FinTech เรียกว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มเทคโนโลยีและธุรกิจที่เติบโตอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาทั้งในไทยและทั่วโลก เราอาจจะได้เห็นภาพรวมสถานการณ์ FinTech ในไทยกันไปบ้างแล้ว ครั้งนี้ ICHI ผู้ให้ความรู้และบริการ Digital Solution ชวนทุกคนไปสำรวจตลาด FinTech ในญี่ปุ่นกันบ้าง โดยมี Mr.Takeshi Kito อุปนายกแห่ง Fintech Association of Japan ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่มีประสบการณ์มากมายในสายงานด้าน FinTech ตั้งแต่ในฐานะผู้ประกอบการจนไปถึงที่ปรึกษาพิเศษให้กับคณะรัฐมนตรีและกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม ครั้งนี้ Mr.Takeshi จะมาเล่าให้ทุกคนฟังถึงภาพรวมอุตสาหกรรม FinTech ในญี่ปุ่น
Fintech Association of Japan เริ่มก่อตั้งในปี 2014 เพื่อหาผู้เข้าร่วมผ่านทางอินเตอร์เน็ต รวบรวมจนสามารถก่อตั้งเป็นสมาคมนิติบุคคลทั่วไปในปี 2015 ปัจจุบันมีบริษัทที่เข้าร่วมมากถึง 450 บริษัท โดยมีธุรกิจ FinTech และ Startup จำนวน 158 เจ้า ส่วนที่เหลืออีกกว่า 292 บริษัทคือสถาบันการเงินในญี่ปุ่นและต่างประเทศรวมไปถึงบริษัทขนาดใหญ่ ในตอนนี้มีอนุกรรมการจำนวน 9 คณะ ซึ่งมีความสามารถที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ด้าน Payment, Insurance, Cyber Security, API & Data Sharing, Capital Markets, RegTech & Sup Tech, Lending, Online Factoring และ Compliance โดยจะมีการทำงานเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกันในหลากหลายประเด็น เช่น การแก้ไขกฏหมาย อีกทั้งยังมีภารกิจในการทำหน้าที่สร้างความสัมพันธ์กับทางภาครัฐอีกด้วยและมีการจัดงาน FinTech Japan รวมทั้งพยายามสร้างเครือข่ายในต่างประเทศเพื่อให้พัฒนางานด้าน FinTech ให้แข็งแรง
FinTech ในญี่ปุ่นสดใส เติบโตต่อเนื่องสำหรับ Macro-Trend ในตลาดการค้าญี่ปุ่นยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่มาก โดยเฉพาะโตเกียวเนื่องจากจำนวนประชากรและ GDP ที่สูง รวมไปถึงมีบริษัทยักษ์ใหญ่และบริษัทต่างชาติอยู่มาก จากการเริ่มต้นของ FinTech ในช่วงปี 2014 สู่การเริ่มประเมินมูลค่าตลาดตั้งแต่ปี 2017-2022 ตลาด FinTech ในญี่ปุ่นเติบโตอย่างมั่นคง จากปี 2017 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 1,503 ล้านดอลลาร์ พุ่งขึ้นสู่ 12,102 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 เรียกว่ามีอัตราการเติบโตสูงเฉลี่ยที่ 51 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ในด้านการลงทุนจาก Venture Capital ในปี 2019 FinTech อยู่ในอันดับที่สี่และขยับขึ้นสู่อันดับที่สามในปี 2020 อาจมีผลมาจากสถานการณ์ COVID-19 นอกจากนี้ยังมีจำนวนการลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 511 ล้านดอลลาร์สู่ 526 ล้านดอลลาร์ จัดว่าเป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีความโดดเด่นอย่างมากและจากการคาดการณ์สาเหตุที่มีการลงทุนเพิ่มขึ้นน่าจะมาจากการมีนักลงทุน Venture Capital จากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาเพราะจัดเป็นกลุ่มลงทุนที่อยู่ในอันดับที่สามเลย ในขณะที่กลุ่มธุรกิจเงินร่วมลงทุนแบบอิสระและธุรกิจร่วมลงทุนของสถาบันการเงินมีจำนวนลดลงจากปี 2019
เทรนด์ Fintech หลักที่กำลังเติบโตในญี่ปุ่น
Digital Payment/Banking ถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก ในญี่ปุ่นเองมีก็อัตราส่วนการชำระเงินด้วยวิธีการเช่นนี้สูงมากหากเทียบกับการใช้จ่ายด้วยเงินสด โดยทางรัฐบาลมีการตั้งเป้าหมายและกำหนดแนวทางของการชำระเงินในรูปแบบนี้ให้มีมากขึ้น
BNPL (Buy Now Pay Later) ในส่วนนี้มีการควบรวมกิจการและการลงทุนที่ค่อนข้างใหญ่
Crypto/Digital Asset ในญี่ปุ่นมีสกุลเงินใหญ่ ๆ หลายตัวถือเป็นตลาดสำคัญขนาดใหญ่เลยทีเดียว และคาดว่าจะครองตำแหน่งใหญ่ในญี่ปุ่นต่อไป
Supply Chain Finance สินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจถือว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างมากหลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เพราะมีอุตสาหกรรมการผลิตจำนวนมาก แต่ธุรกิจ Supply Chain ของอุตสาหกรรมการผลิตเองก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงหากมองในด้านการขนส่งและเงินทุน ดังนั้นจึงต้องมีการเข้าไปส่งเสริม SMEs และธุรกิจ Supply Chain ให้มั่นคง
InsurTech เรามีตลาดประกันขนาดใหญ่ ถึงแม้ว่าบริษัทที่เข้าร่วมจะมีอยู่น้อย แต่คาดว่าจะมีการพัฒนาต่อยอดในส่วนนี้ต่อไป
เทรนด์ที่เคลื่อนไหวและถูกพูดถึงไปทั่วทั้งวงการทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ
DeFi และ Stablecoin สำหรับญี่ปุ่น ในปีที่แล้วมีการตรวจสอบของ FATF (Financial Action Task Force) พบว่าระบบสินเชื่อและระบบจำกัดสินเชื่อยังมีไม่เพียงพอ ทำให้ในปัจจุบันญี่ปุ่นกำลังพยายามผลักดันในการทำให้ KYC รวมถึง AML/CFT มีมากขึ้น และช่วงที่ผ่านมา RegTech ยังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากการมีธุรกิจดิจิทัลเกิดขึ้นตั้งแต่ COVID-19 อีกด้านหนึ่งมีการชำระเงินแบบออนไลน์มากขึ้นทำให้มีการหลอกลวงทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นทำให้ Fraud Detection ต้องเติบโตตามเช่นกัน
เทคโนโลยีที่เข้ามาสนับสนุนเทรนด์ FinTech ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
ทางฝั่งของเทคโนโลยีคาดว่าทั้งโลกมีจุดร่วมที่คล้ายกันไม่ว่าจะเป็น Cybersecurity, Open API, Blockchain หรือ AI
ด้านระเบียบ กฏหมายและข้อบังคับที่สร้างขึ้นเผื่อผลักดันเทรนด์ FinTech
มีการบังคับใช้กรอบกฏหมายในด้านธุรกิจนายหน้าบริการด้านการเงิน และแบ่งธุรกิจด้านการเงินออกเป็น 3 ประเภทหลักคือ ธนาคาร หลักทรัพย์ และประกันภัย
มีการเขียนกรอบกฏเกณฑ์ของ Regulatory Sandbox ให้มีความคล่องตัวมากขึ้นพร้อมบังคับใช้จริง
CBDC มีการหารือกันในหลายประเทศ และมองว่าเงินหยวนมีความสำคัญมากในฝั่งเอเชีย
Privacy Protection ถูกยกเป็นประเด็นหลักในการพูดถึง
Fintech Association of Japan มุ่งเน้นไปที่การสร้าง Open API system ให้มีความแข็งแกร่งพร้อมต้องการสร้างความสามารถในการสื่อสารระหว่างระบบที่ช่วยในการแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างไร้พรมแดน และยังต้องการที่จะสร้างมาตราฐานแนวทางปฏิบัติทางการตลาดทั่วประเทศ อีกทั้งผลักดันด้าน Regulatory sandboxes ทั้งด้านความร่วมมือและเสนอแนวทาง โดยที่ผ่านมาได้มีการทำงานร่วมกับหลากหลายประเทศทั่วโลก สำหรับการทำงานร่วมกับไทยได้มีการร่วมลงนาม MOU ในเดือนสิงหาคม 2018 กับ Thai FinTech Association และมีการรวมตัวสมาคม FinTech ทั้ง 9 แห่งทั่วเอเชียแปซิฟิกเพื่อประกาศกรอบความร่วมมือแบบพหุภาคี และยังมีการแลกเปลี่ยนความเห็นออนไลน์กับทางนายกสมาคม FinTech ไทยในปี 2020 เพื่อร่วมกันผลักดันเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกให้ก้าวหน้าไปด้วยกัน
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมในด้าน FinTech และความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่นสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.jrit-ichi.com/cutting/2022/02/21/824/
บทความนี้เป็น Advertorial
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด