อินโดนีเซีย เปิดรับเทคโนโลยีอย่างไร เพื่อสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่ ถอดบทเรียนจากงาน Bali International Airshow | Techsauce

อินโดนีเซีย เปิดรับเทคโนโลยีอย่างไร เพื่อสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่ ถอดบทเรียนจากงาน Bali International Airshow

อินโดนีเซีย กลายเป็นประเทศเนื้อหอมที่บิ๊กเทคฯ ต่างประเทศแห่เข้าไปลงทุนมากมาย ซึ่งหากนับแค่ช่วงครึ่งแรกของปี 2023 เพียงปีเดียวอินโดนีเซียสามารถสร้างมูลค่าถึง 34,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.1 ล้านล้านบาท 

โดยบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ อย่าง Apple และ Microsoft ต่างประกาศแผนการลงทุนในอินโดนีเซีย โดย Apple มีแผนลงทุน 74 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสร้าง Apple Developer Academy แห่งที่ 4 ในบาหลี ส่วน Microsoft วางแผนลงทุน 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 4 ปีข้างหน้า เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน Cloud และ AI

การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในอินโดนีเซีย เป็นผลมาจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น จำนวนประชากรที่มาก ชนชั้นกลางที่กำลังเติบโต และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัลในอินโดนีเซียจะสูงถึง 1.24 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2025

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสการลงทุนมากขนาดนี้คือ ‘รัฐบาล’ ที่มีการปรับนโยบาย และสนับสนุนเพื่อให้เกิดการกระตุ้นด้านการลงทุนเชิงเทคโนโลยี แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากบริษัทด้านไอทีแล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียยังต้องการผลักดันประเทศให้กลายเป็นศูนย์กลางด้าน ‘อุตสาหกรรมการบิน’ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พลิกโฉมประเทศเข้าสู่ยุคใหม่ 

ความพยายามนี้สอดคล้องกับแผนงาน 'Making Indonesia 4.0' ซึ่งมีเป้าหมายที่จะผลักดันอินโดนีเซียให้เป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัลภายในปี 2030 รวมถึง 'Digital Indonesia Roadmap 2021-2024' ซึ่งมุ่งเน้น 4 ด้านได้แก่

  1. การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 
  2. การเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัล 
  3. การเสริมสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลโดยมุ่งเน้นการดึงดูดและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) 
  4. การเสริมสร้างสังคมดิจิทัลเพื่อเพิ่มการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้

โดยหนึ่งในความพยายามสะท้อนออกมาให้เห็นผ่านงาน Bali International Airshow 2024 งานแสดงอุตสาหกรรมการบินระดับนานาชาติ ที่อินโดนีเซียตัดสินใจจัดขึ้นอีกครั้งในรอบ 30 ปี ซึ่งโดยปกติแล้วงานอุตสาหกรรมการบินระดับนานาชาติ จะมีแม่ใหญ่จัดที่ปารีส และฟาร์นโบโรห์ ส่วนในเอเชียจะจัดที่สิงค์โปร์ และลังกาวี ส่วนประเทศไทยเองก็มีข่าวว่าจะจัดงานประเภทนี้ครั้งแรกในปี 2027

คำถามต่อมาคือ ทำไมอินโดนีเซียถึงเลือกเปิดรับนวัตกรรมเหล่านี้ ? และ Bali Airshow สะท้อนถึง 'วิธีการ' ที่อินโดนีเซียใช้ 'เปิดรับเทคโนโลยี' อย่างไร ?

จาก ‘Sleeping Giant’ สู่ ‘ผู้นำตลาดการบิน’

อินโดนีเซียประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 16 ของโลก กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในภาค 'อุตสาหกรรมการบิน' Tony Fernandez ซีอีโอของ Capital A กล่าวในงาน Bali Airshow ว่า อินโดนีเซียมีศักยภาพมหาศาล ด้วยประชากรเกือบ 300 ล้านคน ขนาดประเทศเทียบเท่ายุโรป และมีโอกาสเติบโตสูงทั้งในด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

IATA (สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ) คาดการณ์ว่า อินโดนีเซียจะก้าวขึ้นเป็นตลาดการบินที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกภายในปี 2037 นี่จึงเป็นหมุดหมายสำคัญของรัฐบาลอินโอนีเซียที่ต้องเร่งมือเปิดรับทุกนวัตกรรม เทคโนโลยี และเงินลงทุน

เปิดรับเทคโนโลยีสู่ 'เศรษฐกิจยุคใหม่'

Bali Airshow จึงเป็นเวทีสำคัญที่อินโดนีเซียใช้แสดงศักยภาพและดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก Prof. Wihana Kirana Jaya ตัวแทนจากรัฐบาลอินโดนีเซีย เปิดเผยในงานว่า รัฐบาลใช้นโยบาย ‘Open Sky’ (นโยบายเปิดน่าฟ้าเสรี ให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศบินอย่างอิสระทั่วภูมิภาค) เพื่อเปิดตลาดการบิน

Prof. Wihana Kirana Jaya กล่าวเสริมว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น สนามบิน ท่าเรือ และระบบขนส่ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โดยเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการสนามบิน และบริการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน

ตัวอย่างเช่น รัฐบาลได้แต่งตั้ง Luhut Binsar Panjaitan รัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการทางทะเลและการลงทุน ให้เป็นผู้ดูแลการลงทุนด้านดิจิทัลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานรัฐบาล นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในภาคการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การลดความซับซ้อนของกฎระเบียบ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อกระจายความเสี่ยง และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ไปพร้อมๆ กับการสนับสนุนการเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำเพื่อให้ชาวอินโอนีเซียสามารถเดินทางได้สะดวกในราคาที่ถูก ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไปอีกทาง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในงาน Bali Airshow คือ การนำเสนอเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน เช่น

  • Smart Application เช่น แอปพลิเคชันสำหรับจองตั๋ว เช็คอิน ติดตามสัมภาระ
  • Biometrics: เช่น ระบบจดจำใบหน้า สแกนม่านตา เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความสะดวกสบาย
  • AI และ Big Data เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลผู้โดยสาร เพื่อปรับปรุงการบริการ และการบริหารจัดการเส้นทางบิน
  • การดึงบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน และการป้องกันประเทศ มาเปิดบูธภายในงาน และเปิดพื้นที่ Business Matching ไม่ว่าจะเป้น Boeing, Airbus, Brahmos, Rafale, Capital A และ Etihad
  • การร่วมมือกับสายการบินเพื่อนำเทคโนโลยีมาพัฒนานักบิน และจัดการการจราจรทางอากาศยาน รวมถึงในสนามบิน เพื่อช่วยลดระยะเวลาการลงจอด ส่งผลให้ประหยัดเชื้อเพลิงมากยิ่งขึ้น


อินโดนีเซียยังให้ความสำคัญกับการพัฒนา 'เชื้อเพลิงยั่งยืน (SAF)' เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินแบบยั่งยืน ซึ่งในงาน Bali Airshow มีการจัดแสดงเทคโนโลยี SAF จากบริษัทต่างๆ

Rahmat Hanafi ผู้บริหารจาก Garuda สายการบินแห่งชาติของอินโดนีเซีย เล่าว่า อินโดนีเซียมีการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาธุรกิจแทบทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมบำรุงอากาศยาน เช่น Maintenance, Repair และ Overhaul (MRO) โดยใช้หุ่นยนต์ และ Automations เช่น

  • Robotics: เช่น หุ่นยนต์สำหรับตรวจสอบ ซ่อมแซม และทำความสะอาดเครื่องบิน
  • Automation: เช่น ระบบ Automated Guided Vehicle (AGV) สำหรับขนส่งชิ้นส่วน

บทเรียนจาก Bali Airshow ชี้ให้เห็นว่า อินโดนีเซียกำลังมุ่งมั่นที่จะเปิดรับเทคโนโลยี เพื่อสร้าง 'เศรษฐกิจยุคใหม่' โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การส่งเสริม Startup และ Innovation การพัฒนาทุนมนุษย์ และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน แม้ว่าจะมีความท้าทาย เช่น ช่องว่างด้านทักษะดิจิทัล และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี แต่อินโดนีเซียก็มีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค โดย Bali Airshow เป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นของอินโดนีเซียในการเดินหน้าสู่เป้าหมายนี้

อ้างอิง : เสวนาจากงาน Bali International Airshow 2024, eria.org, eastasiaforum, trade.gov

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก “Phygital” การตลาดยุคใหม่แห่งอนาคต ผ่านเทคโนโลยี Immersive Experience ของ Translucia

Techsauce จึงอยากพาไปทำความรู้จักกับเทคโนโลยี ‘โลกเสมือน’ ผ่านหนึ่งในผู้เล่นคนสำคัญอย่าง Translucia บริษัทเทคโนโลยีที่พัฒนา Immersive Experience ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะเปลี่ยนวิธีการเ...

Responsive image

ต้นกำเนิด Panpuri ศึกษาจากตำราอายุ 300 ปี ปั้นแบรนด์หรูสัญชาติไทยมูลค่าพันล้านบาท

ตั้งแต่ก่อตั้งมา Panpuri เติบโตอย่างน่าทึ่ง มีอายุกว่า 20 ปีและทำรายได้ทะลุพันล้านบาทในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศที่ได้รับการตอบรับดีเยี่ยม บทความนี้ Techsauce จะพาไปสำรว...

Responsive image

OpenAI เปิดตัว ‘Canvas’ ฟีเจอร์กระดานทำงานแยกจากตัวแชทของ ChatGPT

OpenAI เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ที่เรียกว่า “Canvas” หรืออินเทอร์เฟซสำหรับการใช้งาน ChatGPT ซึ่งออกแบบมาเพื่อช่วยให้การทำงานด้านการเขียนและการเขียนโค้ดง่ายขึ้น...