Digital citizen สำคัญอย่างไร ในวันที่ไทยต้องการยกระดับพลเมืองยุคดิจิทัลให้เทียบเท่าสากล | Techsauce

Digital citizen สำคัญอย่างไร ในวันที่ไทยต้องการยกระดับพลเมืองยุคดิจิทัลให้เทียบเท่าสากล

ในยุคแห่งดิจิทัล (Digital Age) ที่สมาร์ตโฟนมีเกลื่อนตลาด ทุกคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย ๆ เพียงปลายนิ้ว สื่อสารกันได้อย่างสะดวกรวดเร็วแม้อยู่อีกซีกของโลก จนทำให้โลกออนไลน์กลายเป็นโลกอีกใบที่ไม่ว่าวัยไหน เพศใด ก็ยกให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จนลืมไปว่า ยังมีอีกหลายคนที่น่าเป็นห่วง และเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ยังขาดประสบการณ์ และผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่หันมาใช้งานอินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดียได้ไม่นาน

จากผลสำรวจพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทย พบว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดและใช้งานโซเชียลมีเดียมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ยิ่งมีโควิด-19 ทุกเพศทุกวัยยิ่งใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสุดในการใช้งานอินเทอร์เน็ต คงหนีไม่พ้น เด็กและผู้สูงวัย

ด้วยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนี้ จึงทำให้เรื่อง Digital Intelligence (DQ) หรือทักษะความฉลาดทางดิจิทัลกลายเป็นประเด็นร้อนที่ต้องถูกหยิบยกขึ้นมาให้ความสำคัญอีกครั้งในยุคที่ไม่ว่าอะไรก็ต้องพึ่งเทคโนโลยี ในบทความนี้ Techsauce จะพาทุกคนไปรู้จัก ทำความเข้าใจว่า DQ หรือความฉลาดทางดิจิทัลคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และจะมีช่องทาง หรือวิธีการใดที่จะมาเพิ่มทักษะ DQ ให้เกิดขึ้นกับคนไทย โดยเฉพาะเด็ก ๆ และผู้สูงวัย ให้ใช้งานโลกออนไลน์ได้อย่างสร้างสรรค์ และมั่นคงปลอดภัย

Digital Intelligence คืออะไร และสำคัญอย่างไรในยุคดิจิทัล ?

ทุกคนคงจะรู้จักกับความฉลาดทางสติปัญญา หรือ IQ และ ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ได้ทำการศึกษามาว่าเป็นการรับรู้ที่มนุษย์จะต้องเข้าใจและนำทักษะนี้มาใช้ด้วยกันในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตามเมื่อโลกพัฒนามากขึ้นจนมีเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ ก็ได้มีการคิดค้นทักษะอีกอย่าง ซึ่งก็คือ Digital Intelligence (DQ) หรือความฉลาดทางดิจิทัลขึ้นมา

สำหรับ Digital Intelligence หรือ DQ นั้น เป็นความฉลาดทางดิจิทัล โดย DQ Institute สถาบันด้านดิจิทัลที่ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้อธิบายไว้ว่า เป็นชุดทักษะ องค์ความรู้ คุณลักษณะ พฤติกรรมที่คนนำมาปรับใช้เพื่อรับมือกับการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล และเพื่อจะพัฒนาให้เป็น Digital Citizen หรือพลเมืองดิจิทัลในอนาคตได้อย่างชาญฉลาด และเหมาะสม 

ภาพจาก: DQ Institute

โดยทาง DQ Institute ได้กำหนดทักษะด้านดิจิทัลที่จำเป็นไว้ 8 ทักษะ ได้แก่ อัตลักษณ์ดิจิทัล (Digital Identity) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสม (Digital Use) ความเข้าใจความเสี่ยงบนโลกดิจิทัล (Digital Safety) การจัดการความปลอดภัยในโลกดิจิทัล (Digital Security) การสร้างทักษะความฉลาดทางอารมณ์บนโลกดิจิทัล (Digital Emotional Intelligence) การสื่อสารดิจิทัล (Digital Communication) การรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy) และการจัดการดิจิทัล (Digital Rights) โดยทักษะเหล่านี้สามารถนำมาพัฒนาไปกับ DQ Framework 3 ระดับ คือ

  • Digital Citizenship: ทักษะพื้นฐานในการใช้งานเทคโนโลยี โดยจะต้องมีความรับผิดชอบ ความปลอดภัย และมีจริยธรรมในการใช้งาน

  • Digital Creativity: การสนับสนุนให้มีการสร้างคอนเทนต์บนโลกดิจิทัลด้วยการส่งมอบความรู้ใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับรู้เนื้อหา ข่าวสารที่มีประโยชน์

  • Digital Competitiveness: ในส่วนนี้จะโฟกัสไปที่กลุ่มธุรกิจ ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะมาเปลี่ยนแปลงสังคมและเศรษฐกิจให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น

DQ คนไทย อยู่ตรงไหน ในเวทีโลก ?

จากผลการศึกษาของ DQ Institute ที่ได้ทำการวัดระดับความสามารถในการปรับใช้เทคโนโลยีของเด็ก อายุ 8-12 ปีจากทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยทำการศึกษาเจาะจงไปที่ประเด็นความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ (Online Safety) และทักษะพื้นฐานในการใช้งานเทคโนโลยี (Digital Citizenship) แต่มีสิ่งที่น่าตกใจคือ อันดับ DQ ของประเทศไทยเรากลับรั้งท้าย

การวัดระดับความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ของเด็ก (The Child Online Safety Index: COSI) จะวัดระดับโดยมี 6 เสาหลัก เป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้กันทั่วโลก โดยจะมีการให้คะแนนของแต่ละเสาว่าอยู่ในระดับใด ซึ่งประเทศไทยกลับมีคะแนนที่วัดได้ในแต่ละเสาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และอยู่ในอันดับท้าย ๆ จากทั้งหมด 30 ประเทศทั่วโลกที่ถูกสำรวจ โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้

ภาพจาก: DQ Institute

  • Cyber Risks ความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ เช่น การโดนคุกคามบนโซเชียลมีเดีย การใช้งานเทคโนโลยีอย่างผิดวิธี โดยประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 30 

  • Disciplined Digital Use ระยะเวลาการใช้งานโลกออนไลน์ โดยประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 28 

  • Digital Competency ทักษะทางด้านดิจิทัลที่มีเพื่อรับมือกับเรื่องต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ พบว่าประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 30 

  • Guidance & Education การให้การศึกษาหรือแนวทางในการใช้งานโลกออนไลน์ โดยประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 28 

  • Social Infrastructure การที่หน่วยงานรัฐบาลและองค์กรต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงโลกออนไลน์ พบว่าประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 17 

นอกจากนี้ ภาพรวมทั้งหมด พบว่า ประเทศไทยยังมีคะแนนรั้งท้ายในการสร้างทักษะและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยบนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย พบว่า ประเทศเหล่านี้มีค่าคะแนนเฉลี่ยที่สูงกว่าค่ามาตรฐานของโลกกันทั้งสิ้น 

เป็นเหตุให้เราต้องหันมามองว่า ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่เราจะต้องให้ความสำคัญกับทักษะการใช้งานบนโลกออนไลน์กันมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็กและผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้พวกเขาเหล่านี้เกิดทักษะและความรู้ด้านดิจิทัลอย่างจริงจัง สู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ ที่จะยกอันดับ DQ ของไทยให้ดีขึ้น

เพิ่มทักษะ DQ ให้ วัยใส-วัยเก๋าของไทยได้อย่างไร ? 

จากภาพรวมทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ทักษะ DQ ของคนไทยยังอยู่ตำแหน่งรั้งท้ายของโลก และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนา เพื่อลดความเสี่ยงในการใช้งานโลกดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นมากทุกวัน ด้วยเหตุนี้ทาง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะ DQ ของคนไทย ก็ได้นำเอา DQ Framework ของ DQ Institue มาปรับเพื่อให้เข้ากับการดำเนินชีวิตของคนไทย โดยเน้นที่ระดับ Digital Citizenship และ Digital Creativity เนื่องจากคนไทยมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อการรับรู้ข่าวสาร และเพื่อการเผยแพร่คอนเทนต์เป็นหลัก 

และเพื่อยกระดับวิถีชีวิตของคนไทยด้วยดิจิทัล ให้สามารถท่องโลกออกนไลน์ และเสพสื่อได้อย่างรู้เท่าทันและสร้างสรรค์ ที่ผ่านมา ETDA ได้ดำเนินการผ่านโครงการ Internet for Better Life หรือ IFBL ที่จะเข้าไปช่วยให้เด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ ได้เข้าใจการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2561 ได้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมของโครงการ IFBL มากกว่า 5,000 คน ทั้งในพื้นที่ทั้งกรุงเทพฯ และในภูมิภาคอื่น ๆ และล่าสุด ได้พัฒนาเป็นหลักสูตร “การสร้างความตระหนักรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ต (Digital Citizen)” ซึ่งหลักสูตรนี้จะเจาะจงไปที่ กลุ่มเด็ก เยาวชน ระดับประถมปลายถึงมัธยมต้น อายุ 10-15 ปี และผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า กลุ่มนี้มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยต่อวันสูง และพบพฤติกรรมเสี่ยงในการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ไม่ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ซึ่ง ETDA ได้นำเอากรอบความคิดด้าน DQ มาวิเคราะห์ และปรับให้สอดคล้องกับพฤติกรรม วัฒนธรรม และสถานการณ์การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของคนไทย ซึ่งในหลักสูตรแบ่งได้ออกเป็นทั้งหมด 5 ด้าน เพื่อพัฒนาให้คนไทยเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • Digital Identity อัตลักษณ์ดิจิทัล: สร้างความตระหนักรู้ในการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ ให้เข้าใจ และระมัดระวังในการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์ 

  • Digital Use การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสม: สร้างความเข้าใจในการจัดสรรเวลาหน้าจอได้อย่างสมดุล และรับรู้ผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งกับตนเองและผู้อื่น

  • Digital Security การจัดการความปลอดภัยในโลกดิจิทัล: สร้างความตระหนักรู้ถึงพฤติกรรมเสี่ยงหรือความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นบนโลกดิจิทัล รวมทั้งสร้างความเข้าใจต่อประเด็นภัยคุกคามไซเบอร์ที่เป็นอันตรายต่อข้อมูล ระบบ และอุปกรณ์ รวมทั้งรู้จักวิธีหรือเครื่องมือเบื้องต้นที่จะช่วยป้องกัน และรับมือกับภัยคุกคามได้

  • Digital Literacy การรู้เท่าทันดิจิทัล: สร้างองค์ความรู้ให้เข้าใจความหลากหลายของข้อมูลบนโลกดิจิทัล ให้สามารถค้นหา วิเคราะห์ และเผยแพร่เนื้อหาที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายและจริยธรรม

  • Digital Communication การสื่อสารดิจิทัล: สร้างความเข้าใจถึงความสำคัญของผลกระทบจากการสร้างร่องรอยดิจิทัลทั้งทางบวกและลบ รู้จักเครื่องมือและวิธีการในการจัดการร่องรอยทางดิจิทัลที่ดี และการมีปฏิสัมพันธ์เพื่อสร้างความร่วมมือที่ดีบนโลกดิจิทัล

โดยหลักสูตรนี้จะนำไปใช้จัดอบรมทั้งในรูปแบบออฟไลน์ และออนไลน์ มีการบรรยายประกอบกับสื่อการเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้าใจในรูปแบบต่าง ๆ เช่น คลิปวิดีโอ อินโฟกราฟิก เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เข้าใจประเด็นต่าง ๆ อย่างง่ายดาย พร้อมมีการวัดผลก่อน-หลังอบรม เพื่อประเมินผลสำเร็จของการเรียนรู้ด้วย ซึ่ง ETDA ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงพื้นที่จัดอบรมแบบออฟไลน์ และเปิดการอบรมแบบออนไลน์ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และส่วนภูมิภาค อาทิ ภาคเหนือที่จังหวัดน่าน ภาคใต้ที่จังหวัดตรัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดนครพนม เป็นต้น นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี ETDA จะมีการนำเนื้อหาหลักสูตร “การสร้างความตระหนักรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ต (Digital Citizen)” พร้อมคู่มือการเรียนรู้สำหรับกลุ่มเป้าหมาย เผยแพร่ให้ผู้สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ด้วยตนเองได้ฟรี ผ่านช่องทางออนไลน์ของ ETDA อีกด้วย

และในระยะถัดไป ETDA ตั้งเป้าขยายความร่วมมือในการ นำหลักสูตรไปใช้ ผ่านเครือข่ายการดำเนินงานทุกภาคส่วน ทั้งภาคการศึกษา ภาคสังคม ชมรม หรือชุมชน ต่าง ๆ ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อยกระดับทักษะสู่พลเมืองดิจิทัลคุณภาพ 

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดตามรายละเอียดหลักสูตร Digital Citizen ได้ที่ช่องทางออนไลน์ของ ETDA ทั้งเว็บไซต์ทาง www.etda.or.th หรือโซเชียลมีเดีย อาทิ เพจเฟซบุ๊ก: ETDA Thailand หรือติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่ 02 123 1234


บทความนี้เป็น Advertorial


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...

Responsive image

กระทรวง AI : เมื่อ AI อันตรายเกินกว่าจะปล่อยไว้ โลกเร่งออกกฎควบคุม

AI กลายเป็นสิ่งที่ต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมาย และต้องถูกจับตาดูโดยหน่วยงานของรัฐบาลอย่าง ‘กระทรวง AI’ ที่มีอำนาจ และความสำคัญไม่แพ้หน่วยงานอื่น ๆ แต่ทำไม AI ต้องถูกควบคุมโดยรัฐบาล ? กร...