สรุปงาน LINE Developer Day 2018 ชูบริการ AI, Blockchain, FinTech พร้อมสัมภาษณ์พิเศษ MD LINE ประเทศไทย | Techsauce

สรุปงาน LINE Developer Day 2018 ชูบริการ AI, Blockchain, FinTech พร้อมสัมภาษณ์พิเศษ MD LINE ประเทศไทย

LINE Corporation จัดงาน LINE Developer Day 2018 ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ที่กรุงโตเกียว เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นการรวมตัวของเหล่า Developer หัวกะทิจากหลากหลายประเทศกว่า 1,000 คน รวมถึงประเทศไทยด้วย Techsauce จึงไม่พลาดโอกาสมาอัพเดทความเคลื่อนไหวล่าสุดของ LINE พร้อมสรุปเนื้อหาสำคัญของงาน รวมถึงทิศทางในอนาคตมาให้ฟังกัน นอกจากนี้ยังมีบทสัมภาษณ์พิเศษส่งท้าย กับคุณอริยะ พนมยงค์ MD, LINE ประเทศไทย ถึงบทบาทของ Developer ชาวไทยบนเวทีโลก และความตั้งใจของ LINE ในการพัฒนาบริการด้วย AI และ Blockchain 

เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ภายใต้แนวคิด ‘Next LINE’ เชื่อมต่อและสร้าง Ecosystem ที่ทั้งนักพัฒนา ผู้ใช้ และ LINE ได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยภายในงาน LINE ได้นำเสนอเรื่องราวทางด้านเทคโนโลยีให้กับผู้เข้าร่วมกว่า 60 หัวข้อ พร้อมประกาศถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนา AI และ Blockchain รวมถึงการแนะนำบริการด้าน FinTech บนแพลตฟอร์ม LINE

เปิด open API ให้ Developer ภายนอกองค์กร

LINE แสดงจุดยืนที่ต้องการให้ Developer ภายนอกได้สามารถใช้แพลตฟอร์มของ LINE ในการพัฒนาบริการของตัวเอง ด้วยการเปิด Open APIs (Application Programming Interface) สำหรับทุกคน โดยมีตั้งแต่

  • Messaging API : Rich Menu API, Switcher API, Icon Switch API
  • LINE Notify
  • LINE Beacon
  • LINE Login
  • Clova Extentions Kit
  • Clova Interface Connect
  • LINE Pay API
  • Social API
  • LIFF (LINE Front-end Framework)

ต่อยอด AI สำหรับธุรกิจ B2B

หลังจากที่เปิดตัว Clova ผู้ช่วยด้าน AI (AI Assistant) เมื่อปีที่แล้ว LINE ก็ยังคงมุ่งหน้าสู่เส้นทางของ AI อยางเต็มตัว โดยในปีนี้ LINE ได้พัฒนา 'Clova AI Tech Demo' ซึ่งเป็นเว็บไซต์แนะนำเทคโนโลยี AI ของบริษัทที่เป็นประโยชน์ต่อ Developer ภายนอกองค์กร ทั้ง Clova Video Highlight สำหรับเลือกและแก้ไขดัดแปลงเฉพาะจุดในรูปภาพ และ Clova Chatbot Builder ช่วยให้สร้าง Chat engines ให้มีประสิทธิภาพได้อย่างง่ายๆ

นอกจากนี้ยังมี เทคโนโลยี OCR (Optical Character Recognition) ที่ช่วยแปลงไฟล์ ภาพ เอกสารให้เป็นข้อความอัตโนมัติ และเทคโนโลยีที่ช่วยให้คอมพิวเตอร์เข้าใจภาษาและประโยคในบทสนทนา ภาษาพูดที่ใช้กันทั่วไปหรือ NLU (Natural Language Understanding)

บริการบนแอปของ LINE เองก็มีการนำ AI เข้ามาใช้ด้วย เช่น LINE News ที่ปรับบทความให้เข้ากับความสนใจของผู้ใช้แต่ละคน, LINE Shopping ใช้เทคโนโลยี Image Recognition สำหรับการค้นหาสินค้าด้วยรูปภาพ, LINE Call ที่นำคาแรกเตอร์น่ารักๆ ของ LINE มาสร้าง Character Effect ขยับหน้าตาและท่าทางตามผู้ใช้ รวมถึงการยิ้มและการกระพริบตา เป็นต้น

ดัน Blockchain สู่การนำมาใช้จริง

ในส่วนของเทคโนโลยี Blockchain ที่ LINE พยายามผลักดันให้เกิดการนำไปพัฒนาต่อได้จริง ถูกนำมาใช้กับโปรเจค 'LINK Chain' ระบบ Digital Token ที่เก็บประวัติการทำธุรกรรมทางการเงินเอาไว้ใน Blockchain ช่วยให้ partner และนักพัฒนาภายนอกองค์กร สามารถโอน/คืน reward ทั้งในรูปแบบของ Token และเงินสดสู่ลูกค้าได้อย่างโปร่งใส ตรวจสอบง่าย โดยจะเปิดให้ใช้ในช่วงปลายปี 2019

มุ่งหน้าสู่อุตสาหกรรม FinTech

ด้วยจำนวนผู้ใช้ LINE Pay กว่า 40 ล้านคนทั่วโลก และกระแส cashless society ในปัจจุบัน LINE จึงมุ่งมั่นเดินหน้าสู่อุตสาหกรรม FinTech ต่อไป ด้วยบริการหลากหลาย เช่น

  • BITBOX แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยน Cryptocurrency
  • LINE Insurance ให้ซื้อประกันได้สะดวกก่อนเดินทาง
  • LINE Profile Plus ตัวช่วยกรอกข้อมูลส่วนตัวลงในฟอร์มต่างๆ
  • LINE Smart Invest ให้มือใหม่ที่สนใจการลงทุนสามารถเลือกและเปรียบเทียบอุตสาหกรรมที่สนใจได้ด้วย Robo advisor
  • PFMS (Personal Financial Management System) ที่ช่วยจดจำรายรับ-รายจ่าย และบริหาร cash flow ให้กับผู้ใช้

รวมถึงฟีเจอร์ที่ถือเป็นอนาคตของ LINE Pay อย่าง 'LINE Pay for ID' ที่จะเปิดให้ผู้ใช้สามารถจ่ายค่าบริการและสินค้าต่างๆ บนเว็บไซต์ E-Commerce อื่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องกรอกข้อมูลให้ยุ่งยาก โดยฟังก์ชันจะเชื่อมต่อกับที่อยู่และข้อมูลบัตรเครดิต ผู้ใช้สามารถแสกนลายนิ้วมือเพื่ออนุมัติการจ่ายเงินได้เลย

นอกจาก Session ต่างๆ ที่น่าสนใจ ยังมีโซนพูดคุยและ นิทรรศการแสดงผลงานและเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมให้นักพัฒนาและผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อีกทั้งยังมีการจัดโซนให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทดลองบริการใหม่ๆ ของ LINE เช่น บูธถ่ายรูปโดย Clova และโซนเล่น Face Play ให้เล่นเกมส์กันสนุกๆ ด้วย

สัมภาษณ์พิเศษ คุณอริยะ พนมยงค์ MD, LINE ประเทศไทย

Techsauce ได้มีโอกาสคุยกับคุณอริยะ MD แห่ง LINE ประเทศไทย ภายในงาน LINE Developer Day 2018 ถึงบทบาทของ Developer ไทยภายในงานและความตั้งใจของ LINE ในการเปิด API ให้นักพัฒนานอกองค์กรได้ใช้

ปีนี้เราเห็นความเป็น community มากขึ้น มีการแชร์ประสบการณ์ให้กันมากขึ้น การที่ LINE ให้บริการกลุ่มลูกค้ากว่า 200 ล้านคนทั่วโลก ระบบหลังบ้านจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ดังนั้นการ scale แพลตฟอร์มจึงเป็นโจทย์ที่ยากมาก ซึ่งประสบการณ์ที่แต่ละคนพบเจอมาระหว่างการเติบโตของ LINE ก็มีส่วนช่วยให้แต่ละคนได้เรียนรู้

หัวข้อหลักๆ ที่เราเห็น ก็คือ AI, Blockchain และ บริการด้าน Financial ซึ่งเป็นส่วนที่เราเน้นมากขึ้น สำหรับ AI นอกเหนือจาก Clova เราก็มีบริการอื่นอีกเยอะเช่นกัน เนื่องจากเรามีแหล่งข้อมูลที่บ่งบอกพฤติกรรมของผู้ใช้มากขึ้น เมื่อเรานำมาประมวลผล ก็จะเป็นประโยชน์กับการพัฒนา AI ด้วย ตัวลำโพงเปล่าๆ ของ Clova มันไม่ได้มีประโยชน์อะไรมาก แต่บริการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น เพลงที่อยากฟัง รายการที่อยากดู หรือแม้แต่การเรียกแท็กซี่ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ ต่างเป็นเบื้องหลังที่ AI ต้องไปเชื่อมต่อ และมันคือบริการที่เรามีอยู่แล้ว ดังนั้น เราจึงต้องการเปิด API ให้ Developer ภายนอกมาช่วยกันพัฒนาบริการพวกนี้

ส่วนเรื่องของ Blockchain อุปสรรคอย่างหนึ่งที่ยังเจออยู่คือ ทุกคนรู้ว่ามันเป็นเทรนด์เทคโนโลยีที่สำคัญ แต่ยังไม่มีใคร scale ได้จริง ซึ่งเราเชื่อว่าด้วยแพลตฟอร์มที่เรามีอยู่จะช่วยให้ blockchain สามารถขยายตัวได้จริงๆ ซึ่งวันนี้เราก็พูดถึงหลายบริการ ทั้ง Line Insurance ไปถึง Cryptocurrency

Developer ไทยมาโชว์ของอะไรในงานบ้าง?

ตอนนี้ฝีมือของ Developer คนไทยกำลังเป็นที่ยอมรับมากขึ้น เมื่อประมาณสองอาทิตย์ที่แล้ว ทีมไทยก็เพิ่งชนะงาน LINE BOOT AWARDS ซึ่งเป็นสองปีติดกัน แสดงถึงศักยภาพนักพัฒนาคนไทยที่เราภูมิใจ มันไม่ใช่เรื่องของ LINE อย่างเดียว โดยวันนี้ก็มีทีม Developer ไทยมาพูดในงานด้วย

หัวข้อที่เราแชร์เรื่องแรกคือ เรื่องแอปที่เราพัฒนามี scalability ที่ดี ยกตัวอย่าง LINE MAN ที่มีคนใช้สองกลุ่ม คือผู้ใช้ กับคนขับและร้านอาหาร ซึ่งบางครั้ง มือถือที่เขาใช้อาจจะไม่ได้แพงมาก มีฟังก์ชันที่เบสิค ดังนั้นสิ่งที่เราต้องคำนึงก็คือ การทำบริการที่ซับซ้อนให้สามารถไปอยู่บนอุปกรณ์มือถือที่เบสิคมากๆ ได้ อีกเรื่องคือตัวอย่างของ LINE MAN ที่เรากำลังใช้ API ใหม่ๆ ของ LinePay เพื่อขยายบริการ

Clova AI มีรองรับที่ไทยหรือยัง?

ตอนนี้ยังได้แค่ภาษาญี่ปุ่นและเกาหลี เราสนใจอยากให้มาไทย แต่ตอนนี้เรากำลังพยายามขยายทีม Engineer ของเราให้รองรับ AI และ Clova สิ่งที่ยากก็คือเรื่องภาษา เพราะทุกอย่างที่เป็น voice assistant ไม่ว่าระบบไหนก็ตาม ภาษาที่ง่ายที่สุดก็คือ ภาษาอังกฤษ แต่ขนาดภาษาอังกฤษ ลองเอาคน 10 คนสั่งในสิ่งเดียวกัน ระบบก็ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็น เพราะความแม่นยำ ความเข้าใจของภาษา ยังทำได้ไม่ดี ภาษาเอเชียยิ่งยากกว่านั้น ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาอีกหน่อย เราต้องการสร้างบริการที่คนได้ใช้ในชีวิตประจำวันจริงๆ

นี่เป็นเหตุผลที่เปิด API ใช่ไหม?

ใช่ บางอย่างเราทำคนเดียวก็ทำได้ แต่มันไม่เร็ว การที่เราเปิด API ก็เหมือนเราพึ่งพา Developer Community ให้ช่วยกัน เหมือนเราขยายพลังและจำนวนของคนที่จะช่วยเราพัฒนา

ความยากในการหา talent เช่น Engineer และ Data Scientist

จริงๆ แล้วต้องบอกว่าหายาก ในบ้านเรามีคนเก่ง แต่มีไม่พอ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอุปสรรคอยู่ เราจ้างมาค่อนข้างเยอะแต่ก็ยังไม่พอ เนื่องจากงาน Developer จะต้องมีพื้นฐานมาจากสายนี้จริงๆ แต่ Data Scientist ก็ยังพอมีบ้าง อาจจะต้องทำให้เด็กรุ่นใหม่เห็นว่าเขามีทางเลือกสำหรับอาชีพใหม่ๆ นี้  ตัวเราเองก็ต้องเข้าหาทางมหาวิทยาลัยมากขึ้น เพื่อให้เด็กๆ เห็นโอกาสและทางเลือกว่าเขาสามารถมาทางฝั่ง Tech ได้

LINE กับการสนับสนุน startup จะเป็นอย่างไรต่อไป?

เราค่อนข้างใกล้ชิดกับ startup อยู่แล้ว โดยเรามีการสนับสนุนอยู่ 3 รูปแบบหลักๆ คือการควบรวม, ลงทุน และ การสนับสนุนผ่านโครงการ scaleup ให้สามารถใช้ API พัฒนา ซึ่งมีมูลค่าค่อนข้างสูง เป้าหมายของเราคือ อยากให้มี startup ที่พัฒนาบนแพลตฟอร์มของ LINE ให้เยอะที่สุด เราเลยพยายามให้มีเงื่อนไขต่างๆ น้อยที่สุด เราอยากให้ startup ลงทำให้ดู ให้เห็น traction จริงๆ หากไปได้ดี เราก็จะมีการลงทุน

สำหรับ LINE Ventures ได้เริ่มเข้ามาไทยเกือบเต็มตัวแล้ว โดยเพิ่งได้ลงทุนใน Fastwork ไปเป็นตัวแรก ขณะเดียวกันเราก็เริ่มคุยกับ startup หลายราย โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นอุตสาหกรรมไหน เพราะ LINE Ventures คือลงทุนในฐานะ VC จริงๆ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะเบื้องหลังดีล Zipevent และ Link Station Group สู่การขยายธุรกิจอีเวนต์ในภูมิภาค SEA

การเข้าซื้อกิจการระหว่าง Zipevent แพลตฟอร์มจัดการอีเวนต์และจำหน่ายบัตรออนไลน์ในประเทศไทย กับ Link Station Group บริษัทญี่ปุ่นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบจำหน่ายบัตร (Ticketing System) ถือเ...

Responsive image

KBank x Orbix Technology x StraitsX สาธิตการชำระเงินข้ามพรมแดนด้วยบล็อกเชนที่ SG FinTech Festival 2024

ธนาคารกสิกรไทยร่วมกับ Orbix Technology และ StraitsX เปิดตัวนวัตกรรมชำระเงินข้ามพรมแดนด้วย e-Money on Blockchain ในงาน Singapore FinTech Festival 2024 ชูศักยภาพฟินเทคไทยบนเวทีโลก...

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...