เจาะกลยุทธ์การบริหารองค์กรชั้นนำ ด้วย ‘Digital Transformation’ ให้ได้ผลลัพธ์สูงสุด | Techsauce

เจาะกลยุทธ์การบริหารองค์กรชั้นนำ ด้วย ‘Digital Transformation’ ให้ได้ผลลัพธ์สูงสุด

เนื่องจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีทำให้ผู้บริหารในหลายองค์กรไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ตัดสินใจปรับเปลี่ยนองค์กรให้สอดรับกับเทคโนโลยีมากขึ้น โดยมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานต่างๆ ในองค์กรด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กับทุกภาคส่วนของธุรกิจ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามการใช้งาน ทำให้องค์กรสามารถสนองความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าได้ตรงจุดมากกว่าเดิม ‘Digital Transformation’ จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญในการเสริมสร้างการดำเนินงาน วัฒนธรรม และกรอบความคิดขององค์กรในยุคปัจจุบัน

ในงาน Techsauce Global Summit 2017 มีเสวนากลุ่มของ 4 ผู้บริหารองค์กรชั้นนำที่ให้ความสำคัญกับ Digital Transformation ไม่ว่าจะเป็น Dr.Chet Yong ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายนวัตกรรม อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ดร.จาชชัว แพส กรรมการผู้จัดการ AddVentures by SGC Alvin Ng ผู้จัดการทั่วไป GE Digital และ Ben Richardson ผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์ PwC Ventures และผู้ร่วมก่อตั้ง Future Assembly โดยมี Bart Bellers ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Atum Consulting เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ในหัวข้อ เจาะกลยุทธ์การบริหารองค์กรด้วย ‘Digital Transformation’ ให้ได้ผลลัพธ์สูงสุด (Leading Digital Transformation: Re-engineering organizational culture, mindset and governance for the Exponential Age) Bart Bellers เปิดวงเสวนาด้วยแนวคิดที่น่าสนใจว่า เรากำลังอยู่ในยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบเนื่องจากทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างสะดวกสบาย ยุคนี้จึงกลายเป็นยุคที่ทุกคนสามารถ Disrupt หรือการสร้างผลกระทบต่อเทคโนโลยี นวัตกรรม และธุรกิจต่างๆ ได้ไม่ยากอีกต่อไป การปฏิวัติทางธุรกิจจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และองค์กรทั้งหลายต้องหันมาพัฒนากระบวนการทำงานให้มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้นผ่านการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งนอกจากจะเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าแล้วยังต้องสามารถต่อกรกับคู่แข่งทางธุรกิจได้อีกด้วย

องค์กรในปัจจุบันประกอบด้วยพนักงานที่มีภูมิหลังและอายุต่างกัน Alvin Ng ยกตัวอย่างว่า ใน GE เองนั้นมีผู้คนหลากหลายวัยเข้ามาทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น Gen Z หรือ Millennials สิ่งที่สำคัญคือต้องทำให้คนในองค์กรเข้าใจทิศทางการดำเนินงานขององค์กรที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมคือการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ แต่เปลี่ยนแนวคิดการทำงานให้เป็นเหมือนบริษัทสตาร์ทอัพ กล่าวคือ ให้ความสำคัญว่าลูกค้าต้องการอะไรก่อนจะนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าต้องการใช้งานจริง โดยใช้ Design Thinking หรือกระบวนการคิดที่ทำความเข้าใจปัญหาต่างๆ อย่างลึกซึ้งโดยให้ผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง และนำเอาความคิดหรือความรู้ของหลากบุคคลมาพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ได้นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานจริงมากที่สุด

ด้าน ดร.จาชชัว แพส เสริมว่าการเริ่มต้น Digital Transformation ที่ดีนั้นจะต้องเริ่มจากการสรรหาบุคลากรที่มีกรอบความคิดแบบชาวสตาร์ทอัพ บริษัทของเขาจึงให้ความสำคัญกับทีม HR เป็นอย่างมาก ด้วยเหตุผลดังกล่าว AddVentures จึงมีทีม HR เป็นของตัวเอง แม้ว่า AddVentures จะเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรขนาดใหญ่อย่าง SCG ก็ตาม ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรที่ชัดเจน ทำให้การทำงานเป็นไปได้ง่ายขึ้นเพราะเป้าหมายหรือความคาดหวังของบริษัทไม่ได้เป็นเรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายในองค์กรต้องเข้าใจและเดินหน้าไปด้วยกัน นอกจากนี้ การสื่อสารภายในองค์กรก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วย ซึ่ง Dr.Chet Yong เสนอว่า ทุกคนในองค์กรควรเข้าใจหน้าที่และความสำคัญที่ตนเองมีต่อองค์กร ซึ่งหลายครั้งเรามักพูดถึงเครื่องมือหรือกระบวนการต่างๆ เท่านั้น โดยลืมไปว่าทุกคนควรได้รับทราบถึงที่มาที่ไปของจุดประสงค์ การเปลี่ยนแปลง และนวัตกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในองค์กรโดยทั่วกัน

“พวกคุณมีกลยุทธ์อย่างไรในการทำให้ธุรกิจของคุณดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด?” Bart สอบถามเพิ่มเติมถึงแนวคิดการบริหารงานของผู้บริหารทั้ง 4 คน ในยุค Digital Transformation  

ทุกคนต่างลงความเห็นเหมือนกันว่า การเปลี่ยนแปลงหรือ Disruption การปฏิบัติงานภายในองค์กรคือสิ่งที่สำคัญที่สุด โดย ดร.จาชชัว ยกตัวอย่างไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า แทนที่จะสร้างทีมที่มีสมาชิก 10 คน เขาเลือกที่จะแบ่งสมาชิก 10 คนนั้นเป็น 3 ทีม แล้วดูว่าทีมไหนสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ดีที่สุด  และการสร้าง Digital Transformation ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น อาจไม่จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนทุกส่วนของทั้งองค์กร หากแต่กลุ่มคนที่เหลือต้องเข้าใจและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

เช่นเดียวกับหลายบริษัทที่เปลี่ยนแปลงภายในองค์กรและประกาศตัวว่าเป็น Tech Company อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ก็เช่นเดียวกันที่เลือกเปลี่ยนแปลงองค์กรจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์เป็นบริษัท Tech Company รายแรกของประเทศไทย พร้อมเปิดตัว Ananda UrbanTech ในฐานะแหล่งรวมโซลูชัน นวัตกรรม และเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของคนเมือง

ผู้ดำเนินการเสวนาถามต่อว่า “พวกคุณตอบรับ Digital Transformation อย่างไรบ้าง?” 

Ben Richardson ตอบอย่างหนักแน่นว่า องค์กรต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น เพราะในความเป็นจริงนั้น การจะทำงานให้ได้ผลลัพธ์ออกมา 100% ทุกครั้งเป็นไปได้ยากมาก วิธีการขององค์กรหรือผู้บริหารในการปฏิบัติต่อความผิดพลาดจึงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ดังนั้นสิ่งที่องค์กรควรทำคือ เรียนรู้ความผิดพลาด นำมาปรับปรุงแก้ไข และเดินหน้าต่อไป

Alvin Ng เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวและเสริมว่า ที่ GE นั้น แนวคิดนี้เรียกว่า ‘The Speed’ หรือ The speed to fail คือ การตั้งรับความล้มเหลว ในฐานะองค์กรหรือสมาชิกขององค์กร ทุกฝ่ายควรพร้อมรับมือกับสิ่งนี้ และถ้าหากความล้มเหลวเกิดขึ้นจริง ทุกฝ่ายจะต้องไม่จมอยู่กับมัน แต่จะต้องลุกขึ้นและพลิกวิกฤตเป็นโอกาสให้ได้ นอกจากนี้ การที่องค์กรเข้าใจและพร้อมยอมรับความผิดพลาดจะทำให้บุคลากรไม่กลัวที่จะสร้างสรรค์เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

สุดท้าย Bart ขอให้ผู้บริหารทั้ง 4 คนแนะนำสุดยอดเคล็ด (ไม่) ลับในการทำ Digital Transformation ของแต่ละองค์กร

Ben Richardson : ให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้าเสมอ และสร้างผลิตภัณฑ์จากสิ่งนั้น Alvin Ng : ให้เกิดความสงสัย - สงสัยว่าเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงหรือยกระดับ Digital Transformation ได้อย่างไรบ้าง และให้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เรียบง่ายซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ดร.จาชชัว แพส : ให้เรียนรู้จากความผิดพลาด Dr.Chet Yong : สิ่งสำคัญคือ การรู้จักตนเอง หมายถึง องค์กรควรจะรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่สามารถทำได้หรือทำไม่ได้ เพราะแท้จริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงมักจะเกิดขึ้นจากภายในองค์กรก่อนเสมอ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรต้องรู้จักตนเอง

เพราะเทคโนโลยีคือสิ่งที่สามารถพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาไม่สิ้นสุด Digital Transformation จึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องการปรับเทคโนโลยีให้เข้ากับองค์กรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ถึงเวลาแล้วที่องค์กรเองจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน เพื่อนำมาสู่สิ่งที่ดีที่สุดในอนาคต ทั้งสำหรับองค์กร บุคลากร และลูกค้า

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image
Responsive image

9 ทักษะดิจิทัล ปี 2024 สร้างมูลค่าให้บริษัทด้วย Tech Skills แห่งอนาคต

ทักษะดิจิทัล หรือทักษะด้านเทคโนโลยี (Tech Skills) ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและแม่นยำ ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด...

Responsive image

AI ล้ำหน้าหรือภัยอนาคต? แล้วมนุษย์จะเป็นผู้ล่าหรือเหยื่อ | Tech for Biz EP.17

ในยุคที่ AI เติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีการคาดการณ์ว่ากว่า 300 ล้านตำแหน่งจะหายไป คำถามคือ คุณจะยืนอยู่ฝ่ายไหนระหว่างเหยื่อที่ถูกแทนที่ หรือนักล่าที่ใช้ AI เป็นเครื่องมือ? แล้วต้องปรับต...