KKP Research ออกบทวิเคราะห์ ส่องตลาด EV ในประเทศไทย : 3 ปัจจัยเร่ง 4 ปัจจัยท้าทายยานยนต์แห่งอนาคต | Techsauce

KKP Research ออกบทวิเคราะห์ ส่องตลาด EV ในประเทศไทย : 3 ปัจจัยเร่ง 4 ปัจจัยท้าทายยานยนต์แห่งอนาคต

•    KKP Researchโดยเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ไทยกำลังกลายเป็นฐานการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปภายในแห่งสุดท้ายของอาเซียนจากโซ่การผลิตยานยนต์ที่แนบแน่นกับบริษัทรถญี่ปุ่น สวนทางกับตลาด EV ในประเทศไทยที่จะถูกขับเคลื่อนโดย EV นำเข้าจากจีน 

•    KKP Research ประเมินว่าตลาด EV ในไทยจะเริ่มเห็นโมเมนตัมของการเติบโตในปี 2023 โดย EV ในรถยนต์นั่งจะแตะระดับนัยสำคัญที่ 2 หมื่นคัน แต่จะเติบโตเร็วหรือช้าหลังจากนั้นขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากภาครัฐ 

•    ราคา EV ที่ยังไม่คุ้มค่าต่อการใช้งานปกติและความกังวลด้านระยะทางขับ (range anxiety)เป็นปัจจัยท้าทายสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV ในไทย 

•    การผลิต EV ในประเทศยังต้องนำเข้าแบตเตอรี่ในราคาที่สูงกว่าตลาดโลก ทำให้เสียเปรียบEVนำเข้าทั้งคัน (CBU) จากจีนที่ไม่มีภาษีนำเข้าจากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน 

•    ภาครัฐควรมีมาตรการ 3 ด้านเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิต EV ได้แก่ (1) กำหนดเป้า EV ระยะสั้น-กลาง-ยาว และอุดหนุนการซื้อ EVเพื่อสร้างตลาด EV ที่ใหญ่เพียงพอ (2) ส่งเสริมการลงทุน และควรลดภาษีนำเข้าแบตเตอรี่และส่วนประกอบที่จำเป็นในระยะเริ่มต้น เพื่อสร้างฐานการผลิต EV ในประเทศให้แข่งขันได้กับ EV นำเข้า และ (3) ขยายโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศ EV 

ตลาด EV ในประเทศไทย

KKP Research โดยกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าตลาด EV ซึ่งนับรวมเฉพาะแบตเตอรี่อีวี (BEV) และปลั๊กอินไฮบริดอีวี (PHEV) ในไทยจะเริ่มเห็นโมเมนตัมการเติบโตในปี 2023 โดยยอดขาย EV ในตลาดรถยนต์นั่งของไทยจะแตะระดับนัยสำคัญที่ 2 หมื่นคันหรือคิดเป็น 3% ของยอดขายรถยนต์นั่งรวม และส่วนแบ่งตลาดของ EV ที่เพิ่มขึ้นในระยะแรกจะมาจากกลุ่มลูกค้าที่สนใจหรือครอบครองรถไฮบริด (HEV) อยู่เดิม อย่างไรก็ตาม ตลาด EV จะเติบโตเร็วหรือช้าหลังจากนั้นขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดย KKP Research คาดว่าในปี 2030 ยอดขาย EV จะมีสัดส่วนคิดเป็น 15% ของตลาดรถยนต์นั่งในไทย และอาจสูงถึง 34% หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐที่เป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ตลาด EV ในประเทศไทยจะเติบโตได้จาก 3 ปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ (1) ตัวเลือก EV จากจีนที่จะเพิ่มมากขึ้นจากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนที่ส่งผลให้ EV นำเข้าทั้งคันจากจีนได้รับยกเว้นภาษีนำเข้า (2) ราคาแบตเตอรี่ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของการผลิต EV ที่ทยอยปรับลดลงต่อเนื่องตามพัฒนาการเทคโนโลยี และ (3) สำนึกต่อสิ่งแวดล้อมและปัญหามลภาวะในเมืองโดยเฉพาะ PM2.5 ซึ่งไทยติดอันดับ 3 ในด้านความรุนแรงจาก 15 ประเทศผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก

อย่างไรก็ตาม KKP Research โดยกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทรมองว่ายังมีอุปสรรคอย่างน้อย 4 ประการที่จะฉุดรั้งการขยายตัวของตลาด EV ในไทย ได้แก่ (1) ราคา EV ที่ยังสูงและไม่คุ้มค่าต่อการใช้งานปกติ (2) มาตรการรัฐที่ยังไม่เอื้อต่อการสร้างฐานการผลิต EV ในประเทศ รวมถึงการคงภาษีนำเข้าแบตเตอรี่ที่ส่งผลให้ผู้ผลิตในประเทศเสียเปรียบด้านต้นทุน  (3) สถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุม และการขาดข้อกำหนดให้มีหัวจ่ายไฟตามอาคารที่พักอาศัย และ (4) แนวโน้มการใช้ชีวิตในเมืองที่พึ่งพารถยนต์ส่วนตัวน้อยลง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วตลาด EV ในประเทศที่เติบโตได้ช้าอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และไทยสูญเสียโอกาสในการเป็นผู้ผลิตยานยนต์สมัยใหม่ของโลก

ในด้านความเสี่ยงต่อภาคการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ไทยกำลังกลายเป็นฐานการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปภายในแห่งสุดท้ายของอาเซียน จากโซ่การผลิตยานยนต์ที่แนบแน่นกับบริษัทรถจากญี่ปุ่นที่ยังไม่ลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี EV เต็มตัว การเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV ในไทยซึ่งมีสัดส่วนการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ถึงครึ่งหนึ่งของอาเซียนจึงมีต้นทุนในการปรับตัวสูงทั้งในด้านเทคโนโลยีและด้านแรงงานที่เกี่ยวเนื่องกับการปรับทักษะและกฎหมายแรงงาน บริษัทรถยนต์จากญี่ปุ่นจึงมีแนวโน้มที่จะรักษาฐานการผลิตรถ ICE หรือแม้แต่รวมการผลิตรถ ICE ในภูมิภาคมาไว้ในประเทศไทย ส่งผลให้ไทยจะยังเป็นฐานการผลิตรถ ICE ของบริษัทญี่ปุ่นในอาเซียนต่อไป สวนทางกับตลาด EV ในประเทศที่จะเติบโตจากการนำเข้าจากจีนที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี EV ในปัจจุบันเป็นหลัก

ผลจากการเป็นฐานการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV ทั่วโลกตลอด 2 ทศวรรษข้างหน้า อาจทำให้ไทยเสี่ยงขาดดุลการค้าในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนในระยะต่อไป จากปัจจุบันที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญหนึ่งในสามอันดับแรก คิดเป็นถึงประมาณ 17% ของมูลค่าการส่งออกของไทย และช่วยให้ไทยได้ดุลการค้าถึงราว 4% ของ GDP การส่งออกรถ ICE ที่มีแนวโน้มชะลอลงประกอบกับการนำเข้า EV ที่ทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับอาจทำให้ดุลการค้าในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยลดลงจนกลายเป็นลบ สะท้อนการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านยานยนต์ของไทย และอาจเป็นแรงกดดันต่อดุลบัญชีเดินสะพัดในอนาคต

ภาคยานยนต์และชิ้นส่วนเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญในภาคการผลิตของไทย โดยจ้างงานถึง 8 แสนตำแหน่ง ใน 2,200 บริษัทที่รวมตัวเป็นโซ่การผลิตที่แข็งแกร่ง KKP Research โดยกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทรมองว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ฐานการผลิต EV จำเป็นต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ทั้งโซ่การผลิตสามารถขยับได้ไปพร้อมกัน และภาครัฐควรมีมาตรการ 3 ด้านเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิต EV  ได้แก่ (1) กำหนดเป้า EV ระยะสั้น-กลาง-ยาว และอุดหนุนการซื้อ EV เพื่อสร้างตลาด EV ที่ใหญ่เพียงพอ (2) ส่งเสริมการลงทุน และควรลดภาษีนำเข้าแบตเตอรี่และส่วนประกอบที่จำเป็นในระยะเริ่มต้น เพื่อวางฐานการผลิต EV ในประเทศให้แข่งขันได้กับ EV นำเข้า และ (3) ขยายโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศ EV

อ่านบทวิเคราะห์เพิ่มเติมได้ที่ เกียรตินาคินภัทร (KKP)


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สองวิธีเรียกคืนอำนาจบริหารจากบริษัทตัวเอง ถกประเด็นน่ารู้จากซีรีส์ Queen of tears

เจาะลึกประเด็นซีรีส์ Queen of tears การต่อสู้แย่งชิงอำนาจบริหาร Queens Group กำลังทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในความเป็นจริงแล้ว ในความเป็นจริงแล้ว ตระกูลฮงจะกลับมายึดคืนอำนาจบริหาร ...

Responsive image

17 เรื่อง AI ต้องรู้ จากรายงาน AI Index 2024

Techsauce ได้สรุป 17 ประเด็นสำคัญจากรายงาน AI Index Report 2024 ซึ่งจัดทำโดย Stanford Institute for Human-Centered Artificial Intelligence (HAI) ที่รวบรวมประเด็นต่างๆ ของปัญญาประดิ...

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...