อย่างที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบันนี้ รถติดถือเป็นเรื่องปกติมากของคนกรุงเทพ เพราะรถยนต์ที่ขับกันในกรุงเทพนั้นมีมากถึง 10 ล้านคัน โดยเฉลี่ยใช้เวลารถติดบนท้องถนนมากกว่า 61 ชั่วโมงต่อปี แถมยังพบว่าส่วนมากรถแต่ละคันจะมีผู้โดยสารเพียง 1-2 คนเท่านั้น
ถึงแม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีมาตรการแก้รถติดในขณะนี้ แต่ถ้าทำให้รถคันหนึ่งโดยสารคนได้อย่างเต็มที่ ทางเดียวกันไปด้วยกัน แล้วหารค่าใช้จ่ายทั้งคนขับและผู้ร่วมทางอย่างเท่าเทียมกัน น่าจะ win-win กันทั้ง 2 ฝ่าย ด้วยความคิดนี้ คุณ “นาย” นัฐพงษ์ จารวิจิต จึงได้สร้างแอปพลิเคชันที่เป็นตัวกลางของการสื่อสารระหว่างคนขับและและคนโดยสารที่อยากแชร์รถด้วยกัน แอปพลิเคชันน้องใหม่นี้มีชื่อว่า “Liluna” นอกจากจะเป็นแอปพลิชั่นที่น่าสนใจเหมาะกับคนเมืองแล้ว คุณนายเองก็มีความตั้งใจหลาย ๆ อย่างที่ฟังแล้วก็อดทึ่งในความมุ่งมั่นไม่ได้
จุดเริ่มต้นของ Liluna นี้เกิดจากการที่เขาขับรถไปกลับคอนโดคนเดียวทุกวันแล้วสังเกตเห็นคนที่เดินเข้าออกคอนโด ด้วยความที่คิดว่าคนนั้นน่าจะไปด้วยกันกับเขาได้เลยลองชวนขึ้นรถไปด้วยกัน แต่โดนปฏิเสธเพราะไม่รู้จักกัน นั่นเป็นจุดที่คิดว่าถ้ารู้จักกันก่อนก็จะไม่กลัวและไปด้วยกันได้ ประจวบเหมาะกับที่เขาอยากทำ Startup สักตัวพอดี เลยคิดว่าน่าจะสร้างตัวกลางขึ้นมาเพื่อให้คนที่เดินทางไปทางเดียวกันนั้นสามารถไปด้วยกันได้ ซึ่งโมเดลทางเดียวกันไปด้วยกันนี้ เขาเคยเห็นมาก่อนที่ประเทศเยอรมัน ซึ่งคุณนายเคยไปทำงานที่นั่นมาก่อน
พูดถึงบริการ Ride sharing เรามักจะรู้สึกว่า มีแอปพลิเคชันอย่าง Uber และ Grab อยู่แล้ว จุดที่แตกต่างคือ Liluna ไม่ใช่การรับจ้างขับรถเพื่อหารายได้เสริม แต่คนขับรถของ Liluna คือคนที่ต้องเดินทางส่วนตัวด้วยการขับรถอยู่แล้ว
Pricing ของ Liluna เกิดจากคนขับเป็นคนประเมินค่าใช้จ่ายปกติของตัวเอง เช่น คนขับประเมินว่ามีค่าใช้จ่าย 100 บาทสำหรับเส้นทางนี้ แล้วรถของคุณมีที่นั่ง 4 ที่ ก็ควรจะหาร 4 คุณเป็นคนขับจ่าย 25 บาท คนที่นั่งมาด้วยก็ควรจ่าย 25 บาท ซึ่งคุณนายได้กล่าวชัดเจนว่า “คุณจะไม่ได้กำไรจาก Liluna แต่ Liluna ช่วยคุณประหยัดค่าใช้จ่ายประจำของคุณ และที่สำคัญกว่านั้นคือการได้ช่วยคน - ทางเดียวกัน ไปด้วยกัน”
จากความตั้งใจแรกของเขาบวกกับการสอบถามคนขับทั่วไป ทำให้คุณนายมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้าง Liluna เป็นกิจกรรมเพื่อสังคมมากกว่าแสวงหากำไร คุณนายได้พูดถึงในจุดนี้ว่า “จากที่ผมคุยกับคนขับหลายคนมา เขาบอกว่าเขามาขับอย่างนี้ เขาไม่ได้สนใจค่าใช้จ่ายเท่าไหร่หรอก ในเมื่อเขาขับอยู่แล้วเขาอยากช่วยเหลือคนอื่นมากกว่า แต่สิ่งที่ดีกว่านั้นคือช่วยเขาประหยัดด้วย”
นับเป็นจุดที่ท้าทายของเขาเลยก็ว่าได้ หลังจากที่คุยกับคนรอบตัวแล้ว สิ่งแรกที่จะต้องคำนึงถึงมากที่สุดนั่นคือ จะทำอย่างไรให้ Liluna นั้นเป็นแอปพลิเคชั่นที่มีความปลอดภัยมากที่สุดจนคนเข้ามาใช้แชร์ค่าโดยสารการเดินทางได้อย่างสบายใจ เขาคิดมาหลายวิธีแล้ว คิดจนถึงขั้นตอนที่ให้อัปโหลดบัตรประชาชนด้วยซ้ำ จนได้วิธีที่เหมาะสมที่สุดคือการลงทะเบียนเป็นเบอร์โทรศัพท์ เพราะหลังจากลงทะเบียนด้วยเบอร์โทรศัพท์แล้วจะส่ง OTP กลับไปเครื่องนั้นไปก็เป็นการยืนยันแล้วว่าเขาใช้เบอร์โทรศัพท์นั้นจริงๆ แล้วเบอร์โทรศัพท์นั้นต้องลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชน ก็เหมือนกับว่าได้บัตรประชาชนทางอ้อมด้วย
ความท้าทายอีกอย่างนึง คือ จะทำให้ Liluna เป็นที่รู้จัก เป็นอีกโจทย์ยากนึงที่คุณนายคิดหนักเลยก็ว่าได้ สิ่งที่เขาคิดแวบแรกคือ ต้องโพสต์ลง Drama-addict ให้ได้ เขาได้พูดคุยกับคุณหมอเจ้าของแฟนเพจนี้ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ใช้เวลาสองสามวันในการจูงใจด้วยเรื่องของการช่วยแก้ปัญหาให้คนได้ล้าน ๆ คน ถ้าทางเดียวกันสามารถไปด้วยกันได้ก็จะลดจำนวนรถในท้องถนนลงได้มาก จนคุณเหมอโพสต์ลงในแฟนเพจให้ หลังจากที่ลงให้นั้นก็มี Feedback เข้ามามากมาย
หลังจากที่ Drama-addict ได้โพสต์เกี่ยวกับ Liluna แล้ว เกิด Feedback หลักแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มหนึ่งกลัวว่าจะไม่ปลอดภัยเพราะไปกับใครก็ไม่รู้ คุณนายรู้ปัญหานี้อยู่แล้วจึงยกเรื่องวินมอเตอร์ไซต์ขึ้นมาว่าทุกวันนี้เรายังกล้าซ้อนวินมอเตอร์ไซต์ที่เป็นใครก็ไม่รู้ได้เลย แต่แอปพลิเคชันนี้ได้ตรวจสอบทั้งฝั่งคนขับและผู้โดยสารเรียบร้อยแล้ว เวลาการใช้งานก็มีการให้เรตติ้ง ให้ comment หลังใช้บริการทั้งสองฝั่งด้วย ส่วนอีกกลุ่มนึงนั้นจะเข้าใจและให้กำลังใจว่าอย่าท้อ พัฒนาต่อไป
เมื่อมี Feedback มากมายขนาดนี้ เขาก็ตอบ comment เท่าที่ตอบได้ จนได้ยอดดาวน์โหลดมากขึ้น อีกทั้งการแชร์ต่อจากเพจ Drama-addict การแชร์ต่อกันไปเรื่อย ๆ นั้นทำให้มีรายการโทรทัศน์มาขอสัมภาษณ์มากขึ้น อีกทั้งยังรู้ Feedback อีกแง่มุมนึงของคนใช้ด้วยว่ากำลังกังวลในจุดไหนเพื่อพัฒนา Liluna ต่อไป
Liluna ถือเป็นแอปพลิเคชันที่เติบโตเร็วมากรายหนึ่ง โดยภายหลังการเปิดตัวได้เพียง 7 สัปดาห์ ก็มียอด Traction เปิดเผยตามภาพ
ล่าสุดแอปพลิเคชันนี้เปิดตัวมาได้ทั้งสิ้น 10 สัปดาห์แล้ว และคุณนายได้มาอัปเดต Traction เพิ่มเติมซึ่งเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 3 สัปดาห์ที่แล้ว ประมาณ 3 เท่า ยอดดาวน์โหลดของ Liluna ได้เติบโตขึ้นกลายเป็น 4,181 ยอดลงทะเบียน 1,742 และยอดคนขับ 331 คน
การเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานใน Liluna ที่เป็นการเพิ่มเส้นทางเพื่อสร้างตัวเลือกที่หลากนั้นถือว่าสำคัญมาก จึงได้จัดกิจกรรมให้คนมาดาวโหลดแอปพลิเคชั่น แล้ว Register จากนั้นเขาก็แจก Voucher Packgage อาหารทะเลให้ ทำให้มียอดดาวน์โหลดเพิ่มขึ้นถึง 80 คน ซึ่งในอนาคตอาจจะจัดกิจกรรมแบบนี้อีก แต่จะเน้นให้มีการใช้งานมากขึ้นด้วยการกำหนดผู้ที่มีสิทธิเล่นเกมนี้จะต้องมี 2 Like (จะมาจากการให้คะแนนฝั่งคนขับหรือคนนั่งก็ได้) ในแอปพลิเคชันนี้
แอปพลิเคชัน Liluna ทำขึ้นมาโดยไม่แสวงหาผลกำไร ไม่ได้มีการเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ จาก User สำหรับค่าเดินทาง ผู้ร่วมเดินทาง สามารถจ่ายเงินสดให้กับคนขับได้โดยตรง
ถือเป็นความตั้งใจของคุณนายเลยก็ว่าได้ กับการทำ Liluna แบบไม่ได้โฟกัสเรื่องเงินเป็นอันดับแรก เขาเพียงต้องการสร้าง Linula ให้เป็นผลงานของเขาและอยากให้คนจำได้ว่าเป็นงานที่เขาทำมากกว่า คุณนายกล่าวถึงเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่า
“ทุกคนตอนนี้ที่รัก Liluna เพราะเขารู้ว่าดีต่อสังคมและเขารู้ว่าไม่ได้หาผลประโยชน์ ซึ่งผมก็รู้สึกว่าถ้าจะไปในแนวไม่แสวงหาผลกำไรมันจะโอเคกว่า ผมคิดว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องสุดท้ายจริง ๆ ผมอยากให้คนจำได้ว่าเป็นงานเราที่ทำมากกว่า”
จากเจตนาที่ชัดเจนของคุณนายในการพัฒนา Liluna ไปในแนวทางที่เป็น Carpooling (การร่วมโดยสารกันไปในเส้นทางเดียวกัน หรือเส้นทางใกล้เคียงกัน ) แบบไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อแก้ปัญหารถติดในเมือง จึงเป็นอีกหนึ่งแอปพลิเคชันที่น่าสนใจและน่าจับตามองว่าในอนาคตจะไปในทิศทางไหน แล้วจะมี Feature ใหม่อะไรออกมารองรับชีวิตคนเมืองอีก ผู้ที่สนใจสามารถติดตาม Liluna ได้ที่ https://www.facebook.com/lilunaGo/
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด