วิกฤติร้านอาหาร เมื่อสุขภาพดีสร้างได้ที่บ้านผ่าน FoodTech | Techsauce

วิกฤติร้านอาหาร เมื่อสุขภาพดีสร้างได้ที่บ้านผ่าน FoodTech

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประกวด Tech Saucier of The Year 2018 โดย ฐิตารีย์ อุดมกิจธนสาร

หากย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน “หวานน้อย ไขมันต่ำ โปรตีนสูง” คงเป็นเพียงคุณสมบัติบนฉลากข้างกล่องอาหารและเครื่องดื่มเฉพาะทางสำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพหรือผู้สูงอายุ แต่วันนี้คุณสมบัติเดิมคือสิ่งที่ผู้คนมองหาจากเมนูอาหารที่อยู่บนหน้าจอ smartphone

ภาพจาก Vator.tv

ทัศนคติต่อการกินของผู้บริโภคทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย กำลังเปลี่ยนไป เกิดอะไรขึ้น?

ผลสำรวจจาก Nielson พบว่า 3 ใน 4 ของผู้บริโภคยุคใหม่เลือกซื้ออาหารโดยการคำนึงถึงประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นอันดับแรก และยอมจ่ายเงินมากขึ้นเพื่ออาหาร organic จากธรรมชาติ ที่ผ่านการปรุงแต่งน้อย

ณ ปัจจุบัน มูลค่าตลาดโลกของหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอยู่ที่ 23,161 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 528% จากปี 2010 และครองส่วนแบ่งการตลาดใหญ่เป็นอันดับสองของ Global Wellness Economy

สาเหตุหลักส่วนนึง มาจากตัวเลือกที่มากขึ้นและความสะดวกสบายที่ผู้เล่นหน้าใหม่ในวงการอาหารอย่าง FoodTech ได้มอบให้กับผู้บริโภค ผ่านเทคโนโลยีที่ช่วยต่อยอดพฤติกรรมการกินเพื่อสุขภาพจนกลายเป็นกระแสไปทั่วโลก

แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีจำนวนร้านอาหารและปริมาณการใช้จ่ายในร้านอาหารมากที่สุดในโลก ยังต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของวงการร้านอาหาร เนื่องจากชาวอเมริกันหันมาซื้ออาหารสุขภาพ ทำอาหารทานเองด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ และเข้าใช้บริการร้านอาหารน้อยลง จากบทบาทที่เพิ่มขึ้นของ FoodTech

ในปี 2017 AmazonFresh ธุรกิจซุปเปอร์มาร์เก็ตของสดออนไลน์มีรายได้ 11,543 ล้านบาท เติบโตขึ้น 35 % Munchery ธุรกิจจัดส่งอาหารเพื่อสุขภาพพร้อมทานมีรายได้ 466 ล้านบาท เติบโตขึ้น 60% HelloFresh ธุรกิจจัดส่งชุดวัตถุดิบ organic พร้อมปรุง มีรายได้ 22,400 ล้านบาท เติบโตขึ้น 90% UberEats ธุรกิจตัวกลางจัดส่งอาหารจากร้านมีรายได้ 197,877 ล้านบาท เติบโตขึ้น 200% ในทางตรงกันข้าม สิ่งนี้กำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจร้านอาหารภายในประเทศ

ในปี 2017 สถิติของชาวอเมริกันเข้าร้านอาหารตกต่ำที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษ เพียง 186 ครั้ง และกว่า 82% มื้ออาหารของประชากรเกิดขึ้นที่บ้านตนเอง ส่งผลให้ให้ร้านอาหารภายในประเทศได้ปิดกิจการไปกว่า 10,952 แห่ง ในจำนวนนี้มีตั้งแต่ร้านเล็กๆ ริมถนน จนถึง แบรนด์ดังระดับโลก

McDonald’s ผู้นำวงการธุรกิจฟาสต์ฟู้ด เผชิญปัญหายอดขายตกต่ำ จึงได้ทำการปรับแผนโครงสร้างในระยะยาวเพื่อรักษากำไรสุทธิ โดยการลดจำนวนลง 4,000 สาขา และลดค่าใช้จ่ายการดำเนินกิจการลง 16,145 ล้านบาทต่อปี สิ่งนี้ยังส่งผลกระทบถึงธุรกิจอาหารยักษ์ใหญ่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น Kraft Heinz และ Coca Cola ที่พบกับปัญหายอดขายตกต่ำเช่นกัน จึงต้องเร่งปรับตัวตามกระแสเพื่อความอยู่รอด ผ่านการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เอาใจคนรักสุขภาพอย่าง ซอสมะเขือเทศ organic และ Coke Zero

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาผู้บริโภคชาวไทยก็เริ่มหันมาสนใจกระแสกินเพื่อสุขภาพเช่นกัน ตั้งแต่การเลือกซื้อวัตถุดิบ อาหารปรุงสำเร็จพร้อมทาน รวมไปถึง การเลือกร้านอาหาร โดยเน้นอาหารที่ทำมาจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ ผ่านการปรุงแต่งน้อย

ด้านวงการ FoodTech ของประเทศไทย ก็มีการพัฒนาและเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งแอปพลิเคชันรีวิวอาหาร ส่งอาหาร จองร้านอาหาร ส่วนลดร้านอาหาร และนวัตกรรมในส่วนอื่นๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อเชื่อมต่อ ecosystem แบบครบวงจร ระหว่างผู้บริโภค ร้านอาหาร Supplier และชาวนา โดยเน้นการเป็นพันธมิตรกับร้านอาหารขนาดเล็กถึงกลาง (SMEs)

หากลองมองย้อนกลับไป ตั้งแต่จุดเริ่มต้นการกินเพื่อสุขภาพจนไปถึงการเข้ามามีบทบาทของ FoodTech ในการเพิ่มความสะดวกสบายและต่อยอดพฤติกรรมนี้ วงการร้านอาหารในประเทศไทยเองก็กำลังเจอกับการเปลี่ยนแปลงในลักษณะเดียวกันกับสหรัฐอเมริกา

ภาพโดย Foodtech Mag

คำถามคือ ธุรกิจร้านอาหารของไทยจะเจอผลกระทบเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาในอนาคตหรือไม่?

เพื่อตอบคำถามนี้ มาเริ่มวิเคราะห์จากปัจจัยในการดำเนินธุรกิจร้านอาหารโดยทั่วไป ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก

ส่วนที่ 1 คือ อุปทาน

โครงสร้างธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยกว่า 80%  คือร้านขนาด SMEs ซึ่งรวมไปถึงร้านขายอาหารออนไลน์ที่ไม่มีหน้าร้านแต่มีมูลค่าสูงกว่า 50,000 ล้านบาท และมักจะนำเสนอจุดขายด้วย concept อาหารใหม่ๆ เพื่อเอาใจนักกินเฉพาะกลุ่ม อีกทั้งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในประเทศไทยทั้งในด้านการเกษตร ประมง และปศุสัตว์ ยังทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถสรรหาวัตถุดิบท้องถิ่นหลากหลายชนิดได้ในราคาที่ต่ำมาก

ในทางตรงกันข้ามโครงสร้างธุรกิจร้านอาหารในสหรัฐอเมริกา จะแบ่งเป็น ร้านอาหารแบบ Full-Service 55% และร้านอาหารแบบ Quick Service 44% โดย concept อาหารของร้านจะไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก ประกอบกับ สภาพดินและภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเกษตรและประมง อีกทั้งพืชผลเกษตรอีกจำนวนมากยังขาดเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ผู้ประกอบการร้านอาหารจึงต้องอาศัยการนำเข้าวัตถุดิบ ทำให้มีต้นทุนที่สูง

เมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน จะพบว่าธุรกิจร้านอาหารในไทยได้เปรียบกว่าสหรัฐฯ เพราะมีต้นทุนต่ำ และความยืดหยุ่นสูงในการปรับตัว เนื่องจากเป็น SMEs ซะส่วนใหญ่ สะท้อนให้เห็นจากข่าวธุรกิจร้านอาหารเดิมที่มักเปิดตัว concept และแตกสาขาออกมาโดยเน้นการขายอาหารเพื่อสุขภาพ และการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ รวมไปถึง model ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพรูปแบบใหม่ ที่กำลังได้รับความนิยมสูง เช่น ร้านข้าวกล่องเพื่อสุขภาพออนไลน์ ร้านขนมคลีนออนไลน์ และร้านที่เป็นตัวกลางฝากขายสินค้าเหล่านี้ ซึ่งตั้งอยู่ทั่วไปตามสถานศึกษาและตึกสำนักงาน

โดยร้านเหล่านี้มักนิยมใช้ FoodTech ในรูปแบบต่างๆ เป็นเครื่องมือทางการตลาดเพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มต่างๆ เช่น การโฆษณาร้านบนแอปรีวิวอาหาร การเป็นพันธมิตรกับตัวกลางส่งอาหาร การออกทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายบนแอปตามกระแสนิยม รวมถึงการใช้ Superfood หรืออาหารสังเคราะห์มาสร้างสรรค์เมนูเพื่อสุขภาพและอนุรักษ์ธรรมชาติ

ส่วนที่ 2 คือ อุปสงค์

จากสถิติพบว่า ผู้บริโภคชาวไทยที่กินข้าวนอกบ้านเฉลี่ยวันละ 2 มื้อ โดยมีตัวเลือกยอดนิยม 3 อันดับแรกคือ ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายอาหารแผงลอย และอาหารข้างทาง ซึ่งล้วนแต่เป็นพันธมิตรหลักของธุรกิจ FoodTech ในปัจจุบัน จึงไม่แปลกที่การเข้ามาของเทคโนโลยีเหล่านี้ จะได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคชาวไทยสูงมากในระยะเวลาอันสั้น

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจจาก Boston Consulting Group พบว่า ชาวไทยทุกระดับชั้นใช้จ่ายเพื่อประสบการณ์ในร้านอาหาร เป็นอันดับหนึ่งในหมวด lifestyle ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่คนไทยมีต่อร้านอาหารที่มีมากกว่าการเป็นเพียงปัจจัยสี่ ทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การเข้าสังคม และศูนย์รวมสถาบันครอบครัว สะท้อนให้เห็นจากจำนวนร้านอาหารที่ตั้งอยู่ตรอกซอกซอยทั่วประเทศ

สรุป เมื่อพิจารณาทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน พบว่าธุรกิจร้านอาหารในไทยถูกสร้างมาให้เอื้อต่อการปรับตัวตามกระแสและเทคโนโลยีใหม่ๆ จึงสามารถอยู่ร่วมกันได้ในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยมากกว่าการแข่งขัน จากความได้เปรียบทั้งในแง่ของต้นทุนวัตถุดิบ การสร้างสรรค์ concept ใหม่ๆ และการสนับสนุนผ่านโครงการจากทั้งภาคภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบในระยะยาว

เรื่องนี้ให้อะไรเราได้หลายอย่าง มนุษย์ คือผู้ออกแบบและสร้างสรรค์เทคโนโลยี แต่สุดท้ายแล้ว เทคโนโลยีก็ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของมนุษย์

ดังเช่นนวัตกรรม FoodTech ที่เข้ามาช่วยต่อยอดกระแสการกินเพื่อสุขภาพและลดภาระร้านอาหาร แต่ไม่อาจทำลายความสำคัญต่อจิตใจ ที่ร้านอาหารมีต่อผู้บริโภคชาวไทยมาอย่างยาวนานได้

 

 

Cover photo by Pineapple Supply Co. On Unsplash

References

https://www.crimsonhexagon.com/blog/eating-in-is-the-new-dining-out/

https://www.crimsonhexagon.com/blog/eating-in-is-the-new-dining-out/

https://gain.fas.usda.gov/Recent%20GAIN%20Publications/Food%20Service%20-%20Hotel%20Restaurant%20Institutional_Bangkok_Thailand_10-3-2018.pdf

https://www.euromonitor.com/fresh-food-in-the-us/report

https://www.consultancy.asia/news/451/rising-incomes-are-shaping-new-consumer-trends-in-thailand

https://www.grocerydive.com/news/grocery--whole-foods-store-brands-boost-amazonfresh-sales-35/534336/

https://www.forbes.com/sites/brittainladd/2018/08/02/killing-blue-apron-can-anything-save-the-iconic-meal-kit-company/#c913661660da

https://www.ft.com/content/17a25744-c825-11e8-ba8f-ee390057b8c9

https://www.scbeic.com/th/detail/product/1277

 

 

 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดมุมมอง เมื่อการตลาดรวมเข้ากับเทคโนโลยี กับ Jeff Titterton CMO จาก Stripe

เปิดมุมมอง เมื่อการตลาดรวมเข้ากับเทคโนโลยี กับ Jeff Titterton CMO จาก Stripe...

Responsive image

AI ดมกลิ่นจาก osmo นวัตกรรมจมูกดิจิทัลเปลี่ยนโลก

หากเรามี AI ที่สามารถดมกลิ่นและแยกแยะกลิ่นต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ โลกเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร? นี่คือโจทย์ที่ Alex Wiltschko และทีม osmo กำลังพยายามพัฒนา...

Responsive image

รู้จัก AIS EEC ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัล ที่พร้อมช่วยธุรกิจไทยทำ Digital Transformation และเติบโตอย่างยั่งยืน

AIS Business ขออาสาเป็นพันธมิตรช่วยธุรกิจไทยนำเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กรอย่างราบรื่น และเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมเปิดศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจหรือ AIS EEC เป็นศูนย์กลางเรียนรู้และ...