HR ยุคใหม่ที่ต้องปรับให้ทัน AI และสร้าง Diversity ในองค์กร กรณีศึกษาจาก Microsoft | Techsauce

HR ยุคใหม่ที่ต้องปรับให้ทัน AI และสร้าง Diversity ในองค์กร กรณีศึกษาจาก Microsoft

เมื่อเทคโนโลยีฉลาดขึ้น นอกจากจะเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจและปรับตัวให้ทันแล้ว การสร้างความหลากหลายการยอมรับความแตกต่างในองค์กรก็เป็นอีกหนึ่งแกนสำคัญที่ทำให้เกิดนวัตกรรม Techsauce ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณชุติมา สีบำรุงสาสน์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ถึงบทบาทของ HR ในการปรับตัวให้ทันยุคดิจิทัล อีกทั้งในเรื่องการสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นภายในองค์กร ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า ทางไมโครซอฟท์ได้มีเกณฑ์การรับพนักงานที่เป็นผู้หญิงเข้าทำงานคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของพนักงานทั้งหมด เรามาดูกันว่า HR จะทำการปรับตัวให้ทันยุค Digital Transformation และสามารถสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นในองค์กรได้อย่างไร

ก่อนหน้าที่ทางไมโครซอฟท์จะมีเกณฑ์การรับพนักงานผู้หญิงเพิ่มขึ้น ได้มีการคัดเลือกพนักงานอย่างไร?

การดำเนินงานของทางไมโครซอฟท์เริ่มต้นที่พันธกิจของบริษัทที่ว่า “Empower every person and every organization on this planet to achieve more”  ซึ่งได้นำมากำหนดเป็นทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Direction) ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรหรือคน โดยเริ่มจากการให้ความสำคัญเรื่องความหลากหลาย (Diversity) และการอยู่ร่วมกัน (Inclusion) เพราะพนักงานไมโครซอฟท์ทั่วโลกมีมากกว่า 130,000 คน จากกว่า 150 ประเทศ ซึ่งแน่นอนส่งผลต่อมิติของความหลากหลายอยู่แล้ว การที่เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพราะเราเชื่อว่าความหลากหลายก่อให้เกิดสร้างผลกระทบเชิงบวกในองค์กร และถือเป็นพันธกิจขององค์กรในการกำหนดกลยุทธ์และแผนงานเพื่อให้เกิดประโยชน์จากความหลากหลายที่มีอยู่ให้เกิดขึ้น

ความหลากหลายทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรมในองค์กร นวัตกรรม การออกแบบผลิตภัณฑ์ การตัดสินใจ การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ไปจนถึงวิธีการทำงานในองค์กร เราจะทำอย่างไรให้คนหลากหลายพื้นเพสามารถอยู่ร่วมกันและสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นในองค์กรได้ นี่คือสิ่งหนึ่งที่อยู่ใน Strategy ของเรา

ในบริบทของ Diversity ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเพศ  เรามองเรื่องนี้ครอบคลุมทั้งเรื่องของเพศสภาพ และเพศทางเลือกซึ่งปัจจุบันเป็นโลกที่สังคมเปิดกว้างแล้ว  แต่โดยความท้าทายของบริษัทในอุตสาหกรรม Information Technology คนส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติเกี่ยวกับสายงานไอทีว่าเป็นงานที่เหมาะกับผู้ชาย ดังนั้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสในการสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น ทางเราจึงนำเรื่องของผู้หญิงมาเป็นตัวผลักดัน เพื่อให้เกิดความตระหนักในเรื่องนี้  โดยในทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล ทางไมโครซอฟท์มี ตัวชี้วัด (Index) เพื่อให้เห็นถึงอัตราส่วนพนักงานต้องมีความสมดุลระหว่างหญิงและชายเพื่อให้เกิดความหลากหลายในองค์กร โดยได้มี Indicator ว่าเรามีมุ่งมั่นที่จะสร้างให้องค์กรมีสัดส่วนของบุคลากรผู้หญิงมากกว่าเกณฑ์ทั่วไปในตลาดแรงงานไอที โดยจะเริ่มในทุกกระบวนการตั้งแต่การจัดรับ การพัฒนา การบริหาร ไปจนถึงการสร้างความก้าวหน้าในอาชีพ 

มีขั้นตอนการรับคนเข้าทำงานอย่างไรบ้าง?

กระบวนการรับคนเข้ามาเราจะเริ่มตั้งแต่การประกาศคุณสมบัติของตำแหน่งงานซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้สมัครทุกคนที่มีความรู้ความสามารถเท่าเทียมกัน   ในขั้นตอนของการคัดเลือกใบสมัคร ผู้ที่ทำการคัดกรองใบสมัครจะไม่แบ่งแยกเรื่องเพศ ซึ่งในที่นี้รวมทั้งเพศทางเลือกด้วย นอกจากนี้เรายังกำหนดให้ การพิจารณาผู้สมัครในทุกตำแหน่งงานต้องมีใบสมัครของผู้หญิงและ คณะกรรมการคัดเลือกหรือผู้สัมภาษณ์ต้องมีผู้หญิงเข้ามาอยู่ในองค์ประชุมนี้ด้วย จากนั้นจึงมาวัดกันในเรื่องความสามารถของแต่ละบุคคล เมื่อได้เข้ามาในระบบการทำงานแล้ว เราจะระบบในการติดตามความก้าวหน้าในทุกระดับการทำงานว่ามีสัดส่วนผู้หญิงในแต่ละสาขาเท่าไรต่อทั้งหมดของคนในองค์กร นอกจากนี้เรายังดูเรื่องเวลาการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งของผู้หญิงว่ามีอัตราสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อที่ว่าสุดท้ายแล้วองค์กรจะสามารถก้าวไปยังเป้าหมายที่เราต้องการ 

สำหรับตัวเอง ในช่วงเข้ามาทำงานแรกๆ สัดส่วนบุคลากรผู้หญิงขณะนั้นต่ำว่า Benchmark ซึ่งเราได้ทำการวาง Strategy ต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่การจัดรับ ได้ทำการผลักดันในเรื่องพนักงานผู้หญิง ซึ่งเมื่อมีพนักงานผู้หญิงเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดสัดส่วนผู้หญิงในองค์กรคิดเป็นร้อยละ 50 ของพนักงานทั้งหมด

ในประเทศไทย ผู้หญิงที่ทำงานในอุตสาหกรรมไอทีคิดเป็นร้อยละ 40 ของตำแหน่งงานทั้งหมด มีความคิดเห็นอย่างไร และจะทำอย่างไรเพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาท อีกทั้งเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น?

อันดับแรกต้องเปลี่ยนในเรื่องของทัศนคติ มองเพื่อนร่วมงานในฐานะปัจเจค โฟกัสที่ความสามารถมากกว่าเรื่องของเพศสภาพ เมื่อเราได้มีการ Set message และวัฒนธรรมในองค์กรแบบนี้ พนักงานผู้หญิงจะรู้สึกว่านี่เป็นที่ของเขาด้วย เชื่อหรือไม่ว่าตอนนี้มีพนักงานหญิงบอกว่าอยากให้รับพนักงานผู้ชายเพิ่มขึ้น

เรากลับรู้สึกว่าเรื่องเพศในประเทศไทยไม่ได้เป็นประเด็นหลักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ความท้าทายที่เราพบในไทยจะเป็นเรื่องของระบบอาวุโสในที่ทำงานมากกว่า แต่ในไมโครซอฟท์ไม่ได้มีเรื่องนี้

ทางไมโครซอฟท์มีโปรแกรมที่ช่วยสนับสนุนผู้หญิงที่อยากจะขึ้นเป็นผู้นำหรือก้าวหน้าในอาชีพหรือไม่?

เพื่อให้แน่ใจว่าคนของเราได้รับการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน พนักงานทุกคนของไมโครซอฟท์ จะได้รับการพัฒนาผ่านระบบที่เรียกว่า “Readiness programme” ซี่งเป็นระบบการพัฒนาการเรียนรู้และสร้างทักษะความสามารถให้ทำงานได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมการพัฒนาเพื่ออนาคต จะเป็นอีกส่วนที่เราได้สอดแทรกเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง NextGen Talent,  Female Talent โดยจะเน้นในเรื่องการเป็นผู้นำหรือ “Lead Like A Woman” ซึ่งจะเป็นทั้งการเรียนและทำงานไปด้วย โดยจะมีโค้ชจากต่างประเทศเข้ามาทำการเป็นเมนเทอร์เพื่อทำการพูดคุย ถกประเด็นความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างโปรแกรม

คิดอย่างไรกับการที่ผู้หญิงได้แสดงความกล้าและคิดว่าตัวเองมีศักยภาพมากพอที่จะได้รับการพิจารณาในการเลื่อนตำแหน่ง?

ในมุมของการบริหารบุคคล คิดว่าเรื่องความเหมาะสม ความพร้อม และศักยภาพเป็นเรื่องที่นำมาพิจารณา ซึ่งไม่ได้ถูกแบ่งในเรื่องเพศ ในไมโครซอฟท์เมื่อพนักงานได้เข้ามาทำงานแล้ว จะได้มีการพูดคุยถึงความคาดหวัง แผนการพัฒนาและความก้าวหน้าในสายอาชีพ  

ซึ่งหากพนักงานรู้สึกว่าไม่ได้รับการดูแลหรือความยุติธรรมควรจะทำการพูดคุยกับทางบริษัท เป็นสิทธิของพนักงานคนหนึ่งที่จะคุยในเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย

หากพนักงานงานหญิงโดน sexual harassment แล้วไม่กล้าบอก โดยเฉพาะในวัฒนธรรมไทย ควรทำอย่างไร?

ทางเราได้มีการกฏระเบียบและแนวทางปฏิบัติ ร่วมกันที่ชัดเจนว่าทางพนักงานทุกคนได้รับการคุ้มครองสิทธิในฐานะบุคคลอย่างเท่าเทียมกัน  หากเกิดเรื่องนี้พนักงานสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนโดยมีช่องทางที่ให้ความปลอดภัยและเชื่อมั่นกับพนักงาน

มองอย่างไรในแผนการทำงานของผู้หญิงและผู้ชายในเรื่องความต้องการในการก้าวหน้าในอาชีพ?

ไมโครซอฟท์จะมีระบบประเมินผลหรือที่เราเรียกว่า “Connect” ระหว่างหัวหน้าและลูกน้อง โดยเราจะครอบคลุมทั้งในเรื่องของ ผลการปฏิบัติงาน และแผนการพัฒนาสายอาชีพ เราถือว่าการพัฒนาองค์ความรู้ของพนักงานถือว่าเป็นหน้าที่ของเราด้วย นอกจากนี้การที่พนักงานมีความพยายามขวนขวาย รับผิดชอบในหน้าที่ตัวเอง จะยิ่งทำให้เขามีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพมากขึ้น ทำงานร่วมกับหัวหน้าในการสร้าง Career path ของตัวเอง พัฒนาตัวเองให้พร้อมอยู่เสมอ เมื่อถึงเวลานั้น ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่คนอื่นจะให้การยอมรับ ทางเราจะใช้คำว่า Accountability ไม่ใช่ Responsibility เพราะ Mission statement คือเราต้องการ Empower พนักงาน เพราะฉะนั้นพวกเขาต้องรับผิดชอบตัวเอง ต้องแสดงศักยภาพและมีความทะเยอทะยานที่อยากจะเติบโตต่อไป

นอกจากนี้กระบวนการในองค์กร เรามีการรีวิว Talent ในทุกๆ ไตรมาส จะทำการคุยว่าแต่ละคนมีศักยภาพที่โดดเด่นด้านไหน มีจุดไหนที่ต้องสร้าง ต้องพัฒนา เป้าหมายต่อไปของพวกเขาคืออะไร

คุณสมบัติสำคัญที่คนไมโครซอฟท์ต้องมีคืออะไรบ้าง?

อันดับแรกเลยคือต้องเป็นคนมีความชื่นชอบ (Passion) ในเรื่องเทคโนโลยี มีความหลงไหล อยากเรียนรู้เกี่ยวกับมัน ด้วยความที่เราเป็นองค์กรเทคโนโลยี เมื่อเข้ามาจะเห็นสิ่งแวดล้อมว่าเป็นเทคโนโลยีทั้งหมด ตั้งแต่การจองห้องประชุม ไปจนถึงการติดต่อประสานงานต่างๆ จึงมีความสำคัญกับการที่คนเข้ามาทำงานจะมีความรักในสภาพแวดล้อมของเรา

นอกจากนี้คือเป็นคนที่มีความรักในการเรียนรู้ตลอดเวลา เมื่อเข้ามาในองค์กรแล้วได้ทำความเข้าใจว่าทำไมองค์กรถึงเป็นแบบนี้ จะทำอย่างไรให้องค์กรดีขึ้น เราไม่เคยบอกว่าคนที่เข้ามาทำงานจะต้องทำตามในสิ่งที่เราเป็น แต่ละคนนำสิ่งที่แต่ละคนมีเข้ามาช่วยส่งเสริมกันและกัน แล้วมาดูกันว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร  สิ่งนี้นี่แหละที่จะช่วยทำให้เกิดความหลากหลายและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้เกิดขึ้นในองค์กร 

เราได้มีการผลักดันเรื่องการพัฒนากรอบความคิด (Growth mindset) และ Customer Obsession คนของเราต้องรักลูกค้า รู้จักการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ มีความเคารพผู้อื่น และมีความรู้สึกอยากที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นในทุกๆ วัน ทั้งหมดนี้คือคุณสมบัติที่คนในไมโครซอฟ์ต้องมีหากต้องการจะประสบความสำเร็จ 

ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มีกรณีการเปลี่ยนงานบ่อยบ้างหรือไหม?

ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องของการไปเรียนต่อ และเมื่อจบการศึกษาแล้วก็มีกลับเข้ามาทำงานด้วยเช่นกัน เนื่องจากทางเราได้ทำการติดตามความเป็นไปของพนักงานอยู่ตลอดเวลา

นอกจากการประสบความสำเร็จในการทำงานแล้ว คนรุ่นใหม่ยังได้ให้ความสำคัญในเรื่องการทำงานที่มีคุณค่าและมีความสุขในทุกด้าน ทางไมโครซอฟท์มีวิธีการสร้าง emotional connection ให้พนักงานเป็นรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับบริษัทอย่างไร?

ทางไมโครซอฟท์ได้มีการปรับวิธีการทำงานให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เราได้ปรับในเรื่องของ Modern Work Culture ให้เข้ากับทุกตำแน่งในบริษัท ไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องเข้า-ออกงานกี่โมง แต่จะโฟกัสไปยังเรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน นี่คือการ Empowerment อย่างหนึ่ง ให้พนักงานสามารถออกแบบชีวิตการทำงานเองได้ วิธีการทำงานเช่น การประชุมยังสามารถประชุมเป็น Virtual Meeting ได้ ทำให้รูปแบบการทำงานสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน

นอกจากนี้คือเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทางเราเข้าใจดีว่าคนรุ่นใหม่มีความใส่ใจในเรื่องสุขภาพ เราก็ได้มีการจัดการในเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกในเรื่องเหล่าเพื่อให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ 

ในส่วนเรื่องวิธีการบริหารจัดการ เช่นเดียวกันกับการดูแลลูกค้า ทางเราได้ใช้วิธี Employee & Customer-Obsesseion Culture ในการดูแลพนักงานเช่นกัน เราให้พนักงานเป็นที่ตั้ง โดยเปิดโอกาสให้ พนักงานมีอิสระในการออกความเห็น บอกความต้องการ ถ้าเราสามารถจัดหามาให้ได้จะทำให้ เพื่อให้ตรงกับสิ่งที่สนใจ  เพราะคนรุ่นนี้ต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ในเรื่อง ระบบการเรียนรู้ของที่นี่จะเป็นระบบ Just-in-time Learning คือเรียนรู้ในสิ่งที่ต้องใช้ ในสิ่งที่ต้องนำมาประกอบหน้าที่ พนักงานมีสิทธิที่จะเลือกในสิ่งที่เรียนรู้ สามารถออกแบบสไตล์การเรียนเองได้

HR ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเติบโตของยุคดิจิทัลอย่างไรบ้าง อีกทั้งอะไรคือความสำคัญของ HR Transformation ในยุคที่กำลังจะเกิดขึ้น?

ยุคนี้คือยุคของ New Generation เราก็มีการปรับ Strategic Direction ในเรื่องของการค้นหา Talent เข้ามาทำงาน ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งกระบวนการสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นในองค์กร เรามีโปรแกรมรับเด็กจบจากมหาวิทยาลัยหรือ Microsoft Academic College Hired (MACH) ซึ่งจะมีตั้งแต่รุ่น UnderGrad และ Postgraduate โดยคนกลุ่มนี้จะต้องมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในองค์กร เพราะในอนาคตพวกเขาจะเข้ามาแทนที่คนรุ่นเก่าและจะเปลี่ยนมุมมองการทำงานให้มีความหลากหลายมากขึ้น จะมีการนำ New Consumers, New Perspective เข้ามามากขึ้น

เมื่อเทคโนโลยีฉลาดขึ้น เราต้องยิ่งปรับตัวเองให้ทันด้วย พฤติกรรมของคนเปลี่ยน จึงสำคัญมากที่เราจะต้องมีความยืดหยุ่น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างวิธีการในการทำให้พนักงานอยากคุยกับเรา ให้พวกเขารู้สึกเข้าถึงเราได้มากขึ้น

นอกจากนี้ในเรื่องของการเรียนรู้ เราต้องเข้าใจว่าสไตล์การเรียนรู้ของแต่ละคนเป็นแบบไหน การวัดความสำหรับในการพัฒนาบุคคลจะดูจากการที่พนักงานได้เรียนแล้วสามารถปรับใช้กับการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือเปล่า เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญกับการที่ HR จะต้องมีความเข้าใจและเป็นผู้ที่สามารถพูดคุย รับฟังพนักงานได้ในทุกๆ เรื่อง 

ฝ่าย HR ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของ AI อย่างไรบ้าง?

เราต้องมีความรู้และสามารถทำความเข้าใจว่าเทคโนโลยีแต่ละตัวคืออะไร เนื่องจากรูปแบบการทำงานในองค์กรเป็นดิจิทัลทุกอย่าง ในทุกขึ้นตอนการทำงานของ HR ไม่ว่าจะเป็นการรับคนเข้าทำงาน การประเมินผลการปฏิบัติ ไปจนถึงเรื่อง การบริหารค่าจ้างค่าตอบแทน และสวัสดิการ ทุกอย่างเป็นดิจิทัลทั้งหมด 

ทางฝั่งขั้นตอนการทำงาน HR อะไรที่สามารถทำซ้ำๆ (Automate) ได้ กว่า 90% จะเริ่มถูกแทนทีโดย Digital Platform รวมไปถึง AI โดยวิธีที่เราได้ปรับตัวรับมือ ก็อย่างเช่น ก่อนที่จะเอาเทคโนโลยีเข้ามาองค์กรต้องวางแผน และดูว่าสิ่งไหนเทคโนโลยีสามารถทดแทนได้ สิ่งไหนที่ไม่สามารถแทนได้ สามารถทำการ Offshoring และ Outsourcing ได้ไหม แล้วมาโฟกัสในเรื่องการเพิ่มความสามารถและประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน

เราไม่ได้ต้องการให้ทุกคนตื่นตระหนกว่า AI จะเข้ามาแทนที่ แต่ให้ดูว่าเราใช้คนเพื่อควบคุมหรือทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นคนที่ทำงานในส่วนที่ต้องทำซ้ำๆ จะต้องทำการ Reskill ใหม่ เพราะความคาดหวังขององค์กรและธุรกิจเปลี่ยน อะไรที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลจำนวนมาก การให้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะทำให้เกิดความผิดพลาดน้อยกว่า แล้วใช้เวลาที่เหลือไปดูในเรื่องของ Insight Analytics, Relationship, Customer Experience, Design เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ AI ทำแทนไม่ได้ ทางไมโครซอฟท์เองได้มีโปรแกรมเตรียมพร้อมคนของเราให้มีทักษะเตรียมพร้อมในอนาคต เพื่อสร้างบทบาทและอิมแพ็กต์ให้เกิดขึ้นในองค์กรในการก้าวต่อไป

ร่วม Exclusive Dinner Talk กับคุณชุติมาได้ในงาน Techsauce Culture Summit 2019

ร่วมพูดคุยกับคุณชุติมา สีบำรุงสาสน์ ใน Dinner Talk สุด Exclusive ภายในงาน Techsauce Culture Summit ในหัวข้อ “Igniting Cultural Transformation for Organizations: Turning Talk into Action” พร้อมโอกาสพบปะพูดคุยกับผู้บริหารจากองค์กรชั้นนำอย่าง Michelle Duval ผู้ก่อตั้ง Fingerprint for Success (F4S) และ Mark Buchanan, Managing Director บริษัท อีโวลูชั่น เวลล์เนสส์ (ประเทศไทย) จำกัด (Evolution Wellness) 

**จำนวนจำกัด 30 ที่นั่งเท่านั้น!

สำหรับผู้ที่ซื้อบัตรเข้างานจำนวน 5 ใบขึ้นไป ท่านสามารถส่งตัวแทนผู้บริหารระดับ C-Level มาได้ 1 ท่านเพื่อเข้าร่วม Exclusive Dinner Talk โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

เซสชั่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน Techsauce Culture Summit ในวันจันทร์ 25 พฤศจิกายน 2562 เวลา 18:30-21:00 น. ณ ห้อง Galleria 2-3 โรงแรม เอส 31 สุขุมวิท กรุงเทพฯ รายละเอียดเพิ่มเติมและสำรองที่นั่งได้ที่อีเมล [email protected] หรือโทร 02-015-5722


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...

Responsive image

นวัตกรรมใหม่ จะสร้างโอกาส หรือเข้ามา Disrupt ธุรกิจแบบเดิมๆ ? ส่องความเห็นจาก CEO ชั้นนำในยุคนวัตกรรม

อนาคตกำลังมาถึงเร็วขึ้นเรื่อยๆ นวัตกรรมใหม่ๆ ผุดขึ้นมากมาย และกำลังเปลี่ยนโฉมธุรกิจทั่วโลกอย่างรวดเร็ว แต่คำถามสำคัญคือ นวัตกรรมอะไรบ้างที่กำลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้? ใครคือผ...