บทสรุป Garena World การแข่งขัน eSports สุดยิ่งใหญ่ใน Southeast Asia | Techsauce

บทสรุป Garena World การแข่งขัน eSports สุดยิ่งใหญ่ใน Southeast Asia

ในช่วงปีก่อนเรามักจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับเกมและอีสปอร์ตอยู่เป็นระยะ ๆ และเริ่มได้ยินบ่อยกว่าหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา แม้จะยังไม่ได้รับความรู้จักและความเข้าใจจากสังคมโดยรวม แต่ก็ต้องบอกว่าปีที่ผ่านมาคนให้ความสนใจกับเรื่องของเกมออนไลน์และอีสปอร์ตมากขึ้น ตลาดเกมถือเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากวงการไอทีและเทคโนโลยีที่สำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน

จากผลสำรวจของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (องค์การมหาชน) พบว่ามูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมเกมในประเทศไทยมีมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตมากกว่า 12% ต่อปี ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นลำดับต้นๆของผู้นำอุตสาหกรรมเกมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในปีที่ผ่านมาเห็นได้อย่างชัดเจนว่ากระแสความนิยมของกีฬาอีสปอร์ตและวงการเกมมีเพิ่มมากขึ้น

จนปัจจุบันอีสปอร์ตได้รับการรับรองจากการกีฬาแห่งประเทศไทยให้เป็นกีฬาประเภทหนึ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งยังมีการสนับสนุนในรูปแบบการร่วมกันจัดการแข่งขันจากภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนผลักดันให้มีการจัดงานและการสนับสนุนทีมนักกีฬาอีสปอร์ตทั้งหลาย

สิ่งเหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลที่ประกาศให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวัน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเทศไทยก็เพิ่งมีการจัดงานมหกรรมเกมและกีฬาอีสปอร์ตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคืองาน Garena World: eSports for all ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 1 เมษายน 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กินพื้นที่กว่า 20,890 ตารางเมตร และเปิดให้เข้าร่วมงานได้ฟรี

บริษัท การีนา ฯ ผู้จัดงานนี้ขึ้น ถือว่าเป็นเจ้าตลาดในอุตสหกรรมเกมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน ให้บริการเกมออนไลน์ยอดนิยมทั้งบนสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เรามักจะเห็นการีนาคอยผลักดันและให้การสนับสนุนวงการอีสปอร์ตของไทยและภูมิภาคนี้อยู่เสมอ โดยมีการจัดให้มีการแข่งขันและเวทีสำหรับคนรักเกมและกีฬาอีสปอร์อยู่เรื่อย ๆ

โดยงาน Garena World (ชื่อเดิม Garena Star League หรือ GSL) ได้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6 แล้ว ซึ่งสเกลงานและจำนวนผู้เข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆปี

สำหรับคอนเซปต์งานปีนี้ คือ “eSports for all” ที่หมายรวมถึงนักกีฬาอีสปอร์ต ผู้เล่นทั่วไป ตลอดจนผู้ชมที่ชื่นชอบในเกมและอีสปอร์ตต่างก็สามารถมีส่วนร่วมกับงานนี้ได้ เพราะอีสปอร์ตเป็นกีฬาที่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้หลากหลาย ทั้งยังแข่งขันได้เป็นทีม โดยไม่มีข้อจำกัดในด้านร่างกายหรือว่าภาษา เรียกได้ว่าเป็นโลกให้คนรักเกมได้มารวมตัวกันทั้งร่วมแข่ง ร่วมชม ร่วมเชียร์ไปพร้อม ๆ กัน โดยความน่าสนใจของงานในปีนี้นอกจากเงินรางวัลรวมกว่า 17 ล้านบาทแล้ว ยังมีการเปิดตัว 3 เกมใหม่ เพื่อทำตลาดและรองรับความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น เรายังได้เห็นความร่วมมือและการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่สะท้อนให้เห็นว่าอุตสากรรมเกมและอีสปอร์ตของบ้านเราได้ก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก

รัฐชี้เกมกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารของคนรุ่นใหม่ทั่วโลกไปแล้ว

คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

การจัดงานในครั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอีกด้วย เนื่องจากการจัดงาน Garena World นั้นสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sports Tourism) ที่ต้องการจับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สนใจกีฬาต่างๆ งานนี้จึงเป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในแง่มุมใหม่ ๆ เป็นการนำเอาประสบการณ์กีฬาอีสปอร์ตระดับโลกมานำเสนอให้แก่ผู้ชมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้รับชม โดยได้มีรายการชิงแชมป์ระดับโลกที่มีนักกีฬาจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันที่งานในครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้งานเกมและอีสปอร์ตถือว่าเดินมาถึงจุดที่เรียกว่าได้รับความสนใจจากภาครัฐอย่างแท้จริง จากการมาเป็นประธานเปิดงานของคุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และร่วมเข้าชมงานในครั้งนี้ด้วย โดยคุณวีระศักดิ์กล่าวว่า

Gamification คือกระบวนการที่กำลังหล่อหลอมทำให้คนเหล่านี้มีทักษะในการอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีในอนาคต เกมเหล่านี้ไม่ใช่แค่ความสนุกสนานของคนเล่น แต่เป็นเครื่องมือให้รัฐ ผู้ใหญ่ และผู้ใช้อำนาจมีโอกาสได้เรียนรู้ และเพื่อจะได้เข้าใจว่าโลกยุคใหม่เขาใช้อะไรในการสื่อสาร

โดยยังกล่าวถึงศักยภาพของเกมและกีฬาอีสปอร์ตในฐานะสื่อที่ให้ความสนุก ความเข้าใจ และส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์วางแผนและการทำงานเป็นทีมที่ข้ามรั้วพรมแดนให้แก่คนรุ่นใหม่อีกด้วย

“นอกจากนี้ยังขอบคุณการจัดงานนี้ขึ้นมาซึ่งนอกจากจะทำให้เราได้สื่อสารด้วยกันแล้ว เรายังได้มีการสื่อสารความน่าสนใจของประเทศไทย ความน่าสนใจของวัฒนธรรมของคนไทย ออกไปยังเกมเมอร์อื่น ๆ จากหลายที่ทั่วโลก ที่กำลังติดตามทั้งกิจกรรมและเกมเหล่านี้อยู่” คุณวีระศักดิ์ กล่าวเสริม

หลายภาคส่วนเริ่มสนใจและสนับสนุน eSports มากขึ้น

เห็นได้ชัดว่าธุรกิจเกมกำลังได้รับความสนใจและเกิดเป็นความร่วมมือและการร่วมสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ โดยในปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้วที่ทางมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้มาร่วมให้ทุนการศึกษาเป็นรางวัลในการแข่งขัน Valor Tournament Final Match มูลค่ากว่า 1.8 ล้านบาท ยังมี RoV Pro League Playoffs ที่ได้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่อย่าง TrueMove H มาร่วมเป็นผู้สนับสนุนหลักของรายการ

ทำให้เห็นว่าการีนามี Partners ครอบคลุมทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่อาจจะไม่เคยให้ความสำคัญหรือสนับสนุนวงการเกมมาก่อน ได้เข้ามาสนใจและทำตลาดด้านนี้มากขึ้น

และยังขยายวงกว้างจนเกิดปรากฏการณ์ใหม่ในวงการเกม มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันในรายการโทรทัศน์หลายสถานี มีการจัดแข่งขันเพื่อเฟ้นหาตัวแทนประเทศไทยเพื่อแข่งเกม RoV ที่เป็นรายการโทรทัศน์เรียลริตี้ให้คนดูได้มีความเข้าใจถึงการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตมากขึ้นอีกด้วย

“นักกีฬาอีสปอร์ต” สายอาชีพที่ก้าวหน้าได้จริง

คุณธีเดช ทรงสายสกุล และ คุณนัฐกร บุญฤทธิ์ภักดี นักกีฬาอีสปอร์ต เกม FIFA Online 3

เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณธีเดช ทรงสายสกุล หรือ ‘คีน’ นักกีฬาอีสปอร์ต เกม FIFA Online 3 นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ได้รับทุน eSports จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ล่าสุดได้เข้ามาอยู่ในสังกัดของ Alpha Red มีการจ้าง เซ็นสัญญา และจ่ายเงินเดือนเป็นระบบมากขึ้นแล้ว คุณธีรเดชเล่าว่าการเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตก็ต้องมีการแบ่งเวลาให้เหมาะสม โดยหลังจากเลิกเรียนประมาณ 16:00 น. จากนั้นก็จะทำงาน-จัดการธุระส่วนตัวให้เสร็จภายใน 20:00 น. หลังจากนั้นก็จะเป็นเวลาของการฝึกซ้อม โดยเมื่อยิ่งใกล้การแข่งขันจริงก็จะมีการฝึกฝนที่เข้มข้นขึ้น

อีกหนึ่งนักกีฬาอีสปอร์ตที่มีผลงานและประวัติน่าสนใจ คือ คุณนัฐกร บุญฤทธิ์ภักดี หรือ ‘แอม’ นักกีฬาอีสปอร์ต เกม FIFA Online 3 ผู้อยู่ในวงการกีฬาอีสปอร์ตมานับ 8-9 ปีแล้ว มีรายได้เป็นหลักล้านต่อปี ล่าสุดเปิดตัวอยู่กับสังกัด "BGFC Neolution” (บีจีเอฟซี นีโอลูชั่น) อีสปอร์ตทีมแรกของประเทศไทยที่อยู่ภายใต้การดูแลของทีมฟุตบอลอาชีพ นอกจากนี้คุณนัฐกรยังระบุด้วยว่าสำหรับน้อง ๆ คนรุ่นใหม่ ยังมีอีกหลายทางเลือกที่จะอยู่ในวงการอีสปอร์ตและสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้ เช่น หากมีความสามารถในการ Entertain หรือสร้างความสนุกให้กับคนได้เก่ง ก็อาจจะเป็น Streamer ที่มีคนติดตามเป็นจำนวนมากก็ได้ บางคนมีความรู้ในตัวเกมหรืออีสปอร์ตเยอะ ก็อาจจะมาเป็นนักพากย์เกมหรือนักวิเคราะห์เกมได้

บทสรุปความก้าวหน้าของวงการเกมและอีสปอร์ตของไทย

งาน Garena World ที่จบไปแล้วนั้น ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเดินหน้าของธุรกิจเกมและกีฬาอีสปอร์ตที่กำลังมีบทบาทสำคัญและเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองที่สุดธุรกิจหนึ่งของเมืองไทย นอกจากนี้ยังเห็นได้ชัดว่าสังคมไทยได้ให้ความสนใจและเปิดรับเกมและกีฬาอีสปอร์ตมากขึ้นในด้านของการขยายตัวของธุรกิจไปจนถึง การที่ธุรกิจนี้ก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพใหม่ๆมากขึ้น

ตลอด 2 วันเต็มของการจัดนั้นมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 236,000 คน และยังมีผู้รับชมงานออนไลน์มากกว่า 10.6 ล้านวิว ผ่านทางช่องทางออนไลน์อย่าง Garena Live และอีกหลากหลายช่องทาง จึงเป็นที่น่าสนใจและตั้งตารอเป็นอย่างมากว่าในปีนี้และปีต่อไปเราจะได้เห็นปรากฎการณ์อะไรเพิ่มเติมจากการีนา และวงการเกมและอีสปอร์ตของไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวแทนทีมไทยอย่าง ทีม IT City Bacon ที่จะไปแข่งขันเกม RoV ต่อที่ นครลอสแอลเจิงลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา จะสามารถคว้าชัยได้หรือไม่ ก็ต้องมาร่วมลุ้นและเชียร์กันต่อไป

บทความนี้เป็น Advertorial

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image
Responsive image

9 ทักษะดิจิทัล ปี 2024 สร้างมูลค่าให้บริษัทด้วย Tech Skills แห่งอนาคต

ทักษะดิจิทัล หรือทักษะด้านเทคโนโลยี (Tech Skills) ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและแม่นยำ ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด...

Responsive image

AI ล้ำหน้าหรือภัยอนาคต? แล้วมนุษย์จะเป็นผู้ล่าหรือเหยื่อ | Tech for Biz EP.17

ในยุคที่ AI เติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีการคาดการณ์ว่ากว่า 300 ล้านตำแหน่งจะหายไป คำถามคือ คุณจะยืนอยู่ฝ่ายไหนระหว่างเหยื่อที่ถูกแทนที่ หรือนักล่าที่ใช้ AI เป็นเครื่องมือ? แล้วต้องปรับต...