HealthTech Startup บนเส้นทางร่วมยกระดับสาธารณสุขประเทศ | Techsauce

HealthTech Startup บนเส้นทางร่วมยกระดับสาธารณสุขประเทศ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาของวงการต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่แวดวงสาธารณสุขของประเทศไม่สามารถแก้ไขได้โดยภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องเป็นความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชนในการผลักดันนโยบายการแก้ไขปัญหาต่างๆให้ปรากฎผลเป็นรูปธรรม

เฮลท์เทคสตาร์ทอัพ หรือ กลุ่มผู้ประกอบการใหม่ด้านการแพทย์และสุขภาพ ได้รวมตัวกันก่อตั้งสมาคมเฮลท์เทคไทยฯ ในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา โดยมุ่งหวังในการช่วยยกระดับบริการสาธารณสุขของประเทศให้ดีมากยิ่งขึ้น ไปพร้อมกับการดำเนินกิจการที่มีผลตอบแทนหล่อเลี้ยงองค์กรได้ ตลอดปี 2562 จะเห็นการทำงานร่วมกันของเฮลท์เทคสตาร์ทอัพกับภาครัฐ หรือ องค์กรต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ ให้ขยายตัวมากขึ้นในวงกว้าง โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สวทช. เป็นต้น 

 อรินแคร์ แพลทฟอร์มบริหารจัดการร้านขายยา  ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขจัดทำใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-prescription ในการเขื่อมโยงข้อมูลใบสั่งยาของคนไข้จากโรงพยาบาลไปที่ร้านขายยา เพื่อคนไข้สามารถรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านได้โดยไม่ต้องรอคิวนาน ปัจจุบัน เริ่มนำไปใช้งานจริงในหลายพื้นที่  เช่น จังหวัดปราจีนบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เป็นต้น 

การทดลองเปิดใช้งานระบบใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ในจังหวัดฉะเชิงเทรา
ภาพจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา

Diamate แพลทฟอร์มดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข นำร่องเปิดใช้งานในโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ จำนวน 10 แห่ง คือ โรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดศรีษะเกษ โรงพยาบาลเสาไห้เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดสระบุรี โรงพยาบาลนาวังเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดหนองบัวลำภู โรงพยาบาลพระทองคำเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดนครราชสีมา โรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดนราธิวาส โรงพยาบาลพนมดงรักเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดสุรินทร์  โรงพยาบาลห้วยกระเจาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดกาญจนบุรี โรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาลหาดสำราญเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดตรัง  โรงพยาบาลเขาชะเมาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดระยอง และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี  ในโครงการพัฒนาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสำหรับวิสาหกิจ (Government Procurement Transformation) หรือ GPT  สนับสนุนโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี พร้อมคณะเยี่ยมชมการดำเนินงานแอปพลิเคชั่นดูแลผู้ป่วยเบาหวานไดอะเมท
ภาพจากเฟซบุ๊ค Diamate

Queq ระบบบริหารจัดการคิวในโรงพยาบาล ลดการแออัดและลดการรอคอย ได้เปิดตัว “ปราจีนบุรี เมืองสุขภาพดี” ภายใต้แนวคิด Prachinburi Medical Innovation District (PMID) โดยนำร่องพัฒนาบริการในจังหวัดปราจีนบุรีที่เชื่อมโยงทั้งจังหวัด ในโครงการ GPT ร่วมเปิดให้บริการ ใน 6 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โรงพยาบาลกบินทร์บุรี โรงพยาบาลนาดี โรงพยาบาลบ้านสร้าง โรงพยาบาลศรีมโหสถ และโรงพยาบาลศรีมหาโพธิ 

การใช้งานแอปพลิเคชั่น คิวคิว ในโรงพยาบาล
ภาพจากเว็บไซต์สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

Pharma safe แอปพลิเคชั่นเชื่อมโยงข้อมูลการใช้ยาจากโรงพยาบาลให้ผู้ป่วยเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย โดยเปิดดำเนินการในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหมหลายแห่ง โดยงบประมาณบางส่วนเป็นการสนับสนุนในโครงการ GPT  เช่น โรงพยาบาลกระบี่ โรงพยาบาลสมุทรปราการ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในการพัฒนา Pharma See ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการประมวลผลภาพถ่ายยา ออกมาเป็นข้อมูลสำหรับเภสัชกรใช้งาน เพื่อแก้ปัญหาการจำแนกประเภทยาที่คนไข้มักนำซองยาที่ไม่มีฉลาก มาให้เภสัชกรที่โรงพยาบาลวิเคราะห์

การทดสอบระบบ Pharma See : ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถจำแนกชนิดยาจากภาพถ่ายได้
ภาพจากเฟซบุ๊ค Pharma Safe

OOCA แพลทฟอร์มให้บริการจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคำปรึกษา ดำเนินการร่วมกับ กรมสุขภาพจิต หรือ กรมการกงสุล ในการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการการรับคำปรึกษาให้กับกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ เช่น นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือ ชาวไทยในต่างประเทศ   โดยงบประมาณบางส่วนเป็นการสนับสนุนในโครงการ GPT  ด้วย

กรมสุขภาพจิตและ OOCA ลงนาม MOC ในการให้บริการโครงการ "กำแพงพักใจ"
ภาพจาก Hfocus

Chiiwii แอปพลิเคชั่นเทเลเมดิซีน หรือ การแพทย์ทางไกลรายแรกๆของไทย ได้ร่วมกับอลิอันซ์อยุธยา เปิด บริการปรึกษานัดหมายแพทย์แบบนัดหมายล่วงหน้า (Healthy Living Talk) เพื่อให้บริการปรึกษาแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญแบบเป็นส่วนตัว ที่คุณสามารถนัดหมายล่วงหน้าเพื่อพูดคุยกับแพทย์ในสาขาต่างๆ เพื่อขอคำแนะนำปัญหาสุขภาพได้ง่าย


Block M.D. ผู้พัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพบนเทคโนโลยี Blockchain ได้พัฒนาต้นแบบการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล บนเทคโนโลยี Blockchain 

 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเกิดความร่วมมือในหลายด้านและหลายองค์กรเพื่อยกระดับบริการสาธารณสุขของไทยให้ดีขึ้น แต่ปัญหาที่ยังมีอยู่และต้องร่วมกันแก้ไข เช่น ปัญหานโยบายด้าน Business Model ของบริการสาธารณสุขดิจิทัลของภาครัฐ ปัญหามาตรฐานการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพที่แตกต่างกัน หรือ การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการบังคับใช้ของพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 

เฮลท์เทคสตาร์ทอัพ ยังเปิดรับโอกาสและความร่วมมือใหม่ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการผลักดันให้วงการสาธารณสุขเรา แข็งแรง และมั่นคงต่อไป







ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...

Responsive image

กระทรวง AI : เมื่อ AI อันตรายเกินกว่าจะปล่อยไว้ โลกเร่งออกกฎควบคุม

AI กลายเป็นสิ่งที่ต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมาย และต้องถูกจับตาดูโดยหน่วยงานของรัฐบาลอย่าง ‘กระทรวง AI’ ที่มีอำนาจ และความสำคัญไม่แพ้หน่วยงานอื่น ๆ แต่ทำไม AI ต้องถูกควบคุมโดยรัฐบาล ? กร...