สตาร์ทอัพที่เริ่มต้นด้วยคนเพียง 2 คน สู่อาณาจักรไอทียักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ บทความนี้ Techsauce จะพาไปชมหลังม่านความสำเร็จของ ‘Kakao’ บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 24.7 ล้านล้านวอน หรือราว 6.7 แสนล้านบาทในปัจจุบัน และก้าวขึ้นสู่เวทีโลกอย่างสง่างาม
จุดเริ่มต้นของ Kakao เกิดขึ้นในปี 2010 ภายหลังจากการเปิดตัว iPhone สมาร์ทโฟนที่คิมบอมซู ผู้ก่อตั้ง Kakao เชื่อว่าจะเปลี่ยนการใช้งานโทรศัพท์มือถือธรรมดาไปตลอดกาล เขาและทีมงานจึงเริ่มพัฒนาแอปพลิเคชัน และได้เปิดตัวเปิดตัว Kakao Talk แอปพลิเคชันแชทแบบฟรีผ่านอินเทอร์เน็ตสัญชาติเกาหลีใต้
Kakao Talk ได้รับความนิยมสูงในเกาหลีใต้อย่างถล่มทลายภายในระยะเวลารวดเร็ว เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าบริการ เช่น WhatsApp ที่ต้องเสีย 0.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีหรือราว 35 บาทในขณะนั้น นำไปสู่ยอดผู้ใช้ Kakao Talk แตะหลัก 10 ล้านบัญชีภายในปีเดียวกัน
หนึ่งในคู่แข่งสำคัญของ Kakao Talk ได้แก่ Line จาก NHN Corporation (ปัจจุบันแยกตัวเป็น Naver) ซึ่งเป็นเจ้าของ Search Engine รายใหญ่ในเวลานั้น
แม้ศึกผู้นำแอปแชทในเกาหลีใต้ Line จะแพ้ Kakao Talk แต่ในฐานะ Search Engine หรือเครื่องมือค้นหา Naver ถือเป็นเสือนอนกินในเกาหลีใต้ ด้วยส่วนแบ่งในตลาดอันดับหนึ่งกว่า 70% ในปี 2014
แทนที่จะใช้เวลาหลายปีลงทุนไปกับการพัฒนานวัตกรรมใหม่เอง Kakao ได้เข้าซื้อ Daum Search Engine ที่มีส่วนแบ่งเป็นอันดับสองในเกาหลีใต้ รวมถึงได้ธุรกิจภายใต้ Daum ได้แก่ Daum Webtoon และ Daum Games (Kakao Webtoon และ Kakao Games ในปัจจุบัน) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ทั้งสองธุรกิจ
Kakao สามารถดึงจุดแข็งของ Search Engine มาพัฒนาธุรกิจ การโฆษณา ฐานข้อมูลต่างๆ เว็บตูน และระบบการค้นหา ที่จะเสริมการพัฒนาให้ Kakao สามารถเติบโตได้ทันในอนาคต ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และสามารถทำให้การใช้งานแต่ละบริการของ Kakao ทำได้แบบไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้น
และเพิ่มความสามารถการแข่งขันระหว่าง Naver และ Kakao ได้แก่ Kakao Maps vs Naver Maps และ Naver Webtoon (หรือ Line Webtoon ในประเทศไทย) vs Kakao Webtoon ที่ขยายตลาดเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Kakao ต้องการขยายฐานกลุ่มผู้ใช้งานและมีแนวคิดในการเจาะตลาดต่างชาติด้วย Kakao Talk ที่ประสบความสำเร็จสูงในประเทศเกาหลี
เริ่มต้นจากประเทศญี่ปุ่นที่มีคู่แข่งอย่าง Line เป็นผู้นำ แต่ต้องแพ้ไปเนื่องจาก Line เข้าใจกลุ่มผู้ใช้ในญี่ปุ่นมากกว่า ต่อด้วยการเข้าไปทำตลาดในประเทศจีน แต่ต้องพ่ายแพ้ให้กับ Wechat จาก Tencent หนึ่งในผู้ถือหุ้นหลักของ Kakao เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลจีนที่ไม่เอื้อให้กับแอปพลิเคชันต่างชาติ
Kakao ยังคงไม่ยอมแพ้ และขยายการให้บริการมายัง SEA ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและไทย แต่ไม่สามารถเจาะตลาดเหล่านี้ได้เลย เนื่องจากมีแอปแชทที่เป็นที่นิยมอยู่แล้วในภูมิภาค
การขยายตลาด Kakao Talk ที่ไม่ประสบความสำเร็จในตลาดต่างชาติเท่าที่หวังไว้ นำไปสู่โมเดลใหม่ในการขยายสู่ตลาดโกลบอลของ Kakao คือการลงทุนในธุรกิจบันเทิง เป็นเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนของเกาหลีใต้ก็ยังไม่เห็นภาพความสำเร็จในแนวทางนี้ แต่สิ่งนี้คือการตัดสินใจที่ถูกต้องและกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ Kakao
Kakao เริ่มต้นเจาะตลาด K-pop ที่ได้รับความนิยมสูง ด้วยการเข้าซื้อหุ้นกว่า 76.4% ของ Loen บริษัท Distributor ผู้ผลิตสื่อด้านวงการดนตรีรายใหญ่ของเกาหลีใต้ และเป็นค่ายของศิลปินชื่อดังอย่าง IU รวมถึงเป็นผู้ถือหุ้นหลักของค่ายเพลงดังอย่าง Starship และ ACube (IST ent. ในปัจจุบัน) รวมถึงเป็นผู้ให้บริการ Melon แพลตฟอร์มสตรีมมิงเพลงอันดับหนึ่งของเกาหลีใต้ Kakao ได้กลายเป็นผู้ควบคุมบริการสตรีมเพลง การผลิตสื่อและการกระจายสู่ตลาดรายใหญ่ของประเทศเกาหลี
นอกจากนี้ Kakao ขยายธุรกิจบันเทิงในมือไปสู่การลงทุนในค่ายผลิตละคร ภาพยนตร์ ได้แก่ Logos Film (ผู้ผลิต Vincenzo), Story and Picture Media (ผู้ผลิต Gyeongseong creature) และค่ายสำหรับดูแลนักแสดง ได้แก่ Awesome ent. (พัคซอจุน คิมยูจอง), BH ent. (อีบยองฮอน ฮันฮโยจู), Soop ent. (กงยู ซูจี กงฮโยจิน) และ ฯลฯ
ด้วยกระแสความนิยมของ Korean Wave ทำให้ Kakao ประสบความสำเร็จในการก้าวเข้าสู่ตลาดโกลบอลจากการเจาะตลาดบันเทิงในครั้งนี้ และได้ทำการปรับโครงสร้างบริษัท เปลี่ยนชื่อ Loen เป็น Kakao M รวมถึงควบรวม Kakao Page และ Kakao Webtoon เข้ากับ Kakao Entertainment สำหรับจัดการธุรกิจที่เกี่ยวข้องในด้านบันเทิงทั้งหมด
เกาหลีใต้มีค่านิยมในระบบอาวุโสเข้มข้น ทำให้การทำงานค่อนข้างขาดอิสระและเคร่งเครียด ผู้น้อยต้องยอมผู้ใหญ่อยู่เสมอ และสิ่งที่ทำให้ Kakao แตกต่างจากบริษัทอื่นในเกาหลีใต้ข้อหนึ่งคือระบบวัฒนธรรมองค์กรแบบก้าวหน้า
Kakao เสนอแนวทางที่ทำให้พนักงาน ไม่ต้องเรียกตำแหน่งกันแต่เรียกกันด้วยนามแฝงภาษาอังกฤษ เหมือนกับชาติตะวันตกที่เวลาเรียกพี่น้องไม่จำเป็นต้องใส่คำว่าพี่หรือน้องเข้าไปต่อท้าย และให้ทุกคนให้ความเคารพซึ่งกันและกันไม่ว่าจะเด็กกว่าหรือทำงานมามากกว่าก็ตาม ซึ่งในส่วนของคิมบอมซู เลือกใช้นามแฝงว่า ไบรอัน และพนักงานทุกคนใน Kakao ล้วนเรียกเขาแบบนี้และไม่ต้องมีประธานนำหน้าแต่อย่างใดๆ
ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เคร่งเครียดเกินไปและเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่สามารถพูด ทำ ตัดสินใจและรับฟังซึ่งกันและกันได้ ทำให้ Kakao สามารถดึงคนรุ่นใหม่มาพัฒนาบริษัท และกลายเป็นบริษัทที่ชาวเกาหลีใต้อยากร่วมงานด้วยมากที่สุดในปี 2019
และด้วยปัญหาระบบอาวุโสที่เข้มข้นในสังคมการทำงานของเกาหลีใต้ และความสามารถในการพาบริษัทสตาร์ทอัพเล็ก ๆ ให้กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ Kakao ได้กลายเป็นต้นแบบในการสร้างซีรีส์ Search: WWW (2019) เพื่อเป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้ที่เริ่มต้นและต้องการจะก้าวหน้าจากผู้เล่นเบอร์รองไปสู่อันดับหนึ่งให้ได้
Kakao กลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตของคนในประเทศ ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็จะต้องเจอกับธุรกิจจาก Kakao สักหนึ่งอย่าง ตัวอย่างเช่น
ในอนาคต Kakao มีแนวโน้มเติบโตในระดับโลกมากขึ้น เริ่มต้นที่บริษัทลูกของ Kakao Entertainment อย่าง Tapas บริษัทผู้ผลิตและเผยแพร่เว็บตูนที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ มีแผนจะ IPO ในสหรัฐอเมริกา
และการเข้าซื้อหุ้นในค่าย SM entertainment ทำให้ Kakao กลายเป็นผู้ที่หุ้นใหญ่และก้าวมามีบทบาทในการบริหารค่ายอันดับหนึ่งของเกาหลีใต้ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลและความสามารถในการเติบโตที่ยังไม่หยุดยั้ง
Kakao คือปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังแห่งนวัตกรรม กลยุทธ์อันชาญฉลาด และวัฒนธรรมองค์กรที่ขับเคลื่อนอนาคต และคาดว่า Kakao จะยังคงเติบโตและขยายธุรกิจไปสู่ตลาดโลกอีกมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในวงการบันเทิงและสื่อใหม่ ๆ ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน
อ้างอิง: ft.com, longtunman, shs-conferences, bloomberg, theegg, bloomberg, asianews, bloomberg, marketeeronline
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด