8 คำถามเจาะลึก Beacon Interface: Mobile Banking เพื่อผู้บกพร่องทางการเห็น สตาร์ทอัพใน KBTG กสิกรไทย | Techsauce

8 คำถามเจาะลึก Beacon Interface: Mobile Banking เพื่อผู้บกพร่องทางการเห็น สตาร์ทอัพใน KBTG กสิกรไทย

Beacon Interface

ที่ผ่านมา Techsauce ได้เล่าถึงนวัตกรรมทางการเงินต่างๆ ไปหลายเรื่องราว แต่บทสัมภาษณ์ในครั้งนี้เรียกได้ว่ามีความพิเศษทีเดียว เพราะเราจะมาพูดคุยเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการทางการเงิน สำหรับกลุ่มผู้ใช้เฉพาะกลุ่ม อย่างผู้บกพร่องทางการเห็น ซึ่งยังไม่เคยมี FinTech ใด เจาะจงกลุ่มนี้มาก่อน นอกจากเราจะมาคุยกับเรื่องการใช้งานแล้ว ในครั้งนี้เราจะมาคุยกับผู้พัฒนาตั้งแต่วิธีคิดในการออกแบบอีกด้วย

เรื่องราวทั้งหมดมาจากการสัมภาษณ์พูดคุยกับทีม Beacon Interface ซึ่งปีที่แล้ว Techsauce เคยได้ลงข่าวในฐานะสตาร์ทอัพไทยผู้ชนะการแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ หากคุณยังไม่รู้จักกับ Beacon Interface เราขอสรุปสามเรื่องหลักๆ ให้คุณทราบ ดังนี้

สามเรื่องที่คุณควรทราบ เกี่ยวกับ Beacon Interface

  1. เป็นโซลูชั่นทางด้าน User Experience (UX) ที่ออกแบบมาเพื่อผู้บกพร่องทางการเห็น ให้เขาสามารถเข้าถึงการทำธุรกรรมบน Mobile Banking ได้
  2. มีประสบการณ์การแข่งขันและได้รับรางวัลชนะเลิศ จากงาน Singapore FinTech Festival 2016
  3. เป็นโปรดักส์ที่พัฒนาขึ้น ภายใต้ KBTG โดยธนาคารกสิกรไทย Techsauce ก็เคยรายงานการมาของ KBTG ในปีที่แล้ว แต่ยังไม่ได้ลงในรายละเอียดข้างใน วันนี้เราจะถือโอกาสได้มา Follow up ในส่วนนี้ด้วย

การสัมภาษณ์ในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดี ที่เราจะได้พูดคุยให้ครบทั้งสามประเด็นที่น่าสนใจเหล่านี้ ผ่านการสัมภาษณ์พูดคุยกับคุณ อาร์ต อภิรัตน์ หวานชะเอม และทีม Beacon Interface สรุปเป็นประเด็นคำถามสำคัญได้ดังนี้

แปดคำถามเจาะลึก Beacon Interface

1. ทางทีมช่วยแนะนำตัวกับผู้อ่าน

Beacon Interface Team

คุณอาร์ต:  ผมและทุกๆคนในทีม Beacon Interface มาจาก Technology Innovation Department ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัท KASIKORN Soft (KSoft) บริษัทในกลุ่ม KASIKORN Business -Technology Group หรือ KBTG

ทีม Technology Innovation จะดูเรื่องของการ adopt เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนโลก อย่างเช่น Blockchain, Machine Learning และ User Experience Design

2. ทำไมทีมถึงเลือกทำเรื่อง UX สำหรับกลุ่มผู้บกพร่องทางการเห็น

คุณอาร์ต: UX Design เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญในการสร้างประสบการณ์การบริการรูปแบบใหม่ให้กับลูกค้าของธนาคาร จากเทรนด์ทั้งหมด สรุปได้วาเราต้องมีเทคโนโลยีที่มีส่วนร่วมกับคนได้มากกว่านี้ เราต้องรู้จัก และรู้ใจเขา ในเคสของคนสายตาปกติ ตอนนี้มี Mobile Banking แต่สำหรับผู้บกพร่องทางการเห็นยังไม่มีโอกาสเข้าถึง เราจึงทำ “Beacon Interface” ขึ้นมาเพื่อทำเรื่องนี้

3. อะไรคือที่มาที่ไปของการเข้าร่วมแข่งขันในงานประกวดฟินเทค

คุณอาร์ต: เมื่อปลายปีที่แล้ว ทีม Innovation พยายามจะหาโจทย์มาทำ เพื่อสร้างนวัตกรรมให้กับลูกค้าของแบงก์ แล้วพอดีเราได้ทราบข่าว Singapore Fintech Festival 2016 ขึ้นมา ทางพี่สมคิดผู้บริหารของ KBTG ก็ให้โจทย์ทีมมาว่า ไหนๆ เราก็เป็น Innovation Team ทำไมเราไม่ Innovate อะไรขึ้นมา ลองเป็น Startup เอง แล้วเข้าร่วมกับงานแข่งนี้ เราจะได้เข้าใจ Startup และไปอยู่ใน Ecosystem ของเขา

4. ประสบการณ์กับงาน Singapore Fintech Festival เป็นอย่างไรบ้าง

คุณอาร์ต: ทีมของเราได้เข้าร่วมในส่วนของ “Hackcelerator” (Hackathon) คือการส่งไอเดียเข้าไป แล้วพัฒนาต่อเป็นเวลา 3 เดือน ให้เป็นขั้น Market Ready (พร้อมออกตลาด)

มีทีมส่งไอเดียเข้าประกวดทั้งหมด 650 ทีม จาก 50 ประเทศทั่วโลก แล้วเราก็เป็นหนึ่งใน 20 ทีมที่ได้รับคัดเลือกให้เข้า Phase 2 เป็นเวลาสามเดือนแล้วก็ได้ไป Pitch สุดท้ายที่สิงคโปร์ ตอนช่วง Pitch นี้หายไปทีมหนึ่งเหลือ 19 ทีม ทีมที่ได้คัดเลือกส่วนใหญ่จะมาจากอเมริกา และสิงคโปร์ ถ้าผมจำไม่ผิด อเมริกา 6 ทีม และสิงคโปร์ประมาณ 5-6 ทีม  แล้วก็ที่เหลือประเทศละทีม ซึ่งมีประเทศไทย นิวซีแลนด์ อังกฤษ อินเดีย อิสราเอล

รางวัลชนะเลิศ Winner of Global FinTech Hackcelerator ของธนาคารกลางของสิงคโปร์ มีทั้งหมดสามรางวัล และทีม Beacon Interface ก็เป็นหนึ่งในผู้ชนะเลิศ นอกจากรางวัลชนะเลิศก็จะมีรางวัลย่อยๆ ต่างๆ ซึ่งทีมของเราได้รับรางวัล Developer Hub Award จาก Citygroup หนึ่งในผู้สนับสนุนหลักด้วย ก็เรียกได้ว่าเราเป็นทีมเดียวในนั้น ที่ได้ทั้งรางวัล Winner และ Industry Award สองรางวัลพร้อมๆ กัน

messageImage_1479727228129

5. แสดงว่าในระดับนานาชาติ ไอเดียเรื่อง Banking สำหรับผู้บกพร่องทางการเห็น ยังไม่ค่อยมีคนทำ?

คุณอาร์ต: ผมว่ายังไม่มีนะครับ สองอาทิตย์ก่อนที่เราจะส่งใบสมัครเข้าไป เราไป research ในตลาดก่อนแล้วว่าคนอื่นทำอะไรกัน แล้วก็พบว่ายังไม่มีใครเข้าไปแตะเลย จริงๆ ส่วนใหญ่ที่เขาทำกัน ก็มักจะมี requirement ว่าจะต้องใช้ร่วมกับอุปกรณ์พิเศษ อาจจะเป็น Belle คีย์บอร์ด แต่ในโจทย์ที่ว่าใช้ ทัชสกรีนยังไม่มีใครทำ นี่เฉพาะในระดับ research นะ ยังไม่ต้องพูดถึงที่มาเป็นฟินเทคแล้วด้วยซ้ำ

จริงๆ แล้วในงานก็มีทีมเราและทีมอินเดียที่ตัดสินใจทำโจทย์เรื่องผู้บกพร่องทางการเห็นเหมือนกัน แต่ว่าวิธีการต่างกัน ทีมของเขาชื่อ Voice ซึ่งเป็นการสั่งด้วยเสียง แต่ของเราเป็นการใช้หน้าจอสัมผัส

6. Beacon Interface มีหลักการทำงานอย่างไร

Beacon Interface Screenshot

ปัญหาของทัชสกรีนก็คือ มันไม่ใช่ปุ่มกดนูนๆ แต่เป็นปุ่มในจอ ก็เลยไม่สามารถคลำหรือสัมผัสได้ เราพยายามจะแก้ปัญหาจุดนี้ โดยมี 3 คอนเซปต์หลักๆ คือ

  1. Non-Location Based

แปลว่า เราจะไม่ทำให้คนต้อง “คลำหาทาง” ว่าปุ่มอยู่ทิศไหน ตำแหน่งไหน

สมมติว่าผมเปิดแอปสักตัวนึง ถ้าเรามองเห็นจะทราบว่าเมนูอยู่ด้านล่าง แต่คนตามองไม่เห็นจะไม่ทราบ ดังนั้นสิ่งที่เราทำคือ เขาสามารถแตะตรงไหนก็ได้เพื่อสั่งการ ไม่ต้องรู้ว่าอะไรอยู่ที่ไหน รู้แค่ว่าถ้าแตะแล้วลาก จะเป็นการ Navigate

  1. Singular UI

แทนที่หนึ่งหน้าจอจะมีหลายฟังก์ชัน เรา Break down ให้มี 1 หน้าจอ 1 ฟังก์ชันเราเรียกว่า Singular UI

  1. Multiply Sensory

ประกอบด้วย Voice Guidance หรือเสียง และ Hectic คือการสั่น ซึ่งรวมกันพยายามสร้างประสบการณ์รับรู้ เช่น เสียงจะช่วยให้แบงก์บอกว่ารายการนี้คืออะไร ขั้นตอนต่อไปต้องทำอย่างไร และมีการสั่นตอบรับ

โปรเจกต์นี้ KBTG ไม่ได้ทำคนเดียว เราพาร์ทเนอร์กับ ABLE Lab ของมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) ที่วิจัยด้าน Design Research แล้วก็ดร.นันทนุช สุวรรนาวุธ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิจัยอยู่ที่ สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน)

Screen Shot 2560-02-17 at 11.59.33 AM

วิดีโอเบื้องหลังการออกแบบ Beacon Interface และสาธิตการใช้งาน

นอกจากนั้นจะเห็นว่าผู้บกพร่องทางการเห็น มีสามกลุ่มคือ (1) คนตาบอด (2) คนที่สายตาเลือนราง (3) ผู้สูงอายุ

สองกลุ่มหลังก็จะเห็นว่า เขายังมองเห็นอยู่ ไม่ถึงกับบอดสนิท เพราะนั้นเราก็ยังมี Visual Design ให้เขา เรามีวิธีการเลือกสี เลือกฟอนต์ โดยเฉพาะ ซึ่งอันนี้อ้างอิงจากงานวิจัย

ถ้าดูในวิดีโอจะเห็นว่าเรามี Workshop ออกไปทำให้เขาดูเลยว่าสีแบบไหน แบคกราวน์สว่างแค่ไหน ฟอนต์อย่างไร เรา Support คนตาบอดสีด้วย มีสวิตโหมดตาบอดสีได้ด้วย ถ้าเป็นคนตาบอด จะสวิตซ์เป็นโหมด Non-Visual หน้าจอมืดเลยก็ได้

7. แผนการในปีนี้มีอะไรบ้าง

คุณอาร์ต: ปีที่แล้วเป็นเรื่องของการส่งประกวดแต่ปีนี้เป็นเรื่องของการใช้จริง ตอนนี้เรากำลังอยู่ในเฟสการพัฒนาเฟสสุดท้าย โปรดักส์จะพร้อมภายในกลางปี โดยลูกค้ารายแรกก็คือ เคแบงก์ ส่วนเรื่องการ Launch ใช้ใน K-Mobile Banking คิดว่าเป็นปลายปีนี้ ผู้ใช้ เคแบงก์ จะมีออปชันที่สามารถดาวน์โหลด Add-on ส่วนเสริมนี้มาใช้ร่วมกันกับ K-Mobile Banking ได้

จริงๆ แล้ว Add-on นี้ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะผู้บกพร่องทางการเห็นเท่านั้น แต่เราจะโปรโมทว่าเป็น Interface ทางเลือกสำหรับทุกคน อย่างผู้สูงอายุ หรือคนรุ่นแม่ผม อาจจะชอบใช้มากกว่าเวอร์ชันปกติ เพราะมันดูง่ายกว่า

Beacon Interface จะเป็นเสมือน Presentation Layer ส่วนการทำงานเบื้องหลังยังคงเป็นแอป Mobile Banking ปกติ เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาความปลอดภัย นอกจาก เคแบงก์ ก็มีอีกหลายแบงก์ที่ต่อคิวเข้ามาสนใจ หลังจากมีลูกค้ารายแรกแล้ว เราได้มีการคุยกับผู้บริหารว่าในอนาคตควรจะมีทีมของตัวเองไหม อันนี้ยังอยู่ในระหว่างการพูดคุยของผู้บริหาร

Beacon Interface Screenshot 2

Mockup การใช้งานร่วมกับ K-Mobile Banking

สำหรับปีนี้ นอกจาก Beacon Interface เรายังมีโปรเจกต์อื่นๆ ด้วย มีทั้งโปรเจกต์เพื่อแสวงหากำไร และโปรเจกต์เพื่อสังคมด้วย ซึ่งตัวโปรเจกต์เพื่อสังคมจะมี Agricultural Tech (AgriTech หรือเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร)

8. มอง Beacon Interface และโปรเจกต์ใน KBTG ในระยะยาวไว้อย่างไร

คุณอาร์ต: สิ่งที่เราพยายามทำคือ Customer Engagement รูปแบบใหม่ๆ โจทย์มันคือทำยังไงแบงก์ถงจะ Reinvent ตัวเอง และเข้าไปอยู่ใน Lifestyle ของลูกค้าได้

สิ่งที่ เคแบงก์ ทำปัจจุบันคือเดาว่า Startup, FinTech หรือ AI มันจะไปทางไหน แล้วในอีก 15 ปีข้างหน้าเราจะ Engage ลูกค้าในรูปแบบไหน เราจะขายอะไรให้เขา ตอนนี้อย่างที่เราเห็นคือแบงก์โดนคนอื่นเข้ามาในตลาด อย่างเช่น Telecom ก็เข้ามาทำ Payment, E-commerce ก็เข้ามาทำ Payment งั้นในทางกลับกัน Bank ก็ต้องทำให้ได้มากกว่า Financial service มากกว่าแค่หาเงินจากเงินฝาก และเงินกู้

ตอนนี้แบงก์ก็เริ่มพูดถึง Lifestyle Banking การเข้าไปในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องเงินเท่านั้น เพราะฉะนั้นเทรนด์ทั้งหมดมันบอกเราว่า เราต้องมีเทคโนโลยีที่ Engage คนได้มากกว่านี้ เราต้องรู้จัก และรู้ใจเขา และการดีไซน์ User Experience ใน Beacon Interface ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นนั้น

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...

Responsive image

GAC รถแห่งเมืองกวางโจว ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ | Tech for Biz EP. 30

แบรนด์รถยนต์ที่เป็นความภูมิใจของคนกวางโจว สู่ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ คลิปนี้ Tech for Biz จะพาไปรู้จัก GAC ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอีกเจ้าที่กำลังบุกตลาดเมืองไทย...

Responsive image

เปิดดีล NVIDIA ปี 2024 ในอาเซียนไปร่วมมือใครมาบ้าง ?

NVIDIA ขยายอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2024 ด้วยการลงทุน AI Centers และการพัฒนาระบบ AI ร่วมกับพันธมิตรในอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย ขับเคลื่อนภูมิภาคสู่การเป็นศูนย์...