Work-Life Balance? 4 วิธีเปลี่ยนโหมดเวลาทำงานมาเป็นเวลาส่วนตัวในช่วงทำงานที่บ้าน

แปลและเรียบเรียงข้อมูลจาก How to Transition Between Work Time and Personal Time โดย Elizabeth Grace Saunders จาก Harvard Business Review 


การที่คุณนั่งทำงานอยู่บนโต๊ะทำงานไม่ได้หมายความว่าความคิดของคุณจะอยู่กับปัจจุบันขณะ คุณอาจจะนั่งทำงานอยู่ก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะคิดถึงเรื่องที่ว่าคุณจะทำการต่อเติม ปรับแต่งบ้านอย่างไรดี มากกว่างานที่มีอยู่ในมือ หรือในระหว่างรับประมานอาหารค่ำกับคนในครอบครัว คุณอาจจะคิดถึงเรื่องรายงานที่ยังไม่ได้ทำให้เสร็จเรียบร้อยก็ได้ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมการเปลี่ยนจากโหมดการทำงานงานมาเป็นโหมดส่วนตัวนั้นเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ ที่มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะต้องทำงานในช่วงกักตัวทำงานที่บ้าน คุณต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษ เพราะคุณไม่สามารถเผชิญกับสภาพแวดล้อมหรือการเปลี่ยนแปลงตามบริบทของธรรมชาติได้เหมือนอย่างแต่ก่อน

Elizabeth Grace Saunders ผู้เป็นโค้ชด้านการบริหารจัดการเวลา เขียนใน Harvard Business Review ถึงวิธีที่เธอใช้ในการจัดการความฟุ้งซ่าน และอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น ทั้งในเวลาทำงานและในช่วงที่กำลังเพลิดเพลินไปกับเวลาส่วนตัว เรามาดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง

1. มีกิจวัตรก่อนเริ่มทำงาน

แม้ว่าคุณจะทำงานที่บ้านก็ตาม แน่นอนล่ะว่าคุณจะต้องมีกิจวัตรที่ทำเป็นประจำในช่วงเช้า อย่างเช่น การอาบน้ำ ชงกาแฟ ปิดไฟรอบบ้าน ออกกำลังกาย ไปจนถึงการทำงานที่โต๊ะทำงานอย่างเหมาะสม ไปจนถึงการเริ่มเช็คอีเมล อะไรก็ตามที่คุณคิดว่าเหมาะสมกับคุณ พยายามทำกิจกรรมเหล่านั้นด้วยวิธีเดียวกันในทุกวัน การทำแบบนี้จะทำให้สมองของคุณจดจำได้ว่า นี่แหละคือช่วงเวลาที่ "ฉันจะเริ่มทำงาน" แล้ว

2. วางแผนการทำงาน

ในการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและความชัดเจน ทั้งในการทำงานและในเวลาส่วนตัวนั้น ให้วางแผนว่าในแต่ละวันจะทำอะไรบ้าง อย่างเช่น การประชุม จัด time slot ที่ชัดเจนว่าแต่ละ task หรือเวลาในการทำงานแต่ละโปรเจกต์ การตอบอีเมล จะสิ้นสุดเมื่อไร รวมไปถึงการวางแผนเวลาหลังเลิกงานด้วยว่าคุณจะทำอะไรเพื่อเป็นการผ่อนคลาย 

การที่คุณรู้ว่าการทำแต่ละสิ่งนั้นจะต้องใช้เวลาเท่าไร ในช่วงไหนบ้าง จะช่วยทำให้คุณรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องทำงานในช่วงเวลาส่วนตัว

ช่วงที่คนส่วนใหญ่ทำการวางแผนในแต่ละวันก็คือในช่วงเช้าหรือช่วงก่อนนอน ลองเลือกเวลาที่ดีที่สุดสำหรับคุณแล้วทำการสร้าง time slot เตือนความจำตัวเองใน calendar เพื่อสร้างสิ่งนี้ให้เป็นนิสัย

3. จัดลำดับความสำคัญของการสื่อสาร

จริงๆ มันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ถ้าในระหว่างเวลางานคุณอาจจะมีการสื่อสารเรื่องส่วนตัวกับคนใกล้ตัว และบางครั้งก็อาจจะมีการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานนอกเวลางานก็ได้ อย่างไรก็ตาม ให้ลองจัดลำดับความสำคัญของการสื่อสารตามบริบทดู

ในระหว่างเวลางานที่คุณจำเป็นต้องใช้สมาธิในการทำงาน พยายามลดการสื่อสารกับคนใกล้ชิดที่จะเป็นการคุยเรื่องอื่นนอกเหนือจากเรื่องงาน อย่างเช่น คุณอาจจะแบ่งเวลาในระหว่างวันสักสองสามครั้งในการตอบข้อความที่ไม่เร่งด่วน หลีกเลี่ยงการใช้โซเชียลมีเดีย เช่นเดียวกันหลังจากเวลาเลิกงานให้ทำตรงกันข้าม คือไม่แตะอะไรที่เกี่ยวข้องกับงานถ้าไม่จำเป็น

สิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้คุณสามารถใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังจะช่วยให้จิตใจของคุณอยู่กับปัจจุบันทั้งในชีวิตการทำงานและในชีวิตส่วนตัวอีกด้วย

4. สรุปกิจวัตรประจำวันก่อนเลิกงาน

เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่าคุณจะสามารถปิดโหมดการทำงานของตัวเองได้อย่างแท้จริงในช่วงค่ำ ลองทำการสรุปกิจวัตรของตัวเอง อาจจะเป็นในช่วง 30 นาทีก่อนเวลาเลิกงาน ตรวจสอบตัวเองดูว่าคุณได้ตอบอีเมลที่สำคัญไปเรียบร้อยแล้ว ได้ทำงานที่สำคัญเสร็จเรียบร้อย แต่ถ้ามันไม่เป็นไปตามนั้น หากคุณจำเป็นต้องทำงานต่อในช่วงกลางคืน กำหนดเวลาการทำงานให้ชัดเจนว่าจะทำงานจนถึงเมื่อไร

อย่างเช่น คุณอาจจะลองกำหนดว่า "ฉันจะใช้เวลาในการตรวจสอบ proposal นี้ประมาณหนึ่งชั่วโมงหรือไม่เกินไปมากกว่านี้ และจะทำในเริ่มเวลา 20:00 น." เป็นต้น เหตุผลในการที่คุณควรจะตั้งเวลาให้เฉพาะเจาะจงในการทำงานก็คือ คุณจะได้ไม่ต้องมาคอยนั่งพะวงในตลอดช่วงเย็นหรือหัวค่ำ ว่าคุณควรจะทำงานบางอย่างให้เสร็จ โดยไม่มีความรู้สึกชัดเจนว่าคุณจะทำอะไรและจะทำเมื่อไร เมื่อคุณมีวัตถุประสงค์และกรอบเวลาการทำงานที่ชัดเจน เมื่อถึงเวลาที่ควรจะหยุดทำงาน ความคิดของคุณก็จะสามารถตัดการเชื่อมต่อกับการทำงานได้อย่างอัตโนมัติ

การมีความใจจดใจจ่อกับบางสิ่งนั้นอาจจะต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษในบางครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางความไม่แน่นอน (อย่างมาก) ในช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม หากคุณลองทำตามเคล็ดลับเหล่านี้ มันก็เป็นไปได้ที่คุณจะสามารถรู้สึกใจจดใจจ่อหรืออยู่กับปัจจุบันขณะได้มากขึ้นไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะในเวลางานหรือในเวลาส่วนตัวก็ตาม

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Noland Arbaugh มนุษย์คนแรกที่ควบคุมคอมพิวเตอร์ด้วยความคิดผ่าน Neuralink

Noland Arbaugh วัย 30 ปี เป็นผู้ป่วยรายแรกของ Neuralink ได้ออกมาเล่าถึงประสบการณ์หลังการฝังชิปลงสมองในพอดแคสต์ของ Joe Rogan พอดแคสเตอร์ผู้โด่งดังในสหรัฐฯ...

Responsive image

ปฐมา จันทรักษ์ ฝาก 5 ข้อถึงผู้หญิง สู่ตำแหน่ง 'ผู้นำ' ในงาน EmpowerHer Asia LEADERSHIP FORUM 2025

สรุปจากที่คุณปฐมา จันทรักษ์ Country Managing Director, Accenture Thailand กล่าวในงาน 'EmpowerHER ASIA LEADERSHIP FORUM 2025, BRIDGING THE LEADERSHIP GAP IN TECH' เวทีสนับสนุนและส่ง...

Responsive image

คมความคิดของผู้หญิงสายเทค และความท้าทายที่ต้องเผชิญ จากงาน SCBX Tech Horizon EP15

สรุปแนวคิดผู้นำที่เป็นผู้บริหารหญิงจากงาน SCBX Tech Horizon EP15 ช่วง Panel Session : Breaking Barriers & Leading the Future เวทีที่เจาะลึกความท้าทายของผู้หญิงในบทบาทการบริหารกลยุท...