บริการสุขภาพมูลค่า 318 ล้านล้าน ฉายภาพอุตสาหกรรม Healthcare กับโอกาสของไทย | Techsauce

บริการสุขภาพมูลค่า 318 ล้านล้าน ฉายภาพอุตสาหกรรม Healthcare กับโอกาสของไทย

Healthcare หรือบริการสุขภาพ อุตสาหกรรมมูลค่ามหาศาลที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ชวนร่วมสำรวจนวัตกรรมล้ำสมัยที่จะกำหนดนิยามการให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น AI DeepTech และ BioTech ฯลฯ กับคุณกระทิง เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่ม KBTG ในเซสชั่น Revolutionary Technologies Shaping the Future of Healthcare ที่งาน Techsauce Global Summit 2024

Healthcare อุตสาหกรรม 318 ล้านล้าน  

คุณกระทิงเผยว่าอุตสาหกรรม Healthcare มีมูลค่า 9 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 318 ล้านล้านบาท และแน่นอนว่ามูลค่านี้จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เมื่อพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของโลก

โดยในปี 2050 คาดว่าผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี จะเพิ่มขึ้นจาก 761 ล้านคน เป็น 1.5 พันล้านคน ในขณะที่อุตสาหกรรม Digital Health หรือการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลดูแลสุขภาพคาดว่าจะมีมูลค่า 2.75 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 9.7 ล้านล้านบาทในปี 2031 โดยมี CAGR อยู่ที่ 10.7% 

ในระดับมหภาค อุตสาหกรรมบริการสุขภาพยังมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ คุณกระทิงได้ยกตัวอย่างแอฟริกา ด้วยการลดจำนวนผู้ป่วยมาเลเรียลง 90% ได้ภายในปี 2030 จะเพิ่ม GDP ได้ถึง 1.2 แสนล้านดอลลาร์ ในขณะที่สหรัฐฯ โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่สุด ที่ 4.1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี ออสเตรเลียจะมี GDP สูงกว่านี้ 4 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ถ้าผู้คนสุขภาพดีขึ้น

ประเทศไทยเองเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่บริการสุขภาพมีประสิทธิภาพที่สุดในโลก จากหลายปัจจัย เช่น การเชื่อมโยงการดูแลสุขภาพระหว่างเมืองและชนบท ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การลดต้นทุนการดูแลสุขภาพระยะยาว และประสิทธิภาพทางการเงิน

ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดผลลัพธ์ดีรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นอายุขัยเฉลี่ยประชากรที่เพิ่มขึ้น ประกันสุขภาพที่ครอบคลุมประชากร 99.5% และค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพที่ต้องเสียเพียง 6% ของ GDP น้อยกว่าสหรัฐอเมริกาและยุโรป 

โอกาสแบบไม่มีที่สิ้นสุด

เมื่อมองไปที่ห่วงโซ่คุณค่า หรือ Value Chain ของโรงพยาบาลที่ครอบคลุมมากกว่าแค่การรักษาพยาบาล 

เช่น การดูแลสุขภาพและการป้องกัน บริการปฐมภูมิและการวินิจฉัย การรักษาเฉพาะทาง ฯลฯ เป็นโอกาสที่ดีสำหรับเทคโนโลยีด้านสุขภาพและบุคลากรทางการแพทย์ที่จะใช้เทคโนโลยีปรับปรุงงานที่ทำอยู่

คุณกระทิงยังเน้นย้ำถึงการเปลี่ยนแนวคิด Sick Care สู่ Health Care กล่าวคือในอดีตการบริการสุขภาพให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ที่ป่วยหรือบาดเจ็บ รักษาเราให้หายจากอาการนั้น แต่ไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุและยังมีค่าใช้จ่ายที่สูง ซึ่งในอนาคตจะต้องเปลี่ยนไปสู่การดูแลสุขภาพเชิงรุก ค้นหาและจัดการปัญหาสุขภาพที่ต้นตอ ซึ่งดีต่อทั้งสุขภาพของเราและเศรษฐกิจประเทศ

ทำให้วิสัยทัศน์ของโรงพยาบาลในอนาคตจะเป็นการดูแลสุขภาพเชิงรุก เช่น การติดตามสุขภาพแบบต่อเนื่อง การดูแลสุขภาพแบบ Subscription และแบบ Personalized เปลี่ยนโรงพยาบาลเป็นศูนย์สุขภาพ การดึง AI มาช่วยด้าน Self Care และเทคโนโลยีดูแลสุขภาพจากที่บ้าน

ต่อมาคุณกระทิงได้ยกตัวอย่าง 5 อันดับโรคร้ายที่คนไทยเป็นมากที่สุด ไล่ไปตั่งแต่มะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไต ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ คุณกระทิงยกตัวอย่างการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) เช่น รักษาเนื้องอกไตด้วยการบำบัดด้วยเซลล์ หรือ การรักษามะเร็งเม็ดเลือดด้วย CAR T-Cell

นอกจากนั้นยังมีเทคโนโลยีดูแลสุขภาพแบบองค์รวมที่น่าสนใจ เช่น การใช้เซลล์เพื่อชะลอวัย การใช้ประสาทเทคโนโลยีตรวจจับอัลไซเมอร์ การวิเคราะห์ระดับโมเดลกุลเพื่อสุขภาพสตรีหรือวิธีการแพทย์เพื่อการจัดการน้ำหนักด้วยการควบคุมการเผาผลาญ ซึ่งจะมีมูลค่า 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2032 ฯลฯ 

ถ้าใครสามารถแก้ปัญหาได้คนคนนั้นจะกลายเป็นมหาเศรษฐี


ปัจจุบัน AI ยังสามารถยกระดับความรู้ความเข้าใจด้านชีววิทยาด้วย ทั้งด้านการเรียนรู้เชิงลึก ชีววิทยาสังเคราะห์ การค้นพบยา และการสร้างตัวแบบทำนาย เป็นต้น นี่แสดงถึงศักยภาพของเทคโนโลยีในการยกระดับการดูแลสุขภาพ AI ยังสามารถปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าและผู้ป่วย ประสบการณ์ของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ ทั้งหมดนี้จะสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ขยายขีดจำกัดของการดูแลสุขภาพและข้อจำกัดของชีววิทยา

ไทยกับโอกาสการเป็น Medical Hub 

ในช่วงสุดท้ายคุณกระทิงได้พูดถึงเส้นทางการสร้างประเทศไทยให้เป็น Medical Hub หรือ ศูนย์กลางทางการแพทย์ ตั้งเป้าให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง เช่น การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ การถูกจำกัดการเข้าถึงการดูแลที่เหมาะสม หรือบางอย่างที่ดูเรียบง่ายแต่สำคัญ เช่น ระบบ IT แบบเก่าในโรงพยาบาล ฯลฯ

คุณกระทิงมั่นใจว่าประเทศไทยสามารถเป็น Medical Hub ได้ เนื่องจากระบบนิเวศการดูแลสุขภาพของไทยมีความสามารถและแข็งแกร่งระดับโลก แต่เพื่อจะก้าวไปอีกระดับ เราจำเป็นต้องลงลึกในด้านการวิจัย ด้านเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นต้น

คุณกระทิงยังเผยถึงการเปิดเปิดตัวกองทุน Disrupt Health Impact Fund  ตั้งเป้าเปลี่ยนแปลง Healthcare ไทยให้เข้าถึง Deep Technology ด้าน Healthcare ระดับโลก เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการดูแลรักษาสุขภาพคนไทยด้วย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำไมคนสหรัฐฯ เดือดร้อนกับการแบน TikTok ? 3 เหตุผลที่ TikTok สำคัญกับชาวสหรัฐฯ มากกว่าที่คิด

เจาะลึก 3 เหตุผลที่การแบน TikTok อาจส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันมากกว่าที่คิด ทั้งด้านเศรษฐกิจ อาชีพ และการเชื่อมโยงในยุคดิจิทัล...

Responsive image

รู้จัก Physical AI เอไอยุคใหม่ที่ Jensen Huang กล่าวถึงคืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ?

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน CES 2025 คือการที่ Jensen Huang ซีอีโอของ NVIDIA ได้มีการพูดถึงยุคต่อไปของ AI นั่นก็คือ ‘Physical AI’ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญยิ่งที่ AI กำลังจะเข...

Responsive image

4 เทรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำที่อาจเปลี่ยนโลกจาก CES 2025

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดจาก CES 2025 ตั้งแต่ AI อัจฉริยะ ยานยนต์ล้ำสมัย ไปจนถึงการพัฒนาชิปกราฟิกและเทคโนโลยีหน้าจอแห่งอนาคตที่เปลี่ยนโฉมการใช้ชีวิตประจำวัน!...