทั้งหมดกว่า 100 ทีม เราได้คัดเลือกเหลือเพียง 5 ทีมสำหรับ Showcase นี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า Session นี้จะเป็นโอกาสของการแสดงศักยภาพของ Service Provider ไทย รวมถึงนักลงทุนที่มองเห็นการเติบโตของธุรกิจได้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศด้วยเช่นกัน”
ถึงแม้ว่างาน Techsauce Global Summit 2023 จะจบลงไปแล้ว แต่ ETDA ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการขับเคลื่อนนวัตกรรมในมุมของ Change Agent พร้อมเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานจากภาครัฐที่จะส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้เกิดทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการไทยในการ Transform องค์กรสู่ดิจิทัล ร่วมเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้คนไทยต่อไป
ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ Fanpage Facebook : ETDA Thailand
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด