ถอดบทเรียนอินโดนีเซีย ต่อสู้กับการล่าอาณานิคมยุคใหม่อย่างไร ? | Techsauce

ถอดบทเรียนอินโดนีเซีย ต่อสู้กับการล่าอาณานิคมยุคใหม่อย่างไร ?

หากพูดถึงการล่าอาณานิคมในอดีต ประเทศมหาอำนาจส่วนใหญ่คือผู้ที่มีความพร้อมทางอาวุธ กำลังพล และความรู้ในวิทยาการใหม่ ๆ และเข้ามาในรูปแบบของการ ‘ต่อสู้หรือทำสงคราม’ ซึ่งเป็นการเข้ายึดครองดินแดนที่เราไม่ค่อยเห็นมากนักในปัจจุบัน

แต่ก็ไม่ใช่ว่าการล่าอาณานิคมจะหายไป เพียงแต่ในศตวรรษที่ 21 รูปแบบการล่าอาณานิคมของชาติมหาอำนาจได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก กลายมาเป็นการ ‘ล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจ’ ที่ไม่ต้องใช้กำลังอาวุธหรือการทำสงครามอีกต่อไป 

ประเทศมหาอำนาจอย่างจีน กำลังล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจผ่านการลงทุนและนำเข้าเทคโนโลยีใหม่ ที่ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนา แต่กลับมาพร้อมข้อผูกมัดที่ทำให้ประเทศเหล่านั้นต้องพึ่งพิงพวกเขามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางการเงินหรือทรัพยากร จนสุดท้ายอาจต้องเสียอิสระในการตัดสินใจไป

แล้วประเทศเล็กๆ จะต่อสู้กับการล่าอาณานิคมยุคใหม่นี้ได้อย่างไร ? บทความนี้ Techsauce จะพามาถอดบทเรียนจาก ‘อินโดนีเซีย’ ประเทศที่รัฐบาลลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องธุรกิจท้องถิ่นจากการครอบงำของมหาอำนาจ

ปกป้องเอกราชทางเศรษฐกิจแบบอินโดนีเซีย

จากการศึกษาของ Oxford Business Group พบว่าอินโดนีเซียมีตลาดเทคโนโลยีที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค ซึ่งได้รับแรงหนุนจากกฎหมายใหม่ๆ ของรัฐบาลที่ส่งเสริมการลงทุน การจ้างงาน และการจัดการธุรกิจ ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีหันมาลงทุนที่นี่มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การที่อินโดนีเซียเปิดประตูรับการลงทุนจากต่างชาติ ก็ไม่ได้หมายความว่าประตูทุกบานจะเปิดกว้างง่ายๆ ปัจจุบันอินโดนีเซียมีการออกกฏหมายใหม่เพื่อปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างการลงทุนในประเทศ ผ่านกฎหมายที่เรียกว่า Omnibus Law , Presidential Regulation No. 10/2021 และ Minister of Trade Regulation No. 31 of 2023 ที่ออกมาเพื่อปรับปรุงและเปิดเสรีการลงทุนบางส่วน แต่ยังคงมีการกำหนดข้อจำกัดในบางอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันผลกระทบต่อธุรกิจท้องถิ่น โดยมีมาตรการที่น่าสนใจ ดังนี้

1. การแบ่งหมวดหมู่ธุรกิจ

ธุรกิจถูกแบ่งออกเป็นหลายหมวดหมู่เพื่อกำหนดเงื่อนไขการลงทุนและการมีส่วนร่วมของต่างชาติและธุรกิจท้องถิ่น โดยหลักๆ จะแบ่งเป็นธุรกิจที่เปิดให้ต่างชาติเข้าลงทุนได้ 100% และธุรกิจที่ต้องมีการร่วมมือกับ MSMEs (ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย)

2. สิทธิพิเศษทางภาษี

นักลงทุนที่ร่วมมือกับ MSMEs ในบางอุตสาหกรรมสามารถขอรับสิทธิพิเศษ เช่น การยกเว้นภาษีนำเข้าอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการขยายอุตสาหกรรม และการลดหย่อนภาษีรายได้ในบางกรณี นอกจากนี้ยังมี Tax Holidays ให้นักลงทุนที่มีการร่วมมือกับ MSMEs จะได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการเริ่มต้นโครงการและการพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ

3. กฏหมายอีคอมเมิร์ซ

อินโดนีเซียมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) จำนวน 64.2 ล้านราย ซึ่งรวมกันคิดเป็นประมาณ 61% ของเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศ ธุรกิจเหล่านี้มีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย

รัฐบาลกังวลว่าผู้ขายออนไลน์ โดยเฉพาะผู้ขายบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย มักขายสินค้าในราคาที่ต่ำมาก ซึ่งเป็นปัญหาเพราะอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจในท้องถิ่นที่ไม่สามารถแข่งขันกับราคาเหล่านี้ได้ เมื่อธุรกิจในท้องถิ่นสูญเสียลูกค้าให้กับทางเลือกออนไลน์ที่ถูกกว่าเหล่านี้ พวกเขาอาจต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดหรืออาจต้องปิดกิจการ 

อินโดนีเซียจึงได้ออกมาตรการปกป้องธุรกิจท้องถิ่นในด้านอีคอมเมิร์ซ โดยเน้นไปที่การควบคุมและจำกัดการเข้ามาของทุนต่างชาติผ่านกฎระเบียบใหม่อย่าง Minister of Trade Regulation No. 31 of 2023 (MOTR 31/2023) มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องและสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กในท้องถิ่นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ

  • แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต้องมีใบอนุญาตพิเศษ: ในอินโดนีเซียแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียไม่สามารถใช้เพื่อการซื้อและขายสินค้าได้ แต่ธุรกิจสามารถใช้เพื่อโฆษณาและแจ้งโปรโมชั่นได้ เนื่องจากรัฐบาลต้องการป้องกันไม่ให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอำนาจควบคุมมากเกินไป จากการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลและอัลกอริทึมที่ใช้ หากบริษัทโซเชียลมีเดียต้องการมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพื่อขายสินค้า บริษัทจะต้องได้รับใบอนุญาตพิเศษและพัฒนาแอปแยกออกมาอีกหนึ่งตัว
  • การกำหนดราคาสินค้านำเข้า: สินค้าที่นำเข้าผ่านอีคอมเมิร์ซจะต้องมีมูลค่าอย่างน้อยประมาณ 1.5 ล้านรูเปียห์ เพื่อปกป้องธุรกิจในท้องถิ่นจากสินค้าที่นำเข้าราคาถูกที่ล้นตลาดและส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นที่ต้องแข่งขันในตลาดเดียวกัน
  • ป้องกันปัญหาการตั้งราคาที่ไม่เป็นธรรม (predatory pricing): กำหนดให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซียต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านราคา เพื่อป้องกันการลดราคาสินค้าจนต่ำเกินไปหรือการทำราคาที่ทำให้ธุรกิจท้องถิ่นไม่สามารถแข่งขันได้

Use Case การปกป้องธุรกิจท้องถิ่นของอินโดนีเซีย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรามักเห็นข่าวเกี่ยวกับการแบนแพลตฟอร์มต่างชาติในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่มุ่งหวังจะปกป้องธุรกิจท้องถิ่นให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง สำหรับกรณีของ TikTok Shop นั้น ถือเป็นการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนและโดดเด่นอย่างมาก

การเคลื่อนไหวนี้จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราน่ากลับมาตั้งคำถามเกี่ยวกับความสมดุลระหว่างการปกป้องธุรกิจท้องถิ่นกับการเปิดรับโอกาสจากต่างประเทศ ในขณะที่โลกของการค้าออนไลน์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อินโดนีเซียก็ยืนหยัดที่จะผลักดัน Startup ในประเทศอย่าง GoTo อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของอินโดนีเซีย

มหากาพย์การแบน TikTok Shop

ย้อนไปในปี 2022 TikTok ได้ขยายอาณาจักรเข้าสู่ตลาด E-Commerce ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย ด้วยฟีเจอร์ TikTok Shop ซึ่งกวาดรายได้มากถึง 1.5 แสนล้านบาท กลายเป็นฟีเจอร์อีคอมเมิร์ซที่ได้รับความนิยมไม่น้อยหน้าแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง Shopee และ Lazada ซึ่งในปัจจุบัน TikTok Shop ก็กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางยอดฮิตสำหรับการช้อปปิ้งออนไลน์ของคนไทยไปแล้ว

แต่เรื่องราวกลับไม่เป็นเช่นนั้นในอินโดนีเซีย TikTok Shop เกือบจะเติบโตอย่างสวยงาม แต่สุดท้ายกลับถูกรัฐบาลอินโดนีเซีย "คุมกำเนิด" ในช่วงกันยายน 2023 ซุลกิฟลี ฮาซัน รัฐมนตรีกระทรวงการค้าอินโดนีเซีย ออกมาประกาศชัดเจนว่า ห้ามซื้อขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียโดยเด็ดขาด

ในเวลานั้น TikTok กำลังพยายามเจาะตลาดอินโดนีเซียอย่างหนัก การประกาศจากรัฐบาลจึงเปรียบเสมือนสัญญาณบอกว่า TikTok Shop ไม่เป็นที่ต้อนรับในตลาดนี้ ซึ่งการแบนครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลแค่กับ TikTok แต่ยังรวมถึง Facebook ด้วย ทำให้ชาวอินโดนีเซียไม่สามารถใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ในการซื้อขายสินค้าได้อีกต่อไป

หากเราย้อนดูเบื้องหลังการห้ามนี้ จะพบว่ารัฐบาลอินโดนีเซียมองว่า TikTok Shop อาจเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจท้องถิ่น สังเกตได้จากข้อกำหนดที่ระบุว่า “หากบริษัทโซเชียลมีเดียต้องการมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ พวกเขาจำเป็นต้องขอใบอนุญาตพิเศษ และพัฒนาแอปแยกสำหรับการขายสินค้าโดยเฉพาะ” ซึ่ง TikTok Shop ก็เป็นเพียงฟีเจอร์หนึ่งในแอป TikTok ที่เป็นโซเชียลมีเดีย 

พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ดึง TikTok ลงทุน GoTo

หลังจาก TikTok Shop ถูกแบนในอินโดนีเซีย ผ่านไปประมาณ 4 เดือนก็เกิดดีลใหญ่ส่งท้ายปี 2023 เพราะ TikTok เดินหน้าลงทุน 1.5 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 5.2 หมื่นล้านบาทใน GoTo Group ธุรกิจอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของอินโดนีเซีย ดังนั้น เป้าหมายเบื้องหลังการลงทุนใหญ่ในครั้งนี้ก็เพื่อเริ่มต้นธุรกิจ e-commerce ของ TikTok ในอินโดนีเซียอีกครั้ง

ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว TikTok จะเป็นผู้ถือหุ้นกว่า 75.01% ของ Tokopedia ฟีเจอร์ช้อปปิ้งของ GoTo เข้าไปในแอปพลิเคชันของ TikTok อินโดนีเซีย  และ Tokopedia จะได้เงินการันตี 1 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 3.5 หมื่นล้านบาทจาก TikTok ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นทุนสำรองหมุนเวียนทางธุรกิจได้

ดีลระหว่าง TikTok และ GoTo จึงไม่ใช่เพียงแค่การลงทุนใหญ่ แต่คือการยืนยันว่ารัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับการปกป้องธุรกิจในประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็พร้อมเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติที่สอดคล้องกับกฎระเบียบและสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในระยะยาว การแบน TikTok Shop อาจดูเหมือนจุดจบในครั้งแรก แต่กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ที่น่าจับตามองสำหรับทั้งสองฝ่าย

เมื่อไม่นานมานี้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซตัวล่าสุดอย่าง Temu จากจีน แพลตฟอร์มที่เน้นขายสินค้าราคาถูกก็เพิ่งโดนแบนในอินโดนีเซีย โดยสั่งให้ Google และ Apple ลบแอปพลิเคชันออกจาก Play Store และ App Store นอกจาก Temu แล้ว อินโดนีเซียยังมีแผนที่จะแบน Shein แพลตฟอร์มจีนที่ขายเสื้อผ้าราคาถูก ซึ่งการแบนในครั้งนี้ก็ให้เหตุผลเดียวกันคือ รูปแบบธุรกิจดังกล่าวเป็นการ "แข่งขันที่ไม่เป็นธรรม" และอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ SME ในประเทศ

สุดท้ายแล้วมาตรการที่อินโดนีเซียใช้ในการปกป้องธุรกิจท้องถิ่นจากการเข้าครอบงำของมหาอำนาจต่างชาติ เป็นบทเรียนที่น่าสนใจสำหรับประเทศอื่น ๆ ที่ต้องการรักษาเอกราชทางเศรษฐกิจ ในโลกยุคใหม่ที่เศรษฐกิจออนไลน์มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น นโยบายและกฎระเบียบที่เข้มงวดของอินโดนีเซียแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการควบคุมการลงทุนจากต่างชาติ ไม่ให้กระทบต่อการเติบโตของธุรกิจในประเทศ

อย่างไรก็ตาม การแบนไม่ได้หมายถึงการปิดโอกาสทั้งหมด อินโดนีเซียยังคงเปิดกว้างให้กับการลงทุนที่สอดคล้องกับนโยบายและกฎระเบียบของประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนธุรกิจที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว

อ้างอิง: lexology, asiapacific

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

SpaceX : ทำไม Starship และ Europa Clipper ถึงเป็นภารกิจสำคัญที่อาจเปลี่ยนโลกอวกาศ ?

SpaceX บริษัทด้านอวกาศของ Elon Musk กำลังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการสำรวจอวกาศ ด้วยโครงการ Starship และการมีส่วนร่วมในภารกิจ Europa Clipper สองโครงการที่เปี่ยมไปด้วยความท...

Responsive image

ONNEX by SCG Smart Living รุก 'ตลาดโซลาร์' รับโลกเดือด ดันโมเดลธุรกิจ EPC+ 5 รูปแบบ

ONNEX by SCG Smart Living เปิดแผน EPC+ Business Model 5 รูปแบบ ทั้งโมเดลสำหรับผู้ประกอบการ, เจ้าของโครงการ, นักลงทุน, บริษัทในเครือข่าย และตัวแทนอิสระ...

Responsive image

เจาะลึกบทบาท CVC กับการลงทุนใน Startups ยุคใหม่ กับ Nicolas Sauvage หัวเรือใหญ่ TDK Ventures

เจาะลึกบทบาทของ CVC ในการขับเคลื่อนธุรกิจยุคใหม่ พร้อมเผยกลยุทธ์การเฟ้นหาและสนับสนุน Startups รวมถึงแบ่งปันวิสัยทัศน์เชิงลึกรวมถึงกลยุทธ์การลงทุนใน Startups ที่น่าจับตามอง โดย Nico...