Innovation Club Thailand จัด Strategic Virtual Board Dinner ครั้งแรกของปี 2022 ในวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (BDMS) เป็นเจ้าภาพ รวมผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรที่อยู่ใน Ecosystem มาร่วมสนทนาเกี่ยวกับปัญหา ทางแก้ และอนาคตของธุรกิจ Startup ไทย รวมถึงการสร้างให้ไทยเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม เพื่อสานต่อจุดประสงค์และอุดมการณ์ของคลับ
Innovation Club: Thailand Scale-up Nation หรือ คลับ (Club) แบบไม่เป็นทางการของผู้นำระดับสูงจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา รวมถึงนักลงทุน ที่มาร่วมพบปะพูดคุย แสดงความคิดเห็น และแชร์ประสบการณ์ เพื่อออกแบบระบบนิเวศผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Ecosystem) พัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เป็นรูปธรรม เร่งเครื่องให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นประเทศสเกลอัพ และร่วมผลักดัน Startup ของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันและขยายกิจการ (Scale-up) ไปได้ถึงระดับโลก
ในปี 2022 นี้ ทางคลับได้จัด Strategic Virtual Board Dinner ครั้งแรก ในวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (BDMS) เป็นเจ้าภาพ รวบรวมทั้งผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งจากทางภาครัฐและเอกชน นักกฎหมาย เจ้าของธุรกิจ Startup รวมถึงนักลงทุน เข้าร่วมพูดคุยสนทนาพร้อมทานอาหารค่ำร่วมกันในรูปแบบ Virtual โดยเนื้อหาการสนทนาส่วนใหญ่นั้นเป็นการอัปเดตความคืบหน้าในปีที่ผ่านมา กับการสานต่อภารกิจในการผลักดันให้ไทยเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม รวมถึงพัฒนา Ecosystem ของประเทศให้รองรับกับการเติบโตของธุรกิจ Startup
คุณชานนท์ เรืองกฤตยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Ananda Development PCL และเลขาธิการ Innovation Club ได้กล่าวถึงปัญหาใหญ่ที่ธุรกิจ Startup ในไทยกำลังเผชิญ นั่นก็คือยังไม่สามารถสร้าง Ecosystem ให้เกิดขึ้นได้ เพราะการลงทุนในธุรกิจประเภทนี้ยังไม่มีไม่สูงพอ ส่งผลให้เม็ดเงินที่มาจากธุรกิจ Startup นั้น ไม่ได้มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตมากนัก ด้วยเหตุผลนี้เองจึงเป็นที่มาของภารกิจที่ Innovation Club จะต้องร่วมด้วยช่วยกัน
“Innovation Club จึงมี Passion และ Mission ที่จะทำยังไงให้ประเทศไทยเติบโต จะทำยังไงให้เรามี S-curve ใหม่ ๆ ท่ามกลางการลงทุนใน Startup ที่ต่ำมาก ๆ Massive Transformative Purpose ของเรา คือต้องการเร่งการเติบโตระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมในไทยในฐานะทีมที่เป็นหนึ่งเดียวกัน”
ในมุมมองของการร่างกฎหมายเพื่อธุรกิจ Startup ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพและอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายก ร่วมกับ ดร.อภิชน จันทร์เสน นักกฎหมายกฤษฎีกา จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดประเด็นสนทนาสำคัญนี้
โดยดร.กอบศักดิ์มองว่ากฎหมายนั้นเหมือนเป็นรากฐานสำคัญที่จะผลักดัน Startup ได้
“กฎหมายและกฎระเบียบเป็นสิ่งสำคัญในการสร้าง Ecosystem ให้กับ Startup ถือเป็นรากฐานที่สำคัญ เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากให้ Startup ไปได้ไกล เราต้องจัดการเรื่องกฎหมายให้เรียบร้อย”
สำหรับ ดร.อภิชน ในฐานะตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้กล่าวถึงความคืบหน้าและแนวทางการร่างกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจ Startup เพื่อลดอุปสรรคของการทำธุรกิจ โดยความคืบหน้าสำคัญหนึ่งคือ ข้อเสนอปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการกำกับดูแลองค์กรทางธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ Startup ที่คณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย (กกร.) ยื่นมายังคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น ผ่านการเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยปัจจุบันทางคณะกรรมการพัฒนากฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งทำงานเพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค เช่น มาตรา 1102 ที่ห้ามมิให้บริษัทจำกัดชักชวนประชาชนให้ซื้อหุ้น เป็นต้น
นอกจากนั้นดร.อภิชน ยังได้กล่าวถึงแนวทางการออกกฎหมาย Startup โดยตรงด้วย ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงวิเคราะห์แนวทางและความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น
ในช่วงสุดท้าย ดร.อภิชน ได้รายงานความคืบหน้าสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเป็นข่าวดีของธุรกิจ Startup นั่นก็คือการยกเว้น Capital Gains Tax ให้กับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา
ติดตาม กฎหมายยกเว้น Capital Gains Tax ใช้ได้จริงตอนไหน ใครได้ประโยชน์บ้าง ? : Link
คุณจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการสายระดมทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวถึงการดำเนินนโยบาย Capital Market For All ซึ่งเป็นนโยบายที่ต้องการตลาดทุนเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ต่อทุกธุรกิจ แน่นอนว่ารวมถึงกลุ่ม SME และ Startup ด้วย โดยได้จัดทำนโยบายการระดมทุนไม่ว่าจะเป็น
หรือ Private Placement ที่อนุญาตให้กิจการสามารถออกเสนอขายหุ้นหรือหุ้นกู้แปลงสภาพ กับผู้ลงทุนในวงจำกัดได้โดยตรง โดยที่ไม่ต้องยื่นขออนุญาตจากก.ล.ต. ทำให้สะดวกรวดเร็ว ต้นทุนต่ำ และเป็นประโยชน์กับผู้ลงทุนที่เข้ามาถือหุ้นด้วย
การระดุมทุนประเภทนี้ ก.ล.ต. ได้ทำการผ่อนปรนให้ SME หรือ Startup สามารถระดมทุนในวงกว้างได้ และนำหุ้นไปจดทะเบียนซื้อขายใน LiVE Exchange ซึ่งเป็นตลาดที่ตลาดหลักทรัพย์เปิดขึ้นมาใหม่ ที่จะเปิดบริการวันที่ 31 มีนาคมนี้
Startup สามารถใช้วิธีระดมทุนจากกลุ่มคนจำนวนมากได้ โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาติ อย่างไรก็ตาม ต้องขายผ่าน Crowdfunding Portal ที่ได้รับความเห็นชอบจากก.ล.ต. เท่านั้น และในกรณีขายหุ้น ต้องยึดหลัก All or Nothing หมายความว่าหากไม่สามารถระดมทุนได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ ต้องยกเลิกและคืนเงิน
สามารถระดมทุนได้ด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัล โดยต้องเสนอขายผ่าน ICO Portal ที่ได้รับความเห็นชอบจากก.ล.ต.
คุณดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้กล่าวถึงมาตรการและนโยบายต่าง ๆ ที่ทางสำนักงานได้ออกมา เพื่อส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันและการลงทุนในธุรกิจ Startup และการส่งเสริมให้เกิดการใช้นวัตกรรมในประเทศ เพื่อให้แข่งขันได้ และสร้างความยืดหยุ่นมากขึ้น
โดยมีหลากหลายมาตรการที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยี การออกประเภทกิจการใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน รวมถึงออกมาตรการกระตุ้นการลงทุน ปี 2565 โดยหากมีเงินลงทุนจริงไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ภายใน 12 เดือนหลังออกบัตรส่งเสริม จะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ เป็นต้น ทั้งนี้ต้องเป็นกิจการที่อยู่ในเงื่อนไขที่กำหนด
นอกจากนั้นยังมีการปรับสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนหรือการใช้จ่ายด้านวิจัยพัฒนา (Research & Development) โดยเฉพาะในส่วน Merit-based Incentives เช่น หากมีการลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายข้างต้นรวมกันไม่น้อยกว่า 1 % ของยอดขายทั้งหมดในสามปีแรก หรือไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มเติมอีก 1 ปี
ยังมีการออกมาตรการเพื่อสนับสนุน Supply Chain ในประเทศด้วย เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี เป็นสัดส่วน 50% ของเงินที่ลงทุนในระบบอัตโนมัติ นอกจากนั้นยังมีนโยบายที่ส่งเสริมด้านความยั่งยืนออกมา เช่น การส่งเสริมให้ธุรกิจติดตั้งแผงโซลาร์เซล ซึ่งสามารถขอรับการยกเว้นภาษีเงินได้ ได้เช่นกัน
และสุดท้าย ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ยังได้ออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้วย โดยสนับสนุนให้ภาคเอกชนจัดตั้งสถาบันเพื่อพัฒนาบุคลากรทักษะสูง และจะมีมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้เช่นกัน นอกจากนั้น คุณดวงใจยังได้กล่าวถึงการออก Smart Visa และ Long Term Resisdent Visa ในอนาคตด้วย เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะจากต่างประเทศเข้ามา
ในเซสชั่นนี้ Mr.Siim Saare Founder, SingularityU Estonia and Founding Partners, Health Founders ได้ร่วมเผยแนวทางการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล และข้อมูล ในการพัฒนาระบบสาธารณสุข ซึ่งเป็นกรณีศึกษาจากประเทศเอสโตเนีย ประเทศที่มี Unicorn อยู่ถึง 7 ตัว
โดย Mr.Siim กล่าวว่าความสำเร็จของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของเอสโตเนียนั้น เริ่มจากเริ่มจากภาครัฐไปยังภาคเอกชน โดยการบริการในประเทศเกือบทั้งหมดอยู่บนระบบดิจิทัล และประชาชนสามารถเข้าถึงมันโดยใช้บัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีถือเป็น DNA ของเอสโตเนียเลยก็ว่าได้ และ Digital Healthcare หรือ e-Health ก็เป็นกุญแจสำคัญหนึ่งในนั้น
Mr.Siim ได้เผยถึงระบบที่ถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของการใช้งานดิจิทัลของภาครัฐ ซึ่งเรียกว่า X-Road เป็นโครงข่ายที่เชื่อมโยงและโอนถ่ายข้อมูลระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งรัฐบาลเอสโตเนียเริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 2001 โดย Mr.Siim เล่าว่า X-road นั้นเป็นพื้นฐานของงานบริการกว่า 3,000 รูปแบบ และมี Transaction บนระบบมากกว่า 1.3 พันล้านต่อปี นอกจากนั้นยังช่วยลดชั่วโมงการทำงานได้มากกว่า 3 ล้านชั่วโมงต่อปี
“ผู้คนไม่ต้องเดินทางมาที่หน่วยงานของรัฐเพื่อยื่นเอกสาร แพวกเขาสามารถทำทุกอย่างในรูปแบบดิจิทัล รวมไปถึงการจ่ายภาษี บริการด้านสุขภาพ ”
โดยพลเมืองเอสโตเนียทุกคนมีการบันทึกประวัติสุขภาพของตัวเองบนออนไลน์ ซึ่งมีความปลอดภัยสูงและเชื่อมโยงทุกบริการสุขภาพในประเทศเข้าด้วยกัน เช่น เมื่อเราไปพบแพทย์และแพทย์ต้องการจะสั่งจ่ายยา ใบสั่งจ่ายยานั้นจะอยู่บนระบบออนไลน์ สิ่งที่เราต้องทำก็เพียงเดินไปร้านขายยา และยื่นบัตรประชาชนให้กับร้านค้า และรอรับยาเท่านั้น
ในเซสชั่นนี้ ได้รับเกียรติจาก Mr. Stéphane Panyasiri, Co-Founder และ CEO ของ NFT 1 บริษัท Web 3.0 และเทคโนโลยี Blockchain มาร่วมสนทนา ถึงโอกาสของธุรกิจในโลก Metaverse และ Web 3.0
โดย Mr. Stéphane เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงการเกิดขี้นของ Metaverse และ Web 3.0 นอกจากนั้นยังกล่าวว่าปัจจุบันเรายังอยู่ในจุดที่เป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีเหล่านี้เท่านั้น และเชื่อว่าหากได้รับการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือจากองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในระบบนิเวศธุรกิจ NFT 1 จะสามารถสร้าง Ecosystem ของการใช้งาน Web 3.0 ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยได้ โดย Mr. Stéphane มองเห็นโอกาสในประเทศไทยเป็นอันดับต้น ๆ เลยทีเดียว และเชื่อว่าจะขยายออกไปสู่ภูมิภาคได้
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด