ในช่วงที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง เกิดความผันผวนในตลาดเงิน ตลาดทุน รวมถึงตลาดคริปโทฯ อย่างต่อเนื่องจากความกังวลต่อโอกาสในการเกิดเศรษฐกิจถดถอย ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ ส่งผลให้ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) เพื่อชะลอความรุนแรงของการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าและบริการ ที่มีสาเหตุมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และราคาพลังงานที่ได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศสหรัฐฯ ที่กำหนดโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด (Federal Reserve Board) ถือว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก เรียกได้ว่าการค้า การนำเข้า การส่งออก การลงทุน หรือบริษัทชั้นนำส่วนใหญ่ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับประเทศสหรัฐฯ อย่างมีนัยยะ ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินและการคลังของสหรัฐฯ จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องและมีถ้อยแถลงถึงความกังวลต่อสถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังไม่คลี่คลายส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกชะลอการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อรอดูท่าทีความชัดเจนในอนาคต เมื่อพิจารณาจากประวัติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดนั้นจะพบว่าในปี 2022 ที่ผ่านมามีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วถึง 6 ครั้ง คิดเป็น 375 Basis point หรือ 3.75% นับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากในรอบหลายปี
เมื่อมาดูภาพรวมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีผ่าน NASDAQ Composite Index ที่เป็นดัชนีสะท้อนราคาหุ้นของบริษัทในสหรัฐฯ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นหุ้นบริษัทเทคโนโลยีและกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย โดยมีตัวอย่างบริษัทที่มีชื่อเสียงอย่าง Apple, Microsoft, Amazon, Meta (Facebook), Alphabet (Google), Tesla และ Nvidia โดยนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2022 ภาพรวมดัชนีปรับตัวลดลงกว่า 33.18%
สาเหตุแรกที่บริษัทเทคโนโลยีมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นเพราะว่าหุ้นบริษัทเทคโนโลยีส่วนใหญ่ “ราคาแพง” จากความคาดหวังของนักลงทุน ถึงการเติบโตในอนาคตของบริษัท โดยปกติมักจะถูกวัดด้วยอัตราส่วนทางการเงินที่ชื่อว่าอัตราส่วนราคาหุ้นเทียบกับกำไรต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า P/E หรือสามารถใช้การเปรียบเทียบมูลค่าปัจจุบันของบริษัทกับกำไรสุทธิของบริษัทได้เช่นเดียวกัน ว่าจากราคาปัจจุบันต้องใช้ระยะเวลากี่ปีจึงจะคืนทุน
จากข้อมูลของ The Wall Street Journal มีการเปิดเผยอัตราส่วน P/E ของแต่ละดัชนีดังนี้
จะเห็นได้ว่าเมื่อดูจากอัตราส่วนทางการเงินแล้ว Nasdaq ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนความคาดหวังของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีถือว่ามีราคาแพง เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นเป็นรองเพียงแค่ Russell 2000 ที่เป็นดัชนีที่รวมบริษัทขนาดเล็กที่สุด 2,000 บริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ด้วยสภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูงส่งผลให้เกิดการคาดหวังว่าจากเศรษฐกิจในอนาคตอาจจะไม่สามารถทำให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเติบโตได้อย่างที่คาดหวัง ประกอบกับการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและกดดันผลประกอบการของบริษัท สะท้อนโอกาสที่กำไรอาจจะลดลง ประกอบกับการที่ผู้บริโภคอาจมีการชะลอการใช้จ่ายในการบริโภคสินค้าและบริการ
นอกจากนี้บริษัทเทคโนโลยีอาจได้รับผลกระทบมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นด้วยเหตุผลที่ว่าบริษัทส่วนใหญ่เพิ่งเริ่มกิจการได้ไม่นานนัก หรืออยู่ในช่วงที่กำลังแข่งขันในการสร้างตลาดทำให้บางบริษัทไม่มีกำไร ประกอบกับต้องมีการใช้สัดส่วนเงินกู้ในการดำเนินกิจการมาก จึงได้รับผลกระทบจากต้นทุนทางการเงินและความเสี่ยงที่สูงขึ้น
สุดท้ายแล้วถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจะเป็นอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตผ่านการสร้างนวัตกรรมใหม่ แต่ในช่วงที่ความแน่นอนยังไม่ชัดเจนส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจ สังคม และนักลงทุนมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าสินทรัพย์ไหนก็ตามที่มีความคาดหวังในอนาคตสูง ยิ่งมีความไม่ชัดเจนเท่าไรก็ยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้นเท่านั้น
อ้างอิง : บิทคับ อินฟินิตี้ Bitkub Infinity (https://www.facebook.com/photo.php?fbid=143308521781721&set=pb.100083077215278.-2207520000.&type=3)
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด