เวที Global Business Dialogue 2018 โดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และกระทรวงการต่างประเทศ เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ รวมหัวกะทินักวิชาการ และผู้ประกอบการระดับโลก ร่วมเผยแนวคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคม และธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมเผยผลวิจัยว่า AI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญ และจะเป็น Game Changer โดยเฉพาะด้าน Smart City, Smart Agriculture และ Decentralize ระบบการจัดการต่างๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนก้าวไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
คุณธรรมศักดิ์ จิตติมาพร รองประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวว่า งาน Global Business Dialogue 2018 จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว ซึ่งปีนี้อยู่ภายใต้หัวข้อ Innovating the Sustainable Future เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามามีส่วนร่วมสร้างสรรค์โลกให้ยั่งยืน และก้าวสู่ Sustainable Development Goals (SDGs)
ทั้งนี้เทคโนโลยีปัญหาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) กำลังถูกจับตาในฐานะ Game Changer ที่จะเข้ามาสร้างความยั่งยืนต่อโลกอนาคต จากงานวิจัยล่าสุดที่นำเสนอโดย PricewaterhouseCoopers (PwC) หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีสี่แห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก อันเกิดจากการร่วมกันจัดทำระหว่าง PwC ประเทศอังกฤษ และ PwC ประเทศสหรัฐอเมริกา ในหัวข้อ AI for Sustainability ฉายภาพให้เห็นว่า AI กำลังเข้ามามีบทบาทในการเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับเอกชน ชุมชนเมือง ประเทศ และต่อโลกมากขึ้นเป็นลำดับ
คุณกุลวัลย์ สุพรสุนทร ผู้จัดการด้าน Sustainability และ Climate Change บริษัท ไพร้ซ์วอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส เอฟเอเอส จำกัด (pwc) กล่าวรายงานถึงผลวิจัยดังกล่าวว่า สามารถนำเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะ AI เข้ามาแก้ปัญหาเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลกเราในอนาคต
“โลกใบนี้อยู่มานานเป็นล้านล้านปี แต่นับจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกเกิดขึ้นจนกระทั่งมาถึงปัจจุบันเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เพียงในระยะเวลาไม่กี่ศตวรรษ ได้ทำให้สิ่งที่มีอยู่เป็นล้านล้านปีถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว และเป็นต้นตอของปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อมมากมาย ซึ่ง AI กำลังจะเข้ามาเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs ในหลายๆ เรื่อง”
ในผลการวิจัยดังกล่าวได้แตกประเด็นปัญหาของโลกที่สามารถนำ AI เข้ามาแก้ปัญหาออกเป็น 6 ข้อด้วยกัน
สำหรับในมุมของเมืองขนาดใหญ่ อย่างกรุงเทพมหานคร ดร.ศุภชัย ตันติคมน์ อดีตที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า AI สามารถนำมาใช้ในการวางแผนเพื่อแก้ปัญหาเมืองใหญ่ของกรุงเทพมหานครในหลายๆ ด้าน เพื่อให้เป็น Smart Sustainable City อาทิ ปัญหาการจราจร ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาด้านการจัดการพลังงาน และปัญหามลพิษทางอากาศ และขยะ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี คุณกุลวัลย์ กล่าวว่า ภายในปี ค.ศ. 2020-2030 ทุกคนจะภาพที่ชัดเห็นขึ้นว่า AI จะกลายเป็น Game Changer โดยเฉพาะในภาคของการสร้าง Smart City, Smart Agriculture และ Decentralize ระบบการจัดการต่างๆ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการอย่างมีเอกเทศ และแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น
“ปีที่ผ่านมา PwC ยังได้ทำการสอบถามผู้บริหารทั่วโลกพบว่า 54% ยอมรับว่าได้มีการตัดสินใจลงทุนพัฒนาด้าน AI มากขึ้นกว่าปี 2016 นั่นหมายความว่า ภาคธุรกิจเริ่มมอง AI เป็นโอกาสทางธุรกิจในการสร้างคุณค่าให้กับองค์กร และทำให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม”
แต่ในเวลาเดียวกัน AI ยังมีความท้าทายรออยู่ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงเชิงสังคม ที่อาจจะก่อให้เกิดความแตกแยก คนตกงาน ซึ่งบริษัทจำเป็นต้องสื่อสาร และมีแผนรองรับที่ดี รวมถึงด้านจริยธรรม ที่มีหลายคนนำเสนอว่าควรฝังจุดตัดทางจริยธรรมเข้าไปใน AI และความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งควรเพิ่มความเข้มข้นให้มากขึ้น และต้องทำให้เกิดความโปร่งใส พร้อมตรียมแผนสำหรับการแก้ปัญหาหากเกิดเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ขึ้น
เพราะการใช้เทคโนโลยีที่ดี นอกจากจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังต้องช่วยลดความเหลื่อมล้ำและก่อให้เกิดความยั่งยืนในสังคมอย่างแท้จริง
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด