Techsauce ได้มีโอกาสไปร่วมงาน Meet Taipei Startup Festival 2018 ถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้เรียนรู้วงการ startup ในไต้หวันซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องของบุคลากรที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี และเป็นเกาะเล็กๆ ที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ดีเอ็นเอแบบนี้จะส่งผลต่อเทรนด์ธุรกิจ startup ในไต้หวันอย่างไร เรามาฟังจากคำบอกเล่าของ Katie Chen Founder & CEO จาก Business Next Media Group ผู้เป็นกุญแจสำคัญในการสร้าง startup community ในไต้หวัน รวมถึงการเป็น organizer ของงาน Meet Taipei อีกด้วย
ด้วยความที่ Meet Taipei เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนวงการ startup ในไต้หวันมากว่า 5 ปีแล้ว ผ่านมุมมองของผู้จัดงานที่จะมาแชร์ให้ฟัง น่าจะฉายให้เห็นภาพรวมของ startup ecosystem ของไต้หวันในปัจจุบันอย่างครอบคลุม
“ปัจจุบันนี้มี 3 ปัจจัยที่สำคัญใน startup ecosystem ของไต้หวัน ปัจจัยแรกคือตัวผู้ประกอบการ ผลวิจัยบอกว่าคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบกว่า 70% อยากจะเริ่มธุรกิจของตัวเอง ปัจจัยถัดมาคือรัฐบาลไต้หวันที่มีความตั้งใจจะผลักดันให้ startup เติบโต สุดท้ายคือเทรนด์ของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาอยู่ใน ecosystem ของไต้หวันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันไต้หวันมีความเป็น global market มากขึ้น”
ตลอดทั้งงานเราจะได้เห็นบูธของ startup จากนานาประเทศกว่า 100 บูธ และกว่า 300 บูธ ที่เป็น startup ของไต้หวันเอง ซึ่งก็แบ่งออกเป็น 6 ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสำหรับไต้หวันเองถือว่ามีศักยภาพในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมาช้านาน เทรนด์ของ startup ในไต้หวันเองก็ดูจะได้รับอิทธิพลมาจากจุดแข็งซึ่งธุรกิจยุคก่อนหน้าได้บุกเบิกไว้ไม่น้อย รวมไปถึงพฤติกรรมของคนไต้หวันเองที่สอดรับกับยุคสมัยของเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน
“มีสามอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองสำหรับ startup ไต้หวัน อันแรกคือ AI และ IoT เพราะไต้หวันมีจุดแข็งในเรื่องนี้มานานแล้ว รัฐบาลไต้หวันลงทุนใน AI และ IoT ค่อนข้างมาก เพราะมองเห็นถึงศักยภาพในตลาดที่มากกว่าภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ อันที่สองคือ FinTech และสุดท้ายคือ startup ที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ สำหรับผู้บริโภคทั่วไป หรือ E-commerce ถึงแม้ว่าตลาดในไต้หวันจะไม่ได้ใหญ่มากด้วยจำนวนประชากร แต่คนไต้หวันค่อนข้างมีความแอคทีฟในการที่จะเปิดรับเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน”
ในส่วนของการสนับสนุนจากทาง VC เองก็มีทั้งผู้เล่นหน้าใหม่ แต่บทบาทส่วนใหญ่ก็ยังเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่มีส่วนสำคัญมานาน
“VC ที่สำคัญในไต้หวันมีอยู่สองกลุ่มหลักๆ กลุ่มแรกค่อนข้างจะเป็นผู้เล่นรายใหม่ ซึ่งเป็นทั้ง incubator และ accelerator อย่างเช่น Appwork อันที่สองคือ VC รายใหญ่ในตลาดอย่าง CDIB กลุ่มนี้ก็ยังเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีบทบาทมากใน startup ecosystem ณ ปัจจุบัน”
รัฐบาลไต้หวันลงทุนใน AI และ IoT ค่อนข้างมาก เพราะมองเห็นถึงศักยภาพในตลาดที่มากกว่าภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ
ที่นี่เต็มไปด้วย tech talent มี skill set ที่ยอดเยี่ยมด้านเทคโนโลยี ความสำคัญอีกเรื่องคือการที่มี complete supply chain ในด้านของ hardware ดังนั้นไต้หวันจึงมีปัจจัยที่เหมาะสำหรับการสร้างนวัตกรรมมากๆ
รัฐบาลไต้หวันเองมีความตระหนักถึงขนาดของตลาดภายในที่ไม่ใหญ่นัก เนื่องจากมีขนาดพื้นที่จำกัดและจำนวนประชากรไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ดังนั้นจึงมีความตั้งใจในการผลักดันการค้าระหว่างประเทศ มีการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในการดึงดูดนักลงทุน และธุรกิจจากต่างชาติเข้ามาช่วยแลกเปลี่ยนและพัฒนาเศรษฐกิจไต้หวัน ซึ่งก็ยังมีข้อติดขัดบางอย่างที่เป็นความท้าทายสำหรับธุรกิจต่างประเทศที่จะเข้าไปขยายในไต้หวัน
“รัฐบาลไต้หวันทำงานอย่างหนักเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมสำหรับธุรกิจต่างชาติที่จะมาขยายที่นี่ แต่ในส่วนของอุปสรรคหลักๆ แล้วจะมีอยู่สองเรื่อง อย่างแรกเป็นปัญหาด้านความแตกต่างด้านวัฒนธรรม อย่างที่สองเป็นเรื่อง regulation”
“กระนั้นก็ดีไต้หวันก็ยังคงเหมาะกับการเข้ามาขยายธุรกิจสำหรับต่างชาติ เพราะที่นี่เต็มไปด้วย tech talent มี skill set ที่ยอดเยี่ยมด้านเทคโนโลยี ความสำคัญอีกเรื่องคือการที่มี complete supply chain ในด้านของ hardware ดังนั้นไต้หวันจึงมีปัจจัยที่เหมาะสำหรับการสร้างนวัตกรรมมากๆ ”
นอกเหนือจากอุปสรรคและโอกาสข้างต้น รัฐบาลไต้หวันก็มีแนวทางในการส่งเสริม startup ทั้งในและต่างประเทศดังต่อไปนี้
“สำหรับ startup ในไต้หวัน มี incubator จำนวนมากที่มาจากการสนับสนุนของรัฐบาลเพื่อให้ startup สามารถตั้งไข่และเติบโตได้ อันที่สองเป็นในเรื่องของการปรับความยืดหยุ่นของ regulation เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจ startup ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น”
“สำหรับ Startup ต่างประเทศ รัฐบาลจะให้ความสนใจในภาคธุรกิจที่เกี่ยวกับ AI และ IoT ดังนั้นในส่วนนี้จะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษ มีโครงการหรือโปรแกรมต่างๆ ที่ผลักดันขึ้นมาเพื่อก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจนี้เติบโต ขณะเดียวกันในการส่งออกนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน หรือ E-commerce ไปยังตลาดต่างประเทศตอนนี้ก็มีการโปรเจกต์ที่โฟกัสตลาด SEA อย่างในโปรเจกต์ที่เรียกว่า New Southbound Policy โดยประเทศไทยเองก็ถือเป็นหนึ่งในตลาดที่สำคัญ”
ท้ายที่สุดคือสิ่งที่ยังต้องพัฒนาต่อไปใน startup ecosystem ของไต้หวัน
“ข้อจำกัดคือไต้หวันเป็นรัฐที่ไม่ใหญ่ ตลาดจึงถือว่าเล็กเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ดังนั้นไต้ควรทำตัวเป็นเหมือน hub ในการเชื่อมต่อไปยังประเทศต่างๆ และที่สำคัญอีกอย่างคือต้องพยายามผลักดันให้ startup ไต้หวันมี signature ที่ดังระดับโลก ผลักดันให้ประสบความสำเร็จในระดับ global มากขึ้น”
ว่ากันว่าแต่เดิมคนไต้หวันมักมีความเชื่อว่าเกาะเล็กๆ ที่ตั้งของพวกเขามีความสมบูรณ์โดยตัวมันเอง พวกเขาจึงมีความเพียบพร้อมโดยที่ไม่ต้องแลกเปลี่ยนหรือมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก ทัศนคติแบบนี้ส่งอิทธิพลให้ผู้ประกอบการไต้หวันรุ่นก่อนๆ ไม่ได้มีความคิดที่เชื่อมโยงกับตลาดโลกนอกประเทศมากนัก แต่ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีปฏิวัติพรมแดนแทบทุกอย่างให้เลือนหายไป เราได้เห็นความพยายามของวงการ startup ไต้หวันที่เปิดรับ แลกเปลี่ยน สร้างเครือข่ายทางธุรกิจและนวัตกรรมกับตลาดโลก น่าสนใจว่าจุดแข็งที่ต่อยอดมาจากความชำนาญทางเทคโนโลยีจะส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขัน และบทบาทของ startup ไต้หวันในตลาดโลกอย่างไร
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด