‘Nasket’ ฮาร์ดแวร์ฝีมือคนไทย สั่งของง่ายเพราะดีไซน์มาให้ช็อป | Techsauce

‘Nasket’ ฮาร์ดแวร์ฝีมือคนไทย สั่งของง่ายเพราะดีไซน์มาให้ช็อป

แอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนทำให้เราซื้อสินค้าง่ายขึ้น แต่ยังไม่สะดวกพอในความคิดของ ผรินทร์ สงฆ์ประชา เพราะถ้าอยากซื้อของหลายชิ้นจากหลายๆ หมวด ก็ยังต้องเข้าสารพัดแอปหรือสารพัดเว็บ ผรินทร์จึงคิดอุปกรณ์ตัวหนึ่งที่ชื่อ ‘Nasket’ (นาสเกต) ขึ้นมาตอบโจทย์คนที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมเป็นกลุ่มหลัก โดยสามารถ ‘สแกน’ เพื่อสั่งซื้อสินค้าจากสารพันร้านค้าปลีกได้จากในห้อง และรอรับสินค้าทุกชิ้นที่จะมาส่งพร้อมกันได้ในครั้งเดียว!

เนื่องจากผรินทร์รู้ความต้องการของลูกค้าเพราะเคยทำงานในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายอีคอมเมิร์ซของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จึงมีความเข้าใจเกี่ยวกับการสั่งซื้อสินค้าผ่านโลกออนไลน์และออฟไลน์ การบริหารคลังสินค้า ตลอดจนสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในตลาดค้าปลีกมานาน จนรู้ว่าผู้บริโภคยังไม่ได้รับความสะดวกสบายอย่างแท้จริง เช่น ต้องสร้างบัญชีหรือลงทะเบียนเข้าใช้งานก่อนสั่งซื้อสินค้าในแต่ละเว็บ แต่ละแอป หน้าจอสมาร์ทโฟนที่มีขนาดเล็กทำให้ดูสินค้าไม่ถนัด ลูกค้าจากแต่ละห้างร้านอยากได้ส่วนลดหรือโปรโมชันจากแต่ละแบรนด์ค้าปลีก ฯลฯ ผรินทร์จึงสร้าง Nasket รวมแบรนด์ค้าปลีกและโปรโมชันไว้ในที่เดียว ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกสินค้าและโปรโมชันจากทุกแบรนด์ที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรได้อย่างง่ายดาย

ฟีเจอร์แบบไหนที่ทำให้การสั่งของง่ายขึ้นไปอีก

ในด้านการใช้งาน ผรินทร์ สงฆ์ประชา ซีอีโอ บริษัท นาสเกต รีเทล จำกัด อธิบายว่า ผู้ใช้งานครั้งแรกต้องกรอกเบอร์โทรศัพท์มือถือลงในอุปกรณ์ Nasket หลังจากนั้นจะได้รับ SMS ยืนยัน และสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ทันที โดยเลือกได้ว่าจะหาหมวดหมู่สินค้าจากร้านค้าต่างๆ ที่ปรากฏบน Nasket หรือสแกนบาร์โคดสินค้าเพื่อออร์เดอร์ และเลือกชำระได้ทั้งแบบตัดบัตรเครดิต รูดบัตรกับเครื่องรูดบัตรของพนักงานจัดส่ง หรือจ่ายเงินสดเมื่อพนักงานไปส่งของให้ที่ห้อง

“Nasket ก็คือเครื่องสแกนบาร์โคดที่อยู่ในบ้าน ซึ่งทำให้ซื้อของง่าย แค่แขวนหรือตั้งเครื่อง เสียบปลั๊ก ใส่เบอร์ครั้งเดียวสั่งได้เลย ซึ่งความสามารถที่เป็นจุดแข็งของ Nasket คือ ‘จะสั่ง Grocery จากที่ไหนก็ได้ รวมบิลในออร์เดอร์เดียว’ ไม่ว่าจะเป็น Tesco Lotus, Villa, Tops, 7-11 นอกจากนี้ยังมี Home Service เรียกช่างมาซ่อมบ้านได้ผ่านทางแอป Fixzy หรือแม่บ้านจาก Seekster มี Food Delivery เช่น Bar B Q Plaza แล้วก็ยังจ่ายบิลค่าน้ำค่าไฟได้ด้วย คือสแกนปุ๊บจ่ายผ่านบัตรเครดิตได้เลย”

และหากผู้ใช้ต้องการสั่งซื้อสินค้าที่เคยสั่งในครั้งต่อไป แต่ยังไม่ใช่วันนี้หรือเดี๋ยวนี้ ก็สามารถนำสินค้าไปสแกนบาร์โคดเพื่อเก็บเข้า  Nasket ก่อนได้ โดยในออร์เดอร์ก็จะขึ้นชื่อสินค้า ราคา และปริมาณให้เห็นชัดเจน ด้วยฮาร์ดแวร์ภายในเครื่อง Nasket ที่เทียบได้กับคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่อง ซึ่งแสดงผลผ่านหน้าจอเดียวและมีบาร์โคด สแกนเนอร์ ทำงานร่วมกันตลอดเวลา

ออกแบบจน (กว่าจะ) ได้แบบที่ใช่

ด้วยฟังก์ชันที่วางแผนการทำงานไว้ล่วงหน้า กว่าจะได้ Hardware Design แบบที่เห็นนี้ ผรินทร์ให้ วริน ธนทวี ช่วยออกแบบและแก้ไขแบบอยู่หลายต่อหลายครั้ง โดยวรินเป็นผู้ก่อตั้งและ Design Director ของ CORdesign สตูดิโอซึ่งรวมทีมนักออกแบบมืออาชีพไว้ เป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้รางวัลมามากมายทั้งในและต่างประเทศ และร่วมทีมกับผรินทร์พาไอเดียต้นแบบของ Nasket ไปคว้ารางวัล European Product Design Award จากยุโรป และ IDA Design Awards ในสหรัฐอเมริกา

วรินกล่าวถึงภาพรวมของงานออกแบบและผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในด้านปัจจัยที่ประเทศไทยไม่ค่อยมีสินค้ามีแบรนด์อิเลกทรอนิกส์หรือ Household Appliance เป็นของตัวเองว่า ส่วนหนึ่งเพราะเครื่องจักรของไทยมีความสามารถด้านการผลิตสินค้าคุณภาพสูงหรือมีความแม่นยำมากไม่ได้ จึงต้องนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนด้านการผลิตสินค้านั้นๆ มีราคาแพง และหากจำหน่ายในราคาแพงก็ไม่ค่อยมีผู้บริโภคซื้อ บริษัทก็จะอยู่ไม่ได้ นี่จึงเป็นข้อจำกัดประการหนึ่งที่ทำให้คนไทยเสียเปรียบต่างชาติ และทำให้มีผู้ประกอบการน้อยรายที่จะก้าวเข้ามาสู่การทำฮาร์ดแวร์ที่มีความสวยงามและมีคุณภาพสูงได้อย่างจริงจัง

วรินเปิดเผยเกี่ยวกับพาร์ทเนอร์ที่เป็นผู้ผลิต Nasket ว่า เป็นบริษัทที่เคยทำงานร่วมกันที่สิงคโปร์มาก่อน และเล่าสั้นๆ เกี่ยวกับการออกแบบ แก้แบบว่า

“ผมร่วมกับผรินทร์เพราะเห็นว่าเป็นฮาร์ดแวร์ที่มาช่วยวงการเทค โดยรูปแบบที่ออกแบบมานั้นก็เพื่อให้คนเมืองใช้งาน ซึ่งเราปรับแก้ในหลายๆ เรื่อง เช่น ด้าน UX เราปรับเปลี่ยนหน้าจอให้ใหญ่ขึ้นจึงช่วยให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น และอยากให้ผู้ใช้งานปรับตามที่เขาต้องการได้ จึงออกแบบให้แขวน Nasket บนผนังหรือวางบนเคาน์เตอร์ก็ได้ เพราะถ้านำไอแพดไปติดผนัง มันก็จะเรียบๆ แบนๆ เราจึงคำนวณองศาการกดที่เป็นองศาเดียวกัน และองศาสแกนที่พอดี เพื่อทำให้คนใช้งานได้ง่ายขึ้น”

ผรินทร์กล่าวเสริมว่า “ความยากของ Nasket คือ เราออกแบบเป็นสิบๆ แบบกว่าจะได้รูปแบบสำหรับติดผนังที่ใช้งานง่าย ตัวนี้ยากอย่างไร อยู่ที่ ‘มุม’ ถ้าคนในคอนโดหรือในบ้านสูงไม่เท่ากัน แต่การเอียงทำมุมที่พอดีก็สามารถใช้เครื่องนี้ได้สะดวก และส่วนที่ทำยากที่สุดคือ ‘รูลำโพง’ ซึ่งต้องไปขึ้น Mold ในต่างประเทศเนื่องจากไทยยังมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีด้านการผลิตที่ต้องการความแม่นยำอยู่”

‘Nasket’ ธุรกิจ B2B ที่ยกทุกห้างมาไว้ที่ห้อง

ผรินทร์บอกว่าสินค้าตัวนี้เน้นทำตลาดแบบ B2B ซึ่งจะทำตลาดกับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เป็นอันดับแรก และหลังจากสร้างผลิตภัณฑ์แล้วจึงทำแอปพลิเคชัน (ทำทีหลังเพราะเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่าฮาร์ดแวร์) และมีกลุ่มที่ได้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์แล้ว อาทิ ผู้บริหารระดับสูง ผู้พักอาศัยในคอนโด

“เราคิดว่าโลกของ Tech นั้นใหญ่ แต่จริงๆ Non-Tech ใหญ่กว่าเยอะ และถ้าสินค้าเราจะอัปด้วยดีไซน์ ทำให้ลูกค้าอยากซื้อ อยากใช้ ก็จะเพิ่ม Conversion Rate (อัตราของการใช้งาน) ในการใช้งานได้ ซึ่งนอกจากกลุ่มคอนโด ก็มีโรงแรมที่นำไปทดลองใช้บ้างแล้ว”

ผรินทร์กล่าวถึงความภาคภูมิใจเกี่ยวกับไอเดีย ‘ยกทุกห้างมาไว้ที่ห้อง’ ของ Nasket ว่า

“ปกติเครื่องที่สแกนสิ่งของได้จะเป็น One way เท่านั้น คือบอกลักษณะหรือราคาของ แต่ Nasket ทำงานแบบ Two way คือบริการจัดส่งได้ด้วย และเรามีสิทธิบัตรในด้านการสแกนของใช้ในบ้านแล้วส่งไปเรียกเซอร์วิส ซึ่งไม่มีใครในโลกทำได้มาก่อน”

หากอยากเห็นผลิตภัณฑ์ Nasket ผู้สนใจสามารถมาชมได้ที่โซน Urban Tech และที่บูธสตาร์ทอัพในโซน Exhibition Hall ในงาน Techsauce Global Summit 2017 ระหว่างวันที่ 28-29 กรกฎาคมนี้ ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...