กรณีของ แซม (Samuel Bankman-Fried) นักลงทุนและผู้ก่อตั้งธุรกิจ FTX แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งมีผู้ลงทุนมากกว่าพันล้านดอลลาร์ แต่ผู้ก่อตั้งกลับนำเงินของนักลงทุนไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง เมื่อเรื่องถูกเปิดโปงจึงกลายเป็น Big Issue ระดับโลก และทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย โดยเฉพาะคำถามที่ว่า ไม่มีใครตรวจสอบความเคลื่อนไหวของเงินลงทุนที่ไหลเข้าสู่ FTX เลยหรือ?
หากมองประเด็นนี้ในด้านการดำเนินธุรกิจอย่างมี ธรรมาภิบาล (Governance) หรือ Good Governance หลักการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งมีหลักอยู่ 6 ข้อ ได้แก่
1. หลักนิติธรรม (The Rule of Law)
2. หลักคุณธรรม (Morality)
3. หลักความโปร่งใส (Accountability)
4. หลักการมีส่วนร่วม (Participation)
5. หลักความรับผิดชอบ (Responsibility )
6. หลักความคุ้มค่า (Cost – effectiveness or Economy)
เมื่อนำเรื่องแซมมาพิจารณา จะเห็นว่าแซมเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่ติดปัญหาแทบทุกข้อ และถ้ามองหาทางแก้ก่อนที่เรื่องจะลุกลามมาขนาดนี้ ตำแหน่ง กรรมการบริษัท หรือ บอร์ด (Board) สามารถช่วยป้องกันหรือลดความสูญเสียลงได้
จากงาน Director’s Briefing ที่มีการพูดคุยในหัวข้อ 'The essential guide to startup boards' คุณกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ ซีอีโอ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หน่วยงานที่ส่งเสริมการทำงานของกรรมการบริษัทให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส เป็นมืออาชีพ เปิดประเด็นถึงความสำคัญของ 'บอร์ดบริษัท' ยุคนี้ว่า
ไม่มีบริษัทไหนเล็กเกินไปที่จะมีบอร์ดบริหารหรือทำธุรกิจให้ดี แต่ที่สำคัญ บอร์ดต้องรู้ด้วยว่า โลกเปลี่ยนไปยังไงทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ Technology & Innovation , Digital Transformation และ Sustainability
หลังจากนั้นมีวงเสวนาในหัวข้อ Challenges to balance growth and governance in startups (ความท้าทายในการสร้างสมดุลเพื่อทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพเติบโตและมีธรรมาภิบาล) โดยมีตัวแทนจาก 3 องค์กรธุรกิจชั้นนำที่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการปั้นและการลงทุนในสตาร์ทอัพ มาส่งต่อความรู้ ได้แก่
คุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์
ประธานกรรมการ บริษัท ทรู ดิจิตอล กรุ๊ป จำกัด
คุณธนพงษ์ ณ ระนอง
กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (Beacon VC)
คุณตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์
ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท จิตตะ ดอท คอม จำกัด
ดำเนินรายการ โดย คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ซีอีโอ บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด
ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง เทคซอส และผู้ดำเนินรายการ คุณอรนุชกล่าวถึงภาพรวมของระบบนิเวศสตาร์ทอัพให้เห็นภาพร่วมกันก่อนว่า การระดมทุนของเหล่าสตาร์ทอัพไทยเพิ่มสูงขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยมีทั้งหมด 37 ดีล มูลค่ารวมอยู่ที่ 530 ล้านดอลลาร์ แต่เม็ดเงินจำนวน 265 ล้านดอลลาร์ เป็นการระดมทุนของ LINE man x Wongnai เพียงบริษัทเดียว และทำให้บริษัทขึ้นแท่นยูนิคอร์นทันที
ถ้าเทียบมูลค่าการระดมทุนของไทย กับสิงคโปร์และอินโดนีเซีย ถือว่าบ้านเรายังน้อยกว่ามาก ประเทศไทยควรมีสตาร์ทอัพในระดับ Early Stage มากกว่านี้ เทคซอสจึงร่วมกับพันธมิตรอีกมากมาย เพื่อผลักดัน Startup Ecosystem ด้วยการเปิดตัว Thailand Accelerator สนับสนุนสตาร์ทอัพที่อยู่ในระดับ Early Stage
เนื่องจากเทคซอสเล็งเห็นความสำคัญและต้องการส่งเสริมระบบนิเวศธุรกิจสตาร์ทอัพไทย ให้แข็งแกร่ง จึงร่วมกับ 25 องค์กรจัดตั้ง Thailand Accelerator เพื่อเปิดทางพาสตาร์ทอัพไทยไปทำตลาดต่างแดน
และก่อนเข้าสู่ช่วงเสวนาหลัก ทางเทคซอสได้แชร์ถึงภาพรวมการลงทุนและไฮไลน์สำคัญในธุรกิจสตาร์พอัพประจำปีนี้เพิ่มเติมได้แก่
จากประสบการณ์การทำงานที่เคยลงทุนในสตาร์ทอัพกว่า 20 บริษัท จนสามารถขายกิจการ (Exit) ไปได้ 3 บริษัท กับการนั่งเก้าอี้บอร์ดอีกหลายแห่ง คุณธนพงษ์พบว่า สตาร์ทอัพมักจะมีโครงสร้างบริษัทไม่ชัดเจน ซึ่งเข้าใจได้ว่า สตาร์ทอัพเป็นธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น จึงประชุมกันเอง ปรึกษากันเอง ไม่มีบอร์ดเป็นกิจจะลักษณะ เน้นแต่การสร้างผลิตภัณฑ์ (Product) จึงทุ่มงบลงไปมากกว่าจะใส่ใจเรื่องโครงสร้างการบริหารงาน
ในฐานะ VC สาเหตุที่เลือกลงทุนสตาร์ทอัพใดก็ตามเป็นเพราะเราเห็นว่าเขาเก่งในเรื่องนั้น จึงเข้าไปลงทุนและใส่โครงสร้างหรือคำแนะนำอื่นๆ ที่เขาไม่ได้มีความเชี่ยวชาญมากนักเข้าไป เช่น ความรู้เรื่องไฟแนนซ์ แต่ก็มีผู้ก่อตั้งบางคนที่เชื่อในผลิตภัณฑ์ของตัวเองมากจนไม่ฟังใคร VC จึงต้องคอยถามสตาร์ทอัพ หรือช่วยคิดช่วยมองว่า ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นล่ะ จะทำธุรกิจต่ออย่างไร
ประเด็นร้อนอย่าง FTX ที่ผู้ก่อตั้งก็ขาดธรรมาภิบาล และนักลงทุนก็ใส่เงินมากเกินไป ทำให้เห็นว่า การควบคุมการใช้เงินนั้นสำคัญมาก บอร์ดจึงควรติดตาม ผู้ลงทุนจึงควรมีส่วนในการกำกับการใช้เงินของสตาร์ทอัพด้วยว่า เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการลงทุนจริงหรือไม่
คำแนะนำสำหรับปีหน้า : หากเกิดวิกฤตหรือสถานการณ์ไม่ดี สิ่งแรกที่บอร์ดต้องมีคือ 'ข้อมูลบริษัท' ว่ามีเหลือเงินเท่าไหร่ และต้องทำฉากทัศน์ให้ได้ว่า ลูกค้าที่จะโดนผลกระทบจากโควิดเป็นใครบ้าง เนื่องจากซีอีโอมักจะเป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจที่ทำเองทุกอย่าง จึงไม่ได้เก็บข้อมูล ไม่มี CFO ช่วย ซึ่งในด้านการเงิน ต้องรู้ว่า Burn rate หรือเงินที่ติดลบในแต่ละเดือนอยู่ที่เท่าไหร่ มีเงินอยู่ในบัญชีมากเพียงใด และบริษัทจะอยู่ได้อีกกี่เดือน หากตรวจดูแล้วว่า มีรันเวย์อีกยาวก็ไปต่อได้ แต่หากบริษัทอยู่ได้อีก 6 เดือน นี่ถือเป็นเรื่องใหญ่
ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพส่วนใหญ่เริ่มจากการ ‘ลองผิดลองถูก’ ซึ่งถ้าไม่ได้ลองก็อาจไม่รู้ไม่เข้าใจปัญหา แต่ในขณะเดียวกัน บางสตาร์ทอัพที่ยังไม่ได้ทดลองอะไรมากและมี VC เข้าไปลงทุนเร็วเกินไป อาจทำให้สตาร์ทอัพไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระ ดังนั้น บอร์ดที่ดีจึงควรเข้าไปตอนที่เห็นทิศทางบริษัทหรือโมเดลธุรกิจชัดเจน แล้วค่อยดึงผู้มีประสบการณ์ ที่ปรึกษา หรือแนะนำพันธมิตรทางธุรกิจให้
บอร์ดมีหลายหน้าที่ แต่เรื่องหลักๆ ที่ช่วยได้คือ Guidance - Governance - Support และจากประสบการณ์ตรงที่พบ ทำให้เห็นสตาร์ทอัพบางรายที่พัฒนาได้เร็วมาก VC ก็ต้องปล่อยให้เขาทำ อย่าถือว่าตัวเองรู้ดีที่สุด เข้าไปบังคับว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้ว VC เองจึงเป็นฝั่งที่ต้องเติมความรู้ ร่วมกับการสร้าง engagement เพื่อเข้าถึงและเข้าใจธุรกิจสตาร์ทอัพด้วย
คุณณัฐวุฒิเล่าถึงนิวยอร์กไทมส์ จากการไปสัมภาษณ์แซมเรื่องการตรวจสอบหรือให้คำแนะนำทางธุรกิจ ไม่มีบอร์ดมาตรวจสอบหรือ แซมตอบว่า มีบอร์ดเพียบเลยและอยู่ในหลายบริษัท นั่นหมายความว่า บอร์ดไม่ได้มาคัดค้านหรือกระตุกให้เขาทำในสิ่งที่ถูกที่ควร และอาจเป็นเรื่องของ Groupthink หรือ การคิดแบบกลุ่มมากเกินไป โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่คิดเหมือนๆ กันจนนำไปสู่ปัญหา บอร์ดจึงเข้ามาช่วยตรวจหรือให้คำแนะนำในจุดนี้ได้
ถ้าธุรกิจเข้าสู่สถานการณ์เลวร้าย บอร์ดต้องช่วยบอกสตาร์ทอัพได้ว่า จะมีทางเลือกไหนให้ไปต่อได้บ้าง
คำแนะนำสำหรับปีหน้า : บอร์ดต้องช่วยสตาร์ทอัพเตรียมตัวรับสถานการณ์เลวร้ายเป็นสองเท่าและเข้ามาเสริมสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากธุรกิจสตาร์ทอัพได้ นอกจากนี้ บริษัทควรมีการประชุมบอร์ดแบบ Workshop site meeting ที่ไม่ได้ทำตามแนวทางปกติของบริษัท เพราะจะทำให้บอร์ดเห็น Scenario ต่างๆ ง่ายขึ้น และมี engagement มากขึ้น
ในด้านการเลือกบอร์ดมาบริหาร ควรเลือกคนที่สตาร์ทอัพเชื่อมั่นว่า จะได้ทำงานแบบ Give advice not command คือ บอร์ดที่ให้คำแนะนำ ตั้งคำถาม โดยไม่บังคับให้ทำ เพราะถ้าบังคับก็อาจเกิดความขัดแย้งตามมาได้
บอร์ดบางคนอยู่ในอุตสาหกรรมมานานเกินไป อาจเห็นโมเดลต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จแล้วพยายามจะผลักดันสตาร์ทอัพไทยให้เดินไปในเส้นทางเดียวกันเช่น การคิดราคา การทำตลาด การกำหนดโครงสร้างบริษัท หรือชักนำให้สตาร์ทอัพทำโดยไม่พิจารณาความแตกต่างของโมเดลธุรกิจ - แบบนี้ไม่ได้
กรณีของ Theranos บอร์ดไม่รู้เลยว่า ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพทำธุรกิจอย่างไร ไม่มีความรู้ทางการแพทย์มาก่อนก็ส่วนหนึ่ง จนธุรกิจกลายเป็นสตาร์ทอัพลวงโลก ดังนั้น หากใครสักคนจะไปนั่งเป็นบอร์ดบริษัทใด ต้องศึกษาธุรกิจก่อน แล้วเข้าไปเป็นตัวบาลานซ์หรือเป็นกองหลังที่ดี ทำให้ทุกคนเห็นภาพทุกอย่างร่วมกันได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องเห็นแนวทางเดียวกันหมด
ที่สำคัญ สตาร์ทอัพควรจัดตั้งบอร์ดที่มีความรู้มากกว่า คุยกันได้ รับฟังกันด้วยความเคารพ เพราะการเป็นสตาร์ทอัพไม่มีคู่มือหรือ playbook ที่เหมาะสม และไม่มีหลักการตายตัว
ในฝั่งผู้ก่อตั้งก็ควรรับฟังคำแนะนำของบอร์ด แล้วตัดสินใจด้วยตัวเองว่า จะทำอะไร ไม่ทำอะไร และจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร
คำแนะนำสำหรับปีหน้า : บอร์ดต้องคิดถึงวิกฤตเสมอและหมั่นตรวจดูว่า บริษัทมีรูรั่วตรงไหนบ้าง ยกตัวอย่าง Jitta ที่ตัวเลขอิงอยู่กับตลาดหุ้น ถ้าหุ้นตกเยอะ กลยุทธ์บริษัทจะเป็นอย่างไร ถ้าเกิดวิกฤต ทีมที่ดีจะต้องเป็นแบบไหน ที่ผ่านมาจะเห็นว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพมีการปลดคนจำนวนมาก เพราะการลดต้นทุน (Cut cost) ช่วยให้บริษัทมีเวลาที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้ แต่บอร์ดก็ต้องรู้รันเวย์ว่า บริษัทอยู่ได้นานเท่าไหร่ ทั้งยังต้องมีแผน A B C ทบทวนและเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ เพราะทุกวิกฤตส่งผลกระทบไม่เหมือนกัน
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด